10 ขั้น สู่สุดยอด “ทวีต”
นิวยอร์ก 24 มี.ค. 2552, คุณกาย คาวาซากิ (Guy Kawasaki) นักการตลาดชื่อดังที่เป็นทั้ง MD ของบริษัทลงทุนทางด้านเทคโนโลยีในอเมริกา และคอลัมน์นิสต์ของนิตยสาร Entrepreneur magazine ผู้ซึ่งครองอันดับหนึ่ง ในสังคมออนไลน์ขนาดเล็กที่ชื่อ ทวิตเตอร์
(Twitter)ด้วยจำนวนผู้ติดตามความเคลื่อนไหวของเขา (followers) กว่า 91,000 คน ไม่เพียงแต่ชื่อของเขาเท่านั้นที่เป็นที่รู้จัก เว็บไซต์รวมข่าวสารที่เขาเพิ่งเปิดตัวขึ้นมาที่ชื่อ alltop.com ก็นับว่าเป็นเว็บไซต์ที่ประสบความสำเร็จจากการใช้ช่องทางการประชาสัมพันธ์ผ่านทวิตเตอร์ด้วยเช่นเดียวกัน
กายกล่าวไว้ในงานสัมมนา Search Engine Strategies ว่า “บนทวิตเตอร์นั้น ทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ว่าสตีฟจ๊อบส์ หรือ อินเตอร์เน็ตยูสเซอร์โนเนม ก็พิมพ์ได้แค่ 140 ตัวอักษรเท่ากัน” ก่อนที่จะแบ่งยุคของการตลาดออนไลน์ออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ (1) การตลาดออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ (2) เน้นไปที่บล็อก และ (3) คือทวิตเตอร์ นั่นเอง
กายยังได้เปิดเผยถึงกลยุทธ์ 10 ข้อ เพื่อความสำเร็จในการใช้ทวิตเตอร์ (Kawasaki’s 10 Steps to Twitter Success) ได้แก่
1. ถิ่นของโนเนม: ทวิตเตอร์เป็นที่สำหรับการที่คุณจะหาคนในสังคมที่โนเนมแต่ชอบในสิ่งที่คุณทำ เป็นการเปล่าประโยชน์หากคุณจะตั้งเป้าให้คนที่มีชื่อเสียง (บนทวิตเตอร์) มาเขียนเกี่ยวกับเรื่องของคุณ คุณไม่รู้หรอกว่า ใคร ในสังคมทวิตเตอร์ที่จะสนใจในสิ่งที่คุณทำแล้วกลายเป็นคนที่บอกต่อเรื่องเหล่านั้นให้คุณ
2. ไม่เจาะจง: กระจายเรื่องราว ข่าวสาร ออกไปให้กว้างที่สุด อย่าหยุดอยู่เพียงสังคมที่คุณใกล้ชิด มันเป็นเรื่องของการทำให้คุณมีผู้ติดตามมากๆ (followers) เพราะตัวเลขเป็นเรื่องสำคัญ
3. รู้จักตามคนที่เขาตามคุณ: ในขณะที่ กาย มีคนตามถึง 91,000 คน ตัวเขาเองก็ตามคนถึง 97,000 คนเช่นกัน กายได้กล่าวไว้ว่า “ผมคิดว่ามันเป็นการไม่สมควรที่ตัวเราจะคิดว่าเรานั้นมีคุณค่าแก่การ ‘ตาม’ ของคนอื่น แต่ในทางกลับกัน คนอื่นนั้นไม่สำคัญสำหรับเรา (ถ้าเราไม่ ‘ตาม’ เขากลับ)” “ผมไม่ต้องการสื่อสารออกไปในลักษณะที่ว่า ผมมีคนมาตามถึง 91,000 คน แต่ตัวเองกลับ ‘ตาม’ คนอื่นแค่ 50 คน มันก็สะท้อนว่าข้อความของเรานั้น จะมีผลกับคนเพียงแค่ 50 คนเช่นกัน” นอกจากนั้น การที่เรา “ตาม” กลับคนที่เขามา “ตาม” เรานั้น ยังทำให้เขาสามารถส่งข้อความส่วนตัว (Direct message) มาหาคุณได้ด้วย “สิ่งที่เราควรทำก็คือเปิดช่องทางการสื่อสารให้กว้างมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” กายกล่าว
4. วัดความสำเร็จด้วย รีทวีต: การ รีทวีต (ตัวย่อ RT ข้างหน้าข้อความในทวิตเตอร์) คือการบอกต่อ ข้อความที่เราสนใจซ้ำ โดยให้เครดิตกับผู้ที่เป็นคนสร้างข้อความนั้นขึ้นมาด้วย การรีทวีตนั้นนอกจากเป็นเอกลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของทวิตเตอร์แล้ว ยังเป็นการชื่นชมอย่างจริงใจจากผู้ที่ รีทวีต ว่าเขานั้น สนใจในสิ่งที่คุณเขียนจริงๆ (ผู้แปล: สรุปว่า ถ้าขอความของคุณมีคน รีทวีตมากๆ ก็แสดงว่าประสบความสำเร็จนั่นเอง)
5. ทำตามอย่าง: กายได้ยกตัวอย่างแบรนด์ดังๆ อย่าง คอมคาสท์ (@Comcast_Cares) และเจ็ทบลู (@jetblue) เป็นตัวอย่างที่ดีขององค์กรที่มีการสร้างทวิตเตอร์ของตัวเอง คนที่อยู่เบื้องหลังทวิตเตอร์ขององค์กร ไม่ใช่ CEO หรือผู้บริหาร แต่เป็นพนักงงานคนหนึ่ง สิ่งที่นำมากระจายผ่านทวิตเตอร์ขององค์กร ไม่ใช่โฆษณา แต่เป็นเรื่องน่าสนใจต่างๆ ที่องค์กรนั้นทำ เป็นตัวอย่างที่ดีที่องค์กรอื่นๆ ควรทำตาม มีเว็บไซต์ที่ชื่อ trebs.com ที่รวบรวมธุรกิจต่างๆ ที่มีทวิตเตอร์เป็นของตัวเองด้วย
6. ใช้การค้นหา: กายยกตัวอย่างคนที่ใช้ฟีเจอร์การค้นหาบนทวิตเตอร์แล้วนำไปสู่การปิดการซื้อขายได้สำเร็จ สิ่งที่คุณควรทำคือ ลองค้นดูในทวิตเตอร์ว่า คนอื่นๆ เขาพูดอะไรเกี่ยวกับแบรนด์ของคุณบ้าง รวมไปถึงคีย์เวิร์ดสำคัญๆ เกี่ยวกับธุรกิจของคุณ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามในการติดตามด้วยเช่นกัน
7. เลือกใช้เครื่องมือให้เหมาะ: กายใช้โปรแกรม ชื่อ TweetDeck ที่ช่วยให้สามารถดูข้อความหลายๆ แบบได้สะดวก กายกล่าวว่ามีโปรแกรมเสริมมากมายที่ช่วยให้ผู้คนได้ทวีตอย่างสะดวกสบายตามใจ CoTweet เป็นอีกโปรแกรมหนึ่งที่บริษัทหลายแห่งชอบในความสามารถใช้ทวิตเตอร์พร้อมกันหลายๆ แอคเคาท์ของมัน (ผู้แปล: โปรแกรม Twiterrific เหมาะมากสำหรับผู้ใช้ไอโฟน สามารถถ่ายรูปได้อย่างสะดวกสบาย)
8. เสี่ยงอย่างเหมาะสม: ถ้าคุณอยากประสบความสำเร็จบนทวิตเตอร์ก็ต้องกล้าเสี่ยงบ้าง กายกล่าวว่า คนจำนวนหนึ่งก็คิดว่าสังคมออนไลน์ (social network) นั้นไม่เหมาะสำหรับใช้ทำการตลาด “แต่ผมไม่เคยยึดถือข้อจำกัดนั้น” กายกล่าว ยังมีประเด็นที่มีคนถกเถียงกันถึงความเหมาะสมในการใช้ทวิตเตอร์ เช่น เรื่องของ twitterverse ที่เกี่ยวกับระบบตอบข้อความโดยอัตโนมัติ ว่ามันเป็นสแปมหรือเปล่า รวมไปถึงโปรแกรมอย่าง TwitterHawk ที่จะจับคีย์เวิร์ดที่คุณสนใจ แล้วส่งข้อความออกไปที่เกี่ยวกับสินค้าของคุณและคีย์เวิร์ดนั้น เช่น ถ้ามีคนพูดกันถึงเรื่องกีฬา (sport) ก็จะส่งข้อความออกไปอัตโนมัติว่า “สนใจเรื่องกีฬามาดูที่ alltop.com สิ” (ผู้แปล: เว็บไซต์ข่าวหลายๆ แห่งของไทย ก็มีการส่งข้อความทวิตเตอร์ออกไป เมื่ออัพเดทเนื้อหาบนเว็บ เช่นกัน)
9. ทำทุกอย่างให้แชร์ง่ายๆ: “ผมแนะนำให้เว็บหรือบล็อกของคุณ ติดตั้งปุ่ม แชร์ไปยังเฟสบุ้ค แชร์ไปยังทวิตเตอร์ คุณไม่รู้หรอกว่าวันวันหนึ่งมีคนใช้งานปุ่มพวกนี้เท่าไร” กายกล่าว และด้วยการใช้งาน TwitterFeed ทำให้คุณสามารถจะรีทวีตข้อความที่ “คนอื่นที่คุณสนใจ” เขาส่งออกมา กายยกตัวอย่างมีคนจำนวน 590 คน (ฮาร์ดคอร์-ทวิตเตอร์) ที่ตั้งโปรแกรมให้รีทวีตสิ่งที่เว็บ alltop.com ของเขาส่งออกมา ต้องยอมรับว่าคนที่ทำอย่างนี้ อาจจะได้รับเมลต่อว่า ว่ารบกวนผู้อื่นด้วยข้อความเชิงสแปม แต่เหล่าฮาร์ดคอร์เหล่านั้นบอกกับกายว่า การที่เขาตั้งให้รีทวีตข้อความของ alltop.com โดยอัตโนมัตินั้น ทำให้เขามีการสนทนากับคนอื่นมากขึ้น เพราะมันน่าสนใจว่าสิ่งที่เขาทวีตด้วยตัวเอง
10. ทนแสบบ้าง: ถ้าคุณใช้ทวิตเตอร์เป็นเครื่องมือ ก็อาจต้องเผชิญกับภาวะแสบๆ คันๆ บ้าง กายได้ตั้งชื่อกลุ่มคนที่ไม่ชอบการกระทำของเขาบนทวิตเตอร์ว่า ยูเอ๊ฟเอ็ม (UFM – unfollow me) ซึ่งย่อมาจากคำที่หมายความว่า “ไม่ต้องมาตามฉัน” คนเหล่านี้จะพูดว่า กายไม่ได้ใช้ทวิตเตอร์อย่างถูกวิธี หรือ กายเป็นนักส่งสแปม
คนเหล่านี้บอกว่าทวิตเตอร์นั้นมีไว้สำหรับเรื่องเล่นๆ สบายๆ ในชีวิตประจำวันเช่น การเล่นกับหมาแมว หรือ สิ่งที่คุณคิดขณะนั่งอยู่ที่ร้านสตาร์บัคส์ “ผมทำในรูปแบบที่ต่างออกไป แบบสุดโต่ง ซึ่งผมก็ได้รับการไม่เห็นด้วย และการต่อว่าบ้าง แต่หากไม่ใช่เพราะการใช้ทวิตเตอร์ของเขาแบบนี้ แบรนด์ของเขาก็คงไม่เกิดขึ้นอย่างทุกวันนี้” กายกล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น