อภินันท์ บัวหภักดี

1 พ.ค. 2553
คัดจาก นิตยสารสารคดี


ปีที่ 12 ฉบับที่ 140 ประจำเดือนตุลาคม 2539

อภินันท์ บัวหภักดี อดีตนักศึกษาที่ถูกกล่าวหาว่าแสดงละครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เนื่องจากภาพที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์บางฉบับมีใบหน้าคล้ายองค์รัชทายาท จนกลายเป็นชนวนสำคัญของเหตุการณ์

6 ตุลา 19

เขาเป็น 1 ใน 19 ผู้ต้องหาจากเหตุการณ์ 6 ตุลา 19

ปัจจุบันเขาเป็นนักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร อสท.

“เหตุการณ์นี้เป็นอุบัติเหตุในชีวิตที่เราบังเอิญเดินผ่านชุมนุมนาฏศิลป์และการละครในเช้าวันนั้น แต่ไม่ใช่อุบัติเหตุทางการเมืองแน่นอน เพราะเหตุการณ์ทุกอย่างเกิดขึ้นและจบลงอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่ชั่วโมง”

อภินันท์ บัวหภักดี ย้อนอดีตเหตุการณ์การแสดงละครเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2519 ณ ลานโพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“ผมเป็นนักกีฬามหาวิทยาลัย กิจกรรมที่ทำส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมเกี่ยวกับกีฬา แต่ผมก็มีเพื่อนที่ทำกิจกรรมอยู่ใน อมธ. และชุมนุมต่าง ๆ ทุกวันเราจะเห็นเพื่อนเขียนโปสเตอร์ เขียนบอร์ด ถ้าผมว่างก็ไปช่วย และตอนนั้นเราก็เหมือนเพื่อนปีหนึ่งด้วยกันที่อยากเข้ากับชุมนุมอะไรซักชุมนุม ก็ตัดสินใจเข้าชุมนุมนาฏศิลป์และการละคร ผมชอบเล่นละครมาก แต่เล่นไม่เก่ง ทำอยู่พักหนึ่งก็รู้ว่าตัวเองไม่ไหวแล้ว พอดีช่วงนั้นมีวงดนตรีต้นกล้า ผมเป่าขลุ่ยเก่งก็เลยเปลี่ยนจากเล่นละครมาเล่นดนตรี

พอพระถนอมกลับมาก็มีการคุยกันในศูนย์กลางนิสิตฯ เพื่อจะจัดกิจกรรมประท้วงการกลับมาของพระถนอม ศูนย์กลางนิสิตฯ จะส่งแนวคิดลงมายังชุมนุมต่าง ๆ ว่า ทำอย่างไรที่จะให้นักศึกษาหยุดเรียนเพื่อมาประท้วงการกลับมาของพระถนอม สำหรับชุมนุมนาฏศิลป์ฯ ก็คิดกันว่าจะจัดการแสดงขึ้นในวันที่นักศึกษาปีที่ 1 หยุดสอบ เพราะถ้าทำให้นักศึกษาปีที่ 1 หยุดสอบได้ จะทำให้นักศึกษาทั้งหมดหยุดสอบไปโดยปริยาย”

ดังนั้นชุมนุมนาฏศิลป์ฯ จึงร่วมกันคิดละครขึ้นมาชุดหนึ่ง ในตอนแรกมีพล็อตเรื่องเพียงเรื่องเดียวซึ่งไม่เกี่ยวกับการแขวนคอ

“พล็อตเก่าเป็นละครเรื่องหนึ่ง จำลองภาพเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลา ที่นักศึกษาประท้วงแล้วถูกยิงตายกันเยอะ พล็อตนั้นก็ให้นักศึกษาทำเป็นนอนตายเต็มลานโพ มีคนตายเรียงอยู่ตามขั้นบันไดทางขึ้นตึกศิลปศาสตร์ (ตึกที่นักศึกษาปีที่ 1 ใช้สอบ) มีคนแต่งตัวเป็นพระถนอมและลูกศิษย์ ทำเป็นเดินวนเวียนอยู่บริเวณที่มีคนนอนตาย แล้วพระถนอมก็พูดพล่ามอยู่ตลอดเวลาว่า อาตมาขอบิณฑบาตอีกสักสี่ห้าสิบศพนะ ส่วนภาพที่เป็นหลักคือ ภาพนักศึกษาคนหนึ่งกำลังขึ้นไปสอบ นักศึกษาจะต้องเดินข้ามคนตายไปทีละคน ๆ ระหว่างที่เดินขึ้นบันได คนที่นอนอยู่จะถามว่า “คุณจะไปไหน” นักศึกษาก็ตอบว่า “จะขึ้นไปสอบ” คนที่นอนอยู่ก็บอกว่า ถ้าจะขึ้นไปสอบก็ต้องข้ามศพคนพวกนี้ไปก่อน ในขณะเดียวกันกับพระถนอมก็บิณฑบาตขอศพไปเรื่อย ๆ แล้วก็มาถึงไคลแมกซ์ นักศึกษาคนนั้นจะค่อย ๆ เดินไป ตัวสั่นไป ฉากจบคือ นักศึกษาทิ้งหนังสือ ไม่ไปสอบแล้ว”

ส่วนพล็อตที่ 2 เป็นพล็อตที่นำมาจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อคืนวันที่ 24 กันยายน เป็นพล็อตที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าจะเป็นชนวนของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนี้

“พล็อตที่ 2 คิดขึ้นได้จากเหตุการณ์ฆ่าแขวนคอช่างไฟฟ้าจังหวัดนครปฐมที่ไปติดโปสเตอร์ต่อต้านการกลับมาของพระถนอม พอกลางคืนวันนั้นชมรมนาฏศิลป์ฯ ก็คิดพล็อตกันเลย สาเหตุที่เล่นเรื่องแขวนคอ เพราะต้องการให้เห็นภาพความโหดร้ายของพระถนอม ที่กลับมาไม่ทันไรก็มีคนถูกแขวนคอ เป็นภาพที่สะเทือนขวัญก็เลยเอามาแสดง พอคิดเสร็จก็ลองเอาเฮียวิโรจน์ (วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์) ขึ้นไปแขวนดู”

แล้วอุบัติเหตุในชีวิตของเขาก็เกิดขึ้น เมื่อเขาบังเอิญเดินผ่านชุมนุมนาฏศิลป์ฯ ในเช้าวันที่ 4 ตุลาคม

“วันนั้นผมนักเพื่อนที่ชมรมวอลเลย์จะไปดูหนังเรื่อง “ยุทธภูมิมิดเวย์” ด้วยกัน ตั้งใจว่าจะไปดูรอบเช้า นั่งรอเพื่อนอยู่นานเพื่อนก็ไม่มาสักที เราก็ไม่รู้จะทำอะไร เลยเดินเล่น เห็นเขากำลังจับเฮียแขวนอยู่ใต้ต้นไม้ รู้สึกน่าสนุกดี พอปลดเฮียลงมาเฮียก็บ่นว่าเจ็บ ก็เลยต้องหาคนอีกคนเอาไว้สลับ บังเอิญผมเดินขึ้นไปตอนเขากำลังบ่นว่าเจ็บพอดี สักพักหน่อย (อนุพงศ์ พงศ์สุวรรณ) ก็ออกมาบอกว่าให้ผมช่วยหน่อย เพราะคนที่ขึ้นไปแขวนจะต้องตัวเล็ก ๆ ตอนนั้นน้ำหนักผมประมาณ 50 กิโลเท่านั้น เราว่างอยู่ไม่รู้จะทำอะไรแล้ว ก็ตัดสินใจเดี๋ยวนั้นเลย

รู้ตัวว่าเป็นนักแสดงตอนสิบเอ็ดโมง แล้วต้องแสดงก่อนนักศึกษาเข้าสอบบ่ายโมง จึงมีเวลาเตรียมตัวนิดเดียว เขาก็ให้ไปหาเสื้อมาใส่ เราก็ไปค้นจากกองเสื้อที่ใช้เล่นละคร ก็ได้เสื้อ รด. สีคล้ำ ๆ ซึ่งเข้าชุดกับกางเกงสีเขียวที่เรานุ่งอยู่ หลังจากนั้นจึงให้เพื่อนชื่อต้อที่อยู่วงดนตรีกงล้อมาแต่งหน้าให้ โดยแต่งให้เหมือนกับคนถูกซ้อม พอแต่งหน้าเสร็จก็ออกไปแสดงเลย ตอนนั้นเขาเตรียมบทอะไรเราก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าพอเฮียวิโรจน์เจ็บ ก็จะเปลี่ยนให้เราขึ้นไปแขวนแทน จำได้ว่าขึ้นไปแขวนสองสามเที่ยว ละครที่เล่นไม่มีบทพูด เป็นการแสดงภาพเฉย ๆ คนที่เดินผ่านไปมาเขาจะรู้ว่าเราต้องการสื่ออะไร และมีคนคอยพูดโทรโข่งอยู่ด้านล่าง ชักชวนให้นักศึกษาเข้าร่วมชุมนุม ตอนนั้นไม่มีใครพูดว่าหน้าเหมือนใครเลย”

ระหว่างเล่นละคร ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีในขณะนั้น ได้ลงมาขอร้องให้นักศึกษาเลิกแสดงละคร เนื่องจากถึงเวลาที่นักศึกษาต้องเข้าสอบ แต่มีนักศึกษาเข้าห้องสอบน้อยมาก ในที่สุดมหาวิทยาลัยจึงประกาศงดสอบ

“ตอนแรกอาจารย์ป๋วยก็ลงมาห้าม บอกว่าให้เลิกได้แล้ว แต่ท่านก็ทำอะไรไม่ได้ ตอนนั้นอาจารย์ป๋วยน่าสงสารที่สุดเพราะถูกบีบจากทั้งสองฝ่าย อาจารย์ป๋วยเปิดโอกาสให้ทำตามสิทธิตามปรัชญาของท่านว่ามหาวิทยาลัยจะต้องมีเสรีภาพ ท่านก็ไม่ได้คัดค้านพวกเรา แต่ท่านต้องทำตามหน้าที่”

หลังจากเล่นละครเสร็จตอนบ่ายสามโมง อภินันท์ก็มุ่งหน้ากลับบ้านโดยไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมประท้วงที่ศูนย์กลางนิสิตฯ จัดขึ้นแต่อย่างใด กว่าเขาจะรู้ว่าตัวเองได้กลายเป็นชนวนของเหตุการณ์ครั้งนี้ก็ล่วงเข้าตอนเย็นวันเดียวกัน เมื่อได้ฟังวิทยุยานเกราะกล่าวหาว่ามีการเล่นละครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

“พอฟังวิทยุยานเกราะจึงรีบกลับมาที่ธรรมศาสตร์ เจอหน่อย (อนุพงศ์) คนที่ชวนให้เล่นละคร เขาก็บอกว่าอย่าเพิ่งไปไหน เพราะจะมีการแถลงข่าวกับสื่อมวลชนว่าเราไม่ได้มีเจตนาเล่นละครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ผมขอออกมากินข้าวเย็นที่ท่าพระจันทร์ เห็นหนังสือพิมพ์วางขายอยู่ที่แผง พอเรายื่นหน้าเข้าไปดูก็ได้ยินคนพูดว่า มันทำกันอย่างนี้เชียวหรือ คนที่ดูหนังสือพิมพ์อยู่ไม่รู้ว่าผมคือคนที่อยู่ในรูป ผมคิดว่ามันไม่เหมือนเราเลย

คืนนั้นนอนอยู่ที่ตึก อมธ. นอนไม่หลับทั้งคืน เริ่มกลัวเพราะเป็นคดีอาญา คงจะถูกดำเนินคดี แต่เรามั่นใจว่าเราไม่ได้ทำ แต่ตอนนั้นก็เริ่มรู้สึกแล้วว่าอาจเป็นชนวนให้เรื่องบานปลายใหญ่โตได้ แต่ไม่คิดว่าจะมีการล้อมฆ่า พอเช้าเริ่มมีระเบิดลง ผมอดที่จะโทษตัวเองไม่ได้ เพราะเราก็เป็นส่วนหนึ่งของละครเรื่องนี้เหมือนกัน”

หลังจากนั้น เขาและเพื่อนที่เกี่ยวข้องกับการแสดง รวมทั้งเพื่อนในศูนย์กลางนิสิตฯ ถูกตามให้ไปพบ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ที่บ้าน ในขณะนั้นเสียงกระสุนปืนดังถี่ขึ้น และสถานการณ์เริ่มเลวร้ายลง แต่เขาคิดว่าหากได้พบนายกฯ สถานการณ์คงจะดีขึ้น

“คนที่ออกไปพบนายกฯ มีทั้งหมด 6 คน จากศูนย์กลางนิสิตฯ 3 คน คือ สุธรรม แสงประทุม สุรชาติ บำรุงสุข และประพนธ์ วังศิริพิทักษ์ และกลุ่มผู้แสดงละครมี 3 คน คือ ผม วิโรจน์ และอนุพงศ์ ขณะออกจากธรรมศาสตร์มีการยิงหนักมากจนเราต้องวิ่งฝ่าห่ากระสุนและหยุดรอจนกระทั่งเสียงปืนสงบจึงวิ่งต่อ เราไม่เห็นตัวคนยิง เห็นแต่ลูกกระสุน วิ่งไปก็เห็นปูนกระจายเต็มไปหมด



เมื่อออกมาถึงประตูท่าพระจันทร์ ก็มีคนมารับขึ้นรถพาไปที่บ้านนายกฯ พอไปถึง ยังไม่ทันเข้าบ้านเขาก็ไล่กลับขึ้นรถ ตอนนั้นก็งง เพราะยังไม่ได้เจอนายกฯ เลย ไม่รู้ว่าจะไปไหนต่อ คนที่พาไปเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตอนนั้นเริ่มใจไม่ดีแล้ว เพราะคิดว่าพอไปถึงบ้านนายกฯ คงเจรจากันได้”

ในขณะนั้นอภินันท์และเพื่อนคาดเดาจุดหมายปลายทางของตนเองไม่ออก จนกระทั่งรถเข้าจอดที่กองปราบฯ สามยอดเขาจึงได้รู้ว่า

“ถูกตำรวจหลอกให้เข้าคุกทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีข้อหา ตอนนั้นทุกคนก็งง ๆ เพราะพอไปถึงเขาก็ให้เข้าห้องขังเลย ตอนแรกสุธรรมถามว่าจับผมข้อหาอะไร เขาก็บอกว่าให้เข้าไปก่อนเถอะ ตอนนั้นเป็นช่วงสาย ๆ ของวันที่ 6 อยู่ในห้องขังตลอดวันไม่รู้เรื่องอะไรเลย กว่าข้อหาจะมาถึงก็ตอนกลางคืน จึงถูกนำตัวไปสอบสวน”

ระหว่างที่เดินจากห้องขังซึ่งอยู่ชั้น 3 ลงไปชั้นล่างอภินันท์เริ่มรู้สึกตัวว่าตนได้กลายเป็นที่เกลียดชังของคนที่นี่ไปเสียแล้ว

“จำได้ว่ามีคนมามุงดูเราด้วยสายตาอาฆาตมาดร้าย โกรธแค้น คนที่มามุงดูเราทั้งหมดเชื่อว่าเราดูหมิ่นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ มีการชี้หน้าว่าไอ้นี่แหละ ตำรวจที่ของขึ้นหน่อยก็เข้ามาอัดเลย ผมถูกอัดคนเดียว เหมือนกับแค้นที่ผมไปทำร้ายสิ่งที่เขาเคารพบูชา เข้าใจว่ามันเป็นอารมณ์โกรธ โดนไปหลายตุ้บ ทั้งมือทั้งเท้า ตอนนั้นรู้สึกไม่เข้าใจ ไม่ได้เถียงอะไร งง ๆ ไม่รู้ว่าทำไมคนเหล่านี้ถึงมีความรู้สึกรุนแรงได้ถึงขนาดนี้ พอลงมาสอบสวน เราก็ยอมรับว่าแสดงละครจริง ๆ แต่ไม่ได้ต้องการดูหมิ่นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ค่ำวันนั้นได้รับข้อหามาหนึ่งข้อหา คือ ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”

เขาและเพื่อนเริ่มรู้สถานการณ์ภายนอกเมื่อย่างเข้าวันถัดไป


“ตอนที่เจ้าหน้าที่บอกว่าฆ่าพวกเราตายหมดแล้ว ตอนนั้นไม่เชื่อ แต่พอวันรุ่งขึ้นแม่ของเฮียวิโรจน์มาเยี่ยม แล้วบอกว่ามีการล้อมปราบที่ธรรมศาสตร์ ตอนแรกเราก็โทษตัวเองอยู่แล้ว ถึงตอนนั้นก็ยิ่งโทษตัวเองมากขึ้นว่าเป็นเพราะเราที่ทำให้มีคนตายมากมาย ตอนนั้นคิดอะไรไม่ออก ผมกับเฮียวิโรจน์เลยผลัดกันนั่งร้องไห้ตลอดคืน”

หลังจากถูกคุมขังอยู่ที่กองปราบได้ 7 วัน เขาและเพื่อนทั้ง 6 คนก็ถูกย้ายเข้าเรือนจำบางขวางทันที พร้อมด้วยข้อหาเพิ่มอีก 10 ข้อหา นับตั้งแต่ก่อการจลาจล มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ฆ่าและพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน มีอาวุธปืนและวัตถุระเบิดอยู่ในครอบครอง ข้อหาที่เบาหน่อยก็คือ บุกรุกในเวลากลางคืน ฯลฯ

“ข้อหามันเยอะ แต่มันไม่เกี่ยวกับเรา เราไม่ได้ทำอย่างนั้น จึงเชื่อว่าคงรอดออกมาได้ เพราะถ้าผิดตามข้อหาที่ถูกกล่าวหาจริง ถูกประหารชีวิตสักสิบครั้งก็คงยังใช้โทษไม่หมด เราเชื่อว่าเรายังเป็นผู้บริสุทธิ์ ถ้าจะโดนจริง ๆ คงแค่คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเท่านั้น”

ระยะแรกที่อยู่ในคุก เขารู้สึกว่าโลกใบนี้ช่างเลวร้ายกับเขาเหลือเกิน และเขาก็โทษตัวเองอยู่ตลอดเวลา

“ชีวิตในคุกแม้จะไม่เลวร้ายนัก แต่ก็เป็นการจำกัดอิสระให้อยู่ในที่แคบ ๆ ไร้อิสรภาพ ความรู้สึกตอนเข้าไปใหม่ ๆ รู้สึกว่าทุกอย่างรอบกายมันเลวร้าย ตอนนั้นมันคับแค้นใจ รู้สึกว่าโลกมันเลว มากล่าวหาว่าเราทำในสิ่งที่เราไม่ได้ทำ เมื่อมองหาทางออกแล้วหมดหวังเลย เพราะเขากล่าวหาว่าเราทำร้ายผู้ปกครองประเทศ เรารู้แล้วว่าเราเป็นหมากตัวหนึ่งที่ต้องถูกกำจัดทิ้งไป รู้สึกว่าโลกคือความเลว…หมดหวัง”

แต่เมื่ออยู่ ๆ ไปเขาก็เริ่มรู้สึกมีความหวังมากขึ้น เมื่อมีคนมาเยี่ยมและส่งข่าวคราวความเคลื่อนไหวของการดำเนินคดีว่ามีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้น หลังจากติดคุกอยู่ 2 ปี ข้อเท็จจริงก็เริ่มคลี่คลายขึ้นเมื่อเพื่อนคนหนึ่งชื่อ บุญชาติ เสถียรธรรมณี เป็นคนเดียวในผู้ต้องหา 19 คนที่ไม่ถูกกล่าวหาในคดีมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ความแตกต่างนี้เป็นกุญแจสำคัญนำไปสู่การปลดปล่อยเพื่อนทั้งหมดให้เป็นอิสระ

“เนื่องจากคดีที่มีข้อกล่าวหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์พ่วงอยู่ด้วยจะต้องขึ้นศาลทหาร คดีนี้เป็นคดีครอบจักรวาลที่ต้องการกักขังคนไว้นาน ๆ และการขึ้นศาลทหารก็อยู่นอกเหนือการรับรู้ของประชาชน อาจทำให้การพิจารณาคดีขาดความชอบธรรม ดังนั้นเมื่อบุญชาติได้ขึ้นศาลพลเรือนในข้อหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จึงมีโอกาสได้รับการพิจารณาที่ยุติธรรม และที่สำคัญ คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นคดีกุญแจ เนื่องจากหากไม่เกิดคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การจลาจลก็จะไม่เกิดขึ้น ถ้าคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหลุด คดีอื่น ๆ ก็จะกลายเป็นความไม่ชอบธรรมและจะทำให้ทุกคนหลุดพ้นจากข้อหาทั้งหมด

การพิจารณาคดีดำเนินการสอบสวนมาตลอด 2 ปี ยิ่งมีการไต่สวน ความจริงก็เริ่มเปิดเผย เนื่องจากคำให้การของพยานโจทก์ไม่มีน้ำหนัก ทุกอย่างจึงกลายเป็นความไม่ชอบธรรม ส่งผลให้มีการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมก่อนที่การพิจารณาจะสิ้นสุด ความหมายของการนิรโทษกรรม คือ การยกโทษความผิดให้แก่ทุกคนที่กระทำผิดในวันที่ 6 ตุลา ผู้ต้องหาทั้ง 19 คนจึงได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสรภาพ”

แม้เขาจะรู้สึกยินดีกับอิสรภาพที่ได้ แต่เขากลับไม่รู้สึกยินดีกับการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเท่าใดนัก

“เนื่องจากความหมายของการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม คือ การบอกว่าเราเป็นคนผิดที่ได้รับการให้อภัย เป็นการช่วยคนที่ทำผิด จริง ๆ แล้วคนที่บริสุทธิ์ยังไม่ได้รับการพิสูจน์โดยกระบวนการยุติธรรม และคนที่ทำผิดยังไม่ได้รับโทษ ทั้ง ๆ ที่ความผิดของเขาเป็นความผิดที่ร้ายแรงมาก”

เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อตัวเขาอย่างไร อภินันท์กล่าวว่า

“เหตุการณ์นี้เป็นจุดหักเหในชีวิตผม ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา ผมไม่ได้สนใจเรื่องการเมืองมากเท่าไร แต่หลังจากเหตุการณ์แล้ว ผมเริ่มมองการเมืองอย่างคนที่เข้าใจมากขึ้นและสนใจมากขึ้น ในใจเรายังต้องการเรียกร้องความเป็นธรรม มันซึมเข้าไปในสายเลือด และมีส่วนผลักดันต่อชีวิตผมทุกวันนี้มาก เพราะทำให้มีคนรู้จักผมมากขึ้น ได้ทำงานที่อยากทำ แม้จะสูญเสียอิสรภาพไป 2 ปี แต่หลังจากนั้นกลับเป็นช่วงชีวิตที่ผมมีความสุขมาก”

อภินันท์ได้ข้อสรุปว่า สิ่งที่น่ากลัวที่สุดสำหรับเหตุการณ์ 6 ตุลา คือ สื่อมวลชน ซึ่งเป็นตัวทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมา สื่อมวลชนทำงานสัมฤทธิผลมากเกินไป เมื่อสถานการณ์ถูกปลุกเร้าโดยสื่อต่าง ๆ การแสดงละครของเขาจึงได้กลายเป็นชนวนสำคัญของเหตุการณ์ครั้งนี้

20 ปีผ่านไป ชายหนุ่มที่ชื่อ อภินันท์ บัวหภักดี ก็ยังคงมีประโยคหนึ่งติดค้างในใจของเขาอยู่เสมอ เมื่อนึกถึงเหตุการณ์นองเลือดเช้าวันที่ 6 ตุลา 19 ประโยคนั้นคือ

“ถ้าไม่มีเรา เหตุการณ์นี้ก็คงไม่เกิดขึ้น”

โพสต์โดย : today could be the day

ที่มา : ฟ้าเดียวกัน : บทสัมภาษณ์ "อภินันท์ บัวหภักดี" เมื่อปี 2539, คนที่เล่นละครแล้วถูกใ่ส่ความว่าหน้าเหมือนรัชทายาท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น