นายพร มะลิทอง ส.ส.สมุทรสาคร ยุคท่านปรีดี พนมยงค์ เหยื่ออำนาจรัฐเผด็จการไทยในอดีต

5 ก.ย. 2553
โดยคมชัดลึก เมื่อ 25 เม.ย.2552

ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง นำมาสู่ความสับสนวุ่นวายจนเกือบถึงขั้นกลียุค ฝ่ายบริหารแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย คล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองยุคปัจจุบันไม่ผิดเพี้ยน ดาวสภาเมื่อ 55 ปีก่อนอย่าง 

"พร มะลิทอง" ส.ส.สมุทรสาคร 

ลูกศิษย์คนสนิทของ "ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์" หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หัวหน้าขบวนการเสรีไทย เป็นคนที่ประชาชนทั้งประเทศจับตามองมากที่สุดคนหนึ่งในเวลานั้น เพราะบทบาททางการเมืองที่เฉิดฉายเจิดจรัสกว่า ส.ส.คนอื่นในยุคเดียวกัน

จากคำบอกเล่าของ "ยงค์ ดวงแข" ในวัย 74 ปีเศษ ประชาชนคนไทยที่เฝ้าติดตามสถานการณ์บ้านเมืองด้วยสายตาแห่งความสนใจใคร่รู้ จนพบเห็นเหตุการณ์ที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงมาหลายยุคหลายสมัย ให้คำนิยามเกี่ยวกับ ส.ส.พร มะลิทอง เอาไว้อย่างน่าสนใจดังนี้

ส.ส.พร มีจุดเด่นอยู่ที่มีความเชื่อมั่นในตนเองฝีปากกล้า จัดจ้าน ไม่เกรงกลัวผู้ใด บวกกับความมุ่งมั่นทำงานด้านการเมืองด้วยอุดมการณ์มากกว่าประโยชน์ส่วนตัว ใช้ถ้อยคำร้อนแรงในการอภิปรายในสภาโจมตีรัฐบาล วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เลขาธิการพรรคเสรีมนังคศิลา และอธิบดีกรมประมวลราชการแผ่นดิน (สำนักข่าวกรองในปัจจุบัน) ครั้งหนึ่งถึงขั้นชี้หน้าด่ากลางสภาอย่างไม่เกรงกลัวอิทธิพลและผลที่จะตามมา

ความพยายามและมากความมุ่งมั่นที่จะทำงานรับใช้ประเทศชาติและประชาชน แสดงออกมาในการทำงาน ส.ส.ตลอดระยะเวลาที่ได้รับเลือกมาทำหน้าที่นี้จนประชาชนให้ความรักและศรัทธา แต่อีกด้านหนึ่งเขากลับสร้างศัตรูทางการเมืองขึ้นโดยไม่รู้ตัว คนรอบข้างเป็นห่วงว่าจะมีอันตรายถึงชีวิต เหมือนกับคนที่เป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองก่อนหน้านี้ ทว่าเสียงเตือนเหล่านี้แทนที่จะทำให้ ส.ส.พร หวาดกลัวกลับกระตุ้นให้เขามีแรงใจทุ่มเทให้งานมากขึ้น
"ขอทำงานเพื่อชาติ แก่แล้ว ขอสู้ตาย"

ในที่สุดสิ่งที่ทุกคนกริ่งเกรงก็คุกคามเข้าใส่ ส.ส.พร บ่ายวันที่ 22 มีนาคม 2497 ส.ส.ฝีปากกล้าขับรถออสตินสีเขียวอ่อนออกจากบ้าน ไปพบกับนายตำรวจใหญ่ยศ พ.ต.อ.คนสนิทของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ที่กองตำรวจสันติบาล 2 ก่อนจะหายไปตัวอย่างลึกลับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
คดีหายตัวของ ส.ส.พร ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ไม่มีแม้แต่การตั้งทีมขึ้นมาสืบสวนสอบสวนหาสาเหตุคล้ายกับว่าแฟ้มคดีถูกเก็บซุกอยู่ในลิ้นชักที่ปิดตายทุกฝ่ายพยายามลืมเลือนชายที่ชื่อ "พร มะลิทอง" และ ปัดออกไปจากสารบบของกรมตำรวจในยุคนั้น
แต่แล้วครอบครัวมะลิทองก็ได้รับความยุติธรรมหรืออย่างน้อยก็มีคนหยิบยื่นความยุติธรรมให้ หลังจากวันที่ 16 กันยายน 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ยึดอำนาจจากรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม พล.ต.อ.เผ่าถูกเนรเทศไปอยู่สวิตเซอร์แลนด์ ส่วนคนสนิทต่างเร้นหายออกไปนอกประเทศทีละคนสองคน

คดีการหายสาบสูญของ ส.ส.ฝีปากกล้าจึงถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง พร้อมกับปริศนาความตายของ "สมพงษ์" สายตำรวจที่เฝ้าดูพฤติกรรมของ ส.ส.พร แม้ว่าการสืบสวนจะทำได้ยาก เนื่องจากเวลาล่วงเลยไปนานกว่า 3 ปีแล้วก็ตาม 

ในที่สุดตำรวจก็สามารถรวบรวมพยานหลักฐานเข้าสู่การพิจารณาของศาล
อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหา 5 คน ได้แก่ 

พ.ต.ต.สุนนท์ เอกโลหิต 
ร.ต.อ.ปรีดา เพิ่มพานิช 
ร.ต.อ.อิทธิพล เครือใจ 
ส.ต.ต.โสภณ เกตุลักษณ์ 
ส.ต.ต.บุญรอด แสงพิทักษ์ เป็นจำเลยที่ 1-5 ตามลำดับ 

ในข้อหาสมคบฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และซ่อนเร้นปิดบังอำพรางการตาย 

แต่ทั้งหมดให้การปฏิเสธ

จากหลักฐานที่มีอยู่พอสรุปได้ว่า ทั้ง 5 คนได้รับคำสั่งมาจากนายตำรวจยศ พ.ต.อ.คนสนิท พล.ต.อ.เผ่ากับเพื่อนนายตำรวจยศเดียวกัน โดยวางแผนให้สมพงษ์ติดตามดูความเคลื่อนไหว ส.ส.พร มาตั้งแต่เดือนมกราคม 2497 พร้อมทั้งหาทางเอาเอกสารคอมมิวนิสต์เข้าไปซุกซ่อนในบ้าน จากนั้นจะให้ตำรวจจู่โจมเข้าจับกุมแต่สมพงษ์ไม่ยอมทำตาม กลับนำข้อมูลไปบอก ส.ส.พร แลกกับเงินก้อนหนึ่ง เพื่อใช้ตั้งตัวที่ปักษ์ใต้บ้านเกิด

ด้วยความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย ส.ส.พร ไม่เชื่อคำพูดของชายแปลกหน้า เนื่องจากมั่นใจว่ารัฐบาลจะไม่เล่นการเมืองด้วยวิธีสกปรกเช่นนี้ ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างก็มีเป้าหมายเดียวกัน คือ นำพาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าตามอารยประเทศ ส่งผลให้สมพงษ์ถูก 1 ใน 5 ผู้ถูกกล่าวหาจับตัวไปไว้ที่สมุทรสงคราม ก่อนจะพาไปไว้ในเซฟเฮ้าส์ซอยสุขใจ บางกะปิ หัวหมาก กรุงเทพฯ

บ่ายโมง 21 มีนาคม ส.ส.พรได้รับโทรศัพท์จากนายตำรวจคนสนิท พล.ต.อ.เผ่า ให้ไปพบในวันรุ่งขึ้น เพื่อปรึกษางงานราชการแผ่นดิน 10 โมงเช้า วันที่ 22 มีนาคม เขาแต่งตัวออกจากบ้านด้วยเสื้อเชิ้ตสีขาวบอกกับ "สงวน มะลิทอง" ภรรยาว่าจะนำรถไปล้างอัดฉีดและจะเลยไปหานาย พ.ต.อ.ที่กองตำรวจสันติบาล ช่วงเย็นจะเลยไปงานศพพระอภัยพลรบที่วัดโสมนัสราชวรวิหาร แล้วถึงจะกลับไปรับประทานอาหารเย็นที่บ้านด้วยกัน

บ่าย 2 โมง ส.ส.พร เดินทางถึงที่นัดหมาย แต่ไม่ได้พบกับนาย พ.ต.อ.ที่ติดประชุมอยู่ที่กรมประมวลราชการแผ่นดิน จึงเข้าไปรอที่ห้องทำงาน ซึ่งมีนาย พ.ต.อ.อีกคนและ ร.ต.อ.อิทธิพล นั่งอยู่ในห้องก่อนแล้ว 1 ชั่วโมงให้หลังจึงได้พบกับนาย พ.ต.อ.คนสนิทของ พล.ต.อ.เผ่า มีการพูดถึงราชการบ้านเมืองเป็นปกติธรรมดาจนได้เวลากลับ
ระหว่างเดินทางกลับบ้านเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อมีนายตำรวจยศ ร.ต.อ.พร้อมคนกลุ่มหนึ่งรอดักอยู่ก่อนแล้ว นำตัวขึ้นรถไปที่เซฟเฮ้าส์ซอยเกษมสันต์ 2 ตรงข้ามสนามกีฬาแห่งชาติ ลงมือทำร้ายร่างกายจนถึงแก่ความตาย ขณะเดียวกันได้นำร่างไร้ลมหายใจของสมพงษ์ตามมาสมทบ แล้วจึงลงมือมัดศพทั้ง 2 กับเสาซีเมนต์ขนาดพอเหมาะที่จะไม่ให้ศพลอยอืดขึ้นมาประจานความชั่วร้าย นำขึ้นรถตู้ไปเก็บไว้ที่บ้านเลขที่ 51 ถนนพระอาทิตย์ ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ครั้นตกดึกก็นำร่างไร้วิญญาณของทั้งสองออกไปกลางแม่น้ำแล้วทิ้งศพลงกันเจ้าพระยา

วันรุ่งขึ้นทีมสังหารยังมีงานหลงเหลือให้จัดการอีกคือทำลายรถออสติน โดยแยกออกเป็นชิ้นๆ แล้วราดน้ำมันจุดไฟเผาทำลายหลักฐาน ก่อนจะนำซากรถที่ไหม้เกรียมไปทิ้งแม่น้ำเจ้าพระยาเช่นเดียวกับศพเจ้าของ

อย่างไรก็ตาม จากพยานหลักฐานที่อัยการมอบให้ศาลพิเคราะห์แล้ว มีความเห็นว่า พยานโจทก์ส่วนใหญ่เป็นตำรวจ ที่ให้การคลุมเครือ ไม่กระจ่าง เหมือนพยายามปกปิดอำพรางความจริงไว้ แต่จากการประมวลหลักฐานทั้งหมดเชื่อว่า สมพงษ์ และ ส.ส.พร เสียชีวิตจากการกระทำของตำรวจอย่งปราศจากข้อสงสัย
แต่ปัญหาที่จะพิจารณาคือ จำเลยทั้ง 5 จะเป็นผู้กระทำผิดตามโจทก์กล่าวหาหรือไม่ เพราะกรณี ส.ส.พร ถูกฆ่าไม่มีพยานคนใดเบิกความว่า จำเลยทั้ง 5 ทำความผิด 

ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่าจำเลยทั้งหมดซ่อนเร้นศพ ส.ส.พร ก็ไม่มีพยานยืนยันได้ มีเพียงข้อกล่าวหาเรื่องจำเลยที่ 2-5 ร่วมกันรื้อรถนั้น มีพยานยืนยันเพียงว่า จำเลยที่ 3 และ 4 เป็นคนรื้อเท่านั้น ส่วนคดีฆาตกรรมสมพงษ์ คงลงโทษจำเลยที่ 2 กระทงเดียว
ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2502 ให้จำคุกจำเลยที่ 2 เป็นเวลา 20 ปี ฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ส่วนจำเลยที่ 3 และ 4 มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ จำคุกคนละ 1 ปี ส่วนจำเลยที่ 1 และ 5 ยกฟ้อง ต่อมาจำเลยที่ 2, 3, 4 ได้ยื่นอุทธรณ์ 

ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับให้ปล่อยตัว อัยการโจทก์ยื่นต่อสู้ในชั้นฎีกา แต่
ศาลฎีกา พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

จากวันนั้นถึงวันนี้ ผ่านไปครึ่งศตวรรษแล้วกฎหมายไม่สามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้แม้แต่คนเดียว มีความเป็นจริงเพียงหนึ่งเดียวที่ดำรงอยู่ นั่นคือร่างไร้วิญญาณของ "พร มะลิทอง" จมอยู่ก้นแม่น้ำเจ้าพระยา และการใช้กฎหมู่เหนือกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐอย่าง "ตำรวจ" ยังคงมีอยู่ วันนี้คดีของ "ทนายสมชาย นีละไพจิตร" แทบไม่ต่างอะไรเลยกับ ส.ส.พร เมื่อปี 2497 แม้วันเวลาจะผ่านไปและโลกก้าวหน้าไปไกลแค่ไหนแล้วก็ตาม แต่สังคมไทยกลับย่ำอยู่กับที่-

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น