เกิร์ต-แจน อเล็กซานเดอร์ คนูปส์

2 มิ.ย. 2553

เกิร์ต-แจน อเล็กซานเดอร์ คนูปส์ 

เป็นทนายความคนใหม่ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่าเป็นความพยายามอย่างถึงที่สุดของอดีตนายกรัฐมนตรี ที่จะนำเหตุการณ์ในการสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)หรือกลุ่มเสื้อแดงในไทยขึ้นสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศหรือศาลโลกให้ได้

คนูปส์เกิดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 1960 ที่เมืองไอน์โดเฟ่น ประเทศเนเธอร์แลนด์ ว่ากันว่า เดิมทีคนูปส์ตั้งใจจะเป็นนักชีววิทยาทางทะเล แต่เมื่อถูกเกณฑ์เข้าร่วมเป็นนาวิกโยธินแล้วต้องช่วยเพื่อนทหารด้วยกันต่อสู้คดีในศาลทหาร ทำให้คนูปส์เลือกเป็นนักกฎหมายแทน

เริ่มจากการศึกษากฎหมายแพ่งที่มหาวิทยาลัยทิลเบิร์ก ต่อด้วยการศึกษากฎหมายอาญาจากสถาบันวิลเลม ปอมปี ของมหาวิทยาลัยอูเทรตช์ ก่อนสำเร็จปริญญาเอกนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเลเด้น เมื่อปี 1998

ผลงานที่สร้างชื่อให้กับคนูปส์ก็ คือ 

1. การทำหน้าที่เป็นทั้งพนักงานอัยการและเป็นทนายให้กับกองกำลังรักษาสันติภาพ ภายใต้กรอบกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ ในโคโซโว, 

2. การดำเนินคดีกับกลุ่มแกนนำชนเผ่าฮูตู ในการดำเนินคดีต่อศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศในคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่รวันดา รวมถึง

3. การดำเนินคดีกับผู้นำกบฏในเซียร่าเลโอน จนกลายเป็นที่มาของการผลักดันให้มีระบบกฎหมายใหม่ขึ้นในประเทศนี้

หลังสุด 

4. ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายให้กับจำเลยในการดำเนินคดีต่อซาลิด ฮัมดาน ซึ่งทำหน้าที่เป็น "คนขับรถ" ของโอซามา บิน ลาเดน ในสหรัฐอเมริกา ที่นำไปสู่คำพิพากษาสำคัญของศาลสูงสหรัฐอเมริกา ที่พิพากษาไว้ว่า ระบบซึ่งอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช จัดทำขึ้นเพื่อใช้ในการกล่าวหาผู้ที่ถูกกักกันไว้ที่ค่ายกักกันอ่าวกวนตานาโมว่าเป็นอาชญากรสงครามนั้นเป็นโมฆะ

ปัจจุบัน คนูปส์ทำหน้าที่เป็นทั้ง

-อาจารย์สอนกฎหมายอยู่ในหลายมหาวิทยาลัย, 
-เป็นสมาชิกในคณะกรรมการที่ปรึกษาของซันโกลว์ องค์กรพัฒนาเอกชนทางกฎหมายในนครนิวยอร์ก ที่มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการปกครองนิติรัฐ, 
-เป็นบรรณาธิการวารสารเพื่อการศึกษาระหว่างประเทศ (ไอเอสเจ) และ
-เป็นประธานของบริษัทกฎหมายชื่อคนูปส์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ส แอดโวคาเตน ในเนเธอร์แลนด์ ที่มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ ใน

-คดีอาญา ทั้งในระดับภายในและระหว่างประเทศ 
-คดีการส่งตัวในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน 
-คดีอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับทหาร 
-คดีที่เกี่ยวเนื่องกับศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป, 
-ศาลอาชญากรรมสงครามระหว่างประเทศ, 
-ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ 
เป็นอาทิ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น