ผุ้เรียบเรียง นิตยาภรณ์ และ รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
นายกโกมล คีมทอง เกิดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2498 ที่จังหวัดสุโขทัย ในครอบครัวปะกอบไปด้วยพี่ชาย 1 คน และน้องชาย 3 คน เขาเป็นคนที่ 2 นายโกมลได้รับการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนบ้านกล้วย อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนประจำอำเภอบ้านหมี่ และหลังจากจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 นายโกมลได้เข้ามาเรียนต่อในระดับชั้นเตรียมอุดมศึกษา แผนกศิลปะที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และได้จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ในปี พ.ศ. 2509
หลังจากที่สำเร็จการศึกษาในระดับเตรียมอุดมศึกษา นายโกมลได้สอบคัดเลือกเข้าศึกษาในคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรมหาวิทยาลัย ในสาขามัธยมศึกษา วิชาเอกสังคมศึกษา วิชาโท ภาษาฝรั่งเศส และได้สำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2512[1]
ในช่วงแห่งการเรียนรู้ในระดับมหาวิทยาลัยนั้น นายโกมลเป็นผู้ที่ได้เข้าร่วมทำกิจกรรมค่ายอาสาสมัครของนักศึกษาภาคใต้มุสลิมในภาคใต้ อาจจะกล่าวได้ว่าการทำกิจกรรมดังกล่าวได้สร้างฐานทางความคิดทั้งทางด้านวิชาการ และประสบการณ์ที่นอกเหนือจากการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย[2] นับตั้งแต่การทำค่ายอาสาที่ภาคใต้เป็นต้นมา กล่าวได้ว่านายโกมลก็ได้กลายเป็นผู้นำในกิจกรรมค่ายอาสาสมัครและค่ายพัฒนาการศึกษา จนกระทั้งเขาได้เป็นประธานดำเนินงานค่ายพัฒนาการศึกษา สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้เป็นประธานชุมนุมสังคมศึกษาของคณะครุศาสตร์[3] อาจจะกล่าวได้ว่าความสนใจ ความมุ่งมั่นในการแสวงหาความรู้และการแสดงความคิดนั้นปรากฏอย่างชัดเจนในช่วงที่เขาเรียนอยู่ในระดับชั้นปีที่ 3 และ 4 โดยเริ่มเห็นเค้าตั้งแต่ปีที่ 2 ดังปรากฏในงานเขียนในหนังสือโกมล คีมทอง: ปรัชญาและปณิธานแห่งชีวิต ดังนี้
“ ...โกมลเริ่มให้ความสนใจในการศึกษามากขึ้น เขาอยากรู้ความเป็นไปของการศึกษาในบ้านเรือนเรา ว่าเขาทำอย่างไร อะไรคือจุดบกพร่องและจุดอ่อน สภาพความเป็นจริงกับสภาพที่เรียนๆ กันอยู่ในปัจจุบันเป็นอย่างไร เราเคยคิดที่จะตั้งชุมนุมทางวิชาการศึกษาขึ้นในคณะครุศาสตร์เพื่อร่วมสนทนากันในเรื่องของการศึกษา... ” [4]
นอกจากนี้แล้วเขายังได้ทำหนังสือ ประธานชมรมปริทัศน์เสวนา อาจจะกล่าวได้ว่าชมรมปริทัศน์เสวนามีส่วนอย่างสำคัญในการพัฒนาในเรื่องของด้านความคิด และบรรณกรหนังสือสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับนิสิตนักศึกษา สำหรับนายโกมลแล้ว หนังสือสังคมศาสตร์ปริทัศน์ฉบับดังกล่าวได้เป็นพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นรวมถึงการแกเปลี่ยนมุมมอง และการตั้งคำถามเกี่ยวกับการศึกษาได้เป็นอย่างดี และได้ผลิตบทความจำนวนหนึ่งออกมาโดยได้เขียนลงในครุศาสตร์รับน้อง และสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับนิสิตนักศึกษา เป็นต้น ในงานเขียนจำนวนหนึ่งที่นายโกมลเขียนนั้น งานชิ้นแรกคือ “จดหมายถึงพ่อ” ได้เขียนลงในหนังสือ น้อง 90 ในบทความดังกล่าวนั้นสะท้อนให้เห็นถึงการใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม กับหมู่คณะ [5]
เมื่อนายโกมลได้สำเร็จการศึกษาครุศาสตร์มหาบัณฑิต เขาได้รับการเชิญชวนจากนายอุดม เย็นฤดี และนายอารีย์ เอส. เบอริแกน เพื่อไปเป็นผู้ก่อตั้งและครูใหญ่โรงเรียนประชาบาลแบบประชาชนจัดตั้ง ที่เมืองห้วยในเขา ตำบลบ้านส้อง กิ่งอำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โรงเรียนดังกล่าวนี้เป็นโรงเรียนที่ได้รับกาอุปถัมภ์จากบริษัทวิสาหกิจแร่สยามอเมริกัน จำกัด และในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2514 โรงเรียนเหมืองห้วยในเขา ประชาบาลแบบประชาชนจัดตั้งก็ได้ถูกตั้งขึ้นมาเป็นครั้งแรก มีนักเรียนโรงเรียนในปีแรกนี้จำนวน 24 คน[6] ทั้งนี้ นายโกมล มีจุดมุ่งหมายในการตั้งโรงเรียนดังกล่าวคือ
“ “ให้โรงเรียนเป็นศูนย์รวมทางประสบการณ์ของชาวบ้าน และลูกๆ ของชาวบ้าน สร้างความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างโรงเรียนกับชุมชน ต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ต้องการให้ชาวบ้านมีความรู้สึกว่าเขามีสิทธิเป็นเจ้าของโรงเรียน” ” [7]
นอกจากนี้แล้วนายโกมลยังได้สอดแทรกการดำเนินชีวิตตามแบบวิถีชาวพุทธที่ดี โรงเรียนดังกล่าวนี้ ได้มีคณะดำเนินงานซึ่งเป็นครู เช่น นายทะนง จันทรหล นายสมชาย เลขวิวัฒน์ นายเฉย ฉิมพลี เป็นต้น[8] นอกจากนี้แล้ว นายโกมลและเพื่อนครูทั้งหลายได้ทุ่มเทในการดำเนินงานที่โรงเรียนอย่างหนัก รวมถึงการจัดหลักสูตรการศึกษาในขั้นทักษะพื้นฐานให้แก่นักเรียน และมุ่งเน้นประสบการณ์ด้านการเกษตร อีกทั้งการจัดหลักสูตรทางการช่าง และศิลปะพื้นเมือง ในเวลาไม่นานผู้ปกครองของนักเรียนเริ่มสนใจจนก่อให้เกิดความผูกพันระหว่างครูในโรงเรียน กับชาวบ้าน อีกทั้งได้สร้างความเข้าใจในงานของโรงเรียน และได้รับการสนับสนุนจากชาวบ้าน กิจกรรมประจำของคณะครูและนายโกมลคือการออกเยี่ยมเยือนชาวบ้าน เก็บนิทานชาวบ้าน[9] อย่างไรก็ตาม นายโกมลเองก็มิได้ละทิ้งการวิพากษ์วิจารณ์สังคม, การศึกษา, ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยแต่อย่างใด เขาได้เขียนบทความลงในวารสารในปี พ.ศ. 2513 จำนวนมาก เช่น สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับนิสิตนักศึกษา, วิทยาสารปริทัศน์, จารุสัมพันธ์, มิตรสัมพันธ์ เป็นต้น [10]
นายโกมลได้ทุมเทความสามารถแความพยายามกับการเป็นครูอย่างมาก ในเวลาต่อมาไม่นานนายโกมลก็ได้ถูกยิงและเสียชีวิตพร้อมกับ น.ส. รัตนา สกุลไทย ในระหว่างที่เขาเดินทางไปเยี่ยมเยือนชาวบ้าน และเก็บนิทานพื้นบ้าน อันถือเป็นกิจวัตรที่เขาและเพื่อครูทำอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้เขาได้ทำงานในอาชีพครูได้เพียง 9 เดือนเท่านั้น มีการคาดการณ์ว่าเขาถูกยิงจากข้างหลัง และเสียชีวิตทันทีเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514[11]
การจบชีวิตลงของนายโกมลนั้นได้นำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ถึงสาเหตุการณ์ตายต่างๆ นานา แต่คำอธิบายหนึ่งที่คนส่วนใหญ่อาจจะเคยได้ยินได้ฟังมาคือ “... หลายคนเห็นว่าสมแล้ว คงจะไปมีอะไรแผลงๆ ขวางโลกให้คนอื่นเขาไม่พอใจเอาเป็นแน่ หรือมิฉะนั้นก็เห็นว่าอยากหัวรุนแรงดีนัก” [12] ในแง่นี้สะท้อนความเข้าใจบางอย่างของคนจำนวนหนึ่งที่คิดเห็นต่อเรื่องของโกมล
อย่างไรก็ตาม คำกล่าวข้างต้นนั้นอาจจะกล่าวขึ้นมาโดยยุคสมัยทศวรรษ 2510 เป็นต้นมานั้น เหตุบ้านการเมืองก็มีส่วนที่จะทำให้นายโกมลตั้งคำถามกับสังคมที่เห็นและเป็นอยู่ โดยอาศัยการเขียนงานลงในวารสารบ้าง หรือแม้แต่การทำกิจกรรม รวมถึงการจัดตั้งโรงเรียนที่จังหวัดสุราษฎร์ธาณี นายโกมลมีอุดมการณ์ของตนเองในการที่จะพยายามพัฒนานักเรียนในโรงเรียนของเขาไม่ให้ไหลไปกับกระแสสังคม และรู้เท่าทันสังคมที่เป็นอยู่ ดังกับที่นายโกมลได้เขียนไว้เมื่อเขาเป็นนิสิตปีที่ 3 ว่า
“ ไม่รู้เลยว่ากำลังใฝ่หาอะไรอยู่ อะไรเล่าที่ควรจะได้ หากตอบยังไม่ได้แล้ว การดำรงชีวิตอยู่นี้ก็เปล่าโดยสิ้นเชิงอย่างที่เป็นอยู่อย่างนี้ ” [13]
อ้างอิง
1.↑ มูลนิธิโกมล คีมทอง, อ่านโกมล (กรุงเทพฯ: บริษัท บพิธ จำกัด,2515) , หน้า 1-2, พจน์ กริชไกรวรรณ (บรรณาธิการ), โกมล คีมทอง: ปรัชญาและปณิธานแห่งชีวิต (กรุงเทพฯ: สำนกพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2540), หน้า 2-3
2.↑ มูลนิธิโกมล คีมทอง, อ่านโกมล (กรุงเทพฯ: บริษัท บพิธ จำกัด,2515) , หน้า 4, พจน์ กริชไกรวรรณ (บรรณาธิการ), โกมล คีมทอง: ปรัชญาและปณิธานแห่งชีวิต (กรุงเทพฯ: สำนกพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2540), หน้า 3
3.↑ มูลนิธิโกมล คีมทอง, อ่านโกมล (กรุงเทพฯ: บริษัท บพิธ จำกัด,2515) , หน้า 5, พจน์ กริชไกรวรรณ (บรรณาธิการ), โกมล คีมทอง: ปรัชญาและปณิธานแห่งชีวิต (กรุงเทพฯ: สำนกพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2540), หน้า 3-4
4.↑ พจน์ กริชไกรวรรณ (บรรณาธิการ), โกมล คีมทอง: ปรัชญาและปณิธานแห่งชีวิต (กรุงเทพฯ: สำนกพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2540), หน้า 4
5.↑ พจน์ กริชไกรวรรณ (บรรณาธิการ), โกมล คีมทอง: ปรัชญาและปณิธานแห่งชีวิต (กรุงเทพฯ: สำนกพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2540), หน้า 3, 5
6.↑ มูลนิธิโกมล คีมทอง, อ่านโกมล (กรุงเทพฯ: บริษัท บพิธ จำกัด,2515) , หน้า 9-10, พจน์ กริชไกรวรรณ (บรรณาธิการ), โกมล คีมทอง: ปรัชญาและปณิธานแห่งชีวิต (กรุงเทพฯ: สำนกพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2540), หน้า
7.↑ มูลนิธิโกมล คีมทอง, อ่านโกมล (กรุงเทพฯ: บริษัท บพิธ จำกัด,2515) , หน้า 10
8.↑ มูลนิธิโกมล คีมทอง, อ่านโกมล (กรุงเทพฯ: บริษัท บพิธ จำกัด,2515) , หน้า 10
9.↑ มูลนิธิโกมล คีมทอง, อ่านโกมล (กรุงเทพฯ: บริษัท บพิธ จำกัด,2515) , หน้า 10
10.↑ มูลนิธิโกมล คีมทอง, อ่านโกมล (กรุงเทพฯ: บริษัท บพิธ จำกัด,2515) , หน้า 13-16
11.↑ มูลนิธิโกมล คีมทอง, อ่านโกมล (กรุงเทพฯ: บริษัท บพิธ จำกัด,2515) , หน้า 23
12.↑ พจน์ กริชไกรวรรณ (บรรณาธิการ), โกมล คีมทอง: ปรัชญาและปณิธานแห่งชีวิต (กรุงเทพฯ: สำนกพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2540), หน้า 11
13.↑ พจน์ กริชไกรวรรณ (บรรณาธิการ), โกมล คีมทอง: ปรัชญาและปณิธานแห่งชีวิต (กรุงเทพฯ: สำนกพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2540), หน้า 12