Author : ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
ภาพที่ถวัติ ฤทธิเดช ถูกพูดถึงในช่วงแรก มี 2 แบบ แบบที่หนึ่งคือ เป็นวีรบุรุษสามัญชน เป็นนักต่อสู้ทางการเมืองที่radical อย่างไรบ้าง เช่น วิพากษ์วิจารณ์สถาบัน รวมกลุ่มกับกรรมกร สองคือ พล็อตที่ว่า ถวัติเป็นคนไม่จงรักภักดี ทำอะไรระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท โดยงานเขียนหลัง 2475 จะบอกว่าเขาไม่รู้ที่ต่ำที่สูง หาว่า อ.ปรีดี พนมยงค์ ส่งมาเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ ร.7
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นว่า ถวัติเป็นสามัญชนในประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ แต่มีชีวิตที่ไม่ลงตัวในหลายแง่ โดยแม้ว่า เขาเป็นนักเขียนและนักทำหนังสือพิมพ์ ก็ที่ไม่ใช่นักหนังสือพิมพ์อย่างเต็มที่ เป็นผู้นำกรรมกรแต่ก็ไม่ได ้เป็นกรรมกรจริงๆ
แม้เขาจะร่างฎีกาให้ชาวนากลุ่มต่างๆ แต่มีคนบางกลุ่มลือว่า ถวัติได้เงินจากการทำหน้าที่แบบนี้ และที่ชาวนาให้เขาร่างฎีกาก็เพราะความมีชื่อเสียงด้านการเขียนของเขา มีความสัมพันธ์กับนักการเมือง พลเรือนในคณะราษฎร แต่ก็ไม่เคยลงสมัครรับเลือกตั้งหรือมีตำแหน่งทางการเมือง และฟ้อง ร.7 แต่ก็ขอขมา ร.7 ในภายหลัง
ทั้งนี้ ในการทำความเข้าใจบทบาทของถวัติ จำเป็นต้องคำนึงสภาพแวดล้อมทางการเมืองด้วย ซึ่งในขณะที่ถวัติเกิดในปี 2437 เริ่มทำงานข้าราชการในปี 2461 และทำหนังสือพิมพ์ครั้งแรกในปี 2467 มีบรรยากาศทางการเมืองที่สำคัญ 3 ข้อ ได้แก่
หนึ่ง ความเสื่อมโทรมของราชสำนัก ในยุคนั้น มีหลายคนเขียนถึงความเสื่อมโทรมของราชสำนักไว้ เช่น
“พระราชวงศ์อาจมีทั้งที่ฉลาดและที่โง่ บางพระองค์อาจเป็นได้ทั้งโง่และทั้งหยิ่ง นี่แหละเปนเหตุที่ทำให้สมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพระเจ้าแผ่นดินดำเนิรไปในทางผิดหวัง ทำให้ประชาชนเห็นตระหนักยิ่งขึ้นทุกขณะว่า ชาติกำเนิดของบุคคลไม่ใช่เครื่องหมายบ่งบอก ถึงความดีของมนุษย์ต่อไป” (กุหลาบ สายประดิษฐ์, ศรีกรุง, 12 ก.ค. 2475)
“เจ้านายรุ่นหลัง โดยเฉพาะพวกที่ไปเรียนวิชามาจากต่างประเทศ มาถืออิสระ ประพฤติตัวเลวทราม ให้เขาดูหมิ่นได้หลายคน มันจึงพากันเปื้อนไปทั้งราชสกุล” (ดำรงราชานุภาพ, จดหมายส่วนพระองค์, 10 ก.ค. 2475)
“ การแข่งดีกันเอง โดยไมได้ทำอะไรให้คนนับถือ ทำให้เสียงเกลียดเจ้าค่อยๆ เริ่มขึ้น จนถึงแสดงกิริยาเปิดเผยขึ้นทุกที” (พูนพิศมัย ดิศกุล, สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น, 2544)
ตัวอย่างที่ยกมาเพื่อแสดงให้เห็นว่า ที่บอกว่า ถวัติวิจารณ์สถาบันรุนแรงนั้น จริง แต่ก็เป็นหนึ่งในปัญญาชนที่สะท้อนวิพากษ์วิจารณ์สถาบัน ซึ่งเป็นบรรยากาศร่วมสมัยที่สามัญชนวิจารณ์กษัตริย์ เช่นเดียวกับการที่ประชาชนวิจารณ์นายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน
สอง ต้องตระหนักว่า สถานะของหนังสือพิมพ์ในขณะนั้นเป็นอาณาบริเวณสาธารณะและเกี่ยวข้องกับการสร้าง อัตลักษณ์และความรู้สึกร่วมทางการเมือง และหากจะบอกว่า ถวัติมีงานเขียนที่พูดเรื่องสิทธิเสรีภาพ คนอื่นๆ ก็พูดถึงเรื่องนี้เช่นกัน
สาม มีการเปลี่ยนแปลงของการเมืองของพลเมือง โดยสิทธิไม่ขึ้นอยู่กับชาติกำเนิด แต่เป็นสิ่งที่อยู่ภายใต้ความเสมอภาคและคุณธรรมความสามารถของแต่ละคน
ถวัติเป็น “ปัญญาชนสาธารณะ” และ “ปัญญาชนนอกระบบ” คนแรกๆ
ที่พยายามอาศัยพลังของ “หนังสือพิมพ์”
ซึ่งถือว่าเป็น “พลังนอกระบบ” ไปสร้างความเปลี่ยนแปลง
เนื่องจากถวัติไม่ใช่ข้าราชการ จึงไม่สามารถใช้เส้นสายในระบบราชการไปผลักดันความเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้ เขาไม่ใช่ผู้มีทุน จึงไม่อาจใช้สถานะทางเศรษฐกิจไปผลักดันอะไรได้ และเพราะไม่ใช่ลูกหลานคนชั้นสูง จึงไม่อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงจากภายในระบบขึ้นมา
ดังนั้นจะเห็นว่า ถวัติเป็น “ปัญญาชนสาธารณะ” และ “ปัญญาชนนอกระบบ” คนแรกๆ ที่พยายามอาศัยพลังของ “หนังสือพิมพ์” ซึ่งถือว่าเป็น “พลังนอกระบบ” ไปสร้างความเปลี่ยนแปลง รวมทั้งเป็นปัญญาชนคนแรกๆ ที่เห็นความสำคัญของการต่อสู้ทางการเมืองโดยอาศัยพลังคนชั้นล่างเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่ต่อสู้ด้วยงานเขียนล้วนๆ เพียงอย่างเดียว เช่นปัญญาชนรุ่นก่อนหน้า เช่น ก.ศ.ร.กุหลาบ หรือเทียนวรรณ
ถวัติเป็น political icon ที่สำคัญในสมัยของเขา แต่บทบาทด้านที่สำคัญกว่าคือ การเป็นปัญญาชนสาธารณะที่ทำงาน ใกล้ชิดกับคนชั้นล่าง นั่นหมายความว่าคุณค่าของถวัติไม่ได้ขึ้นอยู่กับกิจกรรมและความเคลื่อนไหวทางการเมือง ของเขาเพียงอย่างเดียว เพราะด้านที่น่าจะมีความสำคัญไม่น้อยกว่านั้นก็คือความคิดของถวัติในฐานะที่เป็นภาพสะท้อน ของการเปลี่ยนแปลงทางความคิดในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เกิดสังคมเมืองและตลาด เกิดระบบคุณค่าแบบใหม่มากขึ้น รวมทั้งเกิดคนกลุ่มใหม่ๆ ขึ้นในสังคม
ภายใต้กรอบการมองแบบนี้ สามารถจัดหมวดหมู่ความคิดของถวัติแบบหยาบๆ ได้เป็นความคิดทางการเมือง ความคิดทางเศรษฐกิจ และความคิดทางสังคม
“ประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
เกี่ยวเนื่องกันอย่างไร
แยกออกจากกันได้ไหม มีผลอย่างไร”
ในระนาบของความคิดทางการเมือง ถวัติวิพากษ์การปกครองของกษัตริย์ด้วยความคิดแบบสมัยใหม่หลายเรื่อง ผ่านงานเขียนของเขาเองบ้าง ผ่านการตีพิมพ์งานเขียนของคนบางกลุ่มอย่างต่อเนื่องบ้าง บางเรื่องก็เป็นการวิพากษ์ด้วยสำนวนโวหารที่พบเห็นได้ทั่วไป เช่น
“การประหัตประหารผจญต่อเหล่าอำมาตย์ที่ใช้อำนาจกาลีฉ้อราษฎร์บังหลวง ให้มันถึงซึ่งความแตกดับ แทงมันด้วยหอกตรอกตั้งแต่หูซ้ายทะลุหูขวา ด้วยคมปากกาของเรา”
แต่ในหลายกรณี คำวิพากษ์เหล่านี้ก็สะท้อนการเติบโตของความคิดทางการเมืองแบบใหม่ เช่น การแบ่งแยกระหว่างรัฐบาลกับกษัตริย์ ความเชื่อที่ว่ารัฐบาล คือ ลูกจ้างของราษฎร
๑. รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รักกันอย่างไร และเปนของจำเปนนักหรือ
๒. คำโบราณที่ว่า 'เจ้าว่างามก็ให้งามไปตามเจ้า' ดั่งนี้หมายความว่าอย่างไร และได้ชื่อว่ารักเจ้าด้วยหรือไม่ อธิบายมา
๓. ประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เกี่ยวเนื่องกันอย่างไร แยกออกจากกันได้ไหม มีผลอย่างไร
๔. อะไรเรียกว่ารัฐบาล ทำไมจึงเรียกอย่างนั้น ใครเป็นผู้ตั้ง
๕. รัฐบาลกับราษฎรเกี่ยวเนื่องกันอย่างไร แยกออกจากกันได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
๖. รัฐบาลตั้งอยู่ได้เพราะราษฎรให้เงินบำรุงใช่ไหม ถ้าใช่ผู้ที่ทำการงานของรัฐบาลจะมิได้ชื่อว่าเปนลูกจ้างของราษฎร หรือ
เขามีความคิดใหม่ว่า รัฐบาลมีหน้าที่บางอย่างที่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน โดยถวัติเขียนฎีกาเรื่อง "การแก้ไขฐานะของชาวนา" เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2474 ตามที่ราษฎรอำเภอหนองจอก จังหวัดมีนบุรีและชาวนาอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ประมาณ 1,000 คน มอบฉันทะผ่านนายสมัดบรอฮิมีว่า
"กราบบังคมทูลใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทให้ทรงทราบถึงความเดือดร้อนทุกข์ยากของพวกเขาเหล่าชาวา
ในฐานะที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงเปนประมุขของชาติ....
"แม้รัฐบาลของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจะพยายามแก้ไขอย่างไรประชาชนก็ยังมองไม่เห็นผล"
นอกจากนี้ ถวัติยังคิดว่าประชาชนมีสิทธิในการตรวจสอบพระราชกรณียกิจ โดยฎีกาฉบับที่มีเนื้อหาน่าสนใจอีกฉบับ คือฎีกาที่ถวัติเขียนขึ้นเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2474
หลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับจากการพระราชดำเนินต่างประเทศได้ไม่นาน โดยในการ
เสด็จพระราชดำเนินไปยังต่างประเทศครั้งนั้น พระองค์ทรงพำนักในประเทศต่างๆ เป็นเวลาปีเศษ ซึ่งถวัติตั้งคำถามไว้ว่า
"ความรู้สึกในการทรงพระสำราญของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ในเมื่อทรงประทับอยู่ในพระมหานคร กับทรงประทับอยู่ในประเทศอเมริกา ต่างกันอย่างไร"
"หนังสือพิมพ์ปินังกาเซตต์ลงข่าวว่า การที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเสด็จรักษาพระเนตร์ ต้องเสียพระราชทรัพย์ แพงที่สุดในประวัติการ คือใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทต้องใช้พระราชทรัพย์สิ้นไปประมาณ 250,000 (ปอนด์ราวสองล้านห้าแสนบาท) นั้น ความจริงมีเพียงไร แลใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงใช้จ่ายไปจริงเท่าไร"
ถวัติเป็นปัญญาชนคนแรก ๆ
ที่พูดถึงปัญหาของระบบแรงงานรับจ้างและอุตสาหกรรมสมัยใหม่
โดยอาศัยวิธีการเปรียบเทียบกับสภาพของ “ทาส” ในสังคมศักดินา
ในระนาบของความคิดทางเศรษฐกิจ ถวัติเป็นปัญญาชนคนแรกๆ ที่พูดถึงปัญหาของระบบแรงงานรับจ้าง และอุตสาหกรรมสมัยใหม่ โดยอาศัยวิธีการเปรียบเทียบกับสภาพของ “ทาส” ในสังคมศักดินา ผ่านบทความชิ้นหนึ่งทางหนังสือพิมพ์
“ข้อที่เข้าใจกันว่าทาษไม่มีในบัดนี้นั้นเปนอันเข้าใจผิด
ถ้าหากจะมีใครลอบชำเลืองดูความเปนอยู่ของบุคคลสองจำพวก
คือนายจ้างกับลูกจ้างบ้างแล้ว ก็จะร้องว่า "อ้อ!
อ้ายตัวทาษนี้มันยังมีฉายาแฝงอยู่ในตัวลูกจ้างอีกนี่
ควรคิดดูบ้างซี่ว่าคนที่ไปเปนลูกจ้างเขานั้นมีคนร่ำรวยพอตั้งเนื้อตั้งตัวได้แล้วกี่เปอร์เซนต์
เมื่อเปนดังนี้ การทำสัญญาจึงเปนโอกาสให้จำต้องเสียเปรียบกันอยู่ นี่หรือเปนธรรม
นี่หรือเสมอภาค ? ชะ!"
"นายจ้างน่าเลือดเอาเปรียบกันคั่นหนึ่งล่ะนะ และยิ่งกว่านั้น
นายจ้างผู้คิดเอาเปรียบอีกยังพยายามใส่ข้อแม้ลงในสัญญานั้นว่า
ถ้าทำดังนี้เปนผิดต้องถูกตัดเงินเดือนเท่านั้น
ลูกจ้างเหล่านี้ได้รับเงินค่าจ้างไม่คุ้มกันเลย ด้วยเหตุนี้การที่จะเรียกว่าทาษคงไม่ผิด”
นอกจากนั้น ถวัติยังเป็นปัญญาชนคนแรกๆ ที่พูดถึงความสำคัญของการรวมกลุ่มเพื่อทำการเจรจาต่อรองด้านสิทธิและผลประโยชน์ต่างๆ จากนายจ้าง โดยเฉพาะการสนับสนุนให้เกิดสมาคมกรรมกรรถรางสยาม
“พวกเราเหล่ากรรมกรสยามถึงคราวหรือยังที่จะต้องควบคุมกันเข้าให้เปนหมวดหมู่ เมื่อพวกเราเหล่ากรรมกรสยามยังถือว่าตัวใครตัวมัน แรงใครแรงมันอยู่ตราบใดแล้ว พวกเราอย่าพึงหวังเลยว่าจะพ้นอำนาจอธรรมอันนายจ้างน่าเลือดจะกดขี่พวกเรา เราไม่ได้คำนึงบ้างเลยหรือว่า ความสามัคคีพร้อมเพียงแห่งหมู่ ย่อมเปนอำนาจส่วนหนึ่งซึ่งใครๆ ก็จะต้องเกรงขามเรา ไม่กล้ากดหัวกันเล่น ประดุจวัวควาย มิฉนั้นสิทธิของพวกเราเหล่ากรรมกรจึงไม่มี”
ในตอนนั้นยังไม่ค่อยมีใครพูดเรื่องสิทธิของกรรมกรไว้ ซึ่งแม้ในตอนนี้สิทธิกรรมกรก็ยังเป็นเรื่องสำคัญที่ควรพูดถึง เพราะสังคมไทยยังไม่เข้าใจเรื่องนี้
ถวัติไม่ใช่ปัญญาชนฝ่ายซ้ายที่เชื่อว่ารัฐคือเครื่องมือทางชนชั้น
ในทางตรงข้าม เขาเห็นว่ารัฐใหม่ในยุคหลัง 2475
คือรัฐซึ่งเป็นกลางและสามารถจรรโลงไว้ซึ่งความยุติธรรม
อย่างไรก็ดี ถวัติไม่ใช่ปัญญาชนฝ่ายซ้ายที่เชื่อว่ารัฐคือเครื่องมือทางชนชั้น ในทางตรงข้าม เขาเห็นว่ารัฐใหม่ใน
ยุคหลัง 2475 คือรัฐซึ่งเป็นกลางและสามารถจรรโลงไว้ซึ่งความยุติธรรม ถวัติจึงมีบทบาทสูงในการเรียกร้องให้รัฐเข้ามาจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างกรรมกรและนายจ้าง ไม่ใช่กระตุ้นให้คนงานลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐและทุนนิยม
ด้วยประเทศสยามอันเป็นปิตุภูมของประชาชนชาวไทได้ชื่อว่าเป็นประเทศเอกราชแต่ประชาชนชาวไทย
ได้รับการปกครองเหมือนกับโคโลนีเมืองขึ้นมานานนักหนาเป็นพระเดชพระคุณแก่ประชาชนชาวไทอย่างยิ่ง
ในการที่คณะราษฎรได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้มีรัฐธรรมนูญ
เปิดโอกาศให้ประชาชนชาวไทได้มีอิสระภาพ เสรีภาพ เท่าที่ควรมีควรได้.
แม้กระนั้นก็ดี สภาพของกรรมกรสยามยังมิได้พ้นจากความกดขี่ยังคงเป็นทาษน้ำเงินของนายจ้างอยู่
ยิ่งกรรมกรที่อยู่ในความปกครองของชาวต่างประเทศ ๆ ก็ใช้วิธีการปกครองอย่างคนในโคโลนีของเขาทีเดียว
โดยใช้วิธีตั้งหัวหน้าขึ้นคนหนึ่ง แล้วมอบอำนาจสิทธิ์ขาดให้แก่หัวหน้า
หัวหน้าจะเอาคนเข้าบันจุงานหรือจะเอาคนออกจากงานก็ได้ตามความพอใจ
รวมความว่าจะเอากรรมกรไปทำเป็นผักต้มขนมยำอะไรก็สุดแล้วแต่หัวหน้าทั้งสิ้น.
หัวอกของกรรมกรระทมชอกช้ำมาเป็นเวลานานการที่เกล้ากระผมเป็นผู้ริเริ่มขอตั้งสมาคมกรรมกร
ก็เพื่อจะแก้ความชอกช้ำของกรรมกรดังกราบเรียนมานี้เพราะสภาพของกรรมกรสยามเป็นสภาพที่น่าสังเวช งานก็ต้องทำหนัก เงินได้น้อยเวลาเจ็บป่วยหรือต้องออก ตัวและครอบครัวก็ไม่มีจะกินทีเดียว
แต่นโยบายของรัฐบาลใหม่ได้ดำเนินเป็นคนกลางคือว่าเมื่อกรรมกรกับนายจ้างมีข้อพิพาทกันแล้ว
รัฐบาลจักเป็นผู้ไกล่เกลี่ยหาความยุติธรรมให้
อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่า ถวัติวิจารณ์ระบบทุนนิยมไว้อย่างถึงรากถึงโคนหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าในสถานการณ์ที่อุตสาหกรรมสมัยใหม่เกิดขึ้น ถวัติเป็นหนึ่งในคนน้อยรายที่มองเห็นปัญหาของระบบนี้ และทำการเคลื่อนไหวจนทำให้รัฐบาลต้องพิจารณาปัญหานี้อย่างจริงจังมาตั้งแต่สมัยก่อน 2475 จนถึงสมัยคณะราษฎร
นั่นหมายความว่า ถวัติในกรณีนี้ไม่ได้เป็นแค่ปัญญาชนที่ทำงานกับคนชั้นล่างอย่างเดียว แต่ยังเป็นนักกิจกรรมทางสังคมหรืออาจจะเรียกว่าเป็นเอ็นจีโอที่สามารถสร้างผลสะเทือนทางการเมืองบางอย่างด้วย ดังที่มีพระบรมราชวินิจฉัยของ ร. 7 ต่อปัญหากรรมกรว่า
“เปนของควรคิดอย่างยิ่ง แต่ว่าไม่ใช่ทำกฎหมายเพื่อป้องกันคนงาน หรือให้สิทธิพิเศษต่างๆ แก่คนงาน อย่างที่เขามีกันในบางประเทศเพราะจะเปนเครื่องปลูกให้เกิดความคิดในทางจะตั้งสหกรณ์การค้าฤาสมาคมรวบรวมคนงานขึ้นได้ หมายความว่ายังไม่จำเปนต้องมีกำหนด minimum wagesหรือ eight hours day อะไรเหล่านี้”
ถวัติมีความคิดต่อรัฐเปลี่ยนไปมาก
นั่นคือเห็นว่ารัฐเป็นเรื่องของชนชั้นสูงมากขึ้น
ที่น่าสนใจ คือ ถวัติมีความคิดต่อรัฐเปลี่ยนไปมาก นั่นคือเห็นว่ารัฐเป็นเรื่องของชนชั้นสูงมากขึ้น เมื่อเกิดกรณีสไตรค์ของกรรมกรโรงสีข้าวในปี 2476 ซึ่งคนงานส่วนใหญ่เป็นกุลีจีน 3,000 คน ได้ร่วมกับถวัติเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลของคณะราษฎรเข้ามาแทรกแซงไกล่เกลี่ยเงินส่วนที่เจ้าของโรงสีชักไว้จาก
ชาวนาโดยอ้างว่าจะนำไปให้กรรมกรขนข้าว แต่จริงๆ แล้วไม่ได้จ่ายให้ตามนั้น
แต่นายมังกร สามเสน พ่อค้าและนักการเมืองคนสำคัญกลับโต้แย้งไปยังรัฐบาลว่ากรรมกรไม่มีสิทธิเรียกร้องกับ
รัฐบาล ควรไปร้องเรียนกับนายจ้างก่อน และในที่สุดก็อ้างว่า
“ถ้านายถวัติจะลงมติเรียกเกวียนละ ๑ บาท ๒๕ สตางค์ มากกว่าที่โรงสีให้เกวียนละ ๘๐ สตางค์ ซึ่งจะต้องเป็นเนื้อของชาวนาทั้งสิ้น การที่นายถวัติจะคิดเชือดเนื้อชาวนามาเลี้ยงกรรมกรจีน ดังนี้ รัฐบาลจะนอนใจไม่ได้ ถ้านายถวัติทำสำเร็จ ต่อไปสภาพของนายจ้างจะเป็นอย่างไร”
นายมังกรเรียกร้องต่อไปให้รัฐบาลจับถวัติ จากนั้น รัฐบาลจึงส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกจับกรรมกรราว 30 คน ไปที่ปากคลองสาน เพื่อรอการเนรเทศ ทำให้ถวัติเริ่มมองรัฐบาลของคณะราษฎร์เปลี่ยนไป โจมตีว่ารัฐบาลกำลังทำให้ธนานุภาพครอบคลุมสยาม และในอนาคตจะทำให้คณะราษฎรพ่ายแพ้ในระยะยาว เพราะเสียการสนับสนุนจากราษฎรและชนชั้นล่าง
“การกระทำของคณะผู้นำมีผมเป็นต้นนั้น มีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะรวบรวมอิทธิพลฝ่ายกรรมกร เข้าสนับสนุนคณะราษฎรและรัฐบาลนี้ ปัญหามีว่าเราจะต้องการอิทธิพลกรรมกรหรือไม่ถ้าไม่ต้องการ กรรมกรจีนที่จับไว้ก็เนรเทศ ออกประเทศได้ คณะของผมก็วางมือปล่อยให้เหตุการณ์เป็นไปตามยะถากรรมและนั่นเป็นหนทางที่บอกว่าธนานุภาพจะครอบคลุมสยาม และคณะราษฎรจะไร้ผู้สนับสนุนประดุจจอกที่ลอยอยู่โดยเดี่ยวในกลางสระ”
ในระนาบความคิดทางสังคม ถวัติเสนอให้ประชาชนรวมกลุ่มกันช่วยเหลือตัวเอง โดยจัดตั้งในรูปสหกรณ์ แต่ถ้าพูดให้ยุติธรรม คนจำนวนมากก็พูดในเรื่องนี้
เขาจึงเป็นนักวิพากษ์สถาบันแน่ๆ
แต่อาจเป็นอย่างมากก็แค่
การวิพากษ์เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในบางอย่าง
ถวัติถูกพูดถึงมากในฐานะ “บุคคลในประวัติศาสตร์” คนแรกที่ทำการฟ้องพระเจ้าอยู่หัว แต่เอกสารเกี่ยวกับการฟ้องที่สำคัญที่สุดนั้นไม่ปรากฏอยู่ในขณะนี้
การประเมินสถานะของถวัติผ่านเรื่องนี้จึงทำได้ไม่ง่าย เพราะขณะที่ถวัติเริ่มต้นด้วยการฟ้องพระเจ้าอยู่หัว ถวัติกลับเข้าเฝ้าเพื่อขอพระราชอภัย
เขาจึงเป็นนักวิพากษ์สถาบันแน่ๆ แต่อาจเป็นอย่างมากก็แค่การวิพากษ์เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในบางอย่าง ไม่ใช่การสร้างระบอบการปกครองที่ปราศจากสถาบัน ไม่ต่างจากที่ประชาชนวิจารณ์รัฐบาลในปัจจุบัน รวมทั้งไม่ใช่ฝ่ายซ้ายอย่างแน่นอน
น่าสังเกตด้วยว่า ปัญญาชนและผู้นำกรรมกรปีกที่ใกล้ชิดกับการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือ พคท.ในช่วงแรกๆ มีทรรศนะคติต่อถวัติไปในทางที่ไม่ดีแทบทุกคน เพราะมองว่า ถวัติประนีประนอมเกินไป
อันที่จริง ประเด็นสำคัญในเรื่องการฟ้องพระเจ้าอยู่หัว ไม่ใช่อยู่ว่า ถวัติเป็น anti-monarchy จริงหรือไม่ แต่อยู่ที่ถวัติไม่ฟ้องเรื่องนี้ต่อศาล หากกลับฟ้องต่อสภา
ซึ่งเมื่อคำนึงถึงจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ว่าเกิดจากการที่พระมหากษัตริย์พาดพิงถึงถวัติใน “พระบรมราชวินิจฉัย”
การฟ้องต่อสภาจึงเป็นการทำให้เกิด “ความเป็นการเมือง” ขึ้นในการพิจารณาปัญหาว่า พลเมืองมีสิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีกับพระมหากษัตริย์ได้หรือไม่
โดยเฉพาะในเรื่องที่พระมหากษัตริย์ได้ใช้อำนาจเกินกว่ารัฐธรรมนูญระบุไว้ นั่นก็คือการมีพระบรมราชวินิจฉัยโดยปราศจากผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ในที่สุดแล้ว ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่ถวัติเป็นสามัญชนที่ฟ้องพระเจ้าอยู่หัว แต่อยู่ที่การตั้งคำถามต่อ “พระราชอำนาจ” ที่ปราศจาก “ผู้รับสนอง” รวมทั้งการเตือนว่าการใช้ “พระราชอำนาจ” ในลักษณะนี้
ในที่สุดก็ย่อมเป็นพระมหากษัตริย์เองที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง (ถวัติจึงฟ้องเรื่องนี้ต่อศาลไม่ได้ เพราะศาลดำเนินคดีได้แต่ในกรณี “พระราชอำนาจ” ที่มี “ผู้รับสนอง” เท่านั้นเอง)
ในทางการเมืองนั้น ความสำคัญของถวัติจึงอยู่ที่การทำให้สภาเป็น entity ในการตัดสินปัญหา “พระราชอำนาจ” ว่าควรมีขอบเขตและความรับผิดชอบแค่ไหน ไม่ใช่ปล่อยให้พระราชอำนาจมีพระราชอัตวินิจฉัยเองและไม่ใช่ปล่อยให้ศาลเป็นผู้พิจารณาอย่างที่ผ่านมา.
สนใจอ่านบทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ที่ : 110 ปี ถวัติ ฤทธิเดช ผู้นำกรรมกรคนแรก
03 Aug 06 | by BioLawCom
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น