Pages

"อภิวัฒน์ วังวิวัฒน์" เจ้าของข้าวเกรียบมโนราห์ 2

โดยนิตยสารเส้นทางเศรษฐี เมื่อ ธ.ค.2553

ข้าวเกรียบ 500 ล้าน ของ "อภิวัฒน์ วังวิวัฒน์" ยืดอกรับ "มโนห์รา" แพงที่สุดในโลก

สัมภาษณ์พิเศษ โดยสุทธิทัต

ข้าวเกรียบ 500 ล้าน ของ "อภิวัฒน์ วังวิวัฒน์" ยืดอกรับ "มโนห์รา" แพงที่สุดในโลก

"ทุก ครั้งที่รถไฟออกจากหาดใหญ่ พี่สาวจะเอาข้าวเกรียบใส่กล่องวางเปลือยในตู้รถไฟติดกับห้องน้ำ ส่งวันพฤหัสบดีถึงหัวลำโพงเย็นวันศุกร์ ตอนนั้นยังไม่มีแบรนด์ ใช้วิธีฝากขาย ขายหมดค่อยเก็บเงิน เหลือเปลี่ยนได้ ตั้งโต๊ะหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2 กะละมัง ตะโกนเรียกลูกค้า ทอดโชว์และแจกฟรี ขายซองละ 1 บาท ถุงใหญ่ขาย 10 บาท"

เกือบ 50 ปี บนถนนแห่งการทำธุรกิจ ถ้าเปรียบช่วงอายุคน นับว่าเป็นวัยที่ก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุ อาจเริ่มมีโรคภัยไข้เจ็บเข้ามาเบียดเบียน เกิดความอ่อนแอไปตามกาลเวลา แต่หากเป็นต้นไม้จัดเป็นต้นไม้ใหญ่ที่ยืนต้นได้เนิ่นนาน ทั้งยังสามารถแผ่กิ่งก้านสาขาไม่รู้จบสิ้น และเมื่อใช้กับธุรกิจ แน่นอน ย่อมหมายถึงความแข็งแรงของรากฐานการบริหารจัดการ การตลาด ของธุรกิจนั้น

ความ น่าสนใจอยู่ที่ 50 ปีของการเติบโต ขนมขบเคี้ยวบรรจุถุงที่คนส่วนใหญ่ใส่ร้ายว่าเป็น "ขนมขยะ" อย่าง "ข้าวเกรียบมโนห์รา" กลับสร้างมูลค่าส่งออกตลาดโลกได้มากถึงปีละเกือบ 500 ล้านบาท และยังยืดอกรับว่าเป็นข้าวเกรียบที่ขายราคาแพงที่สุดในโลก โดยไม่หวั่นกระแส

สิ่งเหล่านี้ได้รับคำยืนยันจาก คุณอภิวัฒน์ วังวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มโนห์ราอุตสาหกรรมอาหาร จำกัด ผู้ผลิตข้าวเกรียบกุ้ง-ปู-ปลา-ฟักทอง-เผือก และขนมขบเคี้ยวชนิดต่างๆ ภายใต้แบรนด์ "มโนห์รา"

น่าตกใจเมื่อการนัดหมายกับคุณอภิวัฒน์ เป็นไปอย่างง่าย ไม่มีพิธีรีตรอง ทั้งการสนทนายังถึงพริกถึงขิง ถ่ายทอดเรื่องราวอย่างหมดเปลือกด้วยท่วงทีเป็นกันเองอย่างเหลือเฟือ จนไม่น่าเชื่อว่าผู้ที่นั่งอยู่ตรงหน้า คือ เจ้าของธุรกิจหลายร้อยล้าน และยืนหยัดในธุรกิจมานานเกือบ 50 ปี

ทุกท่วงทำนองของการ "เล่าให้ฟัง" ชวนกระตุกต่อมความอึดฮึดสู้ในเส้นทางการดำเนินชีวิตได้ไม่น้อย...

ไดเร็กต์เซลส์ถึงที่เปิดเครดิตร้านชำ

"ผม เริ่มค้าขายตั้งแต่อายุ 13 ปี แม่เสียชีวิต พ่อมีแม่ใหม่ อยู่กับพี่สาว ครอบครัวยากจน ข้าวสารกรอกหม้อแทบจะไม่มี ต้องหาเงินใช้เองด้วยการขายของ ใช้เครดิตพ่อของเพื่อนเอาของมาขาย ผมมีเงินแสนในกระเป๋าตั้งแต่อายุ 16 ปี แต่เป็นเงินเครดิต เงินหมุน ผมชอบค้าขายมาตั้งแต่เด็ก เพราะเห็นเงินสดทุกวัน ได้นับเงินสดทุกวัน ระหว่างการขายของกินกับของใช้ และ ขายแรงงาน ผมว่า ขายของกินของใช้ได้เงินเร็วกว่า"

คุณอภิวัฒน์ บรรยายถึงภาพชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองในอดีต ในเมืองสงขลา เขาจดจำได้ดีถึงการต่อสู้ดิ้นรนกว่าจะมานั่งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท ยักษ์ใหญ่ที่มีมูลค่าการส่งออกของสินค้าจำนวนครึ่งหนึ่งของการผลิต และการต่อสู้ในทุกๆ ขั้นตอน เป็นที่มาของข้าวเกรียบแบรนด์ "มโนห์รา"

ใน การพูดคุยจับใจความได้ว่า คุณอภิวัฒน์ต้องหาเงินใช้ด้วยตนเองตั้งแต่อายุ 13 ปี โชคดีที่มีพี่สาวทำขนมเก่ง รสชาติดี ทุกเสาร์อาทิตย์จึงหิ้วขนมผนวกกับน้ำชงใส่ถุงเดินเข้าออกตามบ่อนการพนัน อู่ซ่อมรถ ร้านกาแฟ แวะเวียนในทุกที่ที่มีกลุ่มคน ในการขายทุกครั้งใช้เวลาราว 4 ชั่วโมง สินค้าในมือหมดทุกอย่าง คุณอภิวัฒน์เดินกลับบ้านด้วยเงินสดในมือ เงินจำนวนนี้ให้กับพี่สาว และแบ่งส่วนหนึ่งไว้ใช้จ่ายสำหรับการเรียน

ชีวิตที่ก้าวเข้าสู่วัย รุ่นของคุณอภิวัฒน์เต็มไปด้วยความคิด "ขายให้ได้เงิน" การเดินเข้าถึงลูกค้าเขารู้ด้วยตัวเองว่า เป็นการเสิร์ฟให้ถึงมือในราคาปกติ ขายตรง หรือไดเร็กต์เซลส์

ม.ศ.5 ของชีวิตนักเรียน อีกด้านหนึ่งคุณอภิวัฒน์เป็นเจ้าของร้านขายของชำ ด้วยการขอเครดิตสินค้าจากพ่อของเพื่อนที่มีร้านขายของชำไปขายให้กับครู อาจารย์ ข้าราชการ หิ้วสินค้าทุกอย่างตามแต่ลูกค้าต้องการ โดยใช้วิธีการจดบันทึกก่อนมานำสินค้าไปให้ตามเวลาที่ตกลง หลังลูกค้าจ่ายเงินสด คุณอภิวัฒน์นำเงินสดไปซื้อรองเท้า ถุงเท้า และสินค้าอื่นที่ร้านพ่อของเพื่อนไม่มี ทำให้ได้กำไรจากตรงนั้น

"ชีวิต ผมไม่เคยมีโอกาสเที่ยว ผมเก็บเงินเก่ง สมถะ เรียบง่าย รู้ความเหน็ดเหนื่อยของการได้เงิน รู้คุณค่าของเงิน วิธีการออมของเราใช้วิธีเก็บเอง จากขอเครดิตพ่อของเพื่อน ระยะหลังเปิดร้านเองให้พี่สาวเฝ้าร้านช่วงไปโรงเรียน ส่วนเวลาอื่นขายเอง และยังไดเร็กต์เซลส์เหมือนเดิม"

ช่วงเวลาของการมีร้านขายของชำเป็น ของตนเอง คุณอภิวัฒน์ให้พี่สาวทำข้าวเกรียบทอดขาย ยกเลิกการทำขนมอย่างอื่นทั้งหมด เพราะเห็นว่า "ยุ่งยาก" ส่วนข้าวเกรียบเป็นการทำที่ใช้ขั้นตอนน้อย และที่สำคัญ คุณอภิวัฒน์ บอกว่า "ข้าวเกรียบขายอากาศ"

ตั้งต้นท้องสนามหลวง  อยากรวย ขายอากาศ
"ที่ หันมาขายข้าวเกรียบเพราะข้าวเกรียบทอดแล้วจากชิ้นเล็กเป็นชิ้นใหญ่ ฟู ใส่ไม่กี่ชิ้นก็เต็มซอง เช่นเดียวกับขายปาท่องโก๋ แป้งชิ้นนิดเดียวพอทอดแล้วใหญ่ขึ้น รวยตรงลม ถ้าคิดว่าขายอากาศจะรวยทุกคน"

ข้อ สงสัยในความคิดขายข้าวเกรียบเกิดขึ้น คุณอภิวัฒน์ แจงว่า สงขลาเป็นจังหวัดที่ขึ้นชื่อเรื่องของข้าวเกรียบ มีหลายร้านในตัวเมืองที่เปิดขายข้าวเกรียบ 2 แห่ง แต่ความคิดขายข้าวเกรียบของคุณอภิวัฒน์เป็นการทำการตลาดที่แตกต่าง เพราะทุกร้านขายอยู่กับที่ ส่วนข้าวเกรียบของคุณอภิวัฒน์นอกเหนือจากขายที่ร้านของชำเป็นปกติแล้ว เขายังจ้างคนเดินเร่ขายตามชายทะเล

"ระยะแรกเดินขายเอง ต่อมาจ้างคนเดินขาย ซองละ 1 บาท ใส่ถุงพลาสติค ใช้เทียนไขปิดผนึก ใช้ลวดร้อย ตอนนั้นข้าวเกรียบกุ้งแผ่นใหญ่ ราคา 1 บาท มีข้าวเกรียบ 4-5 แผ่น ใส่ซองกลับไปกลับมาให้ดูเยอะ จ้างไม่นานก็มีคนมาขอซื้อราคาส่งไปเดินขาย"

กิจการเร่ขายข้าวเกรียบ และร้านขายของชำต้องล้มเลิกไป เมื่อคุณอภิวัฒน์หันเหชีวิตตัวเองเข้าสู่กรุงเทพฯ เพราะช่วงจบ ม.ศ.5 เพื่อสอบเข้าเรียนต่อยังมหาวิทยาลัยในเมืองกรุงเป็นที่ใฝ่ฝัน แต่ท้ายที่สุดก็ต้องเว้นช่วงการเรียนไป เหตุเพราะ "ข้าวเกรียบ" ที่เดิมเป็นเพียงการขายปลีกส่งมูลค่าไม่สูง เริ่มเป็นที่รู้จักกว้างขวางเข้าสู่ขั้น "ธุรกิจ"

วัดมหาธาตุเป็นที่ พักพิง เมื่อหอบเสื้อผ้าเข้าสู่เมืองหลวง เพื่อหวังเข้าศึกษาต่อยังมหาวิทยาลัยของรัฐ ด้วยเงินที่มีติดตัวเพียง 150 บาท แต่เพราะเป็นคนไม่อยู่นิ่ง จึงติดต่อขอเช่าพื้นที่ริมท้องสนามหลวง 3 แผ่นอิฐปูพื้น ตั้งกะละมังข้าวเกรียบขายเรียง เป็นกะละมังข้าวเกรียบยังไม่ทอด เตาทอด และกะละมังข้าวเกรียบทอดแล้ว

"ทุก ครั้งที่รถไฟออกจากหาดใหญ่ พี่สาวจะเอาข้าวเกรียบใส่กล่องวางเปลือยในตู้รถไฟติดกับห้องน้ำ ส่งวันพฤหัสบดีถึงหัวลำโพงเย็นวันศุกร์ ตอนนั้นยังไม่มีแบรนด์ ใช้วิธีฝากขาย ขายหมดค่อยเก็บเงิน เหลือเปลี่ยนได้ ตั้งโต๊ะหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2 กะละมัง ตะโกนเรียกลูกค้า ทอดโชว์และแจกฟรี ขายซองละ 1 บาท ถุงใหญ่ขาย 10 บาท"

คุณอภิวัฒน์จัด ระเบียบการตลาด โดยการออกตระเวนหาลูกค้าในวันจันทร์ พุธ ศุกร์ วันละ 10 ราย นำข้าวเกรียบไปส่งและเยี่ยมลูกค้าในวันอังคารและวันพฤหัสบดี ส่วนวันเสาร์และวันอาทิตย์ขายท้องสนามหลวง

เมื่อธุรกิจเริ่มเดิน เวลาสำหรับการอ่านหนังสือสอบหมดไป คุณอภิวัฒน์จึงพลาดหวังจากการสอบเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี และตัดใจจากการศึกษาหันหน้าเข้าสู่ภาคธุรกิจเต็มตัว หวังขายข้าวเกรียบเป็นอาชีพ

"เงินเดือนเรามากกว่าข้าราชการชั้นเอกสมัยนั้น ผมเลยคิดว่าขายของได้มากกว่าแล้วจะเรียนไปทำไม เพราะเราเป็นคนดีของสังคมได้เหมือนกัน"

ยึดหลัก ต้นทุนต่ำ รุกขยายตลาดต่างประเทศ

ยุค ที่ข้าวเกรียบเป็นที่รู้จัก คุณอภิวัฒน์ บอกว่า สมัยนั้นมีนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในยุคนี้วางขายของรอบท้องสนามหลวง เช่นเขาหลายคน อาทิ คุณวินัย เสริมศิริมงคล นายห้างพาต้า ในสมัยนั้นขายรองเท้า คุณสมศักดิ์ วัฒนาพร เจ้าของพันท้ายนรสิงห์ คุณประจวบ จำปาทอง เจ้าของครีมไข่มุกกวนอิม

ส่วนข้าวเกรียบของคุณอภิวัฒน์ ยังเป็นข้าวเกรียบไม่มีแบรนด์ แต่วางขายมากว่า 10 ปี ตั้งแต่อิฐปูพื้นเพียง 3 ล็อค ขยายถึง 10 ล็อค

ยุค นั้นข้าวเกรียบถูกรู้จักในนามของข้าวเกรียบสงขลา ใครๆ มาต้องซื้อที่สนามหลวง เมื่อตลาดสนามหลวงถูกย้ายมาเป็นตลาดนัดจตุจักร ข้าวเกรียบยังมีตั้งขายต่ออีกราว 3 ปี บริเวณด้านหน้ากรมการขนส่งทางบก ถนนพหลโยธิน และปล่อยเซ้งต่อมือไปในราคากว่า 2 ล้านบาท

สาเหตุที่ เลิก คุณอภิวัฒน์เล่าว่า สาเหตุหลักคือ ธุรกิจเริ่มโต มีคนติดต่อขอซื้อขายส่งจำนวนมาก จึงเริ่มก่อตั้งโรงงาน เริ่มติดต่อซื้อเครื่องจักรอุตสาหกรรม และจดทะเบียนแบรนด์สินค้า "มโนห์รา" ในที่สุด

คุณอภิวัฒน์ เหมือนเช่นนักธุรกิจทั่วไปที่ต้องกู้เงินธนาคารเพิ่มเริ่มต้นทำธุรกิจ สร้างโรงงาน ซื้อเครื่องจักร วางระบบการผลิต โดยเริ่มก่อตั้งโรงงานแห่งแรกย่านบางขุนนนท์ ไม่นานนักเริ่มขยับขยายโรงงานภายในนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร โดยให้โรงงานแห่งแรกเป็นบริษัทสำหรับติดต่องานด้านเอกสารทั้งในและนอกประเทศ จากทุนจดทะเบียนเพียง 5 ล้านบาท ปัจจุบันเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 200 ล้านบาท

"นักธุรกิจอย่างผม บริหารงานโดยใช้หลักครอบครัวผสมผสานกับหลักสากล ในการค้าขายจะไม่ใช้ทฤษฎีเพียงอย่างเดียว ต้องใช้ทฤษฎีควบคู่ประสบการณ์ เพราะโอกาสตัดสินใจเร็วขึ้น มโนห์ราเป็นเรือเล็กที่กลับลำในแม่น้ำลำคลองได้สะดวกคล่องแคล่วและชำนาญด้าน อิเล็กทรอนิกส์"

กลยุทธ์หลักของการบริหาร คุณอภิวัฒน์ บอกว่า กลยุทธ์การแข่งขันของมโนห์ราเป็นเลิศ ใช้หลักการบริหารงานตาม "ไมเคิล อี พอร์ตเตอร์" ความโดดเด่นที่สุด คือ ต้นทุนต่ำ

การก่อตั้งโรงงานใน นิคมอุตสาหกรรม เป็นหนึ่งในหลักการบริหาร โดยเล็งเห็นว่าเป็นจุดศูนย์กลางในการขนส่งสินค้าและวัตถุดิบ ลดค่าโลจิสติกส์ คุณอภิวัฒน์ยอมรับว่า มโนห์ราเป็นสินค้าที่มีมาร์จิ้นค่อนข้างต่ำ บริษัทจึงพยายามปรับตัวเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลง อาทิ รถทุกคันของบริษัทใช้ก๊าซเอ็นจีวี เปลี่ยนเชื้อเพลงที่เดิมใช้น้ำมันเตาเป็นการใช้ชีวมวลแทนเชื้อเพลิง แม้กระทั่งเครื่องจักรเสียการซื้ออะไหล่หรือผลิตอะไหล่ขึ้นเอง เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้เครื่องจักรทำงานได้ตามปกติเร็วขึ้น มากกว่าการรออะไหล่จากต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นการลดต้นทุนอีกวิธีหนึ่ง

ข้าว เกรียบมโนห์รา เป็นสินค้าหลักที่บริษัทผลิต แต่เพราะทำเลที่ตั้งของโรงงานผลิตอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบ ทำให้ผลิตสินค้าหลายชนิดได้ในราคาถูก คุณอภิวัฒน์จึงรับซื้อวัตถุดิบจากแหล่งใกล้เคียง ในราคากลางจากเกษตรกร นำมาผลิตสินค้าส่งออกประเภทน้ำผลไม้กระป๋อง ในนามของ "อินเตอร์ ดริ๊งค์" อีกทางหนึ่ง

ถึงปัจจุบัน มโนห์รา เป็นข้าวเกรียบที่ได้รับความนิยมในประเทศ และมีปริมาณการส่งออกปัจจุบันอยู่ที่ 50 เปอร์เซ็นต์ มูลค่าทางการตลาดประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี มีตลาดต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง บังกลาเทศ อังกฤษ อินเดีย สหรัฐอเมริกา เป็นต้น

และ แม้วินาทีนี้ มโนห์รา จะเป็นข้าวเกรียบที่เติบโตในตลาดต่างประเทศ และมีราคาแพงที่สุดในโลก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่มีตลาดข้าวเกรียบส่งออก อาทิ จีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม แต่มโนห์ราก็มียอดขายที่เติบโตในตลาดต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีหลัง ที่มีมือบริหารด้านการตลาดรุกหนัก ทำให้ยอดส่งออกพุ่งจากเดิม 25 เปอร์เซ็นต์ เป็น 50 เปอร์เซ็นต์

ท้าย ที่สุดของการสนทนา คุณอภิวัฒน์ ทิ้งท้ายให้เป็นตัวอย่างการทำงานในหน้าที่ "นักธุรกิจ" ควรเสมอต้นเสมอปลายกับลูกค้า ใช้ทฤษฎีประกอบประสบการณ์ในการบริหารจัดการ และการขยายสินค้าของคนอื่น เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำมากที่สุด

คิดนอกกรอบแบบ "มโนห์รา"

"คิด อะไรก็ตาม คิดนอกกรอบ ในทางคณิตศาสตร์ 1+1 = 2 แต่ในทางธุรกิจอาจไม่ใช่ 2 ก็ได้ ขึ้นกับการบริหารจัดการ การทำธุรกิจที่สำคัญ คือ การบริหารจัดการที่ดี ผมใช้ประสบการณ์ ไม่ใช่นักวิชาการ"

"หลัก เศรษฐศาสตร์ มี P ทั้งหมด 4 ตัว ต้องทำ P ตัวแรกให้ได้ก่อน คือ ทำให้ไม่เหมือนคนอื่น มีความต่าง ถ้าทำสินค้ามาขายรสชาติเหมือนคนอื่น ราคาเหมือนคนอื่น เราเจ๊ง"

"ดอกเบี้ย คือ ต้นทุนการผลิต หากจะทำธุรกิจการเงินธนาคารกับอภิวัฒน์ อันดับแรกที่ถาม คือ ดอกเบี้ยเท่าไหร่ ถ้าดอกเบี้ยสูงอย่ามาคุยกัน เพราะต้องมีต้นทุนเวลา"

"เครื่อง เสีย 1-2 ชั่วโมง ผมซ่อมเสร็จ เครื่องจักรจากต่างประเทศอะไหล่ไม่เหมือนบ้านเรา หาซื้อไม่ได้ ถ้าต้องรอสั่งจากต่างประเทศหลายวันเราตาย ใช้วิธีดัดแปลง ให้โรงกลึงกลึงอะไหล่ที่ต้องการให้นำมาเปลี่ยน จำเป็นต้องควบคุมคอสลีดเดอร์ชิพให้ได้"

"ผมเป็นคนทะเยอทะยาน สร้างความฝันในอากาศ ลูกสาวเรียกผมว่าจอมโปรเจ็คต์ แต่ทุกสิ่งในโลกนี้เป็นไปได้ และ เราทำได้"

"อภิวัฒน์ วังวิวัฒน์" เจ้าของข้าวเกรียบมโนราห์

โดยเส้นทางเศรษฐี เมื่อ 1 ต.ค.2554

คิดอย่างนักบริหาร

โดยสาโรจน์ มณีรัตน์-เรื่อง

ขยัน อดทน ซื่อสัตย์

กล่าวได้ว่าความสำเร็จของเถ้าแก่ เศรษฐี หรือ มหาเศรษฐี มักจะมาจากรากที่ซ่อนอยู่ ยิ่งเฉพาะรากที่ต้องเกี่ยวข้องกับความขยัน อดทน และซื่อสัตย์ ด้วยแล้ว

นับเป็นรากแก้วที่สำคัญ!

สังเกตดูจากบรรดามหาเศรษฐีชั้นนำของโลก เอเชีย หรือ ในประเทศไทย น้อยคนนักที่จะลงมือทำธุรกิจแล้วจะประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว

โดยไม่เคยล้มเหลวมาก่อน!

ล้มแล้วลุก จึงเป็นปรัชญาที่ทุกคนชอบนำมาปฏิบัติ

ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนจะนำไปปฏิบัติอย่างไร บางคนอาจใช้คอนเน็กชั่นทางธุรกิจ เพื่อแผ้วถางทาง ขณะที่บางคนใช้เส้นสนกลในทางการเมือง เพื่อให้ธุรกิจของตัวเองเสียภาษีน้อยที่สุด

ขณะที่บางคนใช้คำว่า "ขยัน อดทน และซื่อสัตย์" เป็นเครื่องนำทางชีวิต

"อภิวัฒน์ วังวิวัฒน์" ประธานกรรมการ บริษัท มโนราห์อุตสาหกรรม จำกัด ก็เช่นกัน เขาไม่มีคอนเน็กชั่นทางธุรกิจ ไม่มีเส้นสนกลในทางการเมือง มีแต่คำว่า...ขยัน อดทน และซื่อสัตย์

"ที่บ้านผมทอดข้าวเกรียบกุ้งขายมาก่อน ทำมาตั้งแต่รุ่นพ่อ รุ่นแม่ จนมาถึงรุ่นพี่สาว พี่สาวเป็นคนขยัน ผมเองก็ช่วยพี่สาวทำงานมาตลอด จนตอนหลังที่บ้านเกิดปัญหา ผมจึงตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนเพื่อมาช่วยพี่สาวทำงาน"

"วันๆ ผมช่วยพี่สาวขายข้าวเกรียบตลอด จนวันหนึ่งเริ่มถามตัวเองว่าจะอยู่แค่นี้หรือ เพราะมองไม่เห็นอนาคต ก็พบคำตอบว่า ผมจะต้องมีอนาคตมากกว่านี้ แต่ตอนนั้นไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร"

กรุงเทพมหานคร จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่คนหนุ่ม-สาวใฝ่ฝัน

"อภิวัฒน์" เองก็คิดอย่างนี้เช่นกัน

เพียงแต่คนหนุ่ม-สาวที่เดินทางมาจากสงขลา หรือจากปักษ์ใต้ ส่วนใหญ่มักจะมีธงนำว่าจะต้องมาเรียนธรรมศาสตร์ เรียนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือรามคำแหง...เพื่อกลับไปเป็นเจ้าคนนายคน

แต่สำหรับ "อภิวัฒน์" เขาจบเพียงชั้น ม.ศ.3 เท่านั้น

ดังนั้น ความหวังที่อยากจะเรียนมหา"ลัยเหมือนอย่างคนหนุ่ม-สาวปักษ์ใต้ทั่วไป จึงค่อนข้างเลือนราง ที่สุดเขาจึงขอไปตายเอาดาบหน้า...ด้วยการขึ้นรถไฟมาพร้อมกับข้าวเกรียบกุ้งดิบเพียงไม่กี่ถุง

เพื่อแลกกับใครก็ได้ที่ให้เขาซุกหัวนอน

เขาเลือกวัดมหาธาตุฯ ตรงท่าพระจันทร์เป็นที่ซุกหัวนอนในคืนแรกๆ และคืนต่อๆ มา จนเห็นว่าข้าวก้นบาตรพอที่จะประทังชีวิตได้บ้างแล้ว แต่กระนั้นเขาก็ยังไม่ได้ตอบแทนผู้มีพระคุณด้วยการทอดข้าวเกรียบให้รับประทาน เพราะเขาตั้งใจแต่แรกแล้วว่า หากใครให้ที่ซุกหัวนอน เขาจะต้องตอบแทนบุญคุณด้วยการทอดข้าวเกรียบให้รับประทาน

ปรากฏว่าคนที่ "อภิวัฒน์" ตอบแทนบุญคุณกลับไม่ใช่ฆราวาส แต่เป็นหลวงตารูปหนึ่ง เขาจึงจัดแจงทอดข้าวเกรียบให้หลวงตาฉันเพลในวันหนึ่ง

ปรากฏว่าหลวงตาชอบมากๆ บอกว่าอร่อย...เอ็งลองเอาไปทอดขายตรงท่าพระจันทร์นะ รับรองขายได้...หลวงตาบอกกับ "อภิวัฒน์" อย่างนั้น

นั่นจึงเป็นจุดพลิกผัน ที่ทำให้ "อภิวัฒน์" ก้าวเข้ามาสู่ธุรกิจขายข้าวเกรียบกุ้ง โดยไม่รู้มาก่อนว่าข้าวเกรียบกุ้งที่ทอดขายทุกวันๆ จะทำให้กลายมาเป็นข้าวเกรียบมโนห์ราในวันนี้

"ผมขายอยู่ทุกวัน ขายดีขึ้นเรื่อยๆ ผมจึงส่งจดหมายไปบอกพี่สาวให้ช่วยส่งข้าวเกรียบดิบมาให้ และจากขายจันทร์ถึงศุกร์แถวท่าพระจันทร์ พอเสาร์-อาทิตย์ ผมก็ข้ามไปขายที่สนามหลวง ตอนนั้นผมไม่สนใจเรื่องเรียนแล้ว คิดแต่จะขายของอย่างเดียว"

"ผมยังจำภาพของคุณประจวบ จำปาทอง ได้ จำภาพของคุณบุญกิจ ลีเลิศพันธุ์ เจ้าของยาสีฟันดอกบัวคู่ ได้ และจำภาพของนายห้างพาต้า ซึ่งเมื่อก่อนขายไม้แคะหู และลูกเหม็นได้ คนเหล่านี้แก่กว่าผม แต่ท่านขายของเก่งมาก ผมไปยืนดูเขา และใช้เป็นแบบอย่างในการขายของ"

จนเกิดเหตุการณ์วันมหาวิปโยค "อภิวัฒน์" จึงเลิกขายของไปโดยปริยาย

แต่กระนั้น เขาเริ่มมีเงินมากพอที่จะออกไปเช่าห้องอยู่ลำพัง โดยไม่ต้องพึ่งข้าวก้นบาตรอีกต่อไป พร้อมกันนั้นเขาก็มองหาช่องทางอื่นๆ เพื่อขายข้าวเกรียบกุ้งต่อไป

จากขายอยู่คนเดียว ก็เริ่มนำข้าวเกรียบกุ้งไปวางตามร้านขายของชำต่างๆ และไม่ใช่เพียงร้านสองร้านเท่านั้น เขาวางขายไปทั่วกรุงเทพมหานคร

และขยายออกสู่ชานเมือง

จนเหตุการณ์บ้านเมืองเริ่มเข้าสู่สภาวะปกติ "อภิวัฒน์" จึงกลับมาขายที่สนามหลวงอีกครั้ง และคราวนี้ไม่เพียงเขาจะโชคดีที่ชาวอังกฤษมาลองชิมข้าวเกรียบกุ้ง จนสั่งออร์เดอร์ไปเมืองนอก ที่เริ่มจาก 5 กิโลกรัมก่อน

จากนั้นจึงเป็น 10 กิโลกรัม และ 100 กิโลกรัมในที่สุด

ตอนนั้นเขามีรายได้เป็นกอบเป็นกำมากขึ้น แต่กระนั้น ชื่อของมโนห์รายังไม่ปรากฏ จนเมื่อเขาไปเที่ยวงานของกรมส่งเสริมการส่งออก...สิ่งไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น

"อภิวัฒน์" ไปปรึกษาเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมว่า ต้องการสร้างแบรนด์ข้าวเกรียบกุ้งเป็นของตัวเอง เขาก็ถามว่าข้าวเกรียบกุ้งคุณมาจากไหน

มาจากสงขลา...อภิวัฒน์ตอบ

แล้วต้องการแบรนด์เป็นรูปอะไร...เจ้าหน้าที่ถาม

ต้องการรูปมโนห์ราครับ...เพราะผมเป็นคนปักษ์ใต้

จากนั้นเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมก็ลงมือวาดรูป โดยมี "อภิวัฒน์" ยืนบอกไอเดียอยู่ข้างๆ จนกระทั่งข้าวเกรียบกุ้งแบรนด์มโนห์ราเสร็จเรียบร้อย

"ผมรู้สึกภูมิใจมาก ที่ต่อแต่นี้ข้าวเกรียบกุ้งของผมจะได้มีแบรนด์เป็นของตัวเองสักที จำได้ว่าตอนนั้นผมขอบคุณเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมคนนั้นมากๆ แต่เขาบอกไม่เป็นไร มันเป็นหน้าที่ที่จะต้องช่วยเถ้าแก่ใหม่อยู่แล้ว"

ใครจะเชื่อล่ะว่า ข้าวเกรียบกุ้งแบรนด์มโนห์รา จะมาจากไอเดียของ "อภิวัฒน์" ล้วนๆ มิหนำซ้ำยังไม่ต้องเสียสตางค์สักสลึง

เมื่อมีแบรนด์ของตัวเองแล้ว เขาจึงสร้างแบรนด์ไปขายในท้องตลาด ประกอบกับชาวอังกฤษคนนั้น สนใจที่จะสั่งข้าวเกรียบกุ้งไปขายในต่างประเทศอีก เพียงแต่คราวนี้ไม่ได้เริ่มต้นที่ 100 กิโลกรัมแล้ว หากเป็นตู้คอนเทนเนอร์เลย

"อภิวัฒน์" เริ่มรู้แล้วว่า เส้นทางการค้าของเขาเริ่มสดใส เขาจึงวางแผนทางการตลาด ด้วยการเปิดเกมรุกตลาดในประเทศอย่างเป็นจริงเป็นจัง

พร้อมกันนั้น เขาก็หอบแบรนด์มโนห์ราออกไปโรดโชว์ในต่างประเทศ ซึ่งใครจะเชื่อล่ะว่า หลังจากโรดโชว์ไปในประเทศต่างๆ ปรากฏมียอดออร์เดอร์เข้ามาเป็นจำนวนมาก ทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกา และเอเชีย

"ระยะแรกมโนห์ราออกไปอวดโฉมทุกที่ แต่ตอนหลังเริ่มค้นพบคำตอบว่า ทุกครั้งที่แบรนด์มโนห์ราออกไปในตลาดเอเชีย สินค้าของผมเหมือนกับพญาอินทรี แต่ถ้าไปยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา สินค้าของผมเปรียบเสมือนนกกระจอก"

นกกระจอกที่ถูกกีดกันทางการค้า

นั่นจึงเป็นอีกเหตุผล ที่ทำให้แบรนด์มโนห์รา ไม่มีแต่เฉพาะข้าวเกรียบกุ้งเท่านั้น หากยังมีข้าวเกรียบปู ข้าวเกรียบปลา และข้าวเกรียบชนิดอื่นๆ วางขายเกลื่อนกลาดในตลาดเอเชีย

เพราะตลาดในประเทศเขาไม่ห่วงแล้ว แต่สำหรับตลาดต่างประเทศเขาหวังว่าสักวันหนึ่งพญาอินทรีในตลาดเอเชีย อาจจะไปผงาดเป็นพญาอินทรีในตลาดยุโรป หรือสหรัฐอเมริกาได้

วันนี้ "อภิวัฒน์" ทำได้ระดับหนึ่งแล้ว

วันนี้ผู้คนเริ่มรู้จักแบรนด์มโนห์ราแล้ว

แต่น้อยคนนักที่จะทราบว่า ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของแบรนด์มโนห์ราคือ "อภิวัฒน์ วังวิวัฒน์" ผู้ซึ่งเรียนจบเพียงชั้น ม.ศ.3 เท่านั้น

แต่กลับใช้คำว่า...ขยัน อดทน ซื่อสัตย์ เป็นเข็มทิศนำทาง จนประสบความสำเร็จทุกวันนี้?

ระวิ โหลทอง

เกิดเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2485 เริ่มทำงานในวงการหนังสือพิมพ์ครั้งแรก เมื่อปีพ.ศ.2505 ด้วยการเป็นผู้สื่อข่าวกีฬาของหนังสือพิมพ์หลักเมือง ก่อนย้ายมาเป็นนักข่าวกีฬาของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐในปลายปี พ.ศ.2506 โดยขณะนั้นมีสุนทร สกุลวัฒนา นักข่าวอาวุโสเป็นหัวหน้าข่าวกีฬา

จากนั้นในปีพ.ศ.2511 ระวิ โหลทอง ก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าข่าวกีฬาของไทยรัฐ และเป็นผู้บุกเบิกดันข่าวกีฬาเป็นข่าวในหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์รายวันไทย ในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 5 เมื่อปี พ.ศ.2509

ในปีพ.ศ.2515 ระวิ โหลทองพลิกผันชีวิตการทำงานไปทำหนังสือพิมพ์สยาม จนกระทั่งหนังสือพิมพ์ปิดลงเมื่อปี พ.ศ.2516 จึงไปร่วมงานกับหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ 8 เดือนก็กลับไปทำงานกับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐรับตำแหน่งเป็นหัวหน้าข่าวหน้า 1 ตั้งแต่ ปีพ.ศ.2518

ในปีพ.ศ.2528 ระวิ โหลทอง ออกมาก่อตั้ง

หนังสือพิมพ์สยามกีฬา 

ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายวันที่รายงานข่าวเฉพาะกีฬาเป็นฉบับแรกของเมืองไทย

ระวิ โหลทอง เคยเป็นผู้สนับสนุนฟุตบอลไทยลีก "จีเอสเอ็มไทยลีก" ด้วยเหตุผลที่ต้องการพัฒนาวงการฟุตบอลไทย ให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานสากล ปัจจุบันเป็นประธานสโมสรฟุตบอลเมืองทอง-หนองจอก ยูไนเต็ด

สตีฟ จ็อบส์

โดยวิกิพีเดีย เมื่อ 6 ต.ค.2554

สตีเฟน พอล "สตีฟ" จ็อบส์ 

(อังกฤษ: Steve Jobs, 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1955 - 5 ตุลาคม ค.ศ. 2011)

เป็นผู้นำธุรกิจและนักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน ผู้ร่วมก่อตั้ง ประธาน อดีตประธานกรรมการบริหารของแอปเปิลคอมพิวเตอร์ และยังเคยเป็นประธานกรรมการบริหารพิกซาร์แอนิเมชันสตูดิโอส์ และเป็นคณะกรรมการบริหารบริษัทเดอะวอลต์ดิสนีย์ใน ค.ศ. 2006 หลังดิสนีย์ซื้อกิจการพิกซาร์

เขาร่วมก่อตั้งแอปเปิลคอมพิวเตอร์กับสตีฟ วอซเนียก ใน ค.ศ. 1976 เป็นผู้มีส่วนช่วยทำให้แนวความคิดเรื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเป็นที่นิยมขึ้นมา ด้วยเครื่อง Apple II

ต่อมา เขาเป็นผู้แรกที่มองเห็นศักยภาพทางการค้าของส่วนประสานงานผู้ใช้แบบกราฟิกส์และเม้าส์ ที่ถูกพัฒนาขึ้นในศูนย์วิจัยซีร็อกซ์พาร์ค ของบริษัทซีร็อกซ์ และได้มีการผนวกเทคโนโลยีเหล่านี้เข้าไว้ในเครื่องแมคอินทอช หลังพ่ายแพ้ในการแย่งชิงอำนาจกับคณะกรรมการบริหารใน ค.ศ. 1984 

จอบส์ลาออกจากแอปเปิลและก่อตั้งเน็กซ์ บริษัทพัฒนาแพลตฟอร์มคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะในการศึกษาขั้นอุดมศึกษาและตลาดธุรกิจ 

การซื้อกิจการเน็กซ์ของแอปเปิลใน ค.ศ. 1996 ทำให้จอบส์กลับเข้าทำงานในบริษัทแอปเปิลที่เขาร่วมก่อตั้งขึ้นนั้น และเขารับหน้าที่ CEO ตั้งแต่ ค.ศ. 1997 ถึง 2011 จอบส์ยังเป็นประธานกรรมการบริหาร และผู้บริหารระดับสูงของพิกซาร์แอนิเมชันสตูดิโอส์ ผู้นำด้านการผลิตภาพยนตร์แอนิเมชันด้วยคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ 

ทั้งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ 50.1% กระทั่งบริษัทวอลต์ดิสนีย์ซื้อกิจการไปใน ค.ศ. 2006 จอบส์เป็นผู้ถือหุ้นมากที่สุดของดิสนีย์ที่ 7% และเป็นสมาชิกคณะกรรมการบริหารของดิสนีย์

หลังจาก สตีฟ จอบส์ ประกาศแก่พนักงานแอปเปิลคอมพิวเตอร์ว่าตรวจพบมะเร็งตับอ่อนตั้งแต่กลางปี ค.ศ. 2004 จอบส์ ก็มีปัญหาทางสุขภาพเรื่อยมา 

จนตัดสินใจลาออกจากการเป็นประธานกรรมการบริหารของแอปเปิล เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ. 2011 และ เสียชีวิตในวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 2011 หลังจากที่แอปเปิล ประกาศเปิดตัว ไอโฟน 4เอส ได้เพียงแค่วันเดียว

รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์

โดยเว็บไซต์ รร.จิระศาสตร์วิทยา จ.พระนครศรีอยุธยา http://school.obec.go.th/jirasartwittaya/oldstudent3.html

ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ได้รับการศึกษาในชั้นอนุบาลจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 

หลังจากนั้นได้เข้าศึกษาต่อในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนหอวัง เมื่อสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นแล้ว ได้ศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โดยศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และปีที่ 5 และได้สอบเทียบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้ขณะที่ศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 

จากนั้นได้สอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาใน พ.ศ.2530 โดยเลือกคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นอันดับหนึ่งและอันดับเดียว

ในขณะที่ศึกษาที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ได้รับรางวัลเรียนดีในฐานะนักศึกษาที่ได้คะแนนสูงสุดของชั้นปีในทุกปีการศึกษา และได้เข้าร่วมกิจกรรมของมหาวิทยาลัย โดยเคยเป็นรองประธานสภานักศึกษาเมื่อ พ.ศ.2531 

ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ สำเร็จการศึกษาเป็นนิติศาสตรบัณฑิตในปีการศึกษา 2533 และได้รับรางวัลเรียนดีทุนภูมพลในฐานะบัณฑิตที่สอบได้คะแนนสูงสุดของคณะนิติศาสตร์ในปีการศึกษานั้น

หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ได้เข้าทำงานเป็นนิติกร ที่สำนักงานกฎหมาย บริษัทปูนซิเมนต์ไทย และได้สำเร็จการศึกษาเป็นเนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ต่อมาใน พ.ศ.2535

ได้รับพระราชทุนมูลนิธิอานันทมหิดลให้ไปศึกษาวิชานิติศาสตร์ เน้นหนักทางด้านกฎหมายมหาชน ณ ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีในระดับชั้นปริญญาโทและปริญญาเอก ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ได้เลือกศึกษาที่คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัย Goettingen ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และสำเร็จการศึกษานิติศาสตรมหาบัณฑิต (Magister Iuris) ด้วยคะแนนดีมาก (sehr gut) ซึ่งเป็นคะแนนสูงสุดตามหลักสูตร Magister Iuris ของมหาวิทยาลัย โดยเขียนวิทยานิพนธ์เรื่อง “หลักกฎหมาย clausula rebus sic stantibus ในสัญญาทางปกครอง”

หลังจากนั้นได้กลับมารับราชการเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นเวลาหกเดือน และ ได้กลับไปศึกษาต่อในชั้นปริญญาเอก สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาเอกทางกฎหมายเป็น “Doktor der Rechte” ได้รับคะแนนระดับ “summa cum laude” ซึ่งเป็นคะแนนสูงสุดสำหรับการศึกษาในระดับปริญญาเอกทางกฎหมายในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีโดยเขียนวิทยานิพนธ์เรื่อง

“วิวัฒนาการทางทฤษฎีของสัญญาทางปกครองในระบบกฎหมายเยอรมัน” 

วิทยานิพนธ์เล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่โดยสำนักพิมพ์ Dunker & Humblot (Berlin)

หลังจากสำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาเอกใน พ.ศ.๒๕๔๒ แล้ว ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ได้กลับมารับราชการที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ โดยเป็นอาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชนและภาควิชานิติศึกษาทางสังคม ประวัติศาสตร์และปรัชญา

นอกจากนี้ยังเป็นกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร (กวฉ.) สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมายด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ สำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต จากคณะนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลเรียนดีทุนภูมิพลในฐานะบัณฑิตที่ได้คะแนนสูงสุดของคณะนิติศาสตร์ประจำปีการศึกษา 2533

เป็นเนติบัณฑิตไทย จากสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดลให้ไปศึกษาวิชานิติศาสตร์ เน้นหนักกฎหมายมหาชน ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย Goettingen

สำเร็จการศึกษานิติศาสตรมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัย Goettingen ด้วยคะแนนดีมาก (sehr gut) ซึ่งเป็นคะแนนสูงสุดในชั้นปริญญาโทตามหลักสูตร Magister iuris ของมหาวิทยาลัยโดยเขียนวิทยานิพนธ์เรื่อง “หลักกฎหมายclausula rebus sic stantibus ในสัญญาทางปกครอง” 

และสำเร็จการศึกษานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต (Doktor der Rechte – Doktor Jur) จากมหาวิทยาลัยเดียวกันด้วยคะแนนดีเยี่ยม (summa cum laude) ซึ่งเป็นคะแนนสูงสุดในชั้นปริญญาเอก โดยเขียนวิทยานิพนธ์เรื่อง 

วิวัฒนาการทางทฤษฎีของสัญญาทางปกครองในระบบกฎหมายเยอรมัน” (วิทยานิพนธ์ภาษาเยอรมันฉบับนี้ได้รับการพิมพ์เผยแพร่โดยสำนักพิมพ์ Duncker & Humblot -Berlin)

ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน และภาควิชานิติศึกษาทางสังคม ประวัติศาสตร์ และปรัชญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

19 กันยายน 2553 เป็นผู้ร่วมก่อตั้งเวบไซต์ นิติราษฎร์ http://www.enlightened-jurists.com/

รองศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ นิด้า

ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ

คณบดี คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

อดีตผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

กรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง และศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน คตส. ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2549 

ปัจจุบันเป็นคณบดี คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

คุณวุฒิ

- ปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงในปี พ.ศ. 2527,
- เนติบัณฑิตไทย,
- ปริญญาโทด้านกฎหมายมหาชน จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
หลังจากนั้น
- ได้ทุนของ รัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ไปศึกษาปริญญาโท (Magister Lugum) และ
- สำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2538 จากมหาวิทยาลัย Bochum และ
- สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก (Doktor der Rechte-Dr.jur) ในปี พ.ศ. 2541 จากมหาวิทยาลัยเดียวกัน

บทความวิชาการ

"วิเคราะห์ปัญหาการแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของไทยโดยอาศัยพื้นฐานทางทฤษฎีของเยอรมัน" ,วารสารนิติศาสตร์ ปีที่ 28 ฉบับที่ 3 กันยายน 2541 , หน้า 479-492

"วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญไทยเปรียบเทียบกับศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน" ,วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 24 ฉบับที่ 2 (พ.ค.- ส.ค. 2541) หน้า 76-99

"วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญไทยเปรียบเทียบกับศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน" ,ศาลรัฐธรรมนูญไทย อดีต ปัจจุบัน อนาคต , สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, กรุงเทพฯ 2543 ,หน้า 33-65

"วิเคราะห์ปัญหาเรื่องขอบเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ" , วารสารกฎหมายปกครอง เล่ม 17 ตอน 1 (เมษายน 2541) หน้า 157-166

"หลักประกันสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่" ,วารสารกฎหมายปกครอง เล่ม 17 ตอน 2 (สิงหาคม 2542) หน้า 30-65

บรรเจิด สิงคะเนติ ,และ สมศักดิ์ นวตระกูลพิสุทธิ์ , "หลักความได้สัดส่วนตามหลักกฎหมายของเยอรมันและฝรั่งเศส" ,วารสารศาลรัฐธรรมนูญ ปีที่ 1 เล่ม 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม 2542) หน้า 40-70

"เงื่อนไขการพิจารณาคดีปกครองเยอรมัน" ,วารสารนิติศาสตร์ ปีที่ 29 ฉบับที่ 2 (มิถุนายน 2542) หน้า 277-299

บรรเจิด สิงคะเนติ ,และ สมศักดิ์ นวตระกูลพิสุทธิ์ , "ปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540" ,วารสารกฎหมายปกครอง เล่ม 19 ตอน 1 (เมษายน 2543) หน้า 1-10

"ข้อพิจารณาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของหน่วยงานของรัฐในการฟ้องโต้แย้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร" วารสารกฎหมายปกครอง เล่ม 19 ตอน 1 (เมษายน 2543) หน้า 11-19

"กระบวนการรับฟ้องความคิดเห็นสาธารณะหรือกระบวนการกำหนดแผนงาน(das Plafeststellungsverfahren) ตามกฎหมายเยอรมัน" , รพี 43 ,คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ,หน้า 86-96

"หลักการพื้นฐานของสิทธิและเสรีภาพ" ,นิติสยามปริทัศน์'43 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ,หน้า 60-82

สมคิด เลิศไพฑูรย์ ,บรรเจิด สิงคะเนติ ,เขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญไทยตามมาตรา 264 และมาตรา 266 ,ศาลรัฐธรรมนูญไทย อดีต ปัจจุบัน อนาคต , สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, กรุงเทพฯ 2543

"ข้อพิจารณาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างศาลปกครองกับองค์กรตาม รัฐธรรมนูญ" www.pub-law.net วันที่ 16 เมษายน 2544 14. "บทวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ : ศึกษากรณีปัญหาความขัดแย้งเรื่อง เขตอำนาจศาลระหว่างศาลรัฐธรรมนูญกับศาลปกครอง" www.pub-law.net วันที่ 28 พฤษภาคม 2544 และ วันที่ 11 มิถุนายน 2544

"คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์ของเยอรมัน : ศึกษากรณีการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย" วารสารศาลรัฐธรรมนูญ ปีที่ 3 เล่ม 7 (มกราคม-เมษายน 2544)

ปัญหาเรื่องการพิจารณาอุทธรณ์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น www.pub-law.net , 1 มีนาคม 2545

บทวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ : ศึกษากรณีปัญหาความขัดแย้งเรื่องเขตอำนาจศาลระหว่างศาลรัฐธรรมนูญกับศาลปกครอง รวมบทความกฎหมายมหาชนจากเว็บไซต์ www.pub-law.net : สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ , 2545

การควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ รวมบทความกฎหมายมหาชนจากเว็บไซต์ www.pub-law.net : สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ , 2545

ข้อพิจารณาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างศาลปกครองกับองค์กรตามรัฐธรรรมนูญ - www.pub-law.net , 16 เมษายน 2544

วิเคราะห์คำวินิจฉัยศาลปกครองกรณียกฟ้อง 3 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (253/2545) - www.pub-law.net , 6 พฤษภาคม 2545

เขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 264 และมาตรา 266 (แต่งร่วมกับ รศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ ) -

รวมบทความทางวิชาการของศาลรัฐธรรมนูญ ชุดที่ 1 : ศาลรัฐธรรมนูญไทย

สิทธิขั้นพื้นฐานทางสังคม วารสารศาลรัฐธรรมนูญ ปีที่ 3 เล่ม 9 (กันยายน-ธันวาคม ,2544)

ปัญหาขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ - วารสารวิชาการศาลปกครอง ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 (ก.ย. – ธ.ค. ) ,2544.

หลักการแสวงหาความจริงโดยศาล (Untersuchungsgrundsatz)ของรัฐธรรมนูญเยอรมัน วารสารนิติศาสตร์ ปีที่ 32 ฉบับที่ 2 (มิถุนายน) 2545.

การฟ้องโต้แย้งคำสั่งทางปกครองตามกฎหมายเยอรมัน - อาจาริยบูชา รวมบทความทางวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบ 72 ปี ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ , สมาคมกฎหมายมหาชนแห่งประเทศไทย , 2545.

วิเคราะห์ คำวินิจฉัยของศาลปกครอง เรื่อง ขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการตัดสายเชื่อมโยงข่ายโทรคมนาคม (คำสั่งที่ 645/2545) - www.pub-law.net เผยแพร่วันที่ 15 กรกฎาคม 2545.

ข้อสังเกตจากคำชี้แจงของศาลปกครองสูงสุดและแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ : กรณีที่มีปัญหาอำนาจหน้าที่ระหว่างคณะกรรมการการเลือกตั้งกับศาลปกครอง - www.pub-law.net เผยแพร่วันที่ 21 ตุลาคม 2545.

กระบวนการพิจารณาโครงการ (Planfestellungsnerfahren) ตามกฎหมายของเยอรมัน. วารสารกฎหมายปกครอง เล่ม 20 ตอน 1, 2544.

ข้อพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540. www.pub-law.net. เผยแพร่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2546 และ 17 กุมภาพันธ์ 2546.

ทำไมพระราชกำหนดในการแปรสัญญาโทรคมนาคมจึงไม่เป็นไปตามมาตรา 218 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญ,www.pub-law.net , 31 มีนาคม 2546.

หลักการแสวงหาความจริงโดยศาลในคดีปกครองของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี , วารสารวิชาการศาลปกครอง ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 พฤษภาคม – สิงหาคม 2545.