นิตยสารผู้จัดการ เมื่อ มีนาคม 2545
เคนเนท แอล.เลย์ ผู้เห็นเอนรอนมาตั้งแต่เกิดจนดับ!
นับว่าสะเทือนเลื่อนลั่น...
สำหรับการล้มละลายของเอนรอนคอร์ป (Enron Corp.) ยักษ์ใหญ่ทางด้านพลังงานและก๊าซธรรมชาติของสหรัฐอเมริกา แม้เอนรอนจะประกาศล้มละลายไปตั้งแต่เมื่อเดือนธันวาคม ปีที่แล้ว แต่เรื่องก็ใช่ว่าจะจบ อีกทั้งทำท่าว่าจะยุ่งเหยิงยิ่งขึ้นทุกขณะ
หลายคนเริ่มเรียกกรณีนี้ว่า "เอนรอนเกต" เลียนแบบคดี "วอเตอร์เกต" ที่เคยอื้อฉาวและสั่นบัลลังก์ผู้นำสหรัฐฯในอดีตมาแล้ว
บุคคลที่ถูกกล่าวขวัญมากที่สุดในกรณีนี้เห็นจะหนีไม่พ้น...
เคนเนท แอล. เลย์ (Kenneth L. Lay)
เมื่อเอนรอนประกาศล้มละลายในวันที่ 2 ธันวาคม 2544 เลย์เป็นทั้ง Chairman และ CEO ของเอนรอน ก่อนที่จะลาออกไปในที่สุดเมื่อวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา
เลย์ไม่เพียงแต่มีส่วนสำคัญในการสร้างอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ของเอนรอนเท่านั้น แต่เขายังเป็นข้อโซ่ที่สำคัญของเอนรอน ในการเกาะเกี่ยวกับบรรดาผู้ทรงอำนาจทั้งหลายในสหรัฐฯ อีกด้วย
เลย์เป็นผู้บริจาครายใหญ่ของประธานาธิบดีบุช...ทั้งพ่อและลูก
ในช่วง 8 ปีหลังมานี้ ทั้งเลย์และผู้บริหารคนอื่น ๆ ของเอนรอนได้บริจาคเงินให้กับนักการเมืองตระกูลบุชถึงเกือบ 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 88 ล้านบาท
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช (George W. Bush) จะแต่งตั้งให้เลย์เป็นหนึ่งในที่ปรึกษาของคณะทำงานถ่ายโอนอำนาจหลังการเลือกตั้ง
ขณะเดียวกัน ก็มีรายงานข่าวว่า เลย์และเจ้าหน้าที่ของเอนรอนได้ช่วยรองประธานาธิบดีดิก เชนีย์ (Dick Cheney) วางนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดปัจจุบันด้วย
ขณะที่เวนดี แกรมม์ (Wendy Gramm) ภริยาของฟิลิป แกรมม์ (Philip Gramm) วุฒิสมาชิกรัฐเทกซัส พรรครีพับลิกัน ก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมการของเอนรอน และเพียงเดือนเดียวหลังจากพ้นตำแหน่ง ทั้งเจมส์ เบเกอร์ (James Baker) อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ และโรเบิร์ต มอสส์แบชเชอร์ (Robert Mossbacher) อดีตรัฐมนตรีพาณิชย์ ก็ได้รับเงินเดือนประจำจากเอนรอน นอกเหนือจากนั้น เลย์ยังเล่นกอล์ฟกับอดีตประธานาธิบดีบิลล์ คลินตัน (Bill Clinton)
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในสายสัมพันธ์ของเลย์เท่านั้น
******
เกิดที่มิสซูรีแต่มายิ่งใหญ่ที่เทกซัส...
เคนเนท เลย์ เกิดเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2485 ที่รัฐมิสซูรี
เลย์จบจาก University of Missouri ก่อนที่จะมาได้ปริญญาเอกทางด้านเศรษฐศาสตร์จาก University of Houston และเข้าสู่วงการอุตสาหกรรมด้านพลังงานในปี 2508 ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ โดยให้เหตุผลว่า เพราะอุตสาหกรรมนี้มีเสน่ห์ชวนให้หลงใหลมากกว่าอุตสาหกรรมอื่น
เลย์เคยทำงานเป็นนักเศรษฐศาสตร์ให้กับ Exxon ก่อนที่จะไปรับราชการที่กองทัพเรือและย้ายไปทำงานที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หลังจากนั้น เขาก็ไปทำงานกับคณะกรรมาธิการวางกฎระเบียบการใช้พลังงาน (Federal Energy Regulatory Commission - FERC) และกระทรวงมหาดไทย (Department of Interior) โดยในระหว่างนั้น ก็ได้สอนวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ George Washington University
ท้ายที่สุด เลย์ก็ไปอยู่กับ Houston Natural Gas
กลางปี 2528 Houston Natural Gas ได้ควบรวมกิจการกับ InterNorth กลายเป็นเอนรอน โดยเลย์ได้ดำรงตำแหน่งเป็น CEO คนแรก ตอนนั้นเอนรอนยังคงทำเพียงธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ก่อนที่จะเริ่มค้าโภคภัณฑ์ก๊าซธรรมชาติในปี 2532 และตามด้วยการขยายงานด้านการไฟฟ้าในปี 2537 ต่อมา ในเดือนพฤศจิกายน 2542 เอนรอนออนไลน์ (EnronOnline) ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น และนับเป็นเว็บไซต์ที่ทำการค้าสินค้าโภคภัณฑ์รายแรกของโลก
ในทัศนะของเลย์ ทุกสิ่งเป็นไปได้เสมอ!
นี่กระมังที่ทำให้เอนรอนขยายตัวอย่างรวดเร็ว และมีอัตราเสี่ยงสูงขึ้น...
เอนรอนไม่ใช่เพิ่งมีปัญหาทางการเงิน แต่ด้วยการตกแต่งบัญชีอย่างแยบยล ทำให้เอนรอนยังคงอยู่ในสภาพ "ข้างนอกสุกใส ข้างในเป็นโพรง" มาได้เป็นเวลานานสองนาน
กุมภาพันธ์ 2544 เจฟฟรีย์ สกิลลิง (Jeffrey Skilling) ขึ้นเป็น CEO ของเอนรอน โดยที่เลย์ยังคงดำรงตำแหน่ง Chairman และต่อมา เมื่อสกิลลิงลาออกไปในวันที่ 14 ตุลาคม เลย์ก็ได้กลับมารั้งตำแหน่ง CEO อีกครั้งหนึ่ง
แม้จุดแข็งของเลย์คือเป็นผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์...
แต่จุดอ่อนของเขาก็คือมีความคาดหวังที่สูงเกินไป!
นอกจากงานแล้ว เลย์ทุ่มเทหัวใจให้กับครอบครัว เขาสมรสครั้งที่ 2 กับลินดา (Linda) เลย์มีบุตร 5 คน จากการสมรสครั้งแรก โดย 2 คนทำงานกับเอนรอน
เลย์มักพักผ่อนด้วยการไปเล่นสกีที่ Aspen เนื่องจากมีบ้านอยู่ที่นั่น และล่องเรือตกปลาไปรอบอ่าว Galveston เลย์มักจะพูดอยู่เสมอว่า เขามี ""ของเล่น"" และสถานที่ที่จะไปมากมาย แต่ก็ไม่มีเวลาพอ...
นับแต่นี้ไป เลย์น่าจะมีเวลามากขึ้น!
******
ขณะที่เขียนต้นฉบับชิ้นนี้ เคนเนท เลย์ ยังไม่ยอมออกมาพูด...
มีแต่ลินดา เลย์ ภรรยาของเขา ที่ได้ให้สัมภาษณ์กับลิซา ไมเออส์ (Lisa Myers) ในรายการ "Today" ของสถานีโทรทัศน์เอ็นบีซี (NBC) เมื่อวันจันทร์ที่ 28 มกราคม
ลินดา เลย์กล่าวว่า การล้มละลายของเอนรอน ทำให้ครอบครัวของเธอต้องเผชิญกับมรสุมทางการเงินอย่างหนัก ไม่ต่างไปจากพนักงานและผู้ถือหุ้นเอนรอนคนอื่น ๆ และเพื่อไม่ให้มีปัญหาสภาพคล่องและเพื่อไม่ให้ต้องล้มละลาย เธอจะต้องขายทรัพย์สินที่มีอยู่ทั้งหมด เว้นไว้แต่บ้านซึ่งครอบครัวอาศัยอยู่ที่ฮูสตันเท่านั้น
ภรรยาอดีตผู้บริหารสูงสุดของเอนรอนมองว่า สามีของเธอตกเป็น ""เหยื่อ"" การโกงของผู้บริหารเอนรอนคนอื่น ๆ ในสายตาของลินดา เลย์ แล้ว สามีของเธอเป็นคนที่ซื่อสัตย์ มีเกียรติ และมีคุณธรรม และเธอเชื่อมั่นว่าเขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นในเอนรอน แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่มีใครรู้ว่าแท้จริงแล้วเกิดอะไรขึ้นที่นั่น
กรณีของเอนรอนอยู่ในระหว่างการสอบสวนหาข้อเท็จจริงอยู่
ก่อนที่เอนรอนจะล้มไม่กี่วัน เคนเนท เลย์บอกกับภรรยาว่า เขาได้พยายามทุกวิถีทางแล้ว แต่ไม่สามารถหยุดยั้งได้...
ลินดา เลย์ เคยเป็นเลขานุการิณีของสามีมาก่อน ปัจจุบัน เธอเป็นเจ้าของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในฮูสตัน และทำงานให้กับองค์กรการกุศล
เธอเล่าให้ลิซา ไมเออส์ฟังด้วยว่า ครอบครัวเลย์สนิทสนมเป็นพิเศษกับอดีตประธานาธิบดีจอร์จ บุช (George Bush) บิดาของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน และเมื่อเอนรอนล้มละลาย บุชผู้พ่อก็ได้มาแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อครอบครัวของเธอเป็นการส่วนตัว
การออกมาให้สัมภาษณ์ของลินดา เลย์ครั้งนี้ เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งแง่บวกและแง่ลบ...
คนส่วนหนึ่งออกจะเห็นอกเห็นใจ
ขณะที่ คนอีกส่วนหนึ่งยังคงคลางแคลงใจ
กลุ่มหลังนี้ไม่เชื่อว่า ครอบครัวเลย์จะลำบากจริง!
ขณะเดียวกัน หลายคนก็มองว่าการเกิดและการดับของเอนรอนครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นเด่นชัดถึงสัจธรรมของระบบทุนนิยม
คุณล่ะคะ คิดอย่างไร!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น