Pages

กาลิเลโอ

มนุษย์นอกศาสนา ผู้ค้นพบความลับของพระเจ้า

ครั้งหนึ่ง ในประเทศอิตาลีได้เกิดข่าวใหญ่ เป็นที่สั่นสะเทือนทั้งในวงการวิทยาศาสตร์ และศาสนาอย่างมาก เพราะได้มีนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง จะแสดงการทดลองให้เห็นว่า คำสอนของอริสโตเติล ซึ่งทางศาสนาได้ยึดถือ เป็นคำสอนสืบมานั้นผิดโดยสิ้นเชิง ในวันนั้น ประชาชนมารวมกัน อยู่ที่ลานหน้าหอเอนแห่งเมืองปิซา อย่างมืดฟ้ามัวดิน เพื่อคอยดูว่า ผู้ใดที่บังอาจจะท้าทาย กับความตายอย่างน่ากลัวเช่นนั้น เพราะในสมัยนั้นไม่ว่าใครก็ตาม ถ้าแสดงความเห็นขัดแย้ง กับคำสอนของศาสนาแล้ว จะต้องถูกจับเผาไฟทั้งเป็น ผู้ที่กล้าท้าทายความตาย อันน่าหวาดเสียวนี้ ก็ได้แก่ นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของอิตาลี เขาคือ กาลิเลโอ (Galileo)

กาลิเลโอ กาลิเลอี ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักดาราศาสตร์ นักคณิตศาสตร์ นักปรัชญาเมธีชาวอิตาเลียนผู้นี้ เกิดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1564 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับ วิลเลียม เช็คสเปียร์ (William Shakespeare) จินตกวีของอังกฤษ บิดาของเขาชื่อ วินเซนซิโอ กาลิเลอี (Vincenzio Galilei) ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากครอบครัวผู้ดีสมัยเก่า แต่ไม่ค่อยจะมีเงินทองมากนัก บิดาของกาลิเลโอเป็นนักคณิตศาสตร์ นักดนตรี และนักเขียนที่มีชื่อเสียงเหมือนกัน ทั้งยังเป็นพ่อค้าขนสัตว์อีกด้วย บิดาของเขาเกิดที่เมืองฟลอเรนซ์ (Florence) แต่ตัวกาลิเลโอเกิดที่เมืองปิซา ขณะที่อยู่ในวัยเด็กได้รับการศึกษาเบื้องต้นที่บ้าน ต่อมาจึงได้ไปศึกษาอยู่กับวัด สมัยที่ยังเยาว์วัย กาลิเลโอมีความสามารถเป็นพิเศษในทางดนตรี สนใจในด้านศิลปะภาพเขียน และคณิตศาสตร์ แต่บิดาของเขาไม่สนับสนุนในเรื่องนี้ บิดาของเขาตั้งใจจะให้เขาศึกษาแพทย์ เพราะการเป็นแพทย์ในสมัยนั้นหาเงินได้ง่าย และเป็นที่ยกย่องของคนทั่วๆ ไป ด้วยเหตุนี้เองบิดาจึงได้ส่งเขา ไปเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยเมืองปิซา พยายามให้ศึกษาในวิชาการด้านนี้ และให้หลีกห่างจากวิชาคณิตศาสตร์ แต่ก็ไม่ได้ผล เพราะต่อมาไม่นาน เมื่อกาลิเลโอได้ไปฟังการสอนเรขาคณิต ในมหาวิทยาลัยก็เกิดติดใจ จึงหันไปเรียนคณิตศาสตร์ ควบคู่ไปกับวิชาวิทยาศาสตร์

เมื่อ ค.ศ.1584 กาลิเลโออายุได้ 20 ปี และเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยเมืองปิซา วันหนึ่ง เมื่อเขานั่งสวดมนต์อยู่ในโบสถ์ เขาได้สังเกตเห็นว่า โคมไฟที่แขวนไว้บนเพดานโบสถ์แกว่งไปมา เขารู้สึกว่าการแกว่งไปมาของโคมไฟนั้น กินเวลาเท่ากัน แต่เนื่องจากเขาเป็นคนที่ชอบทดลองค้นคว้า ไม่ค่อยเชื่ออะไรง่ายๆ ดังนั้น เขาจึงหาทางทดลองให้ทราบว่า ระยะเวลาของการแกว่งไปมาของโคมไฟนั้น ไม่ว่าจะมีช่วงสั้นหรือยาวก็ตาม จะต้องกินเวลาเท่ากัน ขณะนั้นเขาไม่ทราบว่า จะไปเอานาฬิกาที่ไหนมาจับเวลาได้ แต่เขาทราบความจริงว่า ชีพจรของคนเรานั้น เต้นแต่ละครั้งกินเวลาเท่ากัน ดังนั้น เขาจึงทดลองจับชีพจรดู ในขณะที่โคมไฟแกว่งไปมา หลังจากทำการทดลองอยู่หลายครั้ง เขาจึงแน่ใจว่า การแกว่งของโคมไฟ เป็นไปตามความคิดของเขา ต่อมาเขาได้กลับไปทดลองเกี่ยวกับเรื่อง การแกว่งของลูกตุ้มนี้ที่บ้านอีก ก็ได้พบความจริงเช่นเดียวกัน และได้อาศัยหลักอันนี้เอง กาลิเลโอได้สร้างเครื่องมือวัดการเต้นของชีพจร โดยอาศัยตุ้มน้ำหนักแขวนกับเชือก เป็นเครื่องมือจับเวลา ต่อมาคริสเตียน เฮอย์เกนส์ (Christian Huygens) ได้คิดสร้างนาฬิกาขึ้น โดยอาศัยหลักตุ้มแกว่งเป็นผู้ควบคุมเวลา จึงนับได้ว่ากาลิเลโอ เป็นต้นคิดและผู้ออกแบบตุ้มของนาฬิกา เป็นคนแรก

ในปี ค.ศ.1585 กาลิเลโอ เกิดขัดสนในเรื่องเงินทอง ไม่สามารถจะศึกษาต่อไปได้ จึงได้เดินทางกลับไปอยู่ที่ฟลอเรนทีน อาคาเดมี (Florentine Academy) ในเมืองฟลอเรนซ์ และศึกษาด้วยตนเอง ณ ที่นี้เอง กาลิเลโอได้วิจารณ์ Law of Motion ของ Aristotle เป็นครั้งแรก ในปี ค.ศ.1586 กาลิเลโอก็ได้พิมพ์ผลงานของเขา เกี่ยวกับเรื่องตาชั่ง ที่เรียกว่า Hydrostatic Balance ทำให้ประชาชนรู้จักเขามากขึ้น ต่อมา Marchese Guidubaldo Del Monte แห่ง Pesaro ซึ่งเป็นผู้มีบุญคุณแก่เขา ได้ขอร้องให้เขาเขียนหนังสือขึ้นอีกเล่มหนึ่ง เกี่ยวกับจุดศูนย์ถ่วงของของแข็ง (Centre of Gravity of Solid) หนังสือเล่มนี้ เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่ง ที่ทำให้ชื่อเสียงของกาลิเลโอโด่งดังยิ่งขึ้น และในปี ค.ศ.1588 กาลิเลโอได้รับเชิญ ให้ดำรงต่ำแหน่งศาสตราจารย์ผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยเมืองปิซา ซึ่งขณะนั้น กาลิเลโอเพิ่งจะมีอายุได้ 24 ปี ยังไม่มีปริญญา และชื่อเสียงก็ยังไม่ได้โด่งดัง เท่ากับศาสตราจารย์อื่นๆ และออกจะหนุ่มเกินไป ยังไม่ค่อยได้รับความเชื่อถือเท่าไรนัก

ในขณะที่เขาอยู่ในมหาวิทยาลัยปิซา ในระหว่าง ค.ศ.1589 ถึง 1591 เขาได้นำเอาทฤษฎีของอริสโตเติล ที่กล่าวว่า ของเบาจะตกถึงพื้นดินช้ากว่าของหนัก เช่น ใบไม้จะตกถึงพื้นดินช้ากว่าก้อนหิน กาลิเลโอไม่ยอมเชื่อในความคิดอันนี้ เขาให้เหตุผลว่า ความคิดของอริสโตเติล ไม่ถูกต้อง การที่ก้อนหินกับใบไม้ตกถึงพื้นไม่พร้อมกัน และใบไม้ตกช้ากว่า ก็เพราะว่าอากาศช่วยต้านทานไว้ ถ้าไม่มีอากาศแล้ว ก้อนหินและใบไม้ก็ย่อมจะตกถึงพื้นดินพร้อมกัน เมื่อเขาได้นำเอาความคิดของเขา ไปแถลงในมหาวิทยาลัย ก็มีทั้งผู้ที่เห็นด้วย และพวกที่ไม่เห็นด้วย พวกที่ไม่เห็นด้วย ได้แก่ พวกหัวเก่า ซึ่งเชื่อในคำสอนของศาสนา เพื่อที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่า ความคิดของพวกเขาเป็นความจริง กาลิเลโอจึงได้ประกาศว่า จะทำการทดลองให้ดูที่หอเอน แห่งเมืองปิซา

ครั้นเมื่อถึงเวลาทดลอง กาลิเลโอก็ขึ้นไปบนหอเอนแห่งเมืองปิซา นำเอาก้อนตะกั่วกลมหนัก 20 ปอนด์ และ 10 ปอนด์ สองก้อนติดตัวขึ้นไปด้วย เมื่อถึงยอดหอเอน เขาก็โยนก้อนตะกั่วทั้งสองก้อนลงมาข้างล่าง ปรากฏว่าตะกั่วทั้งสองก้อนตกลงถึงพื้นดินพร้อมกัน ท่ามกลางสายตาของนักศึกษา ศาสตราจารย์ และประชาชนอีกมากมาย ฝ่ายที่เป็นพวกกาลิเลโอ ก็พากันโห่ร้องด้วยความยินดี แต่ฝ่ายตรงกันข้ามมองด้วยความแค้นเคือง การทดลองครั้งนี้ แม้ว่ากาลิเลโอจะประสบความสำเร็จ แต่ก็เป็นการก่อศัรูขึ้นอีกหลายคน ด้วยเหตุผลนี้เองในที่สุด กาลิเลโอก็ทนอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ไม่ได้ เขาจึงลาออกเมื่อปี ค.ศ.1591

ต่อมากาลิเลโอ ไปได้งานใหม่เป็นศาสตราจารย์ อยู่ที่มหาวิทยาลัยปาดัว (University of Padua) และอยู่ที่นี้เป็นเวลา 18 ปี ในระหว่างนี้เขาได้ทำการทดลอง หาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ อีกหลายอย่าง โดยไม่เกรงกลัวต่ออิทธิพล ของศาสนาคริสต์ในขณะนั้น ในเรื่องของตกจากที่สูง เขาไม่ได้ทดลองแต่เพียงว่าของสองสิ่ง ซึ่งเบาและหนักตกจากที่สูง ถึงพื้นดินพร้อมกันเท่านั้น แต่เขายังได้ทดลองต่อไปอีก จนในที่สุดก็พบความจริงว่า วัตถุตกลงถึงพื้นดินนั้น จะมีความเร็วเพิ่มขึ้นทุกๆ วินาที และความจริงอันนี้เองได้เป็นแนวทาง ให้แก่นิวตัน (Newton) ค้นพบเรื่องความเร่งและได้บันทึกไว้ในหนังสือ Principia ของเขา

ต่อมากาลิเลโอ ได้ทดลองและค้นพบความจริง เกี่ยวกับเรื่องของระยะการยิงปืนใหญ่ เขาทดลองพบว่าลูกปืนใหญ่ ที่ยิงออกจากปากกระบอกไปแล้ว ความเร็วจะค่อยๆ เปลี่ยนไป แล้วจะค่อยๆ ตกลงสู่พื้นดิน และพบความจริงอีกว่า วิถีกระสุนของปืนใหญ่จะเป็นวิถีโค้ง ด้วยความจริงอันนี้เอง ทางทหารได้นำไปใช้ในการคำนวณ กะระยะที่ลูกปืนใหญ่ตก

ดังนั้น จึงนับได้ว่ากาลิเลโอ เป็นผู้ที่ทำการทดลองทำให้เกิดหลักเกณฑ์ ในทางวิชาพลศาสตร์ (Dynamic) ซึ่งเป็นวิชากลศาสตร์แขนงหนึ่ง ที่ว่าด้วยวัตถุที่กำลังเคลื่อนที่

ในเรื่องเกี่ยวกับจักรวาลนั้น กาลิเลโอเชื่อตามทฤษฎีของคอเพอร์นิคัส (Copernicus) แต่ก็ไม่สามารถจะทดลองให้เห็นจริงได้ เพราะขาดเครื่องมือ ต่อมาในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1609 ขณะที่กาลิเลโออยู่ที่เมื่องเวนิช ก็ได้ยินข่าวเลื่องลือกันว่า ที่ประเทศฮอลแลนด์ ได้มีผู้สร้างกล้องโทรทรรศน์ (Telescope) ขึ้นได้แล้ว เขาเองก็กำลังมีความสนใจเรื่องนี้เช่นกัน ดังนั้นในเดือนมกราคม ค.ศ.1610 เขาจึงสร้างกล้องโทรทรรศน์ขึ้นเป็นครั้งแรก มีกำลังขยายเพียง 3 เท่า ต่อมาเขาพยายามปรับปรุงทำจนกระทั่ง มีกำลังขยายได้ถึง 32 เท่า ใช้ส่องดูดาวบนท้องฟ้า เขาได้พบความจริงหลายอย่าง เช่น ผิวของดวงจันทร์ไม่เรียบอย่างที่เห็นด้วยตาเปล่า ผิวของดวงจันทร์ขรุขระ เช่นเดียวกับผิวของโลก มีภูเขาและหุบเขา เขาได้ค้นพบว่าดาวเคราะห์ ต่างกับดาวฤกษ์ พวกดาวเคราะห์มีลักษณะเหมือนดวงจันทร์ ส่วนดาวฤกษ์นั้น มีแสงสว่างพุ่งออกมา

เกี่ยวกับทางช้างเผือก Milky Way กาลิเลโอก็พบว่าประกอบด้วยดาวเล็กๆ เป็นจำนวนมากมาย เมื่อ ค.ศ.1610 กาลิเลโอก็ได้พบว่าดาวพฤหัสบดี (Jupiter) มีดวงจันทร์เป็นบริวารถึง 4 ดวง ต่อมาเขาได้พบว่าดาวเสาร์ (Saturn) มีวงแหวน มีสีต่างกันถึง 3 แถบ และดาวศุกร์ (Venus) เว้าแหว่งคล้ายกับดวงจันทร์ และได้พบจุดดำ (Sun Spot) ในดวงอาทิตย์

การค้นพบปรากฏการณ์ต่างๆ บนท้องฟ้าด้วยกล้องดูดาว ของกาลิเลโอนี้เอง ทำให้ชื่อเสียงของเขาโด่งดัง มาจนกระทั่งทางเมืองเวนิส ได้ส่งคนมาเชิญเขาไปบรรยาย เกี่ยวกับการค้นพบ และการสร้างกล้องโทรทรรศน์ของเขาด้วย กาลิเลโอจึงได้เดินทางไปยังเมืองเวนิส และนำเอากล้องโทรทรรศน์ของเขาไปด้วย เขาได้ทำการทดลองให้เจ้าเมือง และบรรดาขุนนางผู้ใหญ่ดู โดยเอากล้องไปตั้งไว้บนหอคอยของโบสถ์ กลางเมืองเวนิส แล้วส่องให้ดูเรือต่างๆ ที่แล่นเข้ามาในปากอ่าว ปรากฏว่าเห็นได้ชัดเจนดี ยังความตื่นเต้นให้แก่เจ้าเมือง และขุนนางเหล่านั้นอย่างใหญ่หลวง แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็ถูกพวกที่เชื่อถือในทฤษฎี ของอริสโตเติลต่อต้านอย่างมาก พวกนี้พยายามยุแหย่ และทำให้เขวไปในทางต่างๆ แต่พวกนี้ก็ทำอะไรเขาไม่ได้

ต่อมาใน ค.ศ.1610 กาลิเลโอได้ออกจากเมืองปาดัว (Padua) ไปอยู่ยังเมืองฟลอเรนซ์ โดยเป็นนักปราชญ์ประจำราชสำนักของ Grand Duke

ณ ที่นี้เองเขาจึงได้มีเวลา ที่จะทำการค้นคว้าทดลอง และวิจัยเกี่ยวกับทางดาราศาสตร์ และกล้องโทรทัศน์ของเขา นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสแสดงปาฐกถาในที่ต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องความรู้ใหม่ๆ ทางวิทยาศาสตร์ แต่เมืองนี้อยู่ภายใต้อิทธิพลของกรุงโรม และศาสนาคริสต์ ซึ่งเป็นพวกที่เชื่อถือ ตามความคิดของคริสโตเติลด้วย เหตุนี้เองบรรดาพวกศาสตราจารย์ต่างๆ และพวกที่ยังเชื่อถือ ในความคิดของคริสโตเติล ได้ทำตัวเป็นศัตรูกับกาลิเลโอ ได้พยายามยุยงและปลุกปั่นต่างๆ นานา ไปยังกรุงโรม โดยหาว่ากาลิเลโอดูหมิ่นศาสนา ในที่สุดกาลิเลโอก็ถูกควบคุมตัว ไปแถลงความมุ่งหมายในการสอนคนทั่วไป เกี่ยวกับจักรวาลต่อหน้าโป๊บ กาลิเลโอได้แถลงความจริงใจของเขาต่อหน้าโป๊บ แสดงถึงเจตนาที่แท้จริงของเขาว่า ต้องการให้ประชาชนเข้าใจความจริง ไม่ได้มุ่งหมายจะขัดขวาง หรือยุยงให้ผู้คนไม่เชื่อถือในศาสนา ในครั้งแรกโป๊บก็เห็นใจเขา และเข้าใจเขาทุกอย่าง แต่เมื่อถูกยุยงมากๆ เข้า โป๊บก็คล้อยตามไปในฝ่ายตรงกันข้ามกับกาลิเลโอ จึงได้สั่งห้ามไม่ให้กาลิเลโอ ทำการสอนวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ แก่ประชาชนอีก ถ้าไม่เชื่อก็จะถูกลงโทษทรมาน โดยการเผาไฟทั้งเป็น ในที่สุดเมื่อไม่มีทางใดจะหลีกเลี่ยงได้ กาลิเลโอจึงต้องยอมสัญญาว่าเขาจะไม่สอนใครๆ อีก เขาจึงถูกปล่อยตัวกลับเมืองฟลอเรนซ์

ใน ค.ศ.1661 เมื่อเขาถูกเรียกตัว ไปแก้ข้อหาเรื่องหมิ่นศาสนานั้น เขาได้นำเอากล้องโทรทัศน์ของเขาติดตัวไปด้วย และได้นำไปแสดงให้แก่ประชาชน ในกรุงโรมดูด้วย นอกจากนั้นเขายังได้เขียนหนังสือ เกี่ยวกับจุดดำในดวงอาทิตย์ ในหนังสือ Letters on The Solar Spots ซึ่งอธิบายทัศนะเก่า และทัศนะใหม่เกี่ยวกับระบบสุริยะ และเขาเชื่อในระบบสุริยะ ของโคเปอร์นิคัสซึ่งเชื่อว่า โลกและดาวเคราะห์ หมุนรอบดวงอาทิตย์ ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง ของระบบสุริยะ ความจริงเรื่องนี้ กาลิเลโอไม่ได้มีเจตนาจะดูหมิ่นศาสนาคริสต์เลย

การกลับมายังเมืองฟลอเรนซ์คราวนี้ กาลิเลโอต้องระมัดระวังตัว ทั้งด้านการพูดจา การสอน และการเขียนหนังสือ เพื่อที่จะไม่ให้ขัดกับคำสอนของศาสนา เขาได้ใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบเป็นเวลา 7 ปี ในระหว่างนี้เขาได้ทำการศึกษาค้นคว้า เกี่ยวกับดาวหาง และได้แสดงให้เห็น ว่าความเข้าใจที่ว่า ดาวหางเกิดจากแสงอาทิตย์ เช่นเดียวกับรุ้งกินน้ำนั้น เป็นความเข้าใจที่ผิด ต่อมาในปี ค.ศ.1632 เขาได้เขียนหนังสือขึ้นอีกเล่มหนึ่งชื่อว่า Dialogo Dei Due massimi Sistemi Del Mondo การที่เขากล้าเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้น ก็เพราะว่าโป๊ปองค์เก่าได้สิ้นพระชนม์ไปแล้ว เขาจึงคิดว่าจะหาทางที่จะทำความเข้าใจ กับโป๊ปองค์ใหม่ได้ หนังสือเล่มนี้ได้เขียนขึ้นตามทฤษฎีของโคเปอร์นิคัส และได้พิสูจน์ทฤษฎีต่างๆ ไว้อย่างชัดเจน แต่ว่าข้อความส่วนมาก ตรงกันข้ามกับคำสอนของศาสนา หนังสือเล่มนี้ ประชาชนกระหายจะอ่านมาก แต่ฝ่ายศัตรูของกาลิเลโอ ก็พยายามยุยงโป๊ปองค์ใหม่ต่างๆ นานา จนในที่สุดหนังสือเล่มนี้ ก็ถูกสั่งห้ามไม่ให้นำเขาไปขายในอิตาลีอย่างเด็ดขาด นอกจากนั้น เขายังถูกเรียกตัวไปแก้คดีต่อหน้าโป๊ป ที่กรุงโรมอีกครั้งหนึ่ง และถูกขู่ว่าถ้ายังขืนทำอย่างที่แล้วๆ มาอีก จะต้องถูกทรมานอย่างแน่นอน เขาถูกปล่อยให้เป็นอิสระอีกครั้งหนึ่ง หลังจากได้สาบานว่า จะไม่ทำอะไรเป็นที่ขัดกับคำสอนของพระเจ้า ถึงแม้เขาจะได้รับอิสระภาพแล้วก็ตาม แต่เขายังต้องตกอยู่ในความควบคุม ดูแลของบาทหลวงแอสคานิโอ พิคโคโลมินิ (Ascanio Piccolomini)

ต่อมาในปี ค.ศ.1636 เขาได้เขียนหนังสือขึ้นอีกเล่มหนึ่ง เกี่ยวกับการค้นคว้าและทดลองต่างๆ ในวิชากลศาสตร์ หนังสือเล่มนี้ได้พิมพ์ขึ้นจำหน่าย ในปี ค.ศ.1638 ที่เมืองเบย์เดน (Beyden) หนังสือเล่มนี้ เป็นที่สนใจกันมากกว่า หนังสือเล่มเก่าของเขาเสียอีก ในเรื่องเกี่ยวกับกลศาสตร์นี้ กาลิเลโอเป็นคนแรกที่ได้แถลงถึงกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับแรงงาน และเรื่องของการเคลื่อนที่ ซึ่งเป็นหลักที่จะนำทางให้กับนิวตัน เขายังได้นำวิชาคณิตศาสตร์ ไปใช้ในวิชากลศาสตร์ เช่น ในเรื่องเกี่ยวกับของตกจากที่สูง เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นผู้แถลงเกี่ยวกับกฎการสมดุล การเคลื่อนที่บนพื้นระนาบ เรื่องราวของ Momentum เรื่องของ Hydrostatic เช่นเดียวกับกาลักน้ำ เป็นต้น

ในด้านดาราศาสตร์ เขาได้พบการโคจรของดวงจันทร์ และดาวพฤหัสบดี และใช้ความรู้ ทางดาราศาสตร์ วัดเส้นแวงบนพื้นดินและทะเล และพบจุดดำบนดวงอาทิตย์ และยังได้พบอีกว่า ดวงจันทร์หมุนรอบโลกในเวลา 1 เดือน เมื่อ ค.ศ.1639 และต่อจากนั้นอีกราว 2 - 3 เดือน กาลิเลโอก็ตาบอดหลังจากนั้นกาลิเลโอ ก็ใช้เวลาในบั้บปลายของชีวิต ถ่ายทอดวิชาความรู้ ให้แก่ศิษย์คนโปรดของเขาคือ ทอริเซลลิ (Torricelli) และวิเวียนนิ (Viviani) ในระยะนี้กาลิเลโอก็ล้มป่วยออดๆ แอดๆ เรื่อยมา และถึงแก่กรรมเมื่อปี ค.ศ.1642 ทิ้งความคิดอ่านใหม่ๆ ทางวิทยาศาสตร์ไว้ให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นหลังๆ ค้นคว้ากันต่อไป ศพของเขาได้นำไปฝังไว้ที่สุสาน ณ โบสถ์ Church of Santa Croce ในกรุงฟลอเรนซ์ และหลังจากนั้นอีก 50 ปีต่อมา ได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ของเขาขึ้น ไว้เป็นเกียรติยศแก่เขาที่โบสถ์แห่งนั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น