Yamada Nagamasa วาระซ่อนเร้นในตำนาน ยามาดะ นางามาสะ

21 ส.ค. 2552





เรื่องของนักรบแดนซามูไร ในราชสำนักกรุงศรีอยุธยา ผู้รั้งตำแหน่ง "ออกญาเสนาภิมุข" ถูกนำมาเล่าขานจนเกิดเป็นตำนานปรุงแต่งกันต่อมา

มีการผลิตชื่อ ยามาดะ นางามาสะ ขึ้นในการรับรู้ กระทั่งนำมาสู่ข้อสงสัยในแวดวงวิชาการว่า แท้จริงแล้วนามนี้มีตัวตนจริงหรือไม่

รศ.ดร.พลับพลึง คงชนะ จากสถาบันภาษาศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เปิดเผยข้อมูลจากการค้นคว้าเรื่องดังกล่าวโดยออกตัวว่า ไม่ได้สรุปว่า ยามาดะ นางามาสะ มีตัวตนจริงหรือไม่ แต่ได้รวบรวมงานศึกษาเกี่ยวกับยามาดะ โดยเฉพาะจากเอกสารประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น

"นักวิชาการญี่ปุ่นพูดกันว่า ยามาดะนางามาสะ เป็นปรัมปรานิทานหรือไม่ แล้วบทบาททางการเมืองของออกญาเสนาภิมุขซึ่งมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าหมู่บ้าน ญี่ปุ่นในกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างไรบ้าง"

หนึ่งในข้อสงสัยเกี่ยวข้องกับภาพเขียนเรือสำเภาญี่ปุ่นที่อ้างว่ายามาดะ นากามาสะ ส่งไปถวายศาลเจ้าที่เมืองชิสุโอกะ ใน พ.ศ.2169 ต่อมาภาพนี้ถูกไฟไหม้เมื่อ พ.ศ.2331 ข้อสงสัยก็คือ ภาพที่เห็นในปัจจุบันอ้างว่าลอกจากภาพเดิมก่อนไฟไหม้ แต่ไม่มีการบันทึกเกี่ยวกับภาพเดิมก่อนหน้านี้ ข้อสงสัยอีกประการคือใครเป็นผู้วาดภาพเดิมนี้ที่อยุธยา

ดร.พลับพลึง เผยว่าในจดหมายเหตุต้นฉบับของญี่ปุ่นไม่ปรากฏชื่อและนามสกุลนี้ แต่กลับมีชื่อของ ยามาดะ นิซาเอมอง ซึ่งใน "จดหมายเหตุต่างแดน" ระบุว่าบุคคลดังกล่าวเคยเป็นคนหามเกี้ยวให้แก่ไดเมียวแห่งซุนซู ต่อมาเข้ารับราชการที่สยามอย่างน้อยเป็นเวลาก่อนปีที่ 11 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม และน่าจะดำรงตำแหน่งสำคัญ ดังที่ อิวาโอะ เซอิอิชิ นักวิชาการญี่ปุ่นให้ข้อมูลว่าดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าหมู่บ้านญี่ปุ่นใน ระหว่าง พ.ศ.2163-2173

"พงศาวดารไทยไม่เคยปรากฏชื่อหัวหน้าหมู่บ้านญี่ปุ่นแบบออกนาม มีแต่เรียกตามตำแหน่งออกญาเสนาภิมุข เจ้ากรมอาสาญี่ปุ่น หลักฐานของชาวต่างชาติอื่นๆ ก็ไม่มีเช่นกัน"

ตัวอย่างหลักฐานชาวยุโรป ได้แก่ จดหมายเหตุวันวลิต หัวหน้าคลังสินค้าดัทช์ บันทึกเรื่องราวของออกญาเสนาภิมุขโดยไม่ได้ระบุนาม ว่าเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโค่นล้มราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยาในสมัย นั้น

"พระเจ้าทรงธรรมเป็นพระโอรสของพระเอกาทศรถ พระอนุชาของสมเด็จพระนเรศวรฯ พระองค์อยากให้ราชบุตรตนเองเป็นกษัตริย์ต่อ โดยมีขุนนาง 2 กลุ่มสนับสนุนการขึ้นครองราชย์ ฝ่ายแรกคือออกญากลาโหมสนับสนุนให้พระอนุชาของพระเจ้าทรงธรรมคือพระศรีศิลป์ ได้ครองบัลลังก์ตามกฎมณเฑียรบาล

แต่อีกฝ่ายนำโดยออกญาศรีวรวงศ์เห็นว่าควรให้พระราชโอรสได้ครองบัลลังก์ จึงไปเกลี้ยกล่อมออกญาเสนาภิมุขเข้าพวก"

ดร.พลับพลึง ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุที่กองอาสาญี่ปุ่นซึ่งมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับอาสาจาม มอญ แต่กลับถูกเกลี้ยกล่อมให้เข้าพวกจากขุนนางทั้งสองฝ่าย

น่าจะเป็นเพราะกองอาสาญี่ปุ่นมั่งคั่งร่ำรวยและคุมทหารที่มีประสิทธิภาพ สถานภาพของออกญาเสนาภิมุขจึงเป็นตัวแปรสำคัญ

ในที่สุดออกญาเสนาภิมุขเข้าฝ่ายออกญาศรีวรวงศ์ สถาปนาพระโอรสขึ้นครองราชย์ เฉลิมพระนามเป็นสมเด็จพระเชษฐาธิราช (พ.ศ.2171-2172)

ด้วยความดีความชอบนี้ ออกญาศรีวรวงศ์ได้รับปูนบำเหน็จเป็นออกญากลาโหมแทนคนก่อน ส่วนออกญาเสนาภิมุขได้เลื่อนยศเป็นออกญาในที่สุด

ทว่าเมื่อทำการสำเร็จออกญาเสนาภิมุขอาจกลายเป็นเสี้ยนหนามสำหรับออกญา กลาโหม ออกญาเสนาภิมุขจึงถูกส่งตัวมาดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ต่อมาออกญากลาโหมได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ.2172-2199)

ขณะที่ฝ่ายเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชหรือออกญาเสนาภิมุขต้องเผชิญกับการต่อ ต้านจากกลุ่มเจ้าเมืองเก่าและชาวนครศรีธรรมราช ทั้งยังต้องสู้รบกับปัตตานี จนกระทั่งสิ้นชีวิตที่นั่น

ภายหลังเชื่อกันว่ากระดูกของออกญาเสนาภิมุขถูกเก็บไว้ในเจดีย์แห่งหนึ่งใน วัดพระศรีมหาธาตุ พร้อมกับความทรงจำเกี่ยวกับ "ญี่ปุ่นหัวโกน" ในเพลงกล่อมเด็กของชาวนคร

"ชื่อยามาดะน่าจะเป็น Myth ที่ถูกใช้ เช่น ในสมัยเมจิ มีการกล่าวถึงยามาดะในดินแดนที่อยู่ตอนใต้ ก็เป็นเพราะญี่ปุ่นอยากขยายอิทธิพลลงทางใต้แต่ไกล เลยต้องสร้างตำนานขึ้นมารองรับ ต่อมาสมัยสงครามโลกครั้งที่สองก็ใช้ตำนานนี้เช่นกัน เพราะทำให้ญี่ปุ่นมีกำลังใจว่าทางตอนใต้มีชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งเคยเป็นใหญ่ ในตำราเรียนระดับมัธยมของญี่ปุ่นก็มีเรื่องเกี่ยวกับ ยามาดะ นางามาสะ ที่ล้วนเป็นตำนานเกินเลยข้อเท็จจริงทั้งสิ้น"

ตำนานเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละสมัย จนถึงวันนี้ตำนานเรื่องเดียวกัน ถูกใช้เพื่อสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว ทั้งในอยุธยาและนครศรีธรรมราช รวมถึงถูกใช้ในกลุ่มนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น