โดยมติชน เมื่อ 3 ก.พ.2555
การกลับมาของชายผมขาวที่ชื่อ "ผดุง ลิ้มเจริญรัตน์" กำลังถูกจับตามองว่ามีภารกิจอันใด
ด้วยเพราะเขาเคยเป็น "เงา" ของ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี
ด้วยเพราะเขาไม่ใช่ "ชายผมขาว" ที่ถูกส่งมาทำหน้าที่ช่วยงาน "ชายผมขาว" อีกคนแบบธรรมดาๆ
เมื่อ "สายตรง" ถูกส่งไปทำหน้าที่ "เลขานุการรัฐมนตรีมหาดไทย" ให้กับ "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ" จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกมองอย่างมีนัยยะสำคัญ
ย้อนอดีต "ผดุง" หรือที่บรรดานักข่าวเรียกติดปากกันว่า "ป๋าดุง" เป็นคนสนิทครอบครัว "ชินวัตร" ทั้ง "พ.ต.ท.ทักษิณ" และ "คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร์"
เล่ากันว่าถูกส่งมาประกบเป็นเลขานุการส่วนตัว "พ.ต.ท.ทักษิณ" ตั้งแต่เป็นนายกฯ ในปี 2544 เพื่อดูแล-จัดแจงงานสารพัดให้กับ "นาย" โดย "ผดุง" เดินตาม "พ.ต.ท.ทักษิณ" ทุกฝีก้าว รู้ความเคลื่อนไหว รู้ความลับ ไปจนล่วงรู้ความคิดของผู้เป็น "นาย" มากที่สุดคนหนึ่ง
"ผดุง" ถูกตั้งเป็นที่ปรึกษาโดยตำแหน่งของอดีตรองนายกฯ อย่างน้อย 2 คนคือ "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" และ "วิษณุ เครืองาม" รับเงินเดือนครึ่งแสน แต่นั่นเป็นเพียงสถานะ เพราะตัวเขานั่งทำงานจริงที่ตึกไทยคู่ฟ้า-ข้างกายนายกฯ ไม่เคยห่าง
นอกจากทำหน้าที่พิทักษ์ประโยชน์ให้กับตระกูล "ชินวัตร" แล้ว "ผดุง" ยังทำหน้าที่ "พ่อบ้าน" บริหารจัดแจง ปัดป้องภยันตรายให้ "นาย" อย่างแข็งขัน
ในยุคนั้นบรรดาสื่อจะคุ้นกับเสียงตามสายของ "ชายผมขาว" ที่มักต่อสายพูดคุยกับสื่อตั้งแต่ระดับบรรณาธิการไปจนนักข่าวในพื้นที่ที่แวดล้อมติดตามทำข่าวของนายกฯ ที่ชื่อ "พ.ต.ท.ทักษิณ" มีทั้งแลกเปลี่ยน นำเสนอ ติติง ไปจนถึงชี้นำแบบกลายๆ ซึ่งในกระบวนการสุดท้าย ข้อมูลในมือ "ผดุง" จะมีการรายงานตรงกับ "นาย" โดยตลอด ไม่เว้นข้อมูลแวดล้อมทางการเมืองทั่วไป
ในภาพความเป็น "ข้าผู้ซื่อสัตย์" ของ "ผดุง" แต่ในอีกมุม "ผดุง" ยังเป็นชายสูงวัยที่มีอารมณ์ขัน รัฐมนตรีไทยรักไทยหลายคนไม่ละเลยที่จะติดต่อปฏิสัมพันธ์กับ "ผดุง" ทั้งเพื่อหาข่าววงใน ไปจนถึงเพื่อคลายเครียด
ไม่แปลกที่ "ผดุง" จะถูกตั้งสมญาว่า "นายกฯ น้อย" มีบทบาทแซงหน้าเลขาธิการนายกฯ ที่ชื่อ "พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช" ในบางครั้ง เพราะดูแล "นาย" ตั้งแต่ตื่นจนหัวถึงหมอน ไม่เว้นเรื่องระบบรักษาความปลอดภัย
บ่งบอกชัดเจนถึง "ความไว้เนื้อเชื่อใจ" ที่ "พ.ต.ท.ทักษิณ" มีให้ "ผดุง" และตอบคำถามถึงการกลับมาครั้งนี้ได้
อย่างไรก็ดี ในการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของการหลุดจากอำนาจของ "พ.ต.ท.ทักษิณ" ด้วยการถูกรัฐประหาร ปี 2549 เป็นช่วงเวลาที่ "ผดุง" ถูกลดบทบาท ห่างจาก "นาย" ไประยะหนึ่ง
ส่วนหนึ่งเพราะมี "กุนซือมือพระกาฬ" อย่างน้อย 2 ราย ได้แก่ "ยงยุทธ ติยะไพรัช" และ "เนวิน ชิดชอบ" เข้ามามีบทบาทวางแผนการรบปกป้องอำนาจอย่างได้ผล
ขณะที่อีกส่วนหนึ่ง ว่ากันว่าเมื่อครั้ง "พ.ต.ท.ทักษิณ" เดินทางไปประชุมสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และทำให้คณะ "รัฐประหาร" สบช่องยึดอำนาจ
"นาย" กลับไม่ได้รับรายงาน หรือคำเตือนจาก "ผดุง" ทั้งที่มีกองกำลังทักษิณที่อยู่โยงในกรุงเทพฯ ได้ส่งสัญญาณถึงเขา ซึ่งจะเป็นเพราะความผิดพลาดอย่างไรก็แล้วแต่
กว่า "นายกฯ คนที่ 23" จะรู้ตัวก็สายเกินไป เมื่อ "สัญญาณอันตราย" ถูกนำสารมาจากบรรดานายทหารเพื่อนร่วมรุ่น "ตท.10" แทน
หลังจากนั้นจึงไม่มีใครเห็นเงาของ "ผดุง" อีกเลย
แต่ทว่า "ความเป็นข้าเก่าเต่าเลี้ยง" คนตระกูล "ชินวัตร" ย่อมไม่ทิ้งลูกน้องผู้ซื่อสัตย์
ไม่มีใครระบุเวลาแน่ชัดว่า "ผดุง" กลับเข้าไปช่วยงานธุรกิจในเครือชินวัตรเมื่อไร แต่เขามีห้องนั่งทำงานที่ "ตึกชินวัตร 3" และมี "ผู้ใหญ่" เห็นเขาในช่วงฟอร์มรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"
สื่อมวลชนเห็นเขาตัวเป็นๆ ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ดอนเมือง ในช่วงที่รัฐบาลกำลังสำลักมวลน้ำ และล่าสุด กลับมาปรากฏชื่อ-ปรากฏตัวแบบ "มีตำแหน่ง" แต่คำถามคือทำไมต้องมานั่งที่ "คลองหลอด" ?
คำตอบคือ "ยงยุทธ" แม้จะถือเป็นผู้ซื่อสัตย์อีกคน ทำหน้าที่ปกป้องดูแลพรรคเพื่อไทยอย่างไม่มีที่ติ เป็นผู้รั้งตำแหน่งหัวหน้าพรรค
แต่ "ยงยุทธ" ไม่เป็นที่พิสมัยนักจากคนในพรรค โดยเฉพาะบรรดา ส.ส. สะท้อนผ่านความไม่พอใจของบรรดา ส.ส. ที่บ่นดังๆ ว่าถูกทอดทิ้ง ไม่เหลียวแลจาก "ชายผมขาว"
ประกอบกับมีภารกิจสำคัญหลายเรื่อง ที่ยงยุทธ "ทำไม่สำเร็จ" หรือ "ไม่ทำ" ซึ่งที่คาใจคนในพรรคยิ่งหนีไม่พ้นการจัดโผผู้ว่าฯ และนายอำเภอ
แต่ถ้าเป็นชื่อ "ผดุง" ซึ่งเป็นตัวจริง ย่อมไม่ต้องกังวล เพราะฝีมือในการ "บริหาร" และ "จัดการ" ขึ้นชื่อลือชา
แน่นอน "ชายผมขาว" คนเก่าต้องเจอกับ "ชายผมขาว" คนใหม่ ย่อมหวั่นไหวในสถานะตัวเองในอนาคต
อย่าแปลกใจ หากการเข้าทำงานในกระทรวงมหาดไทยวันแรกของ "ผดุง" จะเงียบเหงา ไม่มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มาต้อนรับขับสู้ให้สมกับที่เป็น "สายตรง" ต่างจากวัฒนธรรม "สารพัดสิงห์" ที่มักแข่งกันวิ่งมาที่ "ศูนย์กลางของอำนาจ"
หรือการได้นั่งทำงานใน "ห้องอาถรรพ์" ซึ่งเป็นห้องที่อยู่มุมเดียวกับ "ศาลพระกาฬ" ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สูงกว่า ก่อนหน้านี้เป็นห้องทำงาน "รมช.มหาดไทย" หลายคน ซึ่งมักมีเหตุให้กระเด็นตกจากเก้าอี้ก่อนเวลาอันควร อาทิ "สุชาติ ตันเจริญ, ประมวล รุจนเสรี"
แม้ด้านหนึ่งจะถูกมองเป็นเพียงความเชื่อปรัมปรา สำทับด้วยน้ำคำ มท.1 ที่ว่า "เคยนั่งห้องนี้มาแล้ว ไม่เห็นมีปัญหาอะไร"
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าก้าวแรกในวันแรกของ "ผดุง" คล้ายถูก "รับน้อง"
ถามว่า "ผดุง" หวาดหวั่นกับ "ขบวนการล้มป๋า" ที่เกิดขึ้นหรือไม่?
คำตอบ "เอ๊กซ์คลูซีฟ" ที่หลุดจากปากเขา อธิบายสั้นๆ แต่ชัดเจน "ผมมาเพื่อกำจัดจุดอ่อน"
เมื่อ "ผดุง" คือ "ทักษิณ" การกลับมาของเขาจึงเป็นไปเพื่อทำ "ภารกิจลับ"
ได้เวลานับถอยหลังสู่การเปลี่ยนแปลงใหญ่ภายในกระทรวงมหาดไทย !!!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น