นางบุญยืน ประเสริฐยิ่ง

20 ก.ค. 2553
โดย lmwatch.blogspot.com

นางบุญยืน ประเสริฐยิ่ง อายุ 44 ปี อาชีพ รับซื้อของเก่า และรับทำนายดวงชะตา

เป็นขาไฮด์ปาร์กประจำสนามหลวง ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างจริงจังหลังเกิดการยึดอำนาจ รัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 โดยมีฉายาว่า "นางพญาอินทรีย์"

บุญยืนระบุว่า ฉายานี้คนท้องสนามหลวงตั้งให้หลังจากเธอออกจากกลุ่ม ‘พิราบขาว’ ซึ่งถูกจับตาจากเจ้าหน้าที่ จากนั้นก็ร่วมสังกัดกลุ่มประชาธิปไตยพาประเทศไทยก้าวหน้าซึ่งก่อตั้งโดยพลพรรคสนามหลวงนั้นเอง โดยปกติมักปราศรัยโจมตีคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี รวมทั้งมุ่งต่อต้านการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นหลัก 

ปักหลักปราศรัยกับผู้ชุมนุมที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มย่อยๆ บริเวณสนามหลวงบนเวทีที่ตั้งกันเอง หรือไม่ก็บนเวที "เสียงประชาชน" ซึ่งเป็นเวทีเล็กๆ ไม่มีแกนนำชัดเจน แต่มีข่าวระบุว่ากลุ่มวิทยุแท็กซี่ของ ชินวัตร หาบุญพาด เป็นผู้สนับสนุนตั้งเวทีและเครื่องขยายเสียงขนาดเล็กดังกล่าว

นอกจากนี้เธอมักเป็นแถวหน้าในการชุมนุม เดินขบวน ต่อต้านรัฐประหาร พันธมิตรฯ คมช. ในทุกๆ ครั้งที่มีการชุมนุม

ปัจจุบัน ทั้งบ้านและรถที่ใช้ในการประกอบอาชีพของครอบครัวบุญยืนได้ถูกยึดไปหมดแล้ว เนื่องจากขาดผ่อนชำระ เพราะเธอซึ่งเป็นกำลังหลักในการหารายได้หลักของครอบครัวถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ สามีของเธอต้องหารายได้ด้วยการรับจ้างทั่วไป มาจ่ายเป็นค่าเช่าบ้านและเลี้ยงดูลูกคนเล็กซึ่งยังเรียนหนังสืออยู่

เรียบเรียงโดย 112watch@gmail.com ที่ 13:34

------------------------------
กรณีนางบุญยืน ประเสริฐยิ่ง
ข้อมูลด้านคดีและความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้อง:

ตำรวจ สน.ชนะสงครามออกหมายจับบุญยืน ประเสริฐยิ่งในข้อหาหมิ่นรัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และตำรวจ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2551 จากกรณีการปราศรัยบนเวทีสนามหลวงในวันที่ 6 สิงหาคม 2551 ซึ่งบุญยืนได้เข้ามอบตัวในวันเดียวกัน และถูกคุมขัง ณ ทัณฑสถานหญิงนับแต่นั้นเป็นต้นมา เบื้องต้น เธอให้การรับสารภาพด้วยความหวาดกลัว และหวังว่าจะขอพระราชทานอภัยโทษในภายหลัง
6 พฤศจิกายน 2551 ศาลตัดสินจำคุกบุญยืน 12 ปี และลดโทษเหลือกึ่งหนึ่ง (6 ปี) เนื่องจากเธอรับสารภาพ
ปัจจุบัน บุญยืนอยู่ระหว่างยื่นอุทธรณ์ขอลดหย่อนโทษต่อศาล

รายละเอียด 

25 เมษายน 2551
มวลชนสนามหลวงราว 100-200 คน ที่มีบุญยืน ประเสริฐยิ่ง เป็นหนึ่งในแกนนำ จัดชุมนุมที่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อต่อต้านกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งจัดเวทีสัมมนาใหญ่อยู่ในหอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยกลุ่มที่ชุมนุมถูกสื่อมวลชนรวมถึงผู้คนทั่วไปมองว่าเป็นม็อบที่ก้าวร้าว เนื่องจากมีการด่าทอ ระบายอารมณ์ และมีผู้ชุมนุมบางคนเปิดอวัยวะเพศโชว์จนกลายเป็นข่าวครึกโครม

15 สิงหาคม 2551 
พ.ต.อ.รังสรรค์ ประดิษฐ์ผล ผกก.สน.ชนะสงคราม เดินทางเข้าพบ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.เพื่อรายงานคดีหมิ่นองค์รัชทายาท โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2551 บุญยืน ประเสริฐยิ่ง ได้ขึ้นปราศรัยที่เวทีท้องสนามหลวง กล่าวพาดพิงถึงองค์รัชทายาทในบางช่วง ซึ่งเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่ง พ.ต.ท.สุเมธ จิตต์พานิชย์ รอง ผกก.สส.สน.ชนะสงคราม เป็นพนักงานสอบสวนเจ้าของคดี

ต่อมาในช่วงเย็น พ.ต.ท.สุเมธ ได้เดินทางไปศาลอาญา เพื่อขออนุมัติหมายจับบุญยืน ตามประมวลกฎหมาย อาญา ม.112 ซึ่งศาลได้อนุมัติหมายจับดังกล่าว

ในวันเดียวกัน บุญยืนซึ่งรับทราบว่ามีการออกหมายจับตน ได้เดินทางเข้ามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สน.ชนะสงคราม อย่างไรก็ตาม เธอไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว และเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้นำตัวไปฝากขังไว้ที่ศาลอาญา

หมายเหตุ ต่อมาแกนนำกลุ่มที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารและคมช.ได้พยายามเดินเรื่องขอประกันตัวบุญยืน แต่ศาลไม่อนุญาต โดยระบุว่าเป็นข้อหาร้ายแรงและเกรงผู้ต้องหาจะหลบหนี จากนั้นเธอได้ถูกตัวส่งไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง

6 พฤศจิกายน 2551
ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก นางบุญยืน ประเสริฐยิ่ง จำเลยในคดีหมายเลขดำที่ อ.4326/2551 ซึ่งพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ฟ้องข้อหา หมิ่นประมาท ดูหมิ่น รัชทายาท จากการที่จำเลยได้ปราศรัยบนเวทีประชาชนที่ท้องสนามหลวง ด้วยการกระจายเสียงทางเครื่องกระจายเสียงท่ามกลางประชาชนที่มาฟังจำนวนหลายคน ในเรื่องหมิ่นประมาท ดูหมิ่น องค์รัชทายาท โดยประการที่น่าจะทำให้องค์รัชทายาทเสื่อมเสียเกียรติ เสียชื่อเสียง และถูกเกลียดชังนั้น

ทั้งนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 วางโทษจำคุก 12 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำคุก 6 ปี (คดีหมายเลขแดงที่ อ.4308/2551 วันที่ออกแดง 6/11/2551) (1)

22 ธันวาคม 2551
บุญยืน ประเสริฐยิ่ง ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา โดยขอลดหย่อนโทษจากในเรือนจำ โดยระบุว่าขอให้ศาลพิจารณารอลงอาญาและให้บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ หรือไม่เช่นนั้นก็ขอลดกำหนดโทษลง โดยบุญยืนระบุว่าเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลว่ากระบวนพิจารณาของศาลจะใช้เวลา 5-6 เดือน

6 มกราคม 2552
ศาลมีคำสั่งรับอุทธรณ์ และสำเนาให้อัยการ อัยการรับเมื่อ 29 มกราคม และมีกำหนดยื่นคำให้การแก้ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2552

เชิงอรรถ:
(1) ที่มาคำตัดสิน : http://www.crcourt.com/aryaweb/view_case_detail.php?hidTabPage=3&black_running=205021&court_running=2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น