พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์

22 พ.ย. 2557
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี เมื่อ 23 พ.ย.2557

พลตำรวจโท พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) เกิดเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2499 ที่ตำบลบ้านบ่อ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เป็นบุตรของประวัตและยุพิน ฉายาพันธุ์

จบการศึกษา

- ระดับประถมศึกษา จากโรงเรียนวัดใหญ่บ้านบ่อ, 
- ระดับมัธยมศึกษา จากโรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัย, 
- โรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 15 (ตท.15), 
- โรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 31 (ร่วมรุ่นกับ พลตำรวจเอก พงศพัศ พงษ์เจริญ, พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง, พลตำรวจโท อำนวย นิ่มมะโน), 
- ปริญญาโทรัฐศาสตรมหาบัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

นอกจากนั้นแล้วยังได้ผ่านการอบรมต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ อาทิ จบหลักสูตรผู้บริหารชั้นสูงของตำรวจ (สถาบันพัฒนาข้าราชการตำรวจ), หลักสูตรผู้บริหารงานระดับกลางของตำรวจ (สถาบันพัฒนาข้าราชการตำรวจ), หลักสูตรสืบสวนของหน่วยสืบราชการลับ จากวิทยาลัยหน่วยสืบราชการลับสหรัฐอเมริกา, หลักสูตรด้านการบริหารตำรวจ จากวิทยาลัยตำรวจแคนาดา เป็นต้น

ประวัติการทำงาน เคยเป็น

- สารวัตรใหญ่สถานีตำรวจนครบาลท่าพระ, 
- สารวัตรใหญ่สถานีตำรวจนครบาลยานนาวา, 
- รองผู้กำกับการหัวหน้าสถานีตำรวจนครบาลบางขุนนนท์ ผู้กำกับการ 1 กองปราบปราม, 
- ผู้กำกับการ 2 กองปราบปราม, 
- ผู้กำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองปราบปราม, 
- รองผู้บังคับการกองปราบปราม รักษาราชการแทนผู้การกองปราบปราม, 
- ผู้บังคับการกองปราบปราม  
- รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง 
- ปัจจุบัน ปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยขาดจากตำแหน่งเดิมตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 610/2557

ได้ชื่อว่าเป็นนายตำรวจมือปราบและมือสอบสวนคนหนึ่งที่มีผลงานต่าง ๆ มากมาย ทั้งคดียาเสพติดและคดีการฉ้อโกงข้ามชาติ และในขณะดำรงตำแหน่งผู้กำกับการ 2 กองปราบปราม ได้จัดตั้ง "หน่วยวิเคราะห์พฤติกรรมศาสตร์" โดยการนำหลักวิชาการมาใช้ในการสืบสวน เพื่อรองรับเทคนิคการสืบสวนสมัยใหม่ ซึ่งจะทำให้การสืบสวนเที่ยงตรง แม่นยำขึ้นและสามารถค้นหาความจริงในคดีต่าง ๆ ได้มาก ซึ่งเป็นหน่วยวิเคราะห์พฤติกรรมศาสตร์ที่ตั้งขึ้นในวงการตำรวจแห่งแรกของทวีปเอเชีย

ปี 2539 พันตำรวจโทพงศ์พัฒน์ ขณะยังเป็น รอง ผกก.หน.สน.บางขุนนท์ ได้ริเริ่มนำ "ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน" ตามทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชน (Community Policing) ซึ่งเป็นทฤษฎี/หลักการทำงานของตำรวจที่ใช้ได้ผลจริงในสหรัฐอเมริกาในการลดปัญหาอาชญากรรมในชุมชน มาทดลองใช้อย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรกในประเทศไทย

ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2553
ภายหลังรับตำแหน่ง ผบช.ก. โครงการตำรวจผู้รับใช้ชุมชนได้แพร่หลายอีกครั้งหนึ่งแก่ตำรวจในสังกัดอย่างมากมาย เช่น ชุมชนทัพพระยา อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี , ชุมชนบ้านหัวทาง ตำบลพิมาน อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ชุมชนบ้านคลองบอน คลองดง ตำบลคอนสาร อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ตามโครงการคืนชุมชนสีขาวให้สังคมโดยตำรวจทางหลวง (ส.ทล.6 กก.6 บก.ทล. (ชัยภูมิ))  เป็นต้น

และได้ริเริ่มโครงการต่างๆ มากมายเพื่อพัฒนาบุคลากรและองค์กร เช่น บช.ก.โกอินเตอร์ ,ร.ร.ตำรวจนอกเวลา , 5 ทฤษฎี 1 หลักการ ลดหวาดระแวงของประชาชน , MOUทางการศึกษากับนิด้า   เป็นต้น

สื่อมวลชนตั้งชื่อเล่นว่า "เดอะกิ๊ก"

นอกจากการรับราชการตำรวจแล้ว พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ยังถือว่าเป็นนักวิชาการในศาสตร์ด้านอาชญาวิทยาและนิติศาสตร์ด้วย ด้วยการเป็นอาจารย์บรรยายพิเศษให้กับนักศึกษาระดับปริญญาเอกคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, บรรยายพิเศษให้กับนักศึกษาระดับปริญญาเอก มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต 

อีกทั้งยังเคยเขียนหนังสือทางวิชาการตำรวจแผนใหม่อีกหลายเล่ม อาทิ ความรู้เบื้องต้นการเฝ้าสังเกตการณ์ และการสะกดรอยติดตาม พ.ศ. 2536, ความรู้เบื้องต้นการสืบสวนอาชญากรรม พ.ศ. 2537, วิธีปฏิบัติภาคสนามสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อรับแจ้งเหตุอาชญากรรม พ.ศ. 2539 เป็นต้น 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น