นายเจริญ เดชเกิด
9 ก.ค. 2552
เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (4 มี.ค.52) ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาปัญหานมโรงเรียนไม่มีคุณภาพ โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง อาทิ
นายเจริญ เดชเกิด ตัวแทนผู้ประกอบการส่งนมรายใหญ่ในโซน 2 ภาคใต้
นายวิศวะ คงแก้ว ผอ.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร
นายสมศักดิ์ จันทร์รุ่ง ตัวแทนกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น
นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนกรมสรรพากร
ตัวแทนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ.)
ตัวแทนผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา
ตัวแทนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้าร่วมสังเกตการณ์
ภายหลังการประชุม นายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ พร้อมนายสุวโรช พะลัง ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ ร่วมกันแถลงข่าว โดยนายประชา กล่าวว่า ที่ประชุมพิจารณาถึงปัญหาไม่ได้มาตรฐาน พบหลักฐานการจัดส่งนมโดยเฉพาะนมผงขาดมันเนยที่นำเข้ามาในประเทศสำหรับเลี้ยงสัตว์ ที่นำเข้าเกินความจำเป็น เชื่อว่าส่วนที่เกินจะนำไปแปรรูปเป็นส่วนผสมของนมโรงเรียน ทำให้นมโรงเรียนขาดคุณภาพ โดยจะสรุปข้อมูลนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในวันที่ 5 มี.ค.นี้ พร้อมส่งข้อมูลให้ดีเอสไอ ป.ป.ช. ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ติดตามเส้นทางของเงินเพื่อหาผู้ที่อยู่เบื้องหลังต่อไป
ด้านนายสุวโรช กล่าวว่า เท่าที่ตรวจสอบนายเจริญ ไม่ยอมเอ่ยพาดพิงถึงนักการเมืองหรือผู้อยู่เบื้องหลัง แต่เชื่อว่ามีนักการเมืองอยู่เบื้องหลังแน่ อย่างไรก็ตาม ขอขอบคุณที่นายเจริญ ผู้รับสัมปทานเอเยนต์รายใหญ่ภาคใต้ ไที่กล้ามาชี้แจงด้วยตัวเอง ถือเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ มาแรง มีทั้งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ภูเก็ต ธุรกิจโรงเบียร์ ธุรกิจร้านอาหาร จึงเป็นบุคคลที่น่าจับตามองเป็นพิเศษ
ทั้งนี้ ที่ประชุมซักถามถึงขั้นตอนการจัดส่งน้ำนมจากสหกรณ์โคนมหนองโพธิ์ ราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์) มายังวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร ได้ความว่า นายเจริญ ทำสัญญาร่วมค้ากับวิทยาลัยเกษตรฯ และเป็นคนลงทุนสร้างโรงงาน จัดหาเครื่องจักร และป้อนวัตถุดิบให้กับวิทยาลัยดังกล่าว โดยที่วิทยาลัยดังกล่าวไม่ต้องทำอะไรเลย แต่ได้ส่วนแบ่ง 12 สตางค์ต่อถุง ทั้งๆ ที่ราคากลางอยู่ 5-6 บาทต่อถุง ดังนั้นส่วนที่เหลือนายเจริญ จึงรับไปคนเดียว และขั้นตอนการรับเงิน ทางอบต.จะสั่งจ่ายเช็คในนามของวิทยาลัยเกษตรฯ และนายเจริญ จะไปรับเงินจากวิทยาลัย ซึ่งทางวิทยาลัยได้หักส่วนแบ่งไว้เรียบร้อยแล้ว โดยนายเจริญ ยอมรับว่าไม่ได้มีการเสียภาษี และทางวิทยาลัยก็ไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายเช่นกัน
นายสุวโรช กล่าวต่อว่า นายเจริญ ยอมรับกลางที่ประชุมว่าได้รับสัมปทานส่งนมโรงเรียน 3 แห่งในภาคใต้ โดยทำร่วมกับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร วิทยาลัยเทคโนโลยีศรีวิชัย นครศรีธรรมราช และที่ จ.สงขลา และจากการตรวจสอบพบว่านายเจริญ น่าจะเลี่ยงภาษีในช่วง 2 ปี เป็นเงินเกือบพันล้านบาท ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่กรมสรรพากรจะต้องไปดำเนินการต่อไป โดยขบวนการหลบเลี่ยงภาษีอ้างว่าเป็นการลงทุนกับทางวิทยาลัย ที่เป็นการลงทุนเพื่อการเกษตร ทำสัญญากัน 10 ปี ซึ่งนายเจริญก็ยอมรับทุกขั้นตอน และเป็นที่น่าสังเกตด้วยว่านายวิศวะ เป็นอาจารย์เก่าของนายเจริญ และมีส่วนร่วมในการให้เจริญ หลีกเลี่ยงภาษี การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดในเรื่องฮั้ว ซึ่งจะส่งให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ
นอกจากนี้ยังพบพฤติกรรมของนายเจริญ ช่วงที่ผ่านมาว่าเคยถูกดำเนินคดีในข้อหาปลอมแปลงเอกสารเบิกเงิน 280 ล้านบาทมาใช้ แต่ปรากฎว่ามีการยอมความกัน โดยนายเจริญ ยอมจ่ายค่าเสียหายให้กับสหกรณ์โคนมเพิ่มอีก 900,000 บาท เป็นที่น่าสังเกตว่าเรื่องนี้เป็นความผิดอาญา ไม่สามารถยอมความกันได้ แต่เหตุใดมีการยอมความกันง่าย น่าจะมีเบื้องหน้าเบื้องหลังหรือไม่ และนำไปสู่การจัดโผ 68 บริษัทในการได้รับสัมปทานจัดส่งนมโรงเรียน
"นายเจริญ ถือเป็นเจ้าพ่อนมในยุทธจักร แม้ยอมรับว่าไม่ได้เสียภาษี แต่ถือเป็นผู้บริสุทธิ์ แค่อยู่ในข่ายผู้ต้องสงสัย ตอนนี้พูดภาษาชาวบ้านว่า เราจับโจรได้แล้ว ส่วนจะมีใครหรือมีนักการเมืองอยู่เบื้องหลังหรือไม่ให้ดูจากมติ ครม.วันที่ 30 พ.ย. 2548 จะรู้ว่าใครอยู่เบื้องหน้าเบื้องหลัง ใครเป็นคนเสนอเข้า ครม." นายสุวโรช กล่าว
นายสุวโรช กล่าวด้วยว่า ปัญหาในขณะนี้ จากข้อมูลของกรมศุลกากรชี้ชัดว่ามีการนำเข้านมผง ขาดมันเนยมากเกินความจำเป็น ซึ่งอาจมีการนำไปผลิตเป็นนมผงให้เด็ก จึงอยากให้รัฐบาลตรวจสอบนมที่เหลืออยู่ในสต็อกด้วย
วันเดียวกัน พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจาก พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีดีเอสไอ ให้เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตรวจสอบกรณีทุจริตจัดซื้อนมโรงเรียนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เบื้องต้นพบพฤติการณ์เข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือฮั้วประมูล จึงส่งชุดสืบสวนลงพื้นที่รวบรวมหลักฐานดำเนินคดีในหลายจังหวัด นอกจากนี้จะเร่งตรวจสอบร่องรอยการเงินและการรับผลประโยชน์ต่างๆ ของกลุ่ม บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการประมูลจัดซื้อนมโรงเรียน รวมถึงการทำธุรกรรมการเงินต่างๆ ของผู้ประกอบการจำหน่ายนมโรงเรียนทั้ง 68 แห่ง
ด้าน พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ ดีเอสไอ กล่าวว่า ได้ส่งชุดสืบสวนลงพื้นที่ จ.ชุมพร เพื่อรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับการจัดซื้อนมโรงเรียน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ จึงจะสรุปข้อเท็จจริงในเบื้องต้นได้
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น