"อภิวัฒน์ วังวิวัฒน์" เจ้าของข้าวเกรียบมโนราห์

14 ต.ค. 2554
โดยเส้นทางเศรษฐี เมื่อ 1 ต.ค.2554

คิดอย่างนักบริหาร

โดยสาโรจน์ มณีรัตน์-เรื่อง

ขยัน อดทน ซื่อสัตย์

กล่าวได้ว่าความสำเร็จของเถ้าแก่ เศรษฐี หรือ มหาเศรษฐี มักจะมาจากรากที่ซ่อนอยู่ ยิ่งเฉพาะรากที่ต้องเกี่ยวข้องกับความขยัน อดทน และซื่อสัตย์ ด้วยแล้ว

นับเป็นรากแก้วที่สำคัญ!

สังเกตดูจากบรรดามหาเศรษฐีชั้นนำของโลก เอเชีย หรือ ในประเทศไทย น้อยคนนักที่จะลงมือทำธุรกิจแล้วจะประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว

โดยไม่เคยล้มเหลวมาก่อน!

ล้มแล้วลุก จึงเป็นปรัชญาที่ทุกคนชอบนำมาปฏิบัติ

ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนจะนำไปปฏิบัติอย่างไร บางคนอาจใช้คอนเน็กชั่นทางธุรกิจ เพื่อแผ้วถางทาง ขณะที่บางคนใช้เส้นสนกลในทางการเมือง เพื่อให้ธุรกิจของตัวเองเสียภาษีน้อยที่สุด

ขณะที่บางคนใช้คำว่า "ขยัน อดทน และซื่อสัตย์" เป็นเครื่องนำทางชีวิต

"อภิวัฒน์ วังวิวัฒน์" ประธานกรรมการ บริษัท มโนราห์อุตสาหกรรม จำกัด ก็เช่นกัน เขาไม่มีคอนเน็กชั่นทางธุรกิจ ไม่มีเส้นสนกลในทางการเมือง มีแต่คำว่า...ขยัน อดทน และซื่อสัตย์

"ที่บ้านผมทอดข้าวเกรียบกุ้งขายมาก่อน ทำมาตั้งแต่รุ่นพ่อ รุ่นแม่ จนมาถึงรุ่นพี่สาว พี่สาวเป็นคนขยัน ผมเองก็ช่วยพี่สาวทำงานมาตลอด จนตอนหลังที่บ้านเกิดปัญหา ผมจึงตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนเพื่อมาช่วยพี่สาวทำงาน"

"วันๆ ผมช่วยพี่สาวขายข้าวเกรียบตลอด จนวันหนึ่งเริ่มถามตัวเองว่าจะอยู่แค่นี้หรือ เพราะมองไม่เห็นอนาคต ก็พบคำตอบว่า ผมจะต้องมีอนาคตมากกว่านี้ แต่ตอนนั้นไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร"

กรุงเทพมหานคร จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่คนหนุ่ม-สาวใฝ่ฝัน

"อภิวัฒน์" เองก็คิดอย่างนี้เช่นกัน

เพียงแต่คนหนุ่ม-สาวที่เดินทางมาจากสงขลา หรือจากปักษ์ใต้ ส่วนใหญ่มักจะมีธงนำว่าจะต้องมาเรียนธรรมศาสตร์ เรียนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือรามคำแหง...เพื่อกลับไปเป็นเจ้าคนนายคน

แต่สำหรับ "อภิวัฒน์" เขาจบเพียงชั้น ม.ศ.3 เท่านั้น

ดังนั้น ความหวังที่อยากจะเรียนมหา"ลัยเหมือนอย่างคนหนุ่ม-สาวปักษ์ใต้ทั่วไป จึงค่อนข้างเลือนราง ที่สุดเขาจึงขอไปตายเอาดาบหน้า...ด้วยการขึ้นรถไฟมาพร้อมกับข้าวเกรียบกุ้งดิบเพียงไม่กี่ถุง

เพื่อแลกกับใครก็ได้ที่ให้เขาซุกหัวนอน

เขาเลือกวัดมหาธาตุฯ ตรงท่าพระจันทร์เป็นที่ซุกหัวนอนในคืนแรกๆ และคืนต่อๆ มา จนเห็นว่าข้าวก้นบาตรพอที่จะประทังชีวิตได้บ้างแล้ว แต่กระนั้นเขาก็ยังไม่ได้ตอบแทนผู้มีพระคุณด้วยการทอดข้าวเกรียบให้รับประทาน เพราะเขาตั้งใจแต่แรกแล้วว่า หากใครให้ที่ซุกหัวนอน เขาจะต้องตอบแทนบุญคุณด้วยการทอดข้าวเกรียบให้รับประทาน

ปรากฏว่าคนที่ "อภิวัฒน์" ตอบแทนบุญคุณกลับไม่ใช่ฆราวาส แต่เป็นหลวงตารูปหนึ่ง เขาจึงจัดแจงทอดข้าวเกรียบให้หลวงตาฉันเพลในวันหนึ่ง

ปรากฏว่าหลวงตาชอบมากๆ บอกว่าอร่อย...เอ็งลองเอาไปทอดขายตรงท่าพระจันทร์นะ รับรองขายได้...หลวงตาบอกกับ "อภิวัฒน์" อย่างนั้น

นั่นจึงเป็นจุดพลิกผัน ที่ทำให้ "อภิวัฒน์" ก้าวเข้ามาสู่ธุรกิจขายข้าวเกรียบกุ้ง โดยไม่รู้มาก่อนว่าข้าวเกรียบกุ้งที่ทอดขายทุกวันๆ จะทำให้กลายมาเป็นข้าวเกรียบมโนห์ราในวันนี้

"ผมขายอยู่ทุกวัน ขายดีขึ้นเรื่อยๆ ผมจึงส่งจดหมายไปบอกพี่สาวให้ช่วยส่งข้าวเกรียบดิบมาให้ และจากขายจันทร์ถึงศุกร์แถวท่าพระจันทร์ พอเสาร์-อาทิตย์ ผมก็ข้ามไปขายที่สนามหลวง ตอนนั้นผมไม่สนใจเรื่องเรียนแล้ว คิดแต่จะขายของอย่างเดียว"

"ผมยังจำภาพของคุณประจวบ จำปาทอง ได้ จำภาพของคุณบุญกิจ ลีเลิศพันธุ์ เจ้าของยาสีฟันดอกบัวคู่ ได้ และจำภาพของนายห้างพาต้า ซึ่งเมื่อก่อนขายไม้แคะหู และลูกเหม็นได้ คนเหล่านี้แก่กว่าผม แต่ท่านขายของเก่งมาก ผมไปยืนดูเขา และใช้เป็นแบบอย่างในการขายของ"

จนเกิดเหตุการณ์วันมหาวิปโยค "อภิวัฒน์" จึงเลิกขายของไปโดยปริยาย

แต่กระนั้น เขาเริ่มมีเงินมากพอที่จะออกไปเช่าห้องอยู่ลำพัง โดยไม่ต้องพึ่งข้าวก้นบาตรอีกต่อไป พร้อมกันนั้นเขาก็มองหาช่องทางอื่นๆ เพื่อขายข้าวเกรียบกุ้งต่อไป

จากขายอยู่คนเดียว ก็เริ่มนำข้าวเกรียบกุ้งไปวางตามร้านขายของชำต่างๆ และไม่ใช่เพียงร้านสองร้านเท่านั้น เขาวางขายไปทั่วกรุงเทพมหานคร

และขยายออกสู่ชานเมือง

จนเหตุการณ์บ้านเมืองเริ่มเข้าสู่สภาวะปกติ "อภิวัฒน์" จึงกลับมาขายที่สนามหลวงอีกครั้ง และคราวนี้ไม่เพียงเขาจะโชคดีที่ชาวอังกฤษมาลองชิมข้าวเกรียบกุ้ง จนสั่งออร์เดอร์ไปเมืองนอก ที่เริ่มจาก 5 กิโลกรัมก่อน

จากนั้นจึงเป็น 10 กิโลกรัม และ 100 กิโลกรัมในที่สุด

ตอนนั้นเขามีรายได้เป็นกอบเป็นกำมากขึ้น แต่กระนั้น ชื่อของมโนห์รายังไม่ปรากฏ จนเมื่อเขาไปเที่ยวงานของกรมส่งเสริมการส่งออก...สิ่งไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น

"อภิวัฒน์" ไปปรึกษาเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมว่า ต้องการสร้างแบรนด์ข้าวเกรียบกุ้งเป็นของตัวเอง เขาก็ถามว่าข้าวเกรียบกุ้งคุณมาจากไหน

มาจากสงขลา...อภิวัฒน์ตอบ

แล้วต้องการแบรนด์เป็นรูปอะไร...เจ้าหน้าที่ถาม

ต้องการรูปมโนห์ราครับ...เพราะผมเป็นคนปักษ์ใต้

จากนั้นเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมก็ลงมือวาดรูป โดยมี "อภิวัฒน์" ยืนบอกไอเดียอยู่ข้างๆ จนกระทั่งข้าวเกรียบกุ้งแบรนด์มโนห์ราเสร็จเรียบร้อย

"ผมรู้สึกภูมิใจมาก ที่ต่อแต่นี้ข้าวเกรียบกุ้งของผมจะได้มีแบรนด์เป็นของตัวเองสักที จำได้ว่าตอนนั้นผมขอบคุณเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมคนนั้นมากๆ แต่เขาบอกไม่เป็นไร มันเป็นหน้าที่ที่จะต้องช่วยเถ้าแก่ใหม่อยู่แล้ว"

ใครจะเชื่อล่ะว่า ข้าวเกรียบกุ้งแบรนด์มโนห์รา จะมาจากไอเดียของ "อภิวัฒน์" ล้วนๆ มิหนำซ้ำยังไม่ต้องเสียสตางค์สักสลึง

เมื่อมีแบรนด์ของตัวเองแล้ว เขาจึงสร้างแบรนด์ไปขายในท้องตลาด ประกอบกับชาวอังกฤษคนนั้น สนใจที่จะสั่งข้าวเกรียบกุ้งไปขายในต่างประเทศอีก เพียงแต่คราวนี้ไม่ได้เริ่มต้นที่ 100 กิโลกรัมแล้ว หากเป็นตู้คอนเทนเนอร์เลย

"อภิวัฒน์" เริ่มรู้แล้วว่า เส้นทางการค้าของเขาเริ่มสดใส เขาจึงวางแผนทางการตลาด ด้วยการเปิดเกมรุกตลาดในประเทศอย่างเป็นจริงเป็นจัง

พร้อมกันนั้น เขาก็หอบแบรนด์มโนห์ราออกไปโรดโชว์ในต่างประเทศ ซึ่งใครจะเชื่อล่ะว่า หลังจากโรดโชว์ไปในประเทศต่างๆ ปรากฏมียอดออร์เดอร์เข้ามาเป็นจำนวนมาก ทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกา และเอเชีย

"ระยะแรกมโนห์ราออกไปอวดโฉมทุกที่ แต่ตอนหลังเริ่มค้นพบคำตอบว่า ทุกครั้งที่แบรนด์มโนห์ราออกไปในตลาดเอเชีย สินค้าของผมเหมือนกับพญาอินทรี แต่ถ้าไปยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา สินค้าของผมเปรียบเสมือนนกกระจอก"

นกกระจอกที่ถูกกีดกันทางการค้า

นั่นจึงเป็นอีกเหตุผล ที่ทำให้แบรนด์มโนห์รา ไม่มีแต่เฉพาะข้าวเกรียบกุ้งเท่านั้น หากยังมีข้าวเกรียบปู ข้าวเกรียบปลา และข้าวเกรียบชนิดอื่นๆ วางขายเกลื่อนกลาดในตลาดเอเชีย

เพราะตลาดในประเทศเขาไม่ห่วงแล้ว แต่สำหรับตลาดต่างประเทศเขาหวังว่าสักวันหนึ่งพญาอินทรีในตลาดเอเชีย อาจจะไปผงาดเป็นพญาอินทรีในตลาดยุโรป หรือสหรัฐอเมริกาได้

วันนี้ "อภิวัฒน์" ทำได้ระดับหนึ่งแล้ว

วันนี้ผู้คนเริ่มรู้จักแบรนด์มโนห์ราแล้ว

แต่น้อยคนนักที่จะทราบว่า ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของแบรนด์มโนห์ราคือ "อภิวัฒน์ วังวิวัฒน์" ผู้ซึ่งเรียนจบเพียงชั้น ม.ศ.3 เท่านั้น

แต่กลับใช้คำว่า...ขยัน อดทน ซื่อสัตย์ เป็นเข็มทิศนำทาง จนประสบความสำเร็จทุกวันนี้?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น