รู้จักหมอเทวดาปากีฯ แรงบันดาลใจรักษาทุกคนไข้

23 ต.ค. 2557
โดยข่าวสด เมื่อ 23 ต.ค.2557

ท่ามกลางระบบสาธารณสุขของปากีสถานที่ เต็มไปด้วยคอร์รัปชั่น การบริหารจัดการที่ผิดพลาด และขาดแคลนทรัพยากร แต่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งในนครการาจีกลับให้บริการประชาชนหลายล้านคนได้โดย ไม่คิดค่ารักษาพยาบาล

บีบีซีรายงานว่า สถานพยาบาลแห่งนี้คือ สถาบัน ศัลยศาสตร์ทางเดินปัสสาวะและการปลูกถ่ายสินธ์ (ไอเอสยูที) บริหารโดย อาดิบ ริซวี นายแพทย์ชาวอินเดียซึ่งได้รับการเคารพยกย่องจากหัวใจที่เมตตาต่อผู้ป่วยผู้ ยากไร้ในปากีสถาน

แม้จะเป็นผู้ก่อตั้งและผู้บริหารหนึ่งใน โรงพยาบาลรัฐที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ แต่หมอริซวีปฏิบัติต่อคนไข้ ไม่ว่าจะเป็นชาวมุสลิม และที่ไม่ใช่มุสลิมอย่างเป็นกันเอง ด้วยความฝันว่าจะมีระบบบริการสุขภาพแห่งชาติแบบสหราชอาณาจักร หรือเอ็นเอชเอส

ผู้คนทั้งหลายมองหมอริซวีว่าเป็นเพื่อน เป็นคนที่พวกเขาไว้ใจ ไม่ใช่คนที่จะมาหลอกเอาเงินที่มีอยู่น้อยนิดของพวกเขาไป

ไอเอสยูทีตั้งอยู่ในย่านชุมชน เป็นส่วนต่อขยายจากโรงพยาบาลพลเรือนการาจี

ก่อตั้งเมื่อ 40 ปีก่อน แรกเริ่มเป็นแค่อาคารเล็กๆ มีเตียงผู้ป่วยเพียง 8 เตียง ก่อนจะขยายจนกลายเป็นศูนย์รักษาโรคไตระดับโลก มีอาคารสูง 2 หลัง มี 800 เตียง ทำสถิติผ่าตัดปลูกถ่ายไต ฟอกไตและรักษานิ่วในไตสำเร็จมากกว่าโรงพยาบาลไหนๆ ในโลก

ย้อน ไปในวัยหนุ่มของหมอริซวี ช่วงอายุ 17 ปี เกิดจลาจลระหว่างชาวฮินดูกับมุสลิม ผลักดันให้ต้องอพยพไปปากีสถานและเพราะต้องอยู่ตัวคนเดียว จึงทุ่มเทให้กับการเรียน

"ผมเที่ยวสำรวจโรงพยาบาลต่างๆ ได้เห็นผู้คนถูกปฏิบัติไม่ดีเพราะไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา เห็นยายคนหนึ่งถอดตุ้มหูจ่ายเป็นค่ายา ดูเหมือนผู้ป่วยต้องทิ้งศักดิ์ศรีเพื่อขอรับบริการ ทั้งที่ผมคิดว่ามันควรเป็นสิทธิข้อแรกของพวกเขาในฐานะพลเมือง" หมอริซวีกล่าว

หลังจบปริญญาการแพทย์ในนครการาจี เขาไปต่อเฉพาะทางด้านการผ่าตัดที่อังกฤษ และทำงานอยู่ในโรงพยาบาลหลายแห่งร่วม 10 ปี

"ระบบเอ็นเอชเอส เป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญ พวกเขาทำให้ผมเห็นว่าการรักษาผู้ป่วยฟรีมันเป็นไปได้" หมอริซวีกล่าว

แต่ เมื่อกลับมาปากีสถานในปี 2514 และทำงานเป็นผู้ช่วยศาสตรา จารย์ด้านระบบปัสสาวะในโรงพยาบาลพลเรือนการาจี ทุกคนรอบตัวกลับบอกว่าเขาเพ้อเจ้อ เพราะทั้งขาดงบ ยา หรือกระทั่งความกระตือ รือร้นของเพื่อนร่วมงาน แต่หมอริซวีไม่เคยยอมแพ้

ความฝันที่ยิ่งใหญ่เริ่มเป็นรูปร่างเมื่อคนจำนวนหนึ่งบริจาคเงินเพื่อช่วยสนับสนุนแผนการนี้

บรรดานักศึกษาและแพทย์เริ่มมารวมตัวกันเพื่อจะหาทางขยายการบริการให้กว้างขวางขึ้น พอเวลาผ่านไปมีคนเข้ามาให้ความช่วยเหลือมากขึ้น

โรงพยาบาลแห่งนี้จึงช่วยเหลือคนไข้โรคไตกว่าร้อยชีวิต และขยายการรักษาปลูกถ่ายอวัยวะซึ่งไม่เคยมีสถาบันการแพทย์ใดในปากีสถานเคยทำ มาก่อน แม้จะมีคนบั่นทอนกำลังใจหมอริซวีและทีมงานซ้ำเป็นครั้งที่สองว่า "ไม่มีทางสำเร็จ"

นายแพทย์ใหญ่กลับไปอังกฤษเพื่อทบทวนความ รู้ที่จำเป็นต้องใช้ ก่อนกลับมาในปี 2524 พัฒนาทีมเจ้าหน้าที่แพทย์ ฝึกให้ผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ กระทั่งความพยายามเป็นผลสำเร็จ

หลังจากนั้น หมอริซวีและทีมศัลยแพทย์ ผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายอวัยวะมนุษย์ได้สำเร็จ เป็นครั้งแรกในปากีสถาน จนได้รับฉายาว่า "หมอเทวดา"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น