Bob Marley

8 ต.ค. 2552

ในงานต้อนรับที่กระบี่..มีการแสดงของนักดนตรีชาวอันดามัน

การแสดงดนตรีในคืนนั้น ..ที่สามารถเรียก"แนวร่วม"ออกไปเจ้นรำบนผืนทรายได้มากมายทั้งไทยและฝรั่ง ก็คือเพลง"เร็กเก้" ที่สามารถดึงทุกคนให้จมอยู่กับสายเพลงทาามกลางสายลมที่ละเลียดเบาๆมาแตะผิวให้หายร้อน

ฟังเพลงเร็กเก้ ผมกลับนึกถึงคนๆหนึ่ง ที่ผมไม่รู้จัก

Bob Marley...บ็อบ มาร์เลย์ ...ใครหว่า ...นั่นคือคนที่ผมนึกถึง

ผมจำได้แค่ว่าชายคนนี้ เป็น"บุคคลของโลก"

ไม่รู้สิ ..ผมอาจจะอุปาทานไปเองว่าภาพของเขามีติดทุกมุมโลก ถ้ามีภาพที่มีมากกว่าเขา ก็คงเป็นชายชาวคิวบาที่มี"เคราสวย"ที่ชื่อ ”เช กูวารา” ที่ผมคิด(เอง)ว่ามี"ภาพ"มากที่สุดในโลก

ขณะที่ภาพของบ็อบ มาร์เลย์ นอกจากใบหน้าที่"คลาสสิค" ก็น่าจะเป็นสีเขียว เหลือง แดง คล้ายๆสี"ธงชาติจาเมก้า"

แน่นอนว่าวันนี้ สำหรับจาไมก้า ชื่อเสียงของบ็อบ มาร์เลย์ ย่อมเป็น"บุคคลสำคัญ"ที่เชื่อว่าเขาเป็นชาวจาเมก้าที่ดังที่สุดในโลก ด้วยการรังสรรค์เพลง"เร็กเก้"ขึ้นมาสร้าง"สันติภาพ" ให้เกิดขึ้นในโลกนี้

แม้จะไม่ใช่คนแรกที่เล่นเร็กเก้ ...แต่ดนตรีเร็กเก้ น่าจะดังเพราะเขา

บ็อบ มาร์เลย์ เด็กหนุ่มที่มาจากครอบครัวแตกแยก เพราะพ่อเป็น"ราชนาวีชาวอังกฤษ" คือ ร.อ.นอร์วัล มาร์เลย์ แต่เขาและแม่ก็ถูกทิ้งให้อยู่ในสลัมชุมชนคนผิวดำ และที่นั่น เขาถูกปลูกฝังให้"รักคนอื่น" พร้อมๆกับต้องทำมาหากินเพื่อเลี้ยงแม่

วิธีทำมาหากินของเด็กในสลัม ย่อมไม่ใช่การมุ่งเรียนหนังสือเพื่อไปทำงาน แต่หากหมายถึงการหางานทำตั้งแต่เด็ก

และบ็อบ มาร์เลย์ เลือกที่จะ"เล่นดนตรี" หาเลี้ยงครอบครัว..ที่มีเพียงเขาและมารดา

บ็อบ มาร์เลย์ เริ่มเล่นดนตรีอย่างจริงจังในวัยเพียง 15-16

กระทั่งเมื่อายุ 17 เขาก็ได้งานด้วยการร้องในโรงภาพยนต์ เเละใช้เวลาหลังจากเลิกเรียน พัฒนาความสามารถด้านการร้องเพลงเเทนการทำการบ้าน โดยมีนักดนตรีข้างถนนเป็นอาจารย์ โดยเล่นแนวเพลงป๊อปอเมริกันที่เป็นที่นิยมของนักฟังเพลงในสมัยนั้น

ปี 1962 ในวัย 17 เขามีแผ่นเสียงของตนเองออกวางจำหน่าย...ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ดัง

ในช่วงนั้น "เร็กเก้" ยังไม่มีใครรู้จักดี เพราะเป็นช่วง"ร็อค"กำลังฮิต

"เร็กเก้" เป็นจังหวะที่เน้นความสำคัญของกลองเเละเบส การให้จังหวะของกลองเเละเครื่องเป่า จังหวะการเคาะที่เเตกต่างจากจังหวะร็อคคืออยู่ที่จังหวะ 1-3 ไนขณะที่ร็อคอยู่ที่ 2-3 โดยเนื้อหาของบทเพลงเร็กเก้ จะสะท้อนถึงลัทธิรัสตาฟาเรียน เเละ วิพากษ์วิจารณ์สังคมตามมุมมองของชาว รัสตา

รัสตา หรือ Rasta เป็นคำที่ใช้เรียก คนที่หลงใหลในลัทธิ Rastafarianism ซึ่งเป็นลัทธิและปรัชญาความเชื่อที่มีอดีตจักรพรรดิ์ไฮลี เซลาซซี (Haile Selassie) แห่งเอธิโอเปียเป็นองค์ศาสดา แต่กำเนิดในประเทศจาไมกา ในหมู่ชนชั้นแรงงาน ชาวไร่ ชาวนา คนผิวดำ ที่เชื่อว่า อดีตจักรพรรดิ ไฮลี เซลาซซี คือพระเจ้าที่จุติมาเกิดเป็นมนุษย์เพื่อมาปลดปล่อยคนแอฟริกันและคนดำให้พ้นจากความเป็นทาส และนำพวกเขาไปสู่ความยุติธรรมในสังคม

ชาว Rasta หรือผู้ที่หลงใหลดนตรีเร็กเก้ จึงชอบใช้สีเขียว แดง เหลือง เป็นส่วนประกอบของเครื่องแต่งกาย เนื่องจากเป็นสีของธงชาติประเทศเอธิโอเปียนั่นเอง

และภาพของ บ็อบ มาร์เลย์ ที่เราคุ้นตา จึงมีทั้ง 3 สีอยู่ด้วยเสมอ

บ็อบ มาร์เลย์...ไม่ได้หยุดแค่เล่นดนตรีเพื่อสร้างฝัน หากแต่ยังทำจริงจัง

เขาทำให้ดนตรีเร็กเก้ เฟื่องฟูมากที่สุดในทศวรรษที่ 1970 เมื่อตั้งวงชื่อ Bob Marley and the Wailers ขึ้นในปี 1964 และถือเป็นศิลปินเพลงเร็กเก้คณะแรกที่ดังทั่วโลก จากบทประพันธ์เพลงของเขาที่เขียนในมุมมองการเมือง ชีวิต และสังคมที่แหลมคมจนหยั่งถึงจิตวิญญาณ

ในปี 1975 บ็อบและเพื่อนๆ เดินทางไปเปิดการแสดงที่ลอส แองเจลิส และสร้างความตะลึงทั่งอเมริกาจนมีกลุ่มคนรักเร็กเก้ขึ้นขณะที่ฝั่งอังกฤษ ที่แอบอ้างว่าเป็น"ประเทศพ่อ" ก็มีเพลงฮิตคือ No Woman No Cry ในปี 1975 เพลง Jamming ในปี 1977 และ One Love ในปี 1984

และในคอนเสิร์ต One Love ที่จาไมก้า เมื่อวันที่ 22 เมษายน 1978 เขาได้สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการให้ประธานาธิบดี และผู้นำฝ่ายค้าน ขึ้นไปจับมือกันบนเวที ทำให้เขาได้รับรางวัล The United Nations' Peace Medal จากสหประชาชาติในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน

จากนั้น ในปี 1980 เมื่อ"ซิมบับเว" ประเทศเล็กๆที่ชื่อ"โรดีเซีย" ประกาศตัวเป็นประเทศเอกราชลำดับที่ 50 ของทวีปแอฟริกา บ็อบ มาร์เลย์ คือศิลปินที่ได้รับเชิญขึ้นเวทีประกาศอิสรภาพครั้งนั้น


บ็อบ มาร์เลย์..จากโลกนี้ไปเมื่อวันที่ วันที่ 11 พฤษภาคม 1981 ด้วยวัยเพียง 36 ปีเท่านั้น

เขาถูกแพทย์ตรวจพบว่ามะเร็งลุกลามเข้าสู่ปอดและสมอง หลังล้มลงขณะจ็อกกิ้งในเซ็นทรัล ปาร์ค มหานครนิวยอร์ค ในเดือนกันยายน 1980

เมื่อแพทย์ลงความเห็นว่า"ไม่รอดแน่" บ็อบ มาเลย์ ก็อยากจะกลับไปตายที่จาไมก้า แต่การเดินทางไกลทำให้เขาไปไม่ไหว จึงต้องแวะพักที่ไมอามี และที่นั่นคือที่สุดท้ายบนโลกที่เขาหายใจ
อย่างไรก็ตาม แม้ตอนเป็นไม่ได้กลับบ้านเกิด แต่สุดท้าย ศพของบ๊อบ มาร์เลย์ ก็ถูกนำไปฝังบ้านเกิด ที่หลักเก้า ซึ่งเป็นชุมชนคนผิวดำ ในเมืองเชนต์เเอน ซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่อยู่ระหว่างหลักไมล์ที่แปดกับเก้าระหว่างทางมุ่งสู่อัลวา จึงเรียกว่า"ชุมชนหลักเก้า" โดยร่างของเขานอนอยู่ในโลงสีบรอนซ์ สวมเจ็คเก็ตผ้าเดนิม มือขวาวางบนคัมภีร์ไบเบิลที่เปิดกางไว้ที่บท psalm 23 ส่วนมือซ้าย วางอยู่บนกีตาร์ กิ๊บสัน - เลสพอล กีตาร์สีแดงคู่ใจของเขา

วันนี้...ผมคงเลิกถามแล้วว่า "บ็อบ มาร์เลย์ ...ใครหว่า"

เพราะสำหรับชาวเร็กเก้ บ็อบ มาร์เลย์ คือบิดาแห่งเร็กเก้

เพราะสำหรับผู้มีเสรีภาพและสันติภาพอยู่ในใจ บ็อบ มาร์เลย์ คือแรงบันดาลใจชั้นดี

เพราะสำหรับนักท่องเที่ยว บ็อบ มาร์เลย์ เป็นเสมือนสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของจาเมกา

เพราะสำหรับผู้ทำการค้า บ็อบ มาร์เลย์ คือ"แบรนด์"ที่แข็งแกร่งตลอดกาล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น