เจาะใจ "เฉลิม อยู่บำรุง"
26 ก.ค. 2555
เมื่อ 28 พฤษภาคม 2555 มติชนออนไลน์ จุดเปลี่ยน การเมือง
"สารวัตร" !
ยังคงเป็นคำที่เหล่าคนสนิท ใช้เรียกขาน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ติดปากมาจนถึงทุกวันนี้ แม้ปัจจุบัน "ร.ต.อ.เฉลิม" จะเป็นถึง "รองนายกรัฐมนตรี" แล้วก็ตาม
แต่ตลอดทั้งชีวิต แม้จะมีตำแหน่งทางการเมืองใหญ่โตขนาดไหน สิ่งที่ภาคภูมิใจที่สุดสำหรับ "ร.ต.อ.เฉลิม" ก็ยังคงเป็นการทำงานในตำแหน่ง "สารวัตรกองปราบ"
"ช่วงวัยเรียน ผมอาศัยอยู่ในย่านบางขุนเทียน ซึ่งในสมัยนั้นคือชาวสวน ไม่มีถนนหนทาง พ่อของผมซึ่งเป็นตำรวจชั้นประทวน แม้จะเป็นเพียงจ่า 4 บั้ง แต่ก็อยากให้ลูกได้เรียนหนังสือ" ร.ต.อ.เฉลิมเปิดฉากเล่าถึงเส้นทางชีวิต
และด้วยความที่เป็นเด็กรักการเรียนและเรียนเก่ง เมื่อ "ด.ช.เฉลิม" ได้เข้าเรียนชั้นมัธยม ที่โรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ ย่านบางขุนเทียน จึงได้ตัดสินใจมาเป็นเด็กวัดที่วัดกำแพง (ย่านบางขุนเทียน)
"ระหว่างที่ผมเป็นเด็กวัดวั ดกำแพง ก็มีการจัดงานประจำปีของวัด และคนแถวนั้นก็เป็นคนสวน เมื่อมางานวัดมีการกินเหล้าเมายากัน แล้วก็ตีกัน ตำรวจเข้าไประงับเหตุ ไม่มีใครฟังตำรวจเลย ปีต่อมาจึงมีการจ้างสารวัตรทหารมารักษาการณ์ในงาน
ซึ่งชาวบ้านก็ยังเมาและตีกันเหมือนเดิม แต่สารวัตรทหารไม่สนใจ ใช้หมวกไฟเบอร์ทหารสีขาว ตบ ตี คนที่ตีกัน แต่ชาวบ้านกลับถูกใจ ผมเห็น ก็รู้สึกว่าอาชีพนี้มันใหญ่ดี เมื่อมีการเปิดสอบทหาร ผมก็ไปสอบที่มณฑลทหารบกที่ 1 เขารับ 7 คน ผมได้ที่ 1 ทั่วประเทศรับ 30 คน ผมก็เข้าไปเรียน" รองนายกฯ เฉลิมในวันนี้ เล่าย้อนเหตุการณ์ที่ชักพาตัวเองให้เข้าสู่ "นายสิบทหารบก"
แต่หลังจากเข้าเรียนได้เพียง 2 สัปดาห์ หลายอย่างก็ทำให้เขารู้ว่า เส้นทางอาชีพทหารในยศ "นายสิบ" นั้นโอกาสก้าวหน้าแทบจะไม่มี เขาจึงตัดสินใจว่า เมื่อเรียนจบก็จะ "ลาออก" !
"ตอนแรกผมคิดว่าจะลาออกเลย แต่ครูฝึกบอกว่าถ้าลาออกจะต้องไปเป็นทหารเกณฑ์อีก 1 ปี ก็เลยตัดสินใจเรียนให้จบ แต่ระหว่างเรียนก็มีคนแนะนำเส้นทางว่าถ้าเรียนได้ที่ 1 ของรุ่นก็จะได้ไปเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร ซึ่งจะมีโอกาสเป็นนายร้อย
ก็เลยตั้งใจเรียน แต่สุดท้ายคะแนนก็แพ้เพื่อนในรุ่นที่ได้ที่ 1 ไปแค่ 1 คะแนน ทำให้ผมไม่ได้ไปเรียนเตรียมทหาร แล้วก็ได้บรรจุเข้าเป็นครูฝึก โรงเรียนสารวัตรทหาร และฝึกนักเรียนรุ่นน้อง"
จากนั้น "นายสิบเฉลิม" ก็รับราชการเป็นครูฝึก โรงเรียนสารวัตรทหารอยู่ 7 ปีเต็ม ซึ่งตลอดเวลาเขาได้คิดทบทวนเรื่องชีวิตความเป็นอยู่
และด้วยความที่เป็นลูกตำรวจ ที่เชื่อว่า ตำรวจ จะมีสวัสดิการที่ดีกว่าทหาร จึงทำเรื่องขอโอนย้ายสังกัดไปอยู่ "กองปราบปราม" (ปัจจุบันใช้ชื่อว่ากองบังคับการตำรวจปราบปราม) หรือที่เรียกกันติดปากสมัยนั้นว่า "กองปราบสามยอด" เพื่อเป็นตำรวจ
"ช่วงต้นปี 2512 ผมถูกเรียกไปทดสอบทุกขั้นตอน ทางตำรวจจึงรับโอน จากสิบเอกทหารบก สังกัดกองพันนักเรียนนายสิบ มาเป็นผู้บังคับหมู่ แผนก 5 กอง 2 กองปราบ หรือคอมมานโด ในช่วงปี 2513 ได้ยศ ส.ต.อ.
ซึ่งขณะนั้นมีทุนนักเรียนอังกฤษ ให้ตำรวจสอบไปเรียนหลักสูตรปราบจลาจล ที่ประเทศมาเลเซีย ผมสอบได้ และได้ไปเรียน 7 สัปดาห์ เข้าสู่ปี 2515 ก็มีการเปิดสอบนายตำรวจสัญญาบัตรสายสอบสวน ผมมีสิทธิได้สอบ 3 สนาม
พอถึงเวลาประกาศผลสอบ ผมถูกร้องเรียน หาว่าจ้างคนไปสอบแทน เพราะไม่มีใครคิดว่าคนที่ย้ายมาจากทหาร และจะสอบสายสอบสวนได้ สุดท้ายก็มีการให้คัดลอกลายมือ ให้กองพิสูจน์หลักฐานมาตรวจสอบ ว่าใช่ลายมือผมจริงหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดก็ได้รับการยืนยันว่าผมทำข้อสอบเอง"
ร.ต.อ.เฉลิมเล่าว่า ระหว่างเตรียมตัวที่จะไปอบรม ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน เพื่อขึ้นเป็นตำรวจชั้นสัญญาบัตร รัฐบาลกังวลว่าช่วงนั้นจะมีการเดินขบวนประท้วงกัน จึงเตรียมการป้องกัน กองปราบจึงเรียกตัวไปเป็นครูฝึกปราบจลาจลให้ทหาร ที่กรมทหารราบที่ 11
พอเสร็จจากตรงนั้น โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพรานก็ต้อนรับเป็นอย่างดี เพราะต้องการเชิญตัวไปเป็นครูฝึกหลักสูตรปราบจลาจล ให้กับนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 27-28 ที่เรียนอยู่ในขณะนั้น
เมื่อ "ร.ต.อ.เฉลิม" ผ่านการอบรมที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน ก็ฝึกงานที่สถานีตำรวจนครบาลจักรวรรดิ ซึ่งอยู่ใกล้กับกองปราบปรามสามยอด โดยได้ฝึกพร้อมกับนักเรียนนายร้อยรุ่น 26 ซึ่งทำให้เขาได้มีโอกาสรู้จักกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ฝึกงานที่สถานีตำรวจนครบาลพญาไท
ในเดือนมิถุนายน 2516 เขาก็ได้ติดยศ "ร.ต.ต." แล้วในเดือนตุลาคม 2516 ก็ติดยศ "ร.ต.ท." จากนั้นไม่นานนักเขาก็ได้ติดยศ ร.ต.อ. โดย "ร.ต.อ.เฉลิม" นับว่าเขาได้ใช้เวลา 3 ปีครึ่ง ในเส้นทางตำรวจชั้นประทวน สู่ยศ "ร.ต.อ."
หลังจากนั้นก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น "สารวัตรแผนก 4 กองกำกับการ 2 กองปราบปราม" ที่เรียกกันว่า "สารวัตรประเทศไทย"
"สารวัตรประเทศไทย มีอำนาจสืบสวนจับกุมออกหมายจับหมายค้นด้วยตัวเองทั่วราชอาณาจักร และเป็นตำแหน่งที่ผมมีความภาคภูมิใจมากที่สุด เพราะในขณะที่ผมอายุ 28 ปี ซึ่งผมเป็นคนแรกและคนสุดท้าย ที่มาจากชั้นประทวน แล้วได้มาอยู่ในตำแหน่งสารวัตรประเทศ" ร.ต.อ.เฉลิมเล่าด้วยความภาคภูมิใจ
"สารวัตรเฉลิม" เล่าว่า การทำงานในตำแหน่งสารวัตรประเทศ ทำให้เขามีชื่อเสียงมาก และได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้น
"ระหว่างทำงาน ผมทำคดีสำคัญหลายคดี เมื่อมีผู้บังคับบัญชาไว้วางใจ มีครั้งหนึ่ง นายตำรวจระดับรองอธิบดีกรมตำรวจ สั่งให้ผมไปจับบ่อนการพนันแห่งหนึ่ง ผมก็ไปจับ ปรากฏว่าเจ้าของบ่อน เป็นภรรยาของเจ้าของธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ในขณะนั้นเป็นเศรษฐีเบอร์ 1 ของเมืองไทย
หลังจากจับเสร็จ ผมถูกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น เรียกไปด่า 2 ชั่วโมง ที่กระทรวงมหาดไทย และด่าแบบเสียๆ หายๆ ไร้คุณธรรม ไร้จริยธรรม ไม่มีความเป็นผู้บังคับบัญชา
เมื่อกลับมาที่กองปราบก็มีคำสั่งย้ายผม จากสารวัตรประเทศไทย ไปเป็นหัวหน้าแผนก 8 กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน เขต 8 อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นตำแหน่งหัวหน้าหน่วยแพทย์ และคนที่จะเป็นได้ ต้องจบแพทย์
พอเอาผมไปอยู่ ก็ไม่ได้ทำงานอะไร ผมอยู่ที่นั่น 1 ปี 3 เดือน ถูกงดบำเหน็จ 6 ปีเต็ม ก็รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกกลั่นแกล้ง จึงได้ซึมซับ และตกผลึก"
ต่อมามีคดีใหญ่ซึ่ง "ร.ต.อ.เฉลิม" สามารถจับคนร้ายและคลี่คลายคดีได้ จึงมีโอกาสย้ายกลับมาเป็นสารวัตรประเทศอีกครั้งหนึ่ง !
"เมื่อกลับมางานในตำแหน่งเดิมอีกครั้ง ผมก็ทำการสอบสวนคดีตามปกติ แต่สืบไปสืบมามีอยู่คดีหนึ่งไปเจอตอ ผมไปบอกผู้ใหญ่ให้ดำเนินการ แต่ผู้ใหญ่ไม่กล้า จนคดีนั้นต้องพับไป ผมเห็นว่าเรื่องแบบนี้ไม่มีความเป็นธรรม
จึงเห็นว่าถ้ายังเดินสายนี้ต่อไปน่าจะก้าวหน้ายาก เพราะผมมีความจริงจังและจริงใจในการทำงานมากไป"
ร.ต.อ.เฉลิมเล่าว่า ช่วงนั้นเป็นช่วงเดียวกับที่ไปมีความสนิทสนมกับ พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร พ.อ.มนูญ รูปขจร พ.อ.พัลลภ ปิ่นมณี และมีความผูกพันกันพอสมควร พอช่วงเดือนเมษายน 2524 หรือที่เกิดเหตุการณ์ ยึดอำนาจ "เมษาฮาวาย" เขาจึงได้นำตำรวจกองปราบฯ ร่วมกับคณะผู้ก่อการยึดอำนาจจากรัฐบาลในขณะนั้น !
ผลปรากฏว่า การยึดอำนาจไม่สำเร็จ ฝ่าย "ผู้ก่อการ" พ่ายแพ้ถูกจับ และ "ร.ต.อ.เฉลิม" ก็เป็นคนหนึ่งที่ถูกดำเนินคดีในโทษฐาน "กบฏ"
"เมื่อปฏิวัติแพ้ ผมก็ถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำบางเขน 1 เดือน และต่อมามีพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ก็เท่ากับว่าผมไม่มีความผิด ผู้บังคับบัญชา จึงชวนผมกลับมาเป็นตำรวจอีก แต่ผมขออนุญาต เพราะได้ตัดสินใจเลือกที่จะเดินบนเส้นทางการเมืองแล้ว"
จากนั้น "ร.ต.อ.เฉลิม" ก็เดินเข้าสมัครเป็นสมาชิก "พรรคประชาธิปัตย์" และลงสมัครรับเลือกตั้งจนได้เป็น "ส.ส.กทม."
เป็น "รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี"
เป็น "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม"
เป็น "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข"
เป็น "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย"
และเป็น "รองนายกรัฐมนตรี" ในวันนี้
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น