"ผู้มีจิตใจเป็นอิสระรู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยตัณหาอุปทานเท่านั้น จึงจะรู้ว่าอะไร เป็นความเสื่อม อะไรเป็นความเจริญที่แท้จริง มิใช่เพียง ความเจริญที่อ้างสำหรับมาผูกรัดตัวเอง และผู้อื่นให้เป็น ทาสมากยิ่งขึ้น หรือ ถ่วงให้จมต่ำลงไปอีก จึงจะสามารถ ใช้ประโยชน์จากความเจริญที่สร้างขึ้นพร้อมกับสามารถ ทำตนเป็นที่พึ่งแก่คนอื่นได้เป็นอย่างดี "
นามเดิม ประยุทธ์ อารยางกูร กำเนิด 12 ม.ค. 2481
สถานที่เกิด อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี
อุปสมบท อุปสมบท ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2504 ในฐานะนาคหลวง
สมณศักดิ์ พระพรหมคุณาภรณ์
ท่านจบการศึกษาทางโลกในระดับมัธยมศึกษา โดยได้รับทุนเรียนดีของกระทรวงศึกษาธิการ บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อ พ.ศ. 2494 สอบได้นักธรรมชั้น ตรี โท เอก และเปรียญธรรม 3 ถึง 9 ประโยค ขณะยังเป็นสามเณร จึงได้รับพระราชทาน พระบรมราชานุเคราะห์ ให้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในฐานะนาคหลวง ณ อุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งน้อยคนนัก ที่จะได้รับโอกาสเช่นนี้ เมื่อจบการศึกษาขั้นปริญญาพุทธศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 1) จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และสอบได้วิชาชุดครู พ.ม.
ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งท่านได้สร้างความเจริญ ให้แก่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ทั้งด้านบริหาร และวิชาการเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ การพัฒนาหลักสูตรที่เน้นบทบาท และภาวะสังคมที่เพิ่มขึ้นของสงฆ์ รวมทั้งสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาชุมชนไว้ในหลักสูตร ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส วัดพระพิเรนทร์ในปีพ.ศ.2515 ถึง พ.ศ.2519 จากนั้นจึงได้มาดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาส วัดญาณเวศกวัน อ.สามพราน จ.นครปฐม
ท่านได้อุทิศตนให้กับการเผยแพร่พระศาสนา ทั้งด้านการบรรยาย ทางวิชาการ การแสดงพระธรรมเทศนา ตลอดจนงานด้านนิพนธ์ เอกสารวิชาการ และตำราต่าง ๆ จำนวนมาก ทั้งภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ หนังสือ "พุทธธรรม" ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็น "มรดกธรรมอันล้ำค่าแห่งยุค" ที่ควรค่าแก่การศึกษาอย่างยิ่ง
นอกจากงานด้านนิพนธ์แล้ว ท่านยังได้รับการอาราธนาให้เป็นผู้แสดงปาฐกถาในการประชุม นานาชาติขององค์กรระดับโลกต่าง ๆ หลายครั้ง อีกทั้งยังได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติต่าง ๆ มากมาย อาทิเช่น รางวัล "สังข์เงิน" สาขาเผยแพร่พระพุทธศาสนา ปีพ.ศ.2533 รางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพปีพ.ศ.2537 จากยูเนสโก นับเป็นคนไทยคนแรก ที่ได้รับเกียรติให้รับรางวัลนี้ ซึ่งนับเป็นการสร้างเกียรติประวัติ และชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยอย่างมาก
ท่านดำรงชีวิตแบบ เรียบง่าย มีวัตรปฏิบัติที่อ่อนน้อมถ่อมตน ให้ความสำคัญ และความสนใจแก่ผู้ที่เข้าพบโดยไม่เลือกชาติ ศาสนา ผิวพรรณ และเพศ เป็นพระสงฆ์ที่ทำคุณประโยชน์ต่อวงการพระพุทธศาสนา และสังคมของมวลมนุษย์อย่างหาที่เปรียบได้ยาก
ที่มา http://www.dhammathai.org/monk/sangha10.php
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น