ไผ่ ดาวดิน หรือ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา

9 พ.ค. 2562
10 พฤษภาคม 2562

ไผ่ ดาวดิน หรือนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา  

บัณฑิตย่างวัย 28 จากรั้วมหาวิทยาลัยขอนแก่น นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย เจ้าของรางวัลสิทธิมนุษยชนกวางจูปี 2560 (2017년 광주인권상 수상자/2017年 光州人權賞 受賞者) ผู้ถูกตัดสินจำคุกในฐานความผิดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ได้รับการอภัยโทษและปล่อยตัวเช้าวันที่ 10 พ.ค.2562 จากทัณฑสถานพิเศษบำบัดจังหวัดขอนแก่น หรือก่อนกำหนดพ้นโทษจริงเพียง 39 วัน หลังจากใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำเกือบ 870 วัน

ภายหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ไผ่ต้องถูกคุกคามกับความไม่เป็นธรรมในนามของกฎหมายนับครั้งไม่ถ้วน เช่นการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มกับเพื่อนเพื่อปราศรัย ชูป้ายผ้า หรือเพียงแค่แจกเอกสาร ถูกดำเนินคดีในฐานะก่อความไม่สงบเรียบร้อย ยุยงปลุกปั่น เป็นภัยความมั่นคงของชาติ รวมแล้วไม่น้อยกว่า 6 คดี

22 ธันวาคม 2559 คือวันที่ ไผ่ ดาวดิน ต้องสิ้นอิสรภาพ เพราะถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากกรณีการแชร์บทความของสำนักข่าวบีบีซีไทยเกี่ยวกับพระราชประวัติรัชกาลที่ 10

ผู้เข้าแจ้งความดำเนินคดี คือ" เสธ.พีท "พ.ท. พิทักษ์พล ชูศรี" หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษ มณฑลทหารบกที่ 23 ซึ่งมีเรื่องอื้อฉาวกรณีแห่ขันหมากสู่ขอลูกสาวเศรษฐีค้าอาหาร ทะเลขอนแก่น ปิดถนนมิตรภาพเหลือ 1 เลน ทำรถติดนับสิบกิโลเมตร

ไผ่ถูกจับกุมตัวที่จังหวัดชัยภูมิเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2559 ขณะกำลังร่วมขบวนธรรมยาตรา กับพระไพศาล วิสาโล นักสิ่งแสดวดล้อม ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แสดงหมายจับที่ออกโดยศาลจังหวัดขอนแก่น

แม้ว่า ข่าวชิ้นเดียวกันนี้จะมีคนแชร์มากว่า 2,400 แชร์ แสดงความเห็นกว่าพันรายก็ตาม แต่ระบอบอำนาจ คสช.กลับเลือกปฏิบัติ ดำเนินคดีเฉพาะนักกิจกรรมที่ต่อต้านรัฐบาล โดยมีไผ่เป็นรายแรกที่ถูกดำเนินคดี

นอกจากนี้ ไผ่ยังถูกเพิกถอนสิทธิในการประกันตัวจากการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ ซึ่งศาลมองว่าเขามีท่าที "เย้ยหยันอำนาจรัฐ"

ไผ่กล่าวหลังศาลมีคำพิพากษาตัดสินลงโทษจำคุกเขาเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งจำเลยรับสารภาพ และได้ลดโทษครึ่งหนึ่งเหลือ 2 ปี 6 เดือน ว่า “ผมสู้เต็มที่แล้ว ทั้งสู้กับตัวเอง สู้กับทุกอย่าง ก็สู้ได้แค่นี้"

ต้นปี 2560 มูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก (5·18기념재단/May 18 Memorial Foundation) ผู้ก่อตั้งรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ระลึกเหยื่อที่เสียสละเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่เมืองกวางจู เกาหลีใต้ ในปี 1980 ได้ติดตามผลงานและการสืบสานเจตนารมณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของไผ่มาตลอด จึงตัดสินใจมอบรางวัลกวางจูให้แก่ไผ่ ซึ่งเขาเป็นเจ้าของรางวัลที่อายุน้อยที่สุด และเป็นคนไทยคนที่สองที่ได้รับเกียรติสำหรับรางวัลนี้ ต่อจากนักสิทธิมนุษยชนสตรีไทย"อังคณา นีละไพจิตร"ซึ่งเคยได้รับในปี 2006

(ภาพข่าว สงวน คุ้มรุ่งโรจน์)

ที่มา Facebook Sa-nguan Khumrungroj

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น