มิตช์ อัลโบม นักข่าวกีฬา

4 มิ.ย. 2552

รู้จักนักข่าวกีฬาบ้างมั๊ยครับ

ถ้าบ้านเราที่รู้จักส่วนมากก็คงจะเป็น “คนดัง” อย่าง “บิ๊กจ๊ะ” สาธิต กรีกุล เอกราช เก่งทุกทาง

หรือถ้าเป็นรุ่นใหญ่หน่อยก็คงจะเป็น พิษณุ นิลกลัด

แต่เอาเข้าจริงแล้ว ท่านทั้งหลายที่ว่ามานี้ถือว่าหนักไปทาง “นักพากย์” มากกว่า ไม่ใช่

นักข่าวที่เกาะติดอยู่ในพื้นที่ ออกไล่ล่าหาข่าวจากแหล่งข่าว

แต่อย่างใด

ซึ่งอย่างหลังนี่ว่าไปแล้วก็ไม่ค่อยมีใครรู้จักชื่อเสียง รูปร่างหน้าตาสักเท่าไหร่เลย

แต่ในต่างประเทศโดยเฉพาะในอังกฤษ-สหรัฐ การเป็น “นักพากย์” กับ “นักข่าว” แบ่งแยกกันโดยเด่นชัด

ที่สวมหมวก 2 ใบค่อนข้างจะหายาก

ที่เหมือนกันก็คือ นักข่าวกีฬา” มักจะไม่เป็นที่คุ้นเคยเหมือนกับนักพากย์กีฬา หรือพวกคอมเมนเตเตอร์เท่าใดนัก

ยกเว้นไว้คนครับ เขาชื่อ “มิตช์ อัลโบม”

ว่าไปแล้วมิตช์ อัลโบม น่าจะเป็นแบบฉบับของ “อเมริกัน ดรีม” ได้อย่างสมบูรณ์แบบคนหนึ่ง

หลังจากจบการศึกษาที่มหาวิทยาลัยแบรนดีสมิตช์เริ่มต้นชีวิตการทำงานเมื่อปี 1981

ด้วยการเป็นผู้สื่อข่าวกีฬาให้กับหนังสือพิมพ์

Queens Tribune ในนิวยอร์ก ก่อนจะลงหลักปักฐานกับ Detroit Free Press

ในปี 1985 มาจนถึงปัจจุบัน

แม้เขาจะเป็นเพียงนักข่าวกีฬา แต่ทรรศนะ การมองโลกของมิตช์มีความลึกซึ้ง มีความโดดเด่นเฉพาะตัว

ในรายงานของมิตช์มักจะให้ความสำคัญกับชีวิตและความเป็นมนุษย์ แม้จะเป็นซูเปอร์สตาร์ที่มีรายได้ปีละหลายร้อยล้าน แต่เขามักจะแจกแจงให้เห็นว่าชีวิตของสุดยอดนักกีฬาก็เป็นเหมือนปุถุชนทั่วไปเช่นกัน มีความผิดพลาด เหงา เศร้า

มีด้านที่สมหวัง

แต่ก็มีด้านที่ขื่นขมเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ชื่อของมิตช์ อัลโบม จึงได้รับการยอมรับในเวลาอันรวดเร็ว ได้รับการเสนอชื่อเป็นคอลัมนิสต์กีฬาอันดับ 1

ของสหรัฐเป็นเวลาหลายปี

และมีงานเขียนปรากฎในหนังสือดังๆมากมายไม่ว่าจะเป็นSport Illustrted ,GQ, Sport,

The Newyork Times

ไม่เพียงแต่เท่านั้น มิตช์ยังจัดรายการทางวิทยุ มีรายการทอล์กโชว์ทางโทรทัศน์เป็นของตัวเอง

รวมทั้งยังเป็นนักดนตรี เป็นนักแต่งเพลง

ซึ่งล้วนแต่ทำได้ดีทั้งสิ้น

คอลัมน์ของมิตช์ในหนังสือพิมพ์ Detroit Free Press มีตีพิมพ์ทุกวัน

แต่ในฉบับวันอาทิตย์เขามักจะฉีกแนว

หันไปพูดถึงเรื่องหนัง ดนตรี ศิลปะ ครอบคลุมไปถึงการเมือง ปรัชญาและการดำเนินชีวิต


ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากความสามารถและความสนใจอันหลากหลายนั่นเอง

แม้จะโด่งดังสุดขีด แต่ มิตช์ บอกกับใครว่า งานที่เขารักก็คือเป็นนักหนังสือพิมพ์ เห็นผลงานของตัวเองตีพิมพ์ทุกวัน

และอีกด้านหนึ่ง ความโด่งดังของ มิตช์เกิดขึ้นจากการเป็นผู้เขียน Tuesdays With Morrie

ซึ่งฉบับแปลไทยโดยอมรรัตน์ โรเก้ ตั้งชื่อไว้ว่า “วันอังคารแห่งความทรงจำกับครูมอร์รี่”

เป็นหนังสือเบสต์ เซลเลอร์ส ที่นักอ่านช่าวไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดี และยังมีงานสร้างชื่อตามมาอีกคือ

five people you meet in heaven

กล่าวสำหรับ Tuesdays With Morrie เป็นเรื่องจริงของ “มอร์รี่ ชวอตซ์”

ซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่มิตช์เคยศึกษาอยู่นั่นเอง ครูมอร์รี่ป่วยเป็นโรคที่รักษาไม่ได้และได้แต่เฝ้านอนรอวันตาย แต่ในห้วงเวลานั้นเองมิตช์ได้มีโอกาสกลับมาเยี่ยมครูของเขา และได้มีช่วงเวลาอยู่ร่วมกันระยะหนึ่ง

ก่อนถึงวันแตกดับของผู้เป็นครู

และบทสนทนาทุกวันอังคารระหว่างครูและศิษย์ได้กลายมาเป็นหนังสือ Tuesdays With Morrieเล่มนี้นี่เอง

“สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตก็คือการเรียนรู้ที่จะแบ่งปันความรักให้แก่ผู้อื่น และการเปิดรับให้ความรักเข้ามา”

นั่นคือประโยคทองในหนังสือเล่มนี้ที่จับใจคนทั่วโลก


ในหนังสือ “วิหารที่ว่างเปล่า” ของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในบทความเรื่อง”อารมณ์ตะวันตก”มีการหยิบยกหนังสือ

Tuesdays With Morrie ขึ้นมาเขียนถึงด้วยความชื่นชมเช่นกัน มีความว่า

“คำตอบที่มอร์รีมีต่อโลกและชีวิตไม่ได้เหมือนกับกระแสหลักที่ชี้นำสังคมอเมริกันอยู่เลย

มอร์รี่เน้นเรื่องความรักและ

ความเมตตาที่มนุษย์พึงมอบให้กัน และยอมรับการเกิดแก่เจ็บตายได้อย่างสง่างาม…”

กล่าวถึงที่สุดแล้ว ถ้อยคำสนทนาระหว่างอาจารย์-ลูกศิษย์คู่นี้คือการมองย้อนชีวิตในทุกๆด้าน

รวมทั้งยังกล่าวถึงความตายได้อย่างลึกซึ้ง เปี่ยมความหมาย

ไม่น่าเชื่อว่านักข่าวกีฬาธรรมดาคนหนึ่งจะมีภูมิปัญญา และการมองโลกที่ลึกซึ้งเยี่ยงกูรู

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น