‘ครูยอดธง‘ รับมอบ ปริญญานอกรั้วมหาวิทยาลัย คนแรกของโลก

29 ธ.ค. 2552
จาก พัทยาเดลีนิวส์

ดร.ยอดธง ‘ครูตุ้ย‘ 1 ในปูชนียบุคคล ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ นอกรั้วมหาวิทยาลัย คนแรกของโลก ที่สร้างชื่อเสียงกับประเทศไทย และ ยังเป็นผู้นำชุมชน เจ้าของสะโรแกรน "ปัญหามีไว้แก้ ไม่ใช่มีไว้กลุ้ม"

ครูตุ้ย - ยอดธง เสนานันท์ หรือ ยอดธง ศรีวราลักษณ์ อายุ 71 ปี ครูมวยชื่อดัง

 ถือเป็นบุคคล ที่ชาวบ้านและสังคมให้การเคารพเชิดชู ทั้งในด้านการสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมไทย ตลอดจนได้ตั้งปณิธานอันแน่วแน่ ด้วยการอุทิศตนช่วยเหลือสังคมโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน และ การมีน้ำใจอันประเสริฐ ให้กับสังคมและชาวบ้านทั่วไป โดยยึดแบบปิดทองหลังพระ จนได้รับแต่งตั้งจากราชการ ให้เป็น " ผู้ทรงคุณวุฒิ ของ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี และยังมีตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการ และ ที่ปรึกษา ของหน่วยงาน ภาครัฐ และ เอกชน อีกกว่า 30 ตำแหน่ง ซึ่งตำแหน่งที่ได้รับมิได้พึงปรารถนาเพราะส่วนตัวไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ก็ต้องรับไว้เพราะทุกฝ่ายวิงวอนเพื่อต้องการให้เป็นเกียรติประวัติของหน่วยงาน และเป็นบุคคลที่สามารถตัดสินปัญหาโดยเป็นธรรม

สำหรับประวัติ ครูยอดธง ศรีวราลักษณ์ หรือเสนานันท์ เกิดที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2480 ปีฉลู ชื่นชอบกีฬาชกมวยมาตั้งแต่เด็กรวมถึงกีฬาทุกประเภทที่เป็นการตู่สู้ไม่ว่าจะเป็นปลากัด ไก่ชน แต่ไม่เคยนำศิลปะมวยไทยมารังแกผู้ด้อยโอกาสกว่า ถ้าย้อนอดีต เมื่อจบ ป.4 ได้ย้ายมาอยู่กับพี่สาวที่นาเกลือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ในช่วงที่เป็นเด็กไม่ว่าจะมีการจัดแข่งขันชกมวยที่ไหน ก็จะตามไปดูทุกที่ จนคันไม้คันมืออยากจะขึ้นชกแต่ก็ชกไม่ได้เพราะยังเด็ก จนอายุ15 ปีก็ไปฝึกมวยกับ สิทธิเดช สมานฉันท์ ซึ่งถือว่าเป็นครูมวยคนแรก และตั้งมงคลนามในการชกมวยเป็นครั้งแรกว่า เอราวัณ เดชประสิทธิ์ ส่วนชื่อ ยอดธง เสนานันท์ ได้มาจากครูมวยคนที่ 5 สุวรรณ เสนานันท์ เป็นคนตั้งให้ และใช้ชื่อนี้เรื่อยมาตลอดการชกกว่า 50 ไฟล์ จนกระทั่งแขวนนวม

เวลาผ่านไป 25 ปี ยอดธง เสนานันท์ ตัดสินใจหนีกลิ่นสาบนวมไปเปิดร้านตัดผมที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง ในที่สุดก็ไม่สามารถทนกลิ่นสาปนวมไม่ไหวจึงได้หวนกลับมาตั้งค่ายมวยขึ้นมาใช้ชื่อว่า "ค่ายมวยศิษย์ยอดธง"ที่มาบตาพุด ระยอง โดยเริ่มจากค่ายเล็กๆ มีแค่เสาแขวนกระสอบทรายอยู่เพียงเสาเดียว มีเด็กนักมวยในค่ายแค่ 4-5 คน จากนั้นเริ่มส่งนักมวยขึ้นชกตามงานต่างๆ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ค่าตัวก็ขึ้นชก เพราะความอยากชกของนักมวยเนื่องจากซ้อมมาอย่างเต็มที่ จากนั้นก็มีนักมวยในค่ายเพิ่มมากขึ้น และส่งชกตามเวทีต่างๆทั่วภาคตะวันออก จนทำให้ค่ายมวยศิษย์ยอดธงมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วภาคตะวันออก และได้รับการติดต่อให้ไปชกต่างประเทศหลายครั้ง แต่แล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็เกือบจบลง เพราะมีสาเหตุมาจากในวันหนึ่งที่ครูตุ๊ยพานักมวยออกไปชกต่างจังหวัด และในระหว่างทางที่กำลังจะเดินทางกลับ ปรากฏว่าเกิดอุบัติเหตุรถพลิกคว่ำ ซึ่งครูตุ๊ยเป็นคนขับทำให้นักมวยเสียชีวิตไป 1 คน ส่วนผู้ปกครองพิการ จนทำให้ครูตุ๊ยเสียใจมาก จนเกิดความท้อแท้ และเลิกค่ายมวยที่มาบตาพุด ส่วนนักมวยที่เหลืออยู่ก็นำไปฝากไว้กับค่ายอื่น

ครูตุ้ย เล่าให้ฟังว่า หลังจากถอดนวม วางมือ เหือดหายมาจากวงการมวยพอสมควร เพราะชาวญี่ปุ่นกลุ่มหนึ่งนำโดย โอซามู โนกูจิ ได้พยายามที่จะให้ชาวโลกเข้าใจว่ากีฬามวยไทย จริงๆแล้วมีต้นกำเนิดมาจากกีฬาคิก บ๊อกซิ่ง ของญี่ปุ่น เมื่อเป็นดังนั้น ด้วยใจและสายเลือดรักมวยไทย เกิดความโกรธและปฏิญาณตนว่า "ข้า...จะเทิดทูนศิลปะมวยไทยด้วยจิต และวิญญาณของข้า เพราะมวยไทยเป็นวัฒนธรรมมรดกของชาติส่วนหนึ่ง และเป็นมรดกโลก ที่กอบกู้ใช้ชาติและแผ่นดินไทยเป็นเอกราชย์มาตราบถึงวันนี้" เรื่องนี้ข้าฯจะยอมไม่ได้ เพราะกีฬามวยไทยเป็นศิลปะการต่อสู้ของชนชาติไทย ที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

ต่อมา โอซามู โนกูจิ ยกทัพคิกบ็อกซิ่งมาจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อชกกับมวยไทยในแผ่นดินไทย เมื่อวันจันทร์ที่ 16 ตุลาคม 2515 ครูตุ๊ยจึงอาสานำทัพมวยไทยออกสู้ศึกในครั้งนี้ และสามารถปราบนักมวย คิกบ็อกซิ่งลงได้อย่างราบคาบ หลังจากนั้นรัฐบาลไทยภายใต้การนำของจอมพลถนอม กิตติขจร จึงได้มีคำสั่งเนรเทศโอซามู โนกูจิ ออกจากประเทศภายใน 24 ชั่วโมง ในฐานะที่เป็นบุคคลไม่พึงปรารถนาของประเทศชาติ และหลังจากที่โอซามู กลับถึงญี่ปุ่น ทางการญี่ปุ่นก็มีคำสั่งห้ามโอซามู โนกูจิ ยุ่งเกี่ยวกับวงการมวยอีกต่อไป เนื่องจากสร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงแก่ประเทศ ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะเรียกได้ว่า หากวันนั้นไม่ตัดสินที่จะกอบกู้ศักดิ์ศรีของความเป็นไทย ศิลปะมวยไทย ก็ไม่แน่ว่าในปัจจุบันกีฬามวยไทยอาจจะถูกครอบงำ หรือกลืนหายไปแล้วก็เป็นได้

ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา "ครูตุ้ย" ถูกยอมรับให้เป็นปรมาจารย์มวยคู่บารมีศึกวันทรงชัย สร้างมวยชื่อดังหลายคน อาทิ ดาวธง ศิษย์ยอดธง, สามารถ พยัคฆ์อรุณ, ก้องธรณี พยัคฆ์อรุณ, และ ฉัตรชัย ไผ่สีทอง นอกจากนี้ยังมีนักมวยไทยที่ผันตัวเองไปต่อยมวยสากลจนได้แชมป์โลก คือ สามารถ พยัคฆ์อรุณ ที่คว้าแชมป์สภามวยโลก รุ่น 112 ปอนด์ ระยะหลังมี ยอดสนั่น สามเค แบตเตอรี่ ยอดดำรง สิงห์วังชา ปัจจุบันได้มอบบ้านให้เป็นมูลนิธิมวยไทย ทั้งนี้มี รามอน เด็คเกอร์ นักมวยไทยชาวต่างชาติ เจ้าของฉายาไอ้กังหันนรก นำลูกเมียมาเรียนมวยไทยด้วย นอกจากนี้ครูตุ้ย ยังได้รางวัลผู้สืบสานศิลปวัฒนธรรมไทยดีเด่น ได้รับรางวัล ครูมวยดีเด่น คนแรกของประเทศไทย และหนึ่งเดียวในโลก จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อ 2534 และ ล่าสุดปี 2550 รับปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชามวยไทยศึกษา

ด้วยความเสียสละ และเป็นผู้ให้โดยไม่หวัง สิ่งตอบแทนทำให้บุญพา วาสนาส่ง ครูตุ้ย ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 และแจ๊กพอต งวดประจำวันที่ 1 พ.ย. 2548 ได้เงินรางวัลรวมกว่า 56 ล้านบาท แยกเป็นลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 จำนวน 10 คู่ เป็นเงิน 40 ล้านบาท และแจ๊กพอตชุดที่ 52 เป็นเงิน 16 ล้านบาท โดยเงินที่ได้มา ครูตุ้ย เอ่ยว่า " เงินทองเป็นของนอกกาย ตายไปก็เอาไปไม่ได้ซักบาท เกิดมา ต้องตาย โลภไป ทำไม " จึงนำเงินแจกจ่ายให้กับลูกศิษย์ ครูมวยในค่ายที่อาศัยอยู่ด้วยกัน โดยจะแบ่งให้คนละ 1 ล้านบาท นอกจากนี้จะนำเงินที่เหลือไปก่อตั้งมูลนิธิค่ายมวยศิษย์ยอดธงนานาชาติ และ ยังมอบเงินกว่า 20 ล้าน ให้กับหน่วยงานราชการ วัด และ ชาวบ้านที่ความยากจน อีกด้วย

ค่ายมวยศิษย์ยอดธง ตั้งอยู่เลขที่ 36/7 หมู่ 6 ตำบลหนอปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยปัจจุบัน "ครูตุ้ย" จัดตั้ง มูลนิธิค่ายมวยศิษย์ยอดธงนานาชาติ รับเลี้ยงเด็กนักมวย อายุตั้งแต่ 8 ขวบ เอามาฝึกมวยและเรียนหนังสือ มี รถรับส่ง กินอยู่ในค่ายมวยเสร็จ ใครอยากจะเป็นครูมวยก็จะฝึกให้ และ ปัจจุบัน มีพ่อแม่ ที่แบกภาระทางครอบครัวไม่ไหว ส่งลูกมาอยู่กับครูตุ้ย เพื่อ เรียนหนังสือ และ เรียกวิชามวย ในมูลนิธิค่ายมวยกว่า 50 ชีวิต และ นอกเหนือจากวงการแวดวงมวยไทย ด้านสังคม ครูตุ้ย ยังช่วยเหลืองานทุกระดับ ไม่ว่าเป็นชาวต่างชาติหรือคนไทย เมื่อมีปัญหาไม่ได้รับความสะดวก ก็จะดำเนินการให้ ถ้าสิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย อีกทั้ง "ครูตุ้ย" ยังลงพื้นที่ในแต่ละชุมชน เพื่อรู้ความเป็นอยู่ของประชาชน หากพื้นที่ใดลำบาก ก็จะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน จนเป็นที่รักของชาวบ้านทั่วไป อีกทั้งทางราชการจึงแต่งตั้งให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ของอำเภอบางละมุง จ.ชลบุรี

สำหรับการเป็นแบบอย่าง เพื่อให้อนุชนรุ่นหลัง ได้ปฏิบัติตาม และ นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน "ครูตุ้ย" ซึ่ง มีคติประจำใจ คือ "เกิดมาต้องตาย โลภไปทำไม" ควบคู่กับ คุณธรรม "บุญคุณ ต้องทดแทน แค้นต้องอภัย" โดยครูตุ้ย ใช้ชีวิตแบบคนธรรมดา ติดดินทั่วไป โดยวางตัวอยู่ในทุกระดับชั้น ชอบช่วยเหลือองค์กรทุกโอกาส โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ พร้อมทั้งยังเป็น ผู้ให้คำปรึกษา ทุกเรื่อง กับผู้ตกทุกข์ โดยใช้ประสบการณ์จากชีวิตที่ผ่านมา เป็นแนวทางในการแก้ไข

สำหรับ ชาวบ้าน ในพื้นที่ อ.บางละมุง เมืองพัทยา และ ในพื้นที่ใกล้ ต่างยอมรับ และ ชื่นชม "ครูตุ้ย" เนื่องจาก เป็นบุคคล ซึ่งได้อุทิศตัวต่อสังคมอย่างแท้จริงมาโดยตลอด โดยเฉพาะได้จัดตั้ง มูลนิธิมวยไทย ทำให้ ลูก หลาน และ ผู้ด้อยโอกาส ได้เรียนรู้ และ มีการศึกษา พร้อมทั้งยัง สั่งสอนให้คนเป็นคนดี ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และการ ปลูกฝังให้ รักและสืบสวนในวัฒนธรรมของไทย โดยเฉพาะ วิชามวยไทย ซึ่งเป็นมรดกของไทยมาแต่ช้านาน ไม่ให้เลือนหายไปจาก ประเทศไทย

นอกจากนี้ ครูตุ้ย ยังสร้างความประทับใจ ให้กับ คนเมืองพัทยา โดยลั่นวาจาไว้ว่า ถ้าสิ้นลมหายใจเมื่อใดยังไม่ให้ฝังและเผาร่างของตัวเอง โดยให้บรรจุไว้ในสุสานซึ่งเป็นที่อยู่ปัจุบัน พร้อมกับลั่นว่าว่าก็จะมอบที่ดินประมาณ 2 ไร่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างมูลค่ากว่า 20 ล้าน ให้เป็นสาธารณะประโยชน์ต่อแผ่นดินเกิด เพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะมวยไทยให้อนุชนรุ่นหลังให้สืบทอดต่อไป เมื่อตัวเองสิ้นลมหาย

ในที่สุดแล้วสังคมได้ให้ขวัญและกำลังใจจากหลายองค์กรได้มอบปริญญานอกรั้วมหาวิทยาลัย "ปริญญาปรัญาดุษฏีบัณฑิตกิตติศักดิ์ สาขาวิชามวยไทยศึกษา คนแรกของประเทศ และคนแรกโลก" จากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธุ์ พ.ศ. 2551 ณ สวนอัมพร กทม. และยังได้รับรางวัลชีวิตอีกรางวัลหนึ่งจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้เสนอยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นครูมวยไทยดีเด่น ปี 2533 โดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ โปรดเกล้าให้เข้าเฝ้ารับโล่พระราชทานครูมวยไทยดีเด่นแห่งชาติ เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2534 ณ วังสวนจิตรลดา กทม. ซึ่งเป็นรางวัลที่ "ครูตุ้ย" ภาคภูมิใจมากสุดในชีวิต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น