Angela Merkel - อังเกล่า แมร์เคิ่ล ผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก

27 ก.ย. 2552

คุณๆ คงเคยได้ยินชื่อของ อังเกล่า แมร์เคิ่ล นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของเยอรมนีมาไม่มากก็น้อย ไม่รู้คุณจะคิดเหมือนฉันไหมว่า ถ้าดูจากบุคลิก รูปร่างหน้าตา ที่เราเห็นกันในภาพ ทำไม๊ ทำไม ผู้นำประเทศคนสำคัญที่นิตยสารฟอร์บส์ จัดให้เป็น “ผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก” มาสองปีติดกันแล้ว ดูเป็นแม่บ้านจัง!

เธอไม่ได้ดูแกร่งเป็นหญิงเหล็กอย่างมาร์กาเร็ต แทชเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ไม่ได้ดูเฉี่ยว มั่นใจอย่างฮิลลารี คลินตัน แมร์เคิ่ลดูเป็นคนเรียบๆ ง่ายๆ แล้วผู้หญิงเรียบง่ายอย่างเธอต่อสู้ฟันฝ่าก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของเยอรมนีได้ยังไงนะ?
ได้ค้นคว้าหาประวัติของเธออ่านก็ยิ่งต้องอึ้ง ใครเลยจะคิดว่า อดีตนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันตะวันออกที่แต่งงานมาแล้วสองครั้ง และไม่มีลูก บุคลิกแสนเชย ไม่มีความโดดเด่นใดๆ จะก้าวมาเป็นผู้นำของเยอรมนีได้


***************************
แมร์เคิ่ล มีชื่อเต็มว่า อังเกลา โดโรเธีย คาสเนอร์  เกิดเมื่อปี 1954 ในเมืองฮัมบวร์ก มี คุณพ่อเป็นนักบวชศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ คุณแม่เป็นครู หลังจากเกิดได้ไม่นาน คุณพ่อคุณแม่ของเธอได้อพยพไปยังเยอรมนีตะวันออก แมร์เคิ่ลจบดอกเตอร์ด้านฟิสิกส์ ทำงานวิจัยเกี่ยวกับทฤษฏีควอนตัม พูดคล่องทั้งภาษาเยอรมัน อังกฤษ และรัสเซีย ขอเดาว่าเวลาเจอประธานาธิบดีปูตินของรัสเซีย คงจะพูดรัสเซียกันไฟแล่บเลยทีเดียว
ติดอะไรมาน่ะตัว เบี้ยวรึเปล่าจ๊ะ?

แมร์เคิ่ลก้มหน้าก้มตาทำงานวิจัยทดลองของเธอ จนกระทั่งในปลายทศวรรษ 80s ที่เธอเริ่มหันมาสนใจการเมืองบ้าง โดยเธอได้สมัครเป็นสมาชิกกลุ่ม Democratic Renewal ต่อต้านรัฐบาลเยอรมนีตะวันออก
หลังจากกำแพงเบอร์ลินล่มสลาย เมอร์เคิ่ลย้ายมาอาศัยอยู่ในเยอรมันตะวันตก และเริ่มเข้าสู่การเมืองโดยเข้าเป็นสมาชิกพรรคสหภาพคริสเตียนประชาธิปไตย (CDU) เป็นที่รู้กันดีว่า เฮลมุท โคห์ล นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น สนับสนุนเธอเป็นพิเศษ เพราะต้องการฐานเสียงจากเยอรมันตะวันออก แมร์เคิ่ลได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงครอบครัวและผู้หญิง และกระทรวงสิ่งแวดล้อม เป็นรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดในยุคนั้น
ก้าวกระโดดทางการเมืองของแมร์เคิ่ลมาถึงในปี1999 เมื่อพรรค CDU ต้องเผชิญกับข้อครหารับเงินสนับสนุนพรรคอย่างผิดกฏหมาย ทำให้ชื่อเสียงของนายกรัฐมนตรีโคห์ล, ว่าที่ผู้นำพรรคคนต่อไปอย่าง โวล์ฟกัง ชอยเบิล และนักการเมืองคนอื่นๆ ในพรรคย่ำแย่ไปตามๆ กัน แมร์เคิ่ลจึงกลายเป็นตัวเลือกของสมาชิกพรรคส่วนใหญ่ที่จะฉุดภาพลักษณ์ของพรรคให้ดีขึ้น เธอได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคในปี 2000
แน่นอนว่ามีแรงต้านจากนักการเมืองในพรรคไม่น้อย โดยเฉพาะนักการเมืองผู้ชาย แต่จะว่าไปแล้ว แมร์เคิ่ลเจอแรงต้านมาโดยตลอดในหลายๆ ด้าน เช่น เรื่องสถานภาพครอบครัวของเธอ พรรค CDU ซึ่งเป็นพรรคค่อนข้างเคร่งศาสนาคริสต์นิกายแคธอลิก ซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องครอบครัวมาก แต่แมร์เคิ่ลนับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ เป็นแม่ม่ายหย่าสามี และไม่มีลูก แม้เธอจะแต่งงานใหม่เมื่อปี 1998 แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ภาพลักษณ์ของเธอเข้ากับพรรคอย่าง CDU ได้มากนัก

หรือข้อครหาว่าเธอเป็นคอมมิวนิสต์ เพราะสมัยเป็นวัยรุ่น แมร์เคิ่ลเคยเป็นสมาชิกองค์กรเยาวชนคอมมิวนิสต์ ที่ชื่อว่า Free German Youth Organization เธอบอกว่าเธอทำไป ก็เพื่อที่จะได้มีที่เรียนในมหาวิทยาลัย โชคดีที่เธอไม่ได้มีตำแหน่งสำคัญอะไรมากในองค์กร ข้อกล่าวหาก็เลยฟังไม่ขึ้น

แม้กระทั่งเรื่องรูปลักษณ์ของเธอก็ตกเป็นขี้ปากของคน สมัยที่แมร์เคิ่ลเล่นการเมืองใหม่ๆ ใครๆ ก็หัวเราะเยาะเธอ ด้วยความที่เธอไม่แต่งตัว ทำผมทรงเชยๆ ใส่ชุดสูทโทรมๆ นักการเมืองมักจะพูดกันลับหลังว่า “โอ๊ย จะคาดหวังอะไรมากกับพวก Ossie (ชาวเยอรมันตะวันออก)" ขนาดหนังสือพิมพ์ยังชอบลงรูปของเธอที่ดูเหมือนว่าเธอเป็นพวกสหายจากลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งเธอไม่เคยเป็น เวลาเจอเรื่องแบบนี้ เธอมักจะตอบกลับว่า “คนที่ฉลาดมีกึ๋น มีเรื่องจะพูด ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องสำอางค์หรอก”

แต่ถ้าพูดถึงเรื่องการแต่งตัวนั้น ก็ต้องบอกว่า ตั้งแต่เธอได้เป็นตัวแทนเข้าลงชิงชัยตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2005 รูปลักษณ์ของแมร์เคิ่ลก็เปลี่ยนไป เธอจ้างสไตลิสต์ เปลี่ยนทรงผมและการแต่งตัวของเธอใหม่ รวมทั้งเริ่มแต่งหน้าด้วย กลายเป็นแมร์เคิ่ลนิวลุค ที่ถ้าเอารูปในอดีตมาเทียบกับปัจจุบันแล้ว ต้องบอกว่าเปลี่ยนไปแทบเป็นคนละคนเลยทีเดียว (ในทางที่ดีขึ้นนะ)

หน้ายังใสปิ๊งอยู่เลย...
เดี๋ยวนี้เปรี้ยวขึ้นเยอะค่า

อันที่จริงมีนักวิเคราะห์บอกว่าจริงแมร์เคิ่ลไม่น่าจะมีเพื่อนในพรรคมากนัก ด้วยความที่เธอเป็นคนเยอรมันตะวันออก ที่มาอยู่ในพรรคที่มีคนเยอรมันตะวันตกเป็นใหญ่ ก็ทำให้ผู้คนตั้งแง่กับเธอว่ามีความเป็นตะวันออกเกินไป และคอยจ้องรอวันเธอก้าวพลาด ในขณะที่ชาวเยอรมันตะวันออกก็ปฏิเสธเธอ หาว่าเป็นตะวันตกเกินไป “นอกจากเสียงและลายมือแล้ว ไม่มีความเป็นตะวันออกเหลืออยู่ในตัวแมร์เคิ่ลอีกเลย” เพื่อนเก่าแก่ของแมร์เคิ่ลอย่างไมเคิล ชินด์เฮล์ม นักเคมีผู้ซึ่งปัจจุบันผันตัวมาดูแลโรงละครในเบอร์ลิน บอก

แต่แมร์เคิ่ลก็ใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหวที่ต่อต้านเธอได้ทั้งหมด ห้าปีให้หลัง เธอกลายเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของเยอรมนี เป็นผู้นำประเทศคนแรกที่มาจากเยอรมนีตะวันออก และเกิดหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง 

ผลงานของรัฐบาลแมร์เคิ่ลก็นับว่าไม่ขี้เหร่ ผลการสำรวจความนิยมในช่วงที่เธอดำรงตำแหน่งได้ครบ 2 ปี ชี้ว่าประชาชนกว่า 76% เห็นว่ารัฐบาลของเธอทำงานได้อย่างน่าพึงพอใจ เป็นระดับคะแนนที่สูงกว่านายกรัฐมนตรีผู้ชายทั้ง 7 คนก่อนหน้าในช่วงเวลาเดียวกัน และเป็นระดับความเชื่อมั่นในรัฐบาลที่สูงที่สุดตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ความนิยมของเธอในสองปีแรกมาจากผลงานระดับนานาชาติเป็นส่วนใหญ่ ชาวเยอรมันชื่นชมบทบาทของแมร์เคิ่ลเมื่อกลางปีที่ผ่านมาที่เธอสามารถจะต่อกรกับผู้นำโลกอย่างประธานาธิบดีบุช ปูติน และซาร์โกซี่ได้อย่างเสมอภาค สามารถโน้มน้าวให้กลุ่มประเทศ G8 เห็นพ้องที่จะลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ในระดับที่น่าพอใจ จนเธอได้รับฉายาจากสื่อมวลชนว่า “Miss World”
นอกจากนั้น เมอร์เคิ่ลก็สามารถชักนำให้ประเทศสมาชิกอียู ตกลงเห็นด้วยกับสนธิสัญญาฉบับใหม่เพื่อใช้แทนรัฐธรรมนูญของอียู ซึ่งไม่ผ่านประชามติในประเทศฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ก่อนหน้านี้ 


นวดแบบบุชฮ่ะ ใครอยากลองบ้าง  ดูหน้าแมร์เคิ่ลแล้วแบบว่า ท่าทางจั๊กกะเดี๊ยมน่าดู เธอคงไม่คุ้น คนบ้าอะไรอยู่ดีๆ ก็มาจับตัวเค้าเฉยเลย

ส่วนการเมืองในประเทศนั้น ประชาชนต่างชื่นชมรัฐบาลที่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นมาได้โดยอัตราการเติบโตของ GDP อยู่ที่ 3%  ตัวเลขการส่งออกของเยอรมนีสูงที่สุดในโลก รวมทั้งตัวเลขของคนว่างงานก็ต่ำที่สุดในรอบห้าปีด้วย (แต่ถ้าไปถามอดีตนายกรัฐมนตรีชโรเดอร์ แห่งพรรค SPD เขาก็คงจะบอกว่าเป็นผลงานของเขา แมร์เคิ่ลมาชุบมือเปิบ)

แม้ว่าคงจะมีสถานการณ์ทางการเมืองระดับรัฐ อาจจะทำให้ภาพรวมของรัฐบาลผสมของแมร์เคิ่ลต้องสั่นคลอนบ้าง แต่นักวิจารณ์หลายคนบอกว่าแมร์เคิ่ลน่าจะผ่านเทอมแรกไปได้อย่างไม่อยากนัก ไร้ซึ่งทั้งคู่ต่อสู้และเรื่องอื้อฉาว 

แม้ตอนนี้เธอจะมีชื่อเสียงมาก แต่แมร์เคิ่ลก็ยังดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายกับนายโยอาคฮิม ซาวเออร์ สามีนักฟิสิกส์ของเธอ ซึ่งแต่งงานกันใหม่ เมื่อปี 1998 แทบไม่มีข่าวคาวใดๆ ให้สื่อมวลชนได้ขุดคุ้ย ภาพของแมร์เคิ่ลที่ไปจ่ายตลาดหลังเลิกงานเหมือนแม่บ้านคนอื่นๆ ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเธอไม่ได้เสแสร้งและขยันมุ่งมั่นกับการทำงาน

ความติดดินของแมร์เคิ่ลยังเผื่อแผ่ไปถึงสามีของเธอด้วย ในวันที่เธอเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น นายซาวเออร์ไม่ได้ไปร่วมในพิธี แต่(ข่าวรายงานว่า)นั่งดูถ่ายทอดสดพิธีอยู่ที่บ้าน จนหนังสือพิมพ์แทบลอยด์ยักษ์ใหญ่ของเยอรมนีอย่าง Bild พาดหัวข่าวแซวในวันรุ่งขึ้นว่า “แมร์เคิ่ล - สามีเธอไปอยู่ที่ไหน?”
ภาพตอนประชุมจีแปด ที่เยอรมนีเมื่อปีที่แล้ว

ในแง่การทำงาน นักการเมืองที่ได้ร่วมงานด้วยต่างก็เห็นตรงกันว่า แมร์เคิ่ลเป็นคนพูดน้อย เยือกเย็น ไม่โอ้อวด สุภาพและตรงประเด็น เธอเป็นนักฟังที่ดี แม้เธอจะไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นของคนอื่น แต่ก็จะรับฟัง บางคนบอกว่ามันน่ารำคาญที่เธอไม่ยอมบอกว่าเธอคิดเห็นอย่างไร ไม่ตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไรกันแน่ แต่เมอร์เคิ่ลบอกว่าเคล็ดลับสู่ความสำเร็จของเธอ ก็คือการไม่เร่งรีบหาข้อสรุป “ฉันชอบที่จะค่อยๆ มองปัญหาอย่างระมัดระวังเพื่อที่จะตรวจสอบว่ามันจะมีกับดักอยู่ที่ไหนบ้าง” นิสัยของนักวิทยาศาสตร์โดยแท้

แมร์เคิ่ลไม่ชอบเป็นข่าว ซึ่งตรงกันข้ามกับนายกฯ คนก่อนอย่างชโรเดอร์ ที่ชอบวางมาด ทำตัวเป็นข่าวหวือหวาตามหน้าหนังสือพิมพ์ตลอดเวลา เช่นใส่เสื้อโค้ทแคชเมียร์ถ่ายแบบให้กับนิตยสารแฟชั่น

บางทีอาจจะเป็นความติดดินของแมร์เคิ่ลนี่เอง ที่ช่วยทำให้เธอเป็นที่ชื่นชอบของชาวเยอรมัน 
***************************
สำหรับฉัน คนที่ไม่ได้รู้เรื่องการเมืองในประเทศเยอรมนีมากมายนัก ฉันชอบบุคลิกของเธอที่ไม่พูดมากแต่ทำเลย 

รวมไปถึงท่าทีการสนับสนุนประเด็นปัญหาระดับนานาชาติต่างๆ เช่นปัญหาสิ่งแวดล้อม และล่าสุดเรื่องประเด็นสิทธิมนุษยชนในจีน ซึ่งแมร์เคิ่ลให้การต้อนรับอย่างดีและพบปะพูดคุยกับทะไลลามะ 

เมื่อปีที่แล้ว ทำให้รัฐบาลจีนไม่พอใจอย่างมาก และความสัมพันธ์ระหว่างจีนและเยอรมนีสั่นคลอนพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่องการค้า ทำให้บริษัทเยอรมันที่ต่างก็พยายามแย่งชิงดีลใหญ่ๆ ในจีนมาจากประเทศอื่นๆ บ่นโวยวายพอสมควร
ฉันว่านักการเมืองทั่วไป คงเลือกที่จะไม่ทำให้ยักษ์ใหญ่มหาอำนาจอย่างจีนไม่พอใจ แม้แต่รัฐมนตรีต่างประเทศของเยอรมนีเอง แฟรงก์-วอลเตอร์ สไตน์ไมเออร์ ก็ยังบอกว่าเขาจะเลือกวิธีการที่รอบคอบและนุ่มนวลกว่านี้
แต่แมร์เคิ่ลบอกว่า “อย่างแรกที่สุด การที่ฉันต้อนรับทะไลลามะ กับการจัดการความสัมพันธ์กับจีนนั้นเป็นคนละเรื่องกัน 

แต่ทั้งสองอย่างนี้เกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิมนุษยชนว่าได้รับการปกป้องหรือละเมิดอย่างไร ซึ่งจุดยืนของเยอรมันนั้นชัดเจน และการต้อนรับทะไลลามะก็เป็นส่วนนึงของเรื่องนี้” ล่าสุด มีรายงานว่าเธอยินดีและมีแผนที่จะพบกับดาไลลามะอีกครั้ง
เพราะแมร์เคิ่ลได้แสดงให้เห็นว่าเธอมีจุดยืน และเลือกที่จะทำในสิ่งที่เธอเชื่อมั่น ทำให้ได้ใจฉันไปเต็มๆ เลยล่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น