Pages

เจาะใจ "เฉลิม อยู่บำรุง"





เมื่อ 28 พฤษภาคม 2555  มติชนออนไลน์ จุดเปลี่ยน การเมือง

"สารวัตร" !

ยังคงเป็นคำที่เหล่าคนสนิท ใช้เรียกขาน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ติดปากมาจนถึงทุกวันนี้ แม้ปัจจุบัน "ร.ต.อ.เฉลิม" จะเป็นถึง "รองนายกรัฐมนตรี" แล้วก็ตาม

แต่ตลอดทั้งชีวิต แม้จะมีตำแหน่งทางการเมืองใหญ่โตขนาดไหน สิ่งที่ภาคภูมิใจที่สุดสำหรับ "ร.ต.อ.เฉลิม" ก็ยังคงเป็นการทำงานในตำแหน่ง "สารวัตรกองปราบ"

"ช่วงวัยเรียน ผมอาศัยอยู่ในย่านบางขุนเทียน ซึ่งในสมัยนั้นคือชาวสวน ไม่มีถนนหนทาง พ่อของผมซึ่งเป็นตำรวจชั้นประทวน แม้จะเป็นเพียงจ่า 4 บั้ง แต่ก็อยากให้ลูกได้เรียนหนังสือ" ร.ต.อ.เฉลิมเปิดฉากเล่าถึงเส้นทางชีวิต

และด้วยความที่เป็นเด็กรักการเรียนและเรียนเก่ง เมื่อ "ด.ช.เฉลิม" ได้เข้าเรียนชั้นมัธยม ที่โรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ ย่านบางขุนเทียน จึงได้ตัดสินใจมาเป็นเด็กวัดที่วัดกำแพง (ย่านบางขุนเทียน)

"ระหว่างที่ผมเป็นเด็กวัดวั ดกำแพง ก็มีการจัดงานประจำปีของวัด และคนแถวนั้นก็เป็นคนสวน เมื่อมางานวัดมีการกินเหล้าเมายากัน แล้วก็ตีกัน ตำรวจเข้าไประงับเหตุ ไม่มีใครฟังตำรวจเลย ปีต่อมาจึงมีการจ้างสารวัตรทหารมารักษาการณ์ในงาน

ซึ่งชาวบ้านก็ยังเมาและตีกันเหมือนเดิม แต่สารวัตรทหารไม่สนใจ ใช้หมวกไฟเบอร์ทหารสีขาว ตบ ตี คนที่ตีกัน แต่ชาวบ้านกลับถูกใจ ผมเห็น ก็รู้สึกว่าอาชีพนี้มันใหญ่ดี เมื่อมีการเปิดสอบทหาร ผมก็ไปสอบที่มณฑลทหารบกที่ 1 เขารับ 7 คน ผมได้ที่ 1 ทั่วประเทศรับ 30 คน ผมก็เข้าไปเรียน" รองนายกฯ เฉลิมในวันนี้ เล่าย้อนเหตุการณ์ที่ชักพาตัวเองให้เข้าสู่ "นายสิบทหารบก"

แต่หลังจากเข้าเรียนได้เพียง 2 สัปดาห์ หลายอย่างก็ทำให้เขารู้ว่า เส้นทางอาชีพทหารในยศ "นายสิบ" นั้นโอกาสก้าวหน้าแทบจะไม่มี เขาจึงตัดสินใจว่า เมื่อเรียนจบก็จะ "ลาออก" !

"ตอนแรกผมคิดว่าจะลาออกเลย แต่ครูฝึกบอกว่าถ้าลาออกจะต้องไปเป็นทหารเกณฑ์อีก 1 ปี ก็เลยตัดสินใจเรียนให้จบ แต่ระหว่างเรียนก็มีคนแนะนำเส้นทางว่าถ้าเรียนได้ที่ 1 ของรุ่นก็จะได้ไปเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร ซึ่งจะมีโอกาสเป็นนายร้อย

ก็เลยตั้งใจเรียน แต่สุดท้ายคะแนนก็แพ้เพื่อนในรุ่นที่ได้ที่ 1 ไปแค่ 1 คะแนน ทำให้ผมไม่ได้ไปเรียนเตรียมทหาร แล้วก็ได้บรรจุเข้าเป็นครูฝึก โรงเรียนสารวัตรทหาร และฝึกนักเรียนรุ่นน้อง"

จากนั้น "นายสิบเฉลิม" ก็รับราชการเป็นครูฝึก โรงเรียนสารวัตรทหารอยู่ 7 ปีเต็ม ซึ่งตลอดเวลาเขาได้คิดทบทวนเรื่องชีวิตความเป็นอยู่

และด้วยความที่เป็นลูกตำรวจ ที่เชื่อว่า ตำรวจ จะมีสวัสดิการที่ดีกว่าทหาร จึงทำเรื่องขอโอนย้ายสังกัดไปอยู่ "กองปราบปราม" (ปัจจุบันใช้ชื่อว่ากองบังคับการตำรวจปราบปราม) หรือที่เรียกกันติดปากสมัยนั้นว่า "กองปราบสามยอด" เพื่อเป็นตำรวจ

"ช่วงต้นปี 2512 ผมถูกเรียกไปทดสอบทุกขั้นตอน ทางตำรวจจึงรับโอน จากสิบเอกทหารบก สังกัดกองพันนักเรียนนายสิบ มาเป็นผู้บังคับหมู่ แผนก 5 กอง 2 กองปราบ หรือคอมมานโด ในช่วงปี 2513 ได้ยศ ส.ต.อ.

ซึ่งขณะนั้นมีทุนนักเรียนอังกฤษ ให้ตำรวจสอบไปเรียนหลักสูตรปราบจลาจล ที่ประเทศมาเลเซีย ผมสอบได้ และได้ไปเรียน 7 สัปดาห์ เข้าสู่ปี 2515 ก็มีการเปิดสอบนายตำรวจสัญญาบัตรสายสอบสวน ผมมีสิทธิได้สอบ 3 สนาม

พอถึงเวลาประกาศผลสอบ ผมถูกร้องเรียน หาว่าจ้างคนไปสอบแทน เพราะไม่มีใครคิดว่าคนที่ย้ายมาจากทหาร และจะสอบสายสอบสวนได้ สุดท้ายก็มีการให้คัดลอกลายมือ ให้กองพิสูจน์หลักฐานมาตรวจสอบ ว่าใช่ลายมือผมจริงหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดก็ได้รับการยืนยันว่าผมทำข้อสอบเอง"

ร.ต.อ.เฉลิมเล่าว่า ระหว่างเตรียมตัวที่จะไปอบรม ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน เพื่อขึ้นเป็นตำรวจชั้นสัญญาบัตร รัฐบาลกังวลว่าช่วงนั้นจะมีการเดินขบวนประท้วงกัน จึงเตรียมการป้องกัน กองปราบจึงเรียกตัวไปเป็นครูฝึกปราบจลาจลให้ทหาร ที่กรมทหารราบที่ 11

พอเสร็จจากตรงนั้น โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพรานก็ต้อนรับเป็นอย่างดี เพราะต้องการเชิญตัวไปเป็นครูฝึกหลักสูตรปราบจลาจล ให้กับนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 27-28 ที่เรียนอยู่ในขณะนั้น

เมื่อ "ร.ต.อ.เฉลิม" ผ่านการอบรมที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน ก็ฝึกงานที่สถานีตำรวจนครบาลจักรวรรดิ ซึ่งอยู่ใกล้กับกองปราบปรามสามยอด โดยได้ฝึกพร้อมกับนักเรียนนายร้อยรุ่น 26 ซึ่งทำให้เขาได้มีโอกาสรู้จักกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ฝึกงานที่สถานีตำรวจนครบาลพญาไท

ในเดือนมิถุนายน 2516 เขาก็ได้ติดยศ "ร.ต.ต." แล้วในเดือนตุลาคม 2516 ก็ติดยศ "ร.ต.ท." จากนั้นไม่นานนักเขาก็ได้ติดยศ ร.ต.อ. โดย "ร.ต.อ.เฉลิม" นับว่าเขาได้ใช้เวลา 3 ปีครึ่ง ในเส้นทางตำรวจชั้นประทวน สู่ยศ "ร.ต.อ."

หลังจากนั้นก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น "สารวัตรแผนก 4 กองกำกับการ 2 กองปราบปราม" ที่เรียกกันว่า "สารวัตรประเทศไทย"

"สารวัตรประเทศไทย มีอำนาจสืบสวนจับกุมออกหมายจับหมายค้นด้วยตัวเองทั่วราชอาณาจักร และเป็นตำแหน่งที่ผมมีความภาคภูมิใจมากที่สุด เพราะในขณะที่ผมอายุ 28 ปี ซึ่งผมเป็นคนแรกและคนสุดท้าย ที่มาจากชั้นประทวน แล้วได้มาอยู่ในตำแหน่งสารวัตรประเทศ" ร.ต.อ.เฉลิมเล่าด้วยความภาคภูมิใจ

"สารวัตรเฉลิม" เล่าว่า การทำงานในตำแหน่งสารวัตรประเทศ ทำให้เขามีชื่อเสียงมาก และได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้น

"ระหว่างทำงาน ผมทำคดีสำคัญหลายคดี เมื่อมีผู้บังคับบัญชาไว้วางใจ มีครั้งหนึ่ง นายตำรวจระดับรองอธิบดีกรมตำรวจ สั่งให้ผมไปจับบ่อนการพนันแห่งหนึ่ง ผมก็ไปจับ ปรากฏว่าเจ้าของบ่อน เป็นภรรยาของเจ้าของธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ในขณะนั้นเป็นเศรษฐีเบอร์ 1 ของเมืองไทย

หลังจากจับเสร็จ ผมถูกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น เรียกไปด่า 2 ชั่วโมง ที่กระทรวงมหาดไทย และด่าแบบเสียๆ หายๆ ไร้คุณธรรม ไร้จริยธรรม ไม่มีความเป็นผู้บังคับบัญชา

เมื่อกลับมาที่กองปราบก็มีคำสั่งย้ายผม จากสารวัตรประเทศไทย ไปเป็นหัวหน้าแผนก 8 กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน เขต 8 อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นตำแหน่งหัวหน้าหน่วยแพทย์ และคนที่จะเป็นได้ ต้องจบแพทย์

พอเอาผมไปอยู่ ก็ไม่ได้ทำงานอะไร ผมอยู่ที่นั่น 1 ปี 3 เดือน ถูกงดบำเหน็จ 6 ปีเต็ม ก็รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกกลั่นแกล้ง จึงได้ซึมซับ และตกผลึก"

ต่อมามีคดีใหญ่ซึ่ง "ร.ต.อ.เฉลิม" สามารถจับคนร้ายและคลี่คลายคดีได้ จึงมีโอกาสย้ายกลับมาเป็นสารวัตรประเทศอีกครั้งหนึ่ง !

"เมื่อกลับมางานในตำแหน่งเดิมอีกครั้ง ผมก็ทำการสอบสวนคดีตามปกติ แต่สืบไปสืบมามีอยู่คดีหนึ่งไปเจอตอ ผมไปบอกผู้ใหญ่ให้ดำเนินการ แต่ผู้ใหญ่ไม่กล้า จนคดีนั้นต้องพับไป ผมเห็นว่าเรื่องแบบนี้ไม่มีความเป็นธรรม

จึงเห็นว่าถ้ายังเดินสายนี้ต่อไปน่าจะก้าวหน้ายาก เพราะผมมีความจริงจังและจริงใจในการทำงานมากไป"

ร.ต.อ.เฉลิมเล่าว่า ช่วงนั้นเป็นช่วงเดียวกับที่ไปมีความสนิทสนมกับ พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร พ.อ.มนูญ รูปขจร พ.อ.พัลลภ ปิ่นมณี และมีความผูกพันกันพอสมควร พอช่วงเดือนเมษายน 2524 หรือที่เกิดเหตุการณ์ ยึดอำนาจ "เมษาฮาวาย" เขาจึงได้นำตำรวจกองปราบฯ ร่วมกับคณะผู้ก่อการยึดอำนาจจากรัฐบาลในขณะนั้น !

ผลปรากฏว่า การยึดอำนาจไม่สำเร็จ ฝ่าย "ผู้ก่อการ" พ่ายแพ้ถูกจับ และ "ร.ต.อ.เฉลิม" ก็เป็นคนหนึ่งที่ถูกดำเนินคดีในโทษฐาน "กบฏ"

"เมื่อปฏิวัติแพ้ ผมก็ถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำบางเขน 1 เดือน และต่อมามีพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ก็เท่ากับว่าผมไม่มีความผิด ผู้บังคับบัญชา จึงชวนผมกลับมาเป็นตำรวจอีก แต่ผมขออนุญาต เพราะได้ตัดสินใจเลือกที่จะเดินบนเส้นทางการเมืองแล้ว"

จากนั้น "ร.ต.อ.เฉลิม" ก็เดินเข้าสมัครเป็นสมาชิก "พรรคประชาธิปัตย์" และลงสมัครรับเลือกตั้งจนได้เป็น "ส.ส.กทม."

เป็น "รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี"

เป็น "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม"

เป็น "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข"

เป็น "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย"

และเป็น "รองนายกรัฐมนตรี" ในวันนี้

ยามีน ทราวาเร่...ผมอยากเป็นทหาร

โดยสยามกีฬา เมื่อ 20 ก.ค.2555

'เกิดเป็นชาย เป้าหมายมีไว้พุ่งชน''

''ไม่ได้เกิดเป็นซูเปอร์สตาร์เหมือนใคร ได้แค่นี้ก็พอใจ รู้ตัวว่ายิ่งฝืนตัวเองมากไป ผมก็คงไม่ได้อะไรอยู่ดี''

''ปีหน้าเกณฑ์ทหารแล้ว''

''ผมเกณฑ์ทหารได้ แต่รับราชการทหารไม่ได้''

''ผมอยากเป็นทหารก็ไม่ได้เป็น จะได้เป็นแค่พนักงานราชการ''

''หนักยังไงก็ไหวอยู่แล้ว เราอยากเป็นนี่ครับ''

ถ้อยคำที่ถูกเรียงร้อยจาก ''ความฝัน'' เด็กหนุ่มลูกครึ่งไทย-มาลี ยามีน ทราวาเร่ นักกีฬาวอลเลย์บอลทีมชาติไทย ที่แฟนกีฬาคนเริ่มคุ้นหน้าคุ้นตา และหลายคนอาจจะคลายสงสัยว่าเขาเป็นใครมาจากไหน

แต่สำหรับคนที่ยังไม่รู้พอ บอกคร่าวๆ ได้ว่า ยามีน ทราวาเร่ หรือ ''ยามีน'' หรือ ''ไอ้มีน'' ที่พี่ๆ ทีมชาติรุ่นใหญ่เรียกกัน เกิดเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2535 มารดาเป็นคนไทย ส่วนพ่อเป็นคนมาลี เกิดและเติบโตที่จังหวัดสมุทรปราการ ก่อนย้ายไปเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาที่ ร.ร.กีฬาจังหวัดอ่างทอง

เริ่มต้นด้วยการเล่นว่ายน้ำ กรีฑา แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ด้วยรูปร่างที่สูงใหญ่ 203 ซม. ล้ำหน้าเพื่อนรุ่นเดียวกัน เลยเตะตาโค้ชวอลเลย์บอลของโรงเรียน และเรียกเข้ามาซ้อมจนได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของทีม ด้วยสรีระอันสูงใหญ่ กำยำ กลายเป็นจุดเด่น (นอกเหนือจากผิวที่ดำตามสไตล์คนเชื้อสายมาลี) ที่ทำให้ยามีนได้รับความสนใจจาก ''โค้ชยุ่น'' มนต์ชัย สุภจิรกุล ที่กำลังต้องการเด็กสูงเข้าเสริมทีมวอลเลย์บอลชายไทย

ยามีนได้ร่วมเข้าแคมป์ฝึกซ้อมกับรุ่นพี่ทีมชาติ และเพียงไม่เวลาไม่ถึงสองปี เขาได้ติดธงชาติไทยบนหน้าอกเสื้อ และได้ร่วมเดินทางไปแข่งขันกีฬาในฐานะนักกีฬาทีมชาติไทย ในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 26 ประเทศอินโดนีเซีย

ปัจจุบัน ยามีน อายุ 20 ปี กำลังศึกษาระดับปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยเกริก

ยามีนเล่นวอลเลย์บอลให้กับสังกัดทหารอากาศ ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการที่ทีมชาติชุดปัจจุบันสังกัดอยู่มากสุด

ยามีนไม่เคยคิดฝันว่าจะได้เป็นนักกีฬาทีมชาติ แต่เพราะการไม่ปฏิเสธโอกาสที่ผู้ใหญ่หยิบยื่นทำให้เขากลายเป็นดาวรุ่งที่น่าจับตามองเวลาที่ยืนอยู่หน้าเนตในสนามสี่เหลี่ยม แม้วันนี้ยามีนอาจจะยังก้าวไม่ถึงจุดสูงสุดของการเป็นนักกีฬา แต่ก็นับว่ามาไกลเกินฝัน

ทว่ากับสิ่งที่เป็น ''ความฝัน'' มาตั้งแต่เด็ก ชักจะทำให้ยามีนเริ่มกังวลว่ามันอาจจะไม่เป็นจริง

เมื่อ ยามีน ทราวาเร่ ลูกครึ่งไทย-มาลี ที่กำลังจะย่างเข้าวัย 21 ปี ฝันอยากจะเป็นทหาร...''ถ้าผมได้รับราชการเป็นทหาร จะเป็นอะไรที่ดีใจที่สุดในชีวิตเลย''

แต่มันมีข้อจำกัดที่ประเด็นสำคัญคือ ยามีน พ่อมีสัญชาติมาลี ซึ่งเท่ากับว่าพ่อเป็น ''ต่างด้าว''

ดังนั้น เขาจึงไม่สามารถรับราชการได้ เป็นข้าราชการประจำไม่ได้ และเป็นข้าราชการการเมืองก็ไม่ได้ นี่คือบัญญัติกฎหมายที่ไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทย แต่มันคือหลักสากล

นั่นคือสิ่งที่ทำให้ลูกครึ่งไทย-มาลี คนนี้ตัดพ้อกับตัวเองว่า ''ผมเกณฑ์ทหารได้ แต่รับราชการทหารไม่ได้ ผมอยากเป็นทหารก็ไม่ได้เป็น จะได้เป็นแค่พนักงานราชการ ผมไม่เข้าใจ''

ในความไม่เข้าใจ แต่ก็เข้าใจว่าเพราะอะไร!!

''ให้ผมเกณฑ์ทหาร แต่ไม่สามารถรับราชการทหารได้ ผมเข้าใจว่าคือกฎหมาย คือระเบียบของทางราชการทหารไทย แต่บางทีก็ยังรู้สึกว่าไม่เข้าใจอยู่ดี มันจะมีคำถามตามมาตลอดว่าทำไม ผมจะต้องเกณฑ์ทหารในปีหน้า แต่ด้วยการรับใช้ชาติและการเรียนเลยจะขอผ่อนผันไปก่อน แต่ใจจริงของผมผมอยากเป็นทหารมาก หากเวลาเหมาะสมก็เข้ารับการเกณฑ์ทหารแน่นอน''

ลำพังหากยามีนเป็นเด็กวัยรุ่นธรรมดาคนหนึ่งคงไม่มีใครชี้แนะหรือช่วยสานฝันเขาแน่นอน แต่โชคดีที่เขาอยู่ภายใต้การดูแลของชายชาติทหาร อย่าง ''โค้ชยุ่น'' ทำให้ยามีนยิ้มรับความหวังที่จะทำความฝันให้เป็นความจริง

ทางออกสำหรับยามีนที่โค้ชยุ่นได้ชี้แนะคือ ให้คุณตาจดทะเบียนรับรองบุตรให้กับยามีน หรือตามภาษาชาวบ้าน คือ ให้คุณตาเป็นรับเป็นพ่อบุญธรรม และให้ยามีนเปลี่ยนชื่อพร้อมนามสกุลใหม่ตามนามสกุลของคุณตา

ระหว่างที่คุยกับโค้ชยุ่นถึงความเป็นไปได้ รับรู้ และสัมผัสได้ ซึ่งแตกต่างจากตอนแรกที่คุยกันลำพัง

แววตาแห่งความหวังส่องประกาย พร้อมกับใบหน้าที่เปื้อนยิ้ม ทำเอาคนเขียนอดไม่ได้ที่จะหันไปยกนิ้วให้ พร้อมกับบอกว่า มันจะเป็นจริงแล้ว ยามีน

ยามีนยิ้มเล็กๆ ที่มุมปาก และก้มหัวรับ

เข้าใจว่าส่วนหนึ่งของความฝันอยากเป็นทหารของยามีน คือ เพื่ออนาคต สวัสดิการหลายอย่าง และความแน่นอนของชีวิตในภายภาคหน้า ไม่เฉพาะเขา หากแต่เพื่อแม่และน้องสาวด้วย

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าความฝันของ ''ยามีน'' จะไม่ดับสลายแน่นอน เพราะยังมีทางออกให้เขาก้าวไปสู่ความจริงได้

ปภาดา อมรนุรัตน์กุล

ชื่อ : ปภาดา อมรนุรัตน์กุล (Paphada Amornuratkul)
ชื่อเล่น :  เปิ้ล (apple_lin) =  @goople
เพศ : หญิง
ติดต่อ : paphada@redrank.co.th apple_wutaitai@yahoo.com
ส่วนสูง : 153  C.M.
สโลแกนประจำตัว : สวย รวย เก่ง ฉลาด
สัญชาติ : ไทย
ศาสนา : พุทธ
สถานะภาพ : โสด