Pages

คุณยายอัดรายการข่าวทางทีวีนาน 35 ปี Internet Archive เตรียมแปลงเป็นดิจิทัลเพื่อให้คนรุ่นหลังศึกษา

โดยบล็อกนัน เมือ 25 พ.ย.2556

คุณยาย Marion Stokes จากเมืองฟิลาเดเฟีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เริ่มอัดวิดีโอเทปรายการทีวีตั้งแต่ปี 1977 ซึ่งตอนแรกเธอก็ทำเป็นงานอดิเรก แต่นานไปเธอก็หลงใหลการอัดเทป จึงต้องอัดเทปทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งหากเธอต้องไปทานอาหารที่ภัตตาคารเมื่อไร เธอจะทานอาหารให้เร็วเพื่อรีบกลับบ้านไปเปลี่ยนม้วนเทป และเมื่อคุณยาย Stokes ได้แก่ตัวลงจนไม่สามารถอัดวิดีโอได้อีก เธอก็ได้สอนผู้ช่วยให้ใช้เครื่องอัดวิดีโอ

รายการข่าวที่คุณยาย Stokes อัดมีแทบทุกสถานี เช่น CNN, CNBC, Fox News, MSNBC, CSPAN และสถานีข่าวท้องถิ่นอื่น ๆ ซึ่งเหตุการณ์ข่าวที่คุณยายอัดไว้ก็มีเหตุการณ์สำคัญ ๆ หลายอย่าง ตั้งแต่เหตุการณ์วิกฤตการณ์จับตัวประกันของอิหร่าน จนไปเฮอริเคนแคทรีนา

คุณยาย Stokes ได้เสียชีวิตลงในปี 2012 ด้วยอายุ 83 ปี ซึ่งรวมแล้ว เธอได้อัดวิดีโอรายการทีวีมาเป็นเวลา 35 ปี นับเป็นจำนวนเทปได้กว่า 140,000 ม้วน

สำหรับวิดีโอเทปมหาศาลที่คุณยาย Stokes ได้อัดไว้นั้นนับว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก และตอนนี้ Internet Archive ได้เตรียมแปลงวิดีโอเทปที่คุณยาย Stokes บันทึกไว้เป็นดิจิทัลเพื่อเผยแพร่ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษากันต่อไป

http://www.fastcompany.com/3022022/the-incredible-story-of-marion-stokes-who-single-handedly-taped-35-years-of-tv-news

นายบรรเจิด สิงคะเนติ

นายบรรเจิด สิงคะเนติ เป็นนักกฎหมายมหาชน สายเยอรมัน ในวงการกิจกรรมรู้กันดีว่า"ดร.บรรเจิด" คือ นักกิจกรรมตัวยงคนหนึ่ง  สมัยทำงานกิจกรรมนักศึกษา อ.บรรเจิด คือ ผู้หนึ่งที่ออกค่ายอาสา เดินทางร่วมอยู่กับเพื่อนพ้องคนทุกข์ยาก ทำคดีความช่วยเหลือพี่น้องสลัม

จบปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงในปี พ.ศ. 2527,เนติบัณฑิตไทย,ปริญญาโทด้านกฎหมายมหาชน จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากนั้นได้ทุนของรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันไปศึกษาปริญญาโท (Magister Lugum) และสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2538 จากมหาวิทยาลัย Bochum และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก (Doktor der Rechte-Dr.jur) ในปี พ.ศ. 2541 จากมหาวิทยาลัยเดียวกัน

ผลงานของ ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ เคยอดีตผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง และศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน หรือ คตส. ตามประกาศคณะปฏิรูปในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  ฉบับที่ 30 เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2549 ปัจจุบันเป็นคณบดี คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ว่ากันว่า หากวันนี้ "อาจารย์บรรเจิด" ยังคงอยู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะเป็นไม้เบื่อไม้เมากับ "อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์" โดยตรงอย่างหนักหน่วง เพราะเมื่อ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำรงตำแหน่ง ก็จะทราบกันดีว่า นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีคนปัจจุบัน และนายบรรเจิด สิงคะเนติ อดีตอาจารย์คณะนิติศาสตร์มธ. อยู่ในฝ่ายที่สนับสนุน  ทีโดยมีกลุ่มศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ รุ่น 2511 นำโดย นายสายัณห์ สุธรรมสมัย ศิษย์เก่า มธ.รุ่น 2511 ที่เป็นผู้อ่านแถลงการณ์โจมตีนายสุรพล นิติไกรพจน์ เพราะเห็นว่ากลุ่มนี้สนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549

ทำให้กลุ่มแนวคิดเดียวกันทั้ง "สุรพล-สมคิด-บรรเจิด" เกาะกันแน่น ชนิดที่ว่าขายกันเป็นแพ็ก เพราะเมื่อรัฐประหารเฟื่องฟู เราก็ได้เห็น ผู้ยิ่งใหญ่แห่งธรรมศาสตร์เข้าไปทำงานกันอย่างคึกคัก

รวมทั้งแนวคิดนายกรัฐมนตรีพระราชทาน ที่ อาจารย์สุรพล เป็นผู้จุดพลุ แล้วมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่สมัยเป็นผู้นำฝ่ายค้าน เป็นผู้ออกมารับลูก ผลักดันอย่างเต็มที่ จนในที่สุดเมื่อเจอคำตอบในท้ายที่สุด ทำให้ทุกฝ่ายต้องกลับหัวหันแทบไม่ทัน ในคราวนั้นก็พบว่า แนวคิดเดียวกันที่กลุ่มเครือข่ายนักวิชาการด้านนี้ ผู้มีใจรักประชาธิปไตยเต็มที่ แต่ไม่ต้องการนายกฯที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องทำตัวเงียบหายไปพักใหญ่ทีเดียว

นอกจากนี้ กับบทบาทสำคัญของ "อาจารย์บรรเจิด" ในฐานะ คตส.  ที่เป็นหัวเรือใหญ่ในการทำคดีตรวจสอบทุจริตในโครงการจัดซื้อพันธุ์กล้ายางพารา "รัฐบาลทักษิณ" ที่มี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นประธานโครงการ รวมทั้งมีชื่อของนักการเมืองรอบจัดอย่าง "เนวิน ชิดชอบ" รวมอยู่ด้วย แม้มีการรวบรวมข้อมูลและหลักฐานอย่างเอาจริงเอาจัง แต่ในท้ายที่สุดท้ายคดีนี้ 44 ผู้ถูกกล่าวหา "รอดยกพวง"

นอกจากนี้ "อาจารย์บรรเจิด" ยังมีบทบาทโดดเด่นในช่วงการเคลื่อนไหวโค่นล้มรัฐบาลทักษิณ จนถึงการช่วยงานฝ่ายก่อรัฐประหาร โดยเขาหวังทำให้เกิดสังคมยึดถือ เรื่อง "ความถูกต้อง" เป็นสำคัญ จึงเดินตามแนวคิดของตัวเอง

และการกลับมา ยืนกันสุดขั้วความคิดกับ "กลุ่มนิติราษฎร์" จึงเป็นการประกาศสงครามความคิดกันอีกยก ซึ่งคงต้องสู้กันยาวแน่นอน

1 ส.ค.56 2556 เมื่อนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ลาออกจากตำแหน่ง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายบรรเจิดก็สมัครเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้รับการคัดเลือก

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน(ชุดที่ตัดสินคดีแก้รัฐธรรมนูญที่มาสว. ขัด ม. 68 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง)

เมื่อ 20 พ.ย.2556

คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ เข้าดำรงเมื่อวันที่ 28 พ.ค.51 มีวาระการดำรงตำแหน่งรวม 9 ปี

1. นายจรัญ ภักดีธนากุล
เกิดเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2493 เป็นชาวกรุงเทพมหานครโดยกำเนิด สำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเนติบัณฑิตไทย (สอบได้อันดับที่ 1 ของสมัยที่ 25) สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ได้รับปริญญานิติศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยม สาขาวิชากฎหมาย (B.A. in Law Cantab) จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษและเป็นเนติบัณฑิตอังกฤษจากสำนักเกรส์อิน (Gray's Inn) กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

นายจรัญเริ่มรับราชการเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ รองเลขาธิการส่งเสริมงานตุลาการ เลขาธิการส่งเสริมงานตุลาการ (ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2535) ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ (ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2540) กรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ และเลขาธิการประธานศาลฎีกา (ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2545) ตามลำดับ โดยระหว่างดำรงตำแหน่งเลขาธิการประธานศาลฎีกา นายจรัญมีบทบาทในการแถลงข่าวแทนฝ่ายตุลาการเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์การเมือง ภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อเดือนเมษายน 2549 และการมีพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชแก่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดและผู้พิพากษาศาลฎีกาเกี่ยวกับให้เข้ามาแก้ไขวิกฤติการณ์ดังกล่าว

ต่อมา นายจรัญได้รับเลือกเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ โดยวาระการดำรงตำแหน่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2549 แต่ก่อนจะเริ่มดำรงตำแหน่ง ก็ได้ขอโอนย้ายจากราชการตุลาการไปยังราชการพลเรือน โดยไปเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรมตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ปีนั้น นอกจากนี้ ในช่วงปีดังกล่าวซึ่งคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร และจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อร่างรัฐธรรมนูญถาวรฉบับใหม่ นายจรัญยังได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ กับทั้งยังอยู่ในฝ่ายสนับสนุนรับร่างด้วย

ต่อมา เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2551 นายจรัญได้รับเลือกจากวุฒิสภาให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยเป็นผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขานิติศาสตร์อย่างแท้จริงตามมาตรา 206 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม ปีนั้นเอง

2. นายจรูญ อินทจาร
เกิดเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมพ.ศ. 2487 สำเร็จการการศึกษา คณะนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแหน่งเนติบัณฑิตยสภา, ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ประวัติการทำงาน เคยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงพิษณุโลก เมื่อปี 2531,รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค1,ผู้พิพากษาศาลฎีกา, ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลจังหวัดสมุทรปราการ แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว และล่าสุดปี 2549 ดำรงตำแหน่ง ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

3. นายเฉลิมพล เอกอุรุ
เกิดเมื่อวันที่ 19 สิงหาคมพ.ศ.2488 นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จบการศึกษาประกาศนียบัตรชั้นสูงทางรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ Diploma in international Relations Institute of Socical Studies The Hague Master of arts (M.A.) International Law and Relations Columbis University Newyork ประเทศสหรัฐอเมริกา

ประวัติการทำงาน อดีตรองปลัดกระทรวงต่างประเทศ, อดีตรองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และเอกอัครราชทูตไทย ประจำสาธารณรัฐฮังการี โครเอเชีย บอสเนีย เฮอร์เซโกวีนา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

4. นายชัช ชลวร 
เกิดเมื่อ 7 กันยายนพ.ศ. 2491 
นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ อดีตประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา

5. นายนุรักษ์ มาประณีต 
เกิดเมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2492 จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
ประวัติ

นุรักษ์ มาประณีต เคยรับราชการโดยเป็น อัยการผู้ช่วย, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดไชยา, ศาลจังหวัดภูเก็ต, รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค 6, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 8, ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลอุทธรณ์ภาค 7

หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 นายนุรักษ์ให้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550 และได้รับแต่งตั้งให้เป็นตุลาการรัฐธรรมนูญคณะที่ทำการตัดสินคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549 อันสืบเนื่องมาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 ซึ่งคำพิพากษาส่วนบุคคลของนายนุรักษ์นั้นได้ตัดสินให้ยุบพรรคไทยรักไทยและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี และให้ยกคำร้องพรรคประชาธิปัตย์

ต่อมานายนุรักษ์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ คำพิพากษาส่วนบุคคลของนายนุรักษ์ให้ยกคำร้องพรรคประชาธิปัตย์

6. นายบุญส่ง กุลบุปผา 
เกิดเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์พ.ศ. 2493 สำเร็จการการศึกษา นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแหน่งเนติบัณฑิตยสภา
ประวัติการทำงาน

เคยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดพัทลุง,ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี,ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดจันทบุรี ,ผู้พิพากษาศาลแพ่ง,ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลแพ่ง,ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์,รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค 8,ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ,ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ ,รองประธานศาลอุทธรณ์ ,ผู้พิพากษาศาลฎีกา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

7. นายสุพจน์ ไข่มุกด์ 
เกิดเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2488 สำเร็จการศึกษารัฐศาสตรบัณฑิต สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการทูต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,ประกาศนียบัตรชั้นสูง สาขาการทูต, Institut International d' Administration Publique (IIAP) ประเทศฝรั่งเศส ปริญญาเอกด้านรัฐศาสตร์และกฎหมายระหว่างประเทศ, Universite des Sciences Sociales de Toulouse ประเทศฝรั่งเศส

ประวัติการทำงาน เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ สาธารณรัฐโปแลนด์ วันที่ 18 ตุลาคม 2546
เอกอัครราชทูต ณ กรุงเตหะราน สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2543

8. นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี 
เกิดเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2491 ตุลาการศาลปกครองสูงสุด (เคยย้ายไปดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่แต่งตั้งจากตุลาการศาลปกครองสูงสุด เมื่อ 28 เมษายน 2549) และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดอีกครั้ง เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2550
การศึกษา

นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เนติบัณฑิตไทย, 

ประวัติการทำงาน ผู้พิพากษาศาลฎีกา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์
รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง 
ตุลาการศาลปกครองสูงสุด (3 มีนาคม พ.ศ. 2549)
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (28 เมษายน พ.ศ. 2549 - 19 ตุลาคม 2549)
ตุลาการศาลปกครองสูงสุด (ปัจจุบัน)

9. นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ
ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อายุ 60 ปี แกนนำกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์

นิติศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) และนิติศาสตร์มหาบัณฑิต (สาขาอาญา) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เนติบัณฑิตไทย, Master of Law (LL.M., University of Pennsylvania) ประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงทางกฎหมายอาญา (D.E.A. de sciences criminelles) และปริญญาเอกเกียรตินิยมทางกฎหมายอาญา (Doctorat en droit pe′nal mention tre′s honorable, I′Universite de Nancy II)

บทเรียนแห่งความเพียงพอ ของ"โฮเซ มูฮิกา" ประธานาธิบดี"ยากจนที่สุดในโลก"

 
 โดยมติชน เมื่อ 17 พ.ย.2555

เป็นเรื่องธรรมดาที่ไลฟ์สไตล์ของนักการเมืองส่วนใหญ่ มักจะแตกต่างจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นชาวบ้านธรรมดาอย่างเห็นได้ชัด แต่ไม่ใช่ที่อุรุกวัย เพราะที่นี่ นักการเมืองที่มีอำนาจที่สุดของประเทศ อาศัยอยู่ในกระท่อมปลายไร่ที่ยังไงก็ดูไม่สมกับตำแหน่ง

ราวตากผ้านอกบ้านน้ำที่ใช้ดื่มกินก็มาจากบ่อน้ำนอกบ้านสนามหน้าบ้านเต็มไปด้วยวัชพืชมีเพียงเจ้าหน้าที่ตำรวจ2นาย และมานูเอลลา สุนัขพิการ 3 ขา ทำหน้าที่ดูแลบ้าน ซึ่งจริงๆควรจะเป็นทำเนียบประธานาธิบดี

เราอาจกล่าวได้ว่า ที่นี่คือบ้านพักประธานาธานาธิบดีแห่งอุรุกวัย นายโฮเซ มูฮิกา ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามีวิถีชีวิตที่แตกต่างจากผู้นำรายอื่นของโลกอย่างชัดเจน

ปธน.มูฮิกา ได้ปิดบ้านพักหรูประจำตำแหน่งที่รัฐมอบให้ในกรุงมอนเตวิเดโอ และเลือกที่จะอาศัยอยู่กับภรรยาที่บ้านหลังเล็กๆสุดถนนลูกรัง ในฟาร์มย่านชานเมืองหลวง ทั้งสองทำการเกษตรกรรมเท่าที่พอจะอำนวยด้วยตนเอง ด้วยการปลูกพืชไม้ดอก

ชีวิตที่แสนเรียบง่ายและความจริงที่ว่านายมูฮิกาบริจาคเงินเดือนซึ่งตกเดือนละ12,000ดอลลาร์สหรัฐกว่าร้อยละ 90 เพื่อมอบให้การกุศล ซึ่งนี่เองที่ทำให้เขาได้ชื่อว่าเป็นผู้นำประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก

นายมูฮิกาเปิดเผยว่า เขาใช้ชีวิตเช่นนี้มานานแล้ว นั่งพักผ่อนบนเก้าอี้เก่าๆในสวน หรือไม่ก็นั่งบนโซฟาที่เจ้ามานูเอลลาโปรดปราน

"ผมพอใจในสิ่งที่ผมมี"

เงินที่เขาบริจาค ซึ่งมอบให้แก่คนยากจนและผู้ประกอบการขนาดเล็ก ทำให้เขามีชีวิตอยู่ด้วยรายได้ที่เทียบกับค่าเฉลี่ยของรายได้ต่อเดือนของชาวอุรุกวัย ที่ราว 755 ดอลลาร์ (23,405 บาท)

ในปี 2010การตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินประจำปีของคณะรัฐบาลอุรุกวัยพบว่านายมูฮิกามีทรัพย์สินมูลค่า1,800ดอลลาร์ (ราว 55,800 บาท)ซึ่งก็คือราคาของรถเต่าโฟล์กสวาเกนของเขา ที่ซื้อมาตั้งแต่ปี 1987

ส่วนในปีนี้ เขาบวกทรัพย์สินของภรรยาไปด้วย ซึ่งประกอบด้วยที่ดิน รถแทรกเตอร์ และบ้าน รวมแล้ว เขามีทรัพย์สินอยู่ที่ 215,000 ดอลลาร์ (ราว 6,665,000 บาท) อย่างไรก็ดี ตัวเลขดังกล่าว คิดเป็นสัดส่วนเพียง 2 ใน 3 ของทรัพย์สินทั้งหมดของรองประธานาธิบดีดานิลโล แอสโทรี และคิดเป็น 1 ใน 3 ของทรัพย์สินของอดีตประธานาธิบดีทาบาเร วาสเกส

นายมูฮิกา ได้รับการเลือกตั้งเมื่อปี 2009 เขาใช้เวลาในยุค 1960 และ 1970 ในฐานะสมาชิกกลุ่มกองโจรทูปามารอส กองกำลังติดอาวุธฝ่ายซ้ายที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการปฏิวัติในคิวบา เขาเคยถูกยิง 6 ครั้ง และถูกจำคุก 14 ปี สภาพในระหว่างการถูกคุมขังเต็มไปด้วยความยากลำบากและโดดเดี่ยว กระทั่งได้รับการปล่อยตัวเมื่อปี 1985 เมื่ออุรุกวัยกลับสู่การเป็นประเทศประชาธิปไตย

นายมูฮิกา เผยว่าในช่วงหลายปีระหว่างการถูกคุมขัง ช่วยทำให้มุมมองต่อชีวิตของเขาได้รับการขัดเกลา

เขากล่าวว่า การได้รับฉายาว่าประธานาธิบดีที่ยากจนที่สุดในโลก ไมทำให้เขารู้สึกว่าตนเองจน คนจนคือคนที่ต้องทำงานหนักเพื่อตอบสนองรสนิยมอันหรูหราของตน และมีความต้องการที่ไม่สิ้นสุด

สำหรับเขา "สภาพความเป็นอยู่เช่นนี้ คือการได้มีอิสระเสรี เพราะหากคุณไม่ได้ครอบครองสิ่งใดมากมาย คุณก็ไม่จำเป็นต้องทุ่มแรงกายแรงใจเยี่ยงกรรมกรเพื่อหามันมาครอบครอง และยิ่งไปกว่านั้น คุณยังมีเวลาเป็นของตนเองด้วย"

"ผมอาจเป็นคนแก่ที่ดูประหลาด แต่นี่เป็นวิถีที่เป็นอิสระ"

ผู้นำอุรุกวัย กล่าวถึงในประเด็นเดียวกันนี้ ในการกล่าว ณ ที่ประชุมสุดยอดด้านสิ่งแวดล้อม ริโอ+20 เมื่อเดือนมิถุนายน ว่าหลายประเทศต่างพูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้ประชาชนหลุดพ้นจากความยากจน

"แต่เรากำลังคิดอะไรอยู่? เราต้องการรูปแบบการพัฒนาและการบริโภคของประเทศร่ำรวยเช่นนั้นหรือ? ผมขอถามคุณว่า อะไรจะเกิดขึ้นกับโลกใบนี้ หากชาวอินเดียมีสัดส่วนการครอบครองรถต่อครัวเรือนเท่าเยอรมนี? แล้วเราจะเหลืออ็อกซิเจนไว้หายใจอีกเท่าไหร่?"

"โลกใบนี้มีทรัพยากรเพียงพอ เพื่อที่จะตอบสนองให้คน 7 หรือ 8 พันล้านคน มีระดับการบริโภคและการสร้างขยะที่เท่าเทียมกับประเทศร่ำรวยหรือไม่? และนี่เป็นระดับการบริโภคที่เกินจำเป็นที่กำลังทำร้ายโลกของเรา

นายมูฮิกา กล่าวตำหนิผู้นำของโลกส่วนใหญ่ ที่มีความเชื่อที่ผิดๆว่า การสร้างการเติบโต คือการกระตุ้นการบริโภค ซึ่งในทางตรงกันข้าม จะนำไปสู่จุดจบของโลก

อิกนาซิโอ ซูอาสนาบาร์ สำรวจประชามติชาวอุรุกวัย เปิดเผยว่า หลายคนแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อประธานาธิบดีมูฮิกา เนื่องจากวิถีชีวิตที่เขาเลือกเดิน แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้การถูกวิพากษ์วิจารณ์ในตัวเขายุติลง โดยเฉพาะในสิ่งที่รัฐบาลกำลังกระทำ ฝ่ายค้านอุรุกวัยกล่าวว่า ตัวเลขความมั่งคั่งล่าสุดของอุรุกวัย ไม่ได้ก่อให้เกิดการบริการสาธารณะ อาทิ สาธารณสุขและการศึกษาดีขึ้น และนับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2009 ที่คะแนนนิยมในตัวเขาตกลงต่ำว่า 50%

ปีนี้ยังเป็นปีที่เขาต้องเผชิญมรสุมทางการเมืองอย่างหนักจากนโยบาย2ประการเมื่อเร็วๆนี้รัฐสภาอุรุกวัยได้ผ่านร่างกฎหมายที่อนุญาตให้สตรีทำแท้งได้กระทั่งมีอายุครรภ์ได้ 12 สัปดาห์ และนายมูฮิกาไม่ได้ใช้อำนาจในการยับยั้ง ซึ่งต่างกับผู้นำคนก่อน

นอกจากนั้น เขายังสนับสนุนให้มีการอภิปรายเพื่อให้การบริโภคกัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมาย ที่จะทำให้รัฐบาลมีสิทธิผูกขาดในการค้าแต่เพียงผู้เดียว โดยเขาแสดงความคิดเห็นว่า การบริโภคกัญชาไม่ใช่เรื่องน่ากังวลที่สุด การรับมือกับกาค้ายาเสพติดคือปัญหาที่แท้จริง

แต่ถึงกระนั้น ปัญหาเหล่านี้ ก็ไม่ได้ทำให้เขารู้สึกกังวลต่อคะแนนนิยมมากนัก เพราะตามกฎหมายอุรุกวัย เขาจะไม่สามารถเข้าชิงชัยในการเลือกตั้งในปี 2014 ได้อีก อีกทั้งขณะนี้ เขามีอายุถึง 77 ปีแล้ว และมีแนวโน้มที่จะอำลาวงการการเมือง

และเมื่อถึงเวลานั้น เขาจะดำเนินชีวิตโดยอาศัยสวัสดิการจากรัฐแต่เพียงอย่างเดียว และที่แตกต่างจากอดีตผู้นำประเทศคนอื่น เขาอาจจะไม่ลำบากนัก ในการปรับตัวให้ชินกับชีวิตที่รายได้ลดลง

José Mujica โฮเซ มูจีกา ประธานาธิบดีที่จนที่สุดในโลก

โดยกระปุกดอทคอม

หากจะพูดถึงตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว คนเกือบทุกคนบนโลกใบนี้คงจะคิดถึงผู้นำประเทศที่มีหน้ามีตาในสังคม มีบ้านพักหรูโอ่อ่าสมกับตำแหน่ง และไปไหนมาไหนก็ต้องมีคนขับรถอารักขากันเป็นขบวน แต่หากใครได้เห็นวิถีชีวิตของประธานาธิบดีอุรุกวัยคนนี้แล้ว รับรองว่าต้องอึ้ง เพราะแม้ว่าตำแหน่งของเขาจะใหญ่โตที่สุดในประเทศ แต่เขาก็ยังคงเลือกที่จะใช้ชีวิตแบบชาวไร่ชาวนา อยู่ในบ้านหลังซอมซ่อ พอมีพอกินเฉกเช่นเกษตรกรคนหนึ่ง
       
และนี่คือภาพวิถีชีวิตของ

โฮเซ มูจีกา ประธานาธิบดีแห่งอุรุกวัยวัย 77 ปี 

ที่ได้รับการขนานนามว่า "ประธานาธิบดีที่จนที่สุดในโลก" จากการที่เขามีแนวคิดการใช้ชีวิตที่แปลก แตกต่างจากนักการเมืองคนอื่น ๆ นั่นคือ

ปฏิเสธบ้านพักหรูที่ทางการจัดให้ ปฏิเสธการใช้ชีวิตหรูหรา แต่เลือกที่จะใช้ชีวิตกับภรรยาอย่างสมถะอยู่ในบ้านเก่า ๆ หลังหนึ่งในชนบทนอกเมืองมอนเตวิเดโอ

อยู่อย่างพอเพียง ทำสวน สูบน้ำขึ้นมาใช้เอง โดยมีสุนัขพิการ 3 ขา เป็นคู่หู คอยติดสอยห้อยตามเขาไปด้วยเสมอ

มูจีกา ใช้ชีวิตเฉกเช่นชาวไร่ชาวนาคนหนึ่ง เขาลงมือทำสวน ปลูกผักไว้กินกับภรรยา น้ำที่ใช้ในแต่ละวันก็สูบขึ้นมาจากบ่อ มีรถไถไว้ใช้ทำสวนทำไร่ และรถเต่าเก่า ๆ อีก 1 คันไว้ขับไปไหนมาไหน

ส่วนเงินเดือนที่ได้รับกว่า 360,000 บาทในแต่ละเดือนนั้น เขาก็เก็บไว้เพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ส่วนอีก 90 เปอร์เซ็นต์ มูจีกาก็นำไปบริจาคช่วยเหลือคนยากจน หรือโครงการเพื่อสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ ซึ่งนั่นทำให้เขามีเงินใช้เดือนละประมาณ 23,000 บาทเท่านั้น และกลายเป็นประธานาธิบดีที่ยากจนที่สุดในโลก
       
สำหรับแนวคิดที่ทำให้มูจีกาเลือกใช้ชีวิตอย่างทีเป็นเช่นนี้ มูจีกาได้เปิดเผยว่า "แม้ว่าผมจะได้รับฉายาว่า ประธานาธิบดีที่จนที่สุดในโลก แต่ผมไม่รู้สึกว่าตัวเองจนเลยนะ คนจนสำหรับผมน่ะ คือคนที่เอาแต่ทำงานงก ๆ เพื่อยกระดับชีวิตตัวเองให้ร่ำรวย และมีความต้องการสิ่งนั้นสิ่งนี้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด สิ่งที่ผมเป็นนี่แหละคืออิสรภาพอย่างแท้จริง ถ้าหากคนเราไม่มีความต้องการอะไรมาก เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องทำงานเยี่ยงทาสเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการเหล่านั้น และเราก็จะมีเวลาให้กับตัวเองมากขึ้น ผมอาจดูเป็นคนแก่ที่แปลกนะ แต่นี่คืออิสรภาพสำหรับผม"
       
ทั้งนี้ กว่าที่มูจีกาจะมีความคิดพอเพียงเช่นนี้ ชีวิตของเขาผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ เขาเคยถูกยิง 6 ครั้ง ขณะเป็นสมาชิกกลุ่มกองโจรทูปามารอส  กองกำลังติดอาวุธฝ่ายซ้ายที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการปฏิวัติในคิวบา และเคยถูกจำคุก 14 ปี ซึ่งระหว่างจำคุกนี้เองทำให้เขาตกผลึกความคิดบางอย่าง และมีมุมมองชีวิตที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงหลังจากนั้น

อย่างไรก็ดี มูจีกาเปิดเผยว่า ด้วยวัยที่มาก และเป็นผู้สูงอายุแล้ว เขาคงจะครองตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยสุดท้าย ก่อนที่จะไปใช้ชีวิตเฉกเช่นผู้สูงอายุคนหนึ่งที่อาศัยสวัสดิการจากรัฐเท่านั้น ซึ่งเขาไม่มีปัญหากับรายได้ที่น้อยลงแต่อย่างใด เพราะเขาใช้ชีวิตด้วยรายได้จำนวนน้อย ๆ แบบนี้มาทั้งชีวิตแล้ว