Pages

วรรณ ชันซื่อ นักธุรกิจ


วรรณ ชันซื่อ มักจะเก็บตัวอยู่ในห้องทำงานที่อาคารสารสินเงียบ ๆ เขาไม่ออกสังคม ไม่รับเชิญไปอภิปรายถ่ายทอดประสบการณ์ และความรู้ให้กับคนรุ่นหลัง ๆ และไม่พยายามที่จะทำตัวเป็นคนเด่นคนดัง ในยุทธจักร

วรรณ ขังตัวเองอยู่ในอาณาจักร ที่มีสินทรัพย์ รวมกันไม่น่าจะต่ำกว่าแสนล้านบาท เขามีบทบาทอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมหนักของประเทศนับสิบ ๆ บริษัท เขาใช้ชีวิตเรียบ ๆ และก็ว่ากันว่าเขานั้นรวยเงียบ ๆ

คงดีไม่น้อยถ้าจะได้รู้จักตัวเขามากขึ้น .....

ถ้าเอ่ยชื่อบริษัทโรงกลั่นน้ำมันไทย คนทั่ว ๆ ไปมักจะนึกถึงชื่อเชาว์ เชาว์ขวัญยืน

ถ้าเอ่ยชื่อบริษัทไทยบริดจสโตน หลายคนก็คงต้องนึกถึงจุติ บุญสูง ผู้เพิ่งวายชนม์ไปเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2525

หรืออาจจะนึกถึงพงศ์ สารสิน เช่นเดียวกับที่เมื่อต้องเอ่ยชื่อกลุ่มบริษัทในเครือมิตซูบิชิหรืออีซูซุ

ชื่อวรรณ ชันซื่อ กลับไม่ค่อยมีใครนึกถึงก่อนเป็นอันดับแรก

ทั้ง ๆ ที่วรรณ ชันซื่อ คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังบริษัทเหล่านั้นมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง

และดูเหมือนตัววรรณ เองก็อยากให้มันเป็นเช่นนั้นด้วย!

วรรณ ชันซื่อ ติดอันดับผู้เสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคลสูงสุด 1 ใน 250 คนแรกของกรมสรรพากรมาตั้งแต่ปี 2524 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการนำชื่อมาเปิดเผย จนกระทั่งปีล่าสุดนี้

มีบางคนยืนยันว่าเขาเป็นคนที่รวยที่สุด รวยเสียยิ่งกว่าชิน โสภณพนิช หรืออุเทน เตชะไพบูลย์ และอีกหลาย ๆ คนที่ได้ชื่อว่ารวยด้วยซ้ำไป

เพียงแต่วรรณ เป็นคนเก็บตัว ทำงานไปเงียบ ๆ รวยอย่างเงียบ ๆ คนจึงไม่ค่อยรู้จัก ชีวิตและงานของเขามากนักเท่านั้น

วรรณ ชันซื่อ ลืมตาออกมาดูโลกเมื่อปี 2466 ปัจจุบันอายุ 62 ปี

เขาเกิดที่กรุงเทพฯ แถว ๆ สะพานเหลือง มีบิดาเป็นนักกฎหมายชื่อรองอำมาตย์โทเอกยู้ ชันซื่อ ซึ่งเป็นเนติบัณฑิตไทยรุ่นปี 2466 รุ่นเดียวกับพระมนูเวทย์ เคยรับราชการอยู่กระทรวงยุติธรรม จนครั้งสุดท้ายมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเจ้ากรมรักษาทรัพย์หรือกองบังคับคดีล้มละลายในปัจจุบัน

เจ้ากรมรักษาทรัพย์สมัยนั้นก็ชื่อพระยารามบัณฑิต

รองอำมาตย์โท เอกยู้ ชันซื่อ นี้ มีเชื้อสายจีน แซ่เดิมคือ "แซ่ตั้ง"

ส่วนมารดาของวรรณ ก็มีเชื้อสายจีนเช่นกัน

เมื่อลาออกจากราชการแล้ว บิดาของวรรณได้หันมายึดอาชีพทนายความมีสำนักงานส่วนตัวชื่อ "สำนักงานทนายความสะพานเหลือง"

ก็เป็นสำนักงานทนายความที่ตกทอดมาถึงวรรณ ชันซื่อ จนปัจจุบัน

วรรณ เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนอัสสัมชัญ เมื่อจบชั้นมัธยม 6 แล้วก็ไปเรียนพาณิชย์ต่อที่โรงเรียนพณิชยการวัดเทวราชกุญชรจนสอบได้มัธยม 8 ก็เบนเข็มเปลี่ยนไปเรียนวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง (ชื่อสมัยนั้น)

สอบได้เป็นธรรมศาสตร์บัณฑิตเมื่อปี 2486 รุ่นเดียวกับบุญชู โรจนเสถียร เพียงแต่ตนเองจบทางด้านกฎหมาย ส่วนบุญชูนั้นจบทางด้านบัญชี

มีเพื่อนร่วมรุ่นที่จบกฎหมายเหมือนกันตอนนั้นก็เช่นพันเอกจินดา ณ สงขลา และธนิต พิศาลบุตร กรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการในขณะนั้น เป็นต้น

"ตอนที่เรียนและตอนที่จบก็อยู่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 พอดี ผมกับจินดา ณ สงขลา ก็ผลัดกันได้ที่ 1 ที่ 2 จนปีสุดท้ายผมคะแนนสูงกว่าจินดานิดหน่อยก็เลยได้เป็นที่ 1 จินดาเป็นที่ 2" วรรณ เล่าถึงอดีตช่วงดังกล่าว

หลังจากสอบได้เป็นธรรมศาสตร์บัณฑิตซึ่งสมัยนั้นถือว่าเท่ากับได้เนติบัณฑิตด้วยโดยปริยายแล้ว วรรณ สมัครเข้ารับราชการในกรมตำรวจ

"ก็เพื่อหนีทหารแหละ... ผมจบธรรมศาสตร์อายุ 20 ปีพอดี ถ้าไม่เป็นตำรวจก็ต้องไปเกณฑ์ทหารและตอนนั้นถ้าเลือกไปเกณฑ์ทหารก็คงไม่พ้นต้องถูกเกณฑ์ไปรบที่เชียงตุง เพราะภาษาจีนกลางของผมดีมาก แล้วลองว่าไปรบเชียงตุง ถ้าไม่ถูกลูกปืนตายก็ต้องถูกไข้ป่ากินตายแน่นอน ผมก็เลยต้องมาเป็นตำรวจ..." วรรณ ให้เหตุผลแบบเล่าไปหัวเราะไป

วรรณ อยู่กับกรมตำรวจ 2 ปีกว่า ติดยศร้อยตำรวจตรี เคยอยู่กองคดีก่อนจะโยกย้าย มาประจำที่สอบสวนกลางและนครบาลในท้ายที่สุด

ช่วงที่อยู่นครบาลนั้นเขาทำหน้าที่เป็นตัวแทนตำรวจนครบาลในคณะกรรมการตรวจข่าว ประจำอยู่ที่กรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาลสมัยนั้นก็คือพระพินิจชนคดี พี่เขยหม่อราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช (ต่อมาพระพินิจชนคดีได้เป็นอธิบดีกรมตำรวจ)

ก็เรียกว่าเป็นลูกน้องใต้บังคับบัญชาของพระพินิจฯ มีหน้าที่เซ็นเซอร์ข่าวหนังสือพิมพ์จนถูกหนังสือพิมพ์ด่าเช้าด่าเย็นทุกวันในตอนนั้น

ครั้นเมื่อลาออกจากราชการตำรวจแล้ว อดีตนายร้อยตำรวจตรีวรรณ ชันซื่อ ก็มาทำงานเป็นทนายความที่สำนักงานของเอกยู้ ชันซื่อ ผู้บิดา

วรรณ ยอมรับว่า จริง ๆ แล้วเขาสนใจเรื่องการประกอบธุรกิจมาก

เขาเคยเรียนโรงเรียนพาณิชย์ เพราะตั้งความหวังไว้ว่าจะออกมายึดอาชีพพ่อค้า แต่ก็ต้องยินยอมคล้อยตามความต้องการของครอบครัว ที่อยากจะให้เขาเป็นนักกฎหมาย

"เมื่อเป็นนักกฎหมายแล้ว คุณพ่อผมก็ยิ่งห้ามเด็ดขาดในเรื่องธุรกิจ ท่านบอกว่าเราเป็นฝ่ายวิชาชีพ เราก็ต้องทำหน้าที่ของเราไป จะทำธุรกิจนั้นไม่ได้เด็ดขาด ก็เลยต้องเป็นทนายความช่วยท่านไปเรื่อย ๆ จนคุณพ่อท่านเสียชีวิต" วรรณ พูดกับ "ผู้จัดการ"

รองอำมาตย์โท เอกยู้ ชันซื่อ เสียชีวิตเมือปี 2500

และก็ปี 2500 นี่เองที่วรรณ ชันซื่อ เริ่มก้าวเข้ามาในยุทธจักรธุรกิจ

สำหรับบางคนที่มีอายุ 34 ปี เท่ากับวรรณในตอนนั้น มันก็อาจจะเป็นการเริ่มต้นที่ช้าอยู่สักหน่อย แต่สำหรับวรรณ แล้ว ต้องถือว่ายังไม่สายมาก

วรรณ เริ่มต้นโดยมี CONNECTION ที่วางรากฐานกันไว้ตั้งแต่รุ่นของเอกยู้ ชันซื่อแล้ว

"คุณต้องอย่าลืมนะว่าพ่อของวรรณ เป็นลูกจีนที่เผอิญมาเป็นนักกฎหมาย แน่นอนเขาจะต้องเป็นคนที่พ่อค้าจีนในยุคนั้นจะต้องหวังพึ่งมาก ๆ ดูอย่างประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ นั่นไง ทำไมคุณชินถึงไว้เนื้อเชื่อใจมาก คุณเอกยู้ก็เช่นกัน เขาสนิทกับพ่อค้าจีนหลายคน และเขาไม่เคยทำธุรกิจแข่งกับใคร เขาจึงมีเพื่อนพ่อค้าจีนมาก โดยเฉพาะคุณแต้จูเปี้ยน พ่อของคุณอุเทน เตชะไพบูลย์ นั้นก็คนหนึ่งล่ะ ที่รักใคร่กันมาก" คนเก่าคนแก่ในวงการธุรกิจวิเคราะห์ให้ฟัง

"ครับ...กับพวกเตชะไพบูลย์ เราก็สนิทกันมา 3 ชั่วอายุคนแล้ว คุณแต้จูเปี้ยนคุณพ่อคุณอุเทน เมื่อตอนที่ผมยังไม่นุ่งผ้า ท่านก็อุ้มผมเล่นอยู่บ่อย ๆ ตอนนั้นบ้านเขาอยู่แถว ๆ ห้าแยกพลับพลาไชย ส่วนบ้านผมก็อยู่แถว ๆ สะพานเหลือง ก็ไม่ไกลกันมาก ไปมาหาสู่กันสม่ำเสมอจนเมื่อมาสร้างซอยศรีนครแล้วก็เลยย้ายบ้านมาปลูกติด ๆ กับบ้านคุณอุเทน..."วรรณยอมรับ

แล้วจะมีอะไรยากลำบากสำหรับคนที่มีไฟทะเยอทะยานอยากทำธุรกิจมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย และก็มี CONNECTION อย่างวรรณ ชันซื่อ!!

หลังปี 2500 วรรณ เริ่มจับธุรกิจซื้อขายที่ดินก่อน โดยร่วมหุ้นกับเพื่อน ๆ 2-3 คน

"การซื้อขายที่ดินมันกำลังบูม ผมก็เอาเงินทองที่เก็บสะสมไว้มาลงทุน ก็ทำกันเล็ก ๆ ก่อน ไม่ได้เป็นรูปบริษัทจำกัดอะไร" เขาเล่า

หลังจากนั้นไม่นานก็ขยับขยายมาทำศูนย์การค้า

คนรุ่นปัจจุบันเมื่อพูดถึงศูนย์การค้าก็คงจะต้องนึกถึง "สยามสแควร์" แต่ถ้าเป็นคนรุ่นที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปคงจำศูนย์การค้าแห่งแรกของกรุงเทพฯ ที่วังบูรพากันได้ยังไม่ลืมแน่

ศูนย์การค้าวังบูรพาที่มีโรงหนังคิงส์โรงหนังแกรนด์นี่แหละที่เป็นผลงานชิ้นแรก ๆ ของวรรณ ชันซื่อ ร่วมกับโอสถ โกสินและเพื่อน ๆ อีกหลายคนหุ้นกัน

"ที่ดินก็เป็นที่ของเสด็จในกรมฯ พระองค์หนึ่ง ผมยังจำได้ว่าตอนที่เราตัดถนนคอนกรีตเข้าไปเพื่อสร้างศูนย์การค้านั้น มีคนเขาเลี้ยงหมูไว้ 3-4 คอก ตอนกลางวันเราก็ลาดซิเมนต์ทำถนน ตอนกลางคืนหมูมันก็ออกมาขวิดมาย่ำถนนเสียหมด ก็เลยต้องประกาศจ้างคนยิงหมูตัวละ 100 บาท เจ้าของหมูก็เลยต้องเอาหมูไปเก็บที่อื่น ถนนจึงสร้างได้สำเร็จ..." วรรณ รื้อฟื้นความหลังในช่วงนั้นกับ "ผู้จัดการ"

วรรณ เล่าว่าหลังจากค้าที่ดินและสร้างศูนย์การค้าแล้ว เขายังทำธุรกิจอีกหลายอย่าง "แต่อย่ารู้เลย ที่ทำเจ๊งก็มาก ไม่อยากพูดถึงเราคนที่ร่วมทุนกันเขาก็ยังมีชีวิตอยู่ จนกระทั่งที่ทำแล้วเป็นล่ำเป็นสันจนทุกวันนี้ก็บริษัทโรงกลั่นน้ำมันไทยนี่แหละ..."

บริษัทโรงกลั่นน้ำมันไทย หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ติดปากว่า "ไทยออยล์" นั้น ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2504 ในยุครัฐบาลจอมพลผ้าขะม้าแดง-สฤษดิ์ ธนะรัชต์

ก็เป็นยุคที่รัฐบาลอยากจะได้โรงกลั่นน้ำมันเป็นของตนเองสัก 2 โรง โดยให้เอกชนเป็น ผู้ลงทุนและเก็บเกี่ยวผลประโยชน์เรียกทุนคืน 20 ปี จากนั้นค่อยโอนกิจการมาให้รัฐบาลเป็นเจ้าของ

การออกใบอนุญาตตั้งโรงงานกลั่นก็ทำกันด้วยวิธีเปิดประมูล

"รัฐบาลก็กำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ไว้ ซึ่งโดยสรุปก็คือจะต้องเป็นโรงกลั่นที่มีกำลังผลิต โรงละ 35,000 บาเรลต่อวัน" คนที่ทราบเรื่องดีอธิบาย

บริษัทโรงกลั่นน้ำมันไทย เป็นบริษัทของกลุ่มเชาว์ เชาว์ขวัญยืน นักธุรกิจเชื้อสายจีน เคยทำงานในโรงกลั่นน้ำมันที่ไต้หวันมาก่อน

เชาว์เป็นคนที่รู้เรื่องเกี่ยวกับกิจการค้าน้ำมันและโรงกลั่นน้ำมันดีมาก แต่จะทำอย่างไรเพื่อให้ชนะการประมูล สามารถตั้งโรงกลั่นน้ำมันได้ในประเทศไทย เชาว์กลับทราบไม่มากนัก

ในที่สุดด้วยการแนะนำของเพื่อนนักธุรกิจเชื้อสายจีนในไทยบางคน เชาว์ก็ได้รู้จักกับวรรณ ชันซื่อ ในฐานะนักกฎหมายผู้มี CONNECTION กว้างขวางพอตัว ทั้งในกลุ่มนักธุรกิจชั้นนำและนักการเมืองไทย เชาว์จึงไม่รีรอที่จะดึงวรรณ เข้าร่วมในบริษัทโรงกลั่นน้ำมันไทยด้วยอีกคนหนึ่ง โดยทำหน้าที่เสมอแขนขวาของเชาว์ผู้ซึ่งยังไม่รู้จักเมืองไทยดีพอในช่วงนั้น

"พูดไปแล้วถึงตอนนี้ก็เหลือผู้ก่อตั้งเพียง 2 คนเท่านั้นคือคุณเชาว์กับผม คนอื่นเสียชีวิตไปหมดแล้ว" วรรณ เล่าให้ฟัง

บริษัทโรงกลั่นน้ำมันไทย ชนะการประมูลได้ตั้งโรงกลั่นน้ำมันพร้อมกับบริษัทน้ำมันของสหรัฐฯ อีกบริษัทหนึ่ง

"แต่ก็เหลือเราบริษัทเดียว เพราะอีกรายเขาไม่เอา เขาบอกว่าตลาดบ้านเราตอนนั้นมันเล็กเกินไปสำหรับโรงกลั่นน้ำมัน 2 โรง ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาคิดผิดหรือคิดถูก" แหล่งข่าวในบริษัท "ไทยออยล์" บอกกับ "ผู้จัดการ"

"ไทยออยล์" ในทุกวันนี้มีทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท มียอดขายตกปีละไม่น้อยกว่า 3 หมื่นล้านบาท กำลังผลิต 65,000 บาเรลต่อวัน และรัฐบาลโดยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้เข้ามาเป็น ผู้ถือหุ้นใหญ่ตามข้อตกลงที่ทำไว้เดิม ตั้งแต่ปี2524 แล้ว

"ก็ต้องถือเป็นกิจกรรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และกำลังจะขยายกำลังผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 120,000 บาเรลต่อวัน ตอนนี้ได้ตัวผู้ก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว ต้องลงทุนประมาณ 190 ล้านเหรียญสหรัฐฯ" แหล่งข่าวในวงการน้ำมันกล่าว

วรรณ ชันซื่อ ขณะนี้มีตำแหน่งใน "ไทยออยล์" เป็นกรรมการรองผู้อำนวยการ หรืออาจจะพูดได้ว่าเขาเป็นบุคคลหมายเลข 3 รองจากเกษม จาติกวณิชย์ และเชาว์ เชาว์ขวัญยืน

วรรณ พูดเต็มปากเต็มคำเสมอมาว่า ที่นี่คือ "หลักใหญ่" ของเขา

แต่นั่นก็คงไม่ได้หมายความว่า วรรณ ชันซื่อ จะมองข้ามธุรกิจอื่น ๆ โดยเฉพาะธุรกิจที่เป็นการร่วมทุนกับญี่ปุ่น ซึ่งฝ่ายไทยก็มี จุติ บุญสูง พงส์ สารสิน และตัวเขา ยืนเป็นหลัก

จุติ บุญสูง พงส์ สารสิน และวรรณ ชันซื่อ เป็นกลุ่มธุรกิจที่เกาะตัวกันเหนียวแน่นมาก มากจนน่าจะพูดได้ว่าคนหนึ่งไปที่ไหนอีกสองคนก็มักจะตามไปด้วยเสมอ อย่างเช่นใน อุตสาหกรรมผลิตและประกอบรถยนต์ เป็นต้น

จุติ บุญสูง เป็นคนตะกั่วป่า จังหวัดพังงา มีอาชีพทำเหมืองแร่ดีบุก ซึ่งทำกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อของจุติ แต่มาเป็น "นายหัวใหญ่" ที่ร่ำรวยอย่างมาก ๆ ก็เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว

จุติ มีกิจการเหมืองแร่ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลอยู่ 4 บริษัท คือ บริษัทเรือขุดแร่จุติ บริษัทเรือขุดแร่บุญสูง บริษัทจุติพาณิชย์และบริษัท เจ.บี. จำกัด

"เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สิ้นสุดลง RFCT ซึ่งเป็นองค์การของรัฐบาลอเมริกันได้ส่ง MR. PUTNUM มาซื้อแร่ดีบุก เพราะถือว่าเป็นแร่สำคัญจะต้องสะสมไว้ ในขณะนั้นข้าพเจ้ารู้จัก MR. PUTNUM ดี จึงได้แนะนำให้รู้จักกับคุณจุติ และเราได้ร่วมเดินทางไปเยี่ยมคุณจุติที่ตะกั่วป่าด้วยกัน ต่อมาด้วยอัธยาศัยอันดีเยี่ยมของคุณจุติ MR. PUTNUM จึงให้ความไว้วางใจและได้แต่งตั้งให้คุณจุติ เป็นผู้แทนจัดซื้อสะสมแร่ดีบุกให้รัฐบาลอเมริกัน..." ม.ร.ว. พงศ์อมร กฤดากร เพื่อนสนิทของจุติเล่าถึงเหตุการณ์ที่ทำให้จุติ บุญสูง เติบโตขึ้นมาในวงการเหมืองแร่ดีบุกที่ภาคใต้ให้ฟัง

"ต่อมาเมื่อญี่ปุ่นเซ็นสัญญาสงบศึกแล้ว พวกญี่ปุ่นกลับเข้ามาทำการค้าขายกับประเทศไทยอีก คนหนึ่งในจำนวนนี้คือ MR. Y. MORITA เขากับข้าพเจ้าได้รู้จักกันและเป็นเพื่อนชอบพอกัน เขาได้ปรารถกับข้าพเจ้าว่าทำอย่างไรจึงจะรู้จักกับเจ้าของเหมืองแร่ดีบุกที่ไว้วางใจได้ ข้าพเจ้าจึงแนะนำให้รู้จักกับคุณจุติ และต่อมาคุณจุติก็ได้ติดต่อกับเขาอย่างใกล้ชิด อะไรที่ช่วยกันได้ก็ช่วยกันไป โดยมิได้มุ่งแต่ผลประโยชน์แต่งอย่างเดียว ด้วยความช่วยเหลือ อันเป็นมิตรจิตมิตรใจของคุณจุติเช่นนี้เป็นเหตุผลอันหนึ่งทำให้ MR. Y. MORITA รักเมืองไทย รักคนไทย และได้รับผลงานอันดีเด่นจนกระทั่งเขาได้เป็นถึงกรรมการผู้จัดการของบริษัท มิตซูบิชิ..." ม.ร.ว. พงศ์อมร เล่าเหตุการณ์อีกตอนหนึ่ง

และด้วยความใกล้ชิดที่จุติ บุญสูง มีอยู่กับ MR. Y. MORITA กรรมการผู้จัดการบริษัทมิตซูบิชิของญี่ปุ่นนี่เองที่ต่อมา จุติและกลุ่มของเขาได้ถูกชักชวนให้เข้าร่วมทุนกับนักลงทุนชาวญี่ปุ่นในการจัดตั้งกิจการขึ้นมาหลายอย่างในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2510 จัดตั้งบริษัทยางไทย-ญี่ปุ่น จำกัด ซึ่งต่อมาบริษัทนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทไทยบริดจสโตน เป็นบริษัทผลิตและจำหน่ายยางรถยนต์ที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในประเทศไทยขณะนี้

บริษัทยางไทย-ญี่ปุ่น หรือไทยบริดจสโตน มีผู้ถือหุ้นฝ่ายญี่ปุ่น คือบริษัทยางบริดจสโตน และบริษัทมิตซูบิชิ ส่วนผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยที่สำคัญ ๆ ก็ได้แก่ จุติ บุญสูง และวรรณ ชันซื่อ เป็นต้น

วรรณ ชันซื่อ รู้จักกับจุติ บุญสูง มานานหลายสิบปีแล้ว

"มีทนายความชื่อดังคนหนึ่งชื่อคุณไล่อัน แนะนำให้รู้จัก คุณไล่อันเขาเป็นทนายประจำตัวของคุณจุติ ก็ตั้งแต่หลังปี 2500 ไม่นาน รู้จักสนิทสนมกันเรื่อยมา เพียงแต่ก็ไม่มีธุรกิจทำร่วมกัน คบกันเป็นมิตรสหาย เมื่อจะก่อตั้งบริษัทบริดจสโตน นี่แหละจึงได้เริ่มทำธุรกิจด้วยกัน..." วรรณ เล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างเขากับจุติ บุญสูง

หลังจากร่วมกันตั้งบริษัทไทยบริดจสโตนแล้ว วรรณ ชันซื่อ ยังได้ร่วมงานกับจุติตั้งบริษัทอื่น ๆ อีก 8-9 บริษัท เช่น บริษัทไทยเทรดดิ้ง แอนด์ อินเวสเม้นท์ บริษัทในเครืออีซูซุ และบริษัทในเครือนิปปอน เดนโซ่ เป็นต้น

"ตลอดเวลาที่เราร่วมงานกัน เราต้องพบปะเพื่อปรึกษาหารือกิจการงานของบริษัทอยู่เป็นประจำ บางเดือนก็เพียงครั้งสองครั้ง บางเดือนสามสี่ครั้งแล้วแต่ความจำเป็นของงาน ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราจึงมีโอกาสพบปะปรึกษาหารือกันปีละร่วม ๆ 30 ครั้ง การพบปะกันในช่วงแรก ๆ ส่วนใหญ่ก็ปรึกษาหารือกันเฉพาะธุระการงานของบริษัท แต่เมื่อได้เกิดความไว้วางใจสนิทสนมอย่างถึงขนาดแล้ว ช่วงหลัง ๆ เราก็ได้คุยกันถึงเรื่องปัญหาส่วนตัว ปัญหาครอบครัว ตลอดจนเรื่องปรัชญาชีวิตด้วย และก็ใช่ว่าเราจะมีความเห็นสอดคล้องต้องกันเสมอไปในเรื่อง ใด ๆ ที่เรามีความเห็นแตกต่างกัน เราก็ไม่เคยเสแสร้างว่าเห็นพ้องต้องกันกับอีกฝ่ายหนึ่ง เราต่างแสดงทัศนะของเราเองซึ่งไม่ตรงกันกับทัศนะของอีกฝ่ายหนึ่ง และเราต่างรับฟังทัศนะของอีกฝ่ายหนึ่ง ด้วยความสนใจและด้วยความยกย่อง ความเข้าใจ ความสนิทสนม และความไว้วางใจจึงได้ทวีขึ้นเป็นลำดับ..." วรรณ พูดถึงจุติ บุญสูง

จุตุ บุญสูง เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจที่โรงพยาบาลพร้อมมิตร เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2525 ขณะเมื่ออายุได้ 72 ปี ตำแหน่งประธานบริษัทที่ร่วมทุนกับญี่ปุ่นทั้งหลายก็ตกอยู่กับ "มิตรผู้เยาว์" ที่ชื่อ วรรณ ชันซื่อ ด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์

ส่วน พงส์ สารสิน นั้นรู้จักทั้งจุติ บุญสูง และวรรณ ชันซื่อ มานานมาก ๆ

ครอบครัว "สารสิน" กับครอบครัว "ชันซื่อ" สนิทกันมาตั้งแต่รุ่นพจน์ สารสิน และเอกยู้ ชันซื่อ แล้ว

พจน์ สารสิน ก่อนจะมาเล่นการเมืองและเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนการแห่งชาติในยุคจอมพลสฤษดิ์นั้น เคยมีอาชีพเป็นทนายความเช่นเดียวกับเอกยู้ ชันซื่อ

"ย้อนหลังไป 30 กว่าปีแล้ว คุณพจน์ท่านเป็นกรรมการสอดส่องมรรยาททนาย คุณพ่อผมท่านก็เป็นกรรมการด้วยคนหนึ่ง ก็ต้องทำงานร่วมกัน คุณพ่อก็ใช้ผมเป็นคนถือหนังสือไปหาคุณพจน์บ่อย ๆ ก็รู้จักกับท่านแบบเด็กรู้จักผู้ใหญ่" วรรณ พูดกับ "ผู้จัดการ"

ความสัมพันธ์นี้ตกทอดมาถึงรุ่นพงส์ สารสิน บุตรชายคนโตของ พจน์ ด้วย

"สำหรับสารสินกับบุญสูง เขาก็รู้จักกันดีมานาน ในการก่อตั้งบริษัทไทยน้ำทิพย์ เพื่อผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มโคคา-โคล่า เขาก็ร่วมทุนด้วยกัน ก็มีพวกเคียงศิริเข้าร่วมด้วย รวมเป็น 3 กลุ่มโดยทางสารสินเป็นหุ้นใหญ่ พงศ์กับจุติ จึงสนิทกันเหมือน ๆ กับที่พงส์สนิทกับวรรณ..." คนรุ่นเก่าเล่าให้ฟัง

พงส์ สารสิน จึงเป็นอีกคนหนึ่งที่ถูกชักชวนให้เข้าร่วมก่อตั้งบริษัทที่จุติและวรรณร่วมทุนกับญี่ปุ่น โดยเฉพาะในกลุ่มอีซูซุทุกบริษัท ไม่ว่าจะเป็นอีซูซุมอร์เตอร์ (ประเทศไทย) อีซูซุ บอดี้ (ประเทศไทย) หรือตรีเพชรอีซูซุเซลส์

และก็เป็นที่มาของฉายา "3 สิงห์" ซึ่งหมายถึงกลุ่มนักธุรกิจใหญ่ที่ประกอบด้วยจุติ บุญสูง วรรณ ชันซื่อ และพงส์ สารสิน นั่นเอง

มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า วรรณ ชันซื่อ นั้นชอบเล่นแต่อุตสาหกรรมหนัก ๆ อย่างเช่น โรงกลั่นน้ำมัน อุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์และอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนและประกอบรถยนต์ เป็นต้น

วรรณ ชันซื่อ อยากจะเข้าไปในอาณาจักรอื่น ๆ หรือไม่? โดยเฉพาะอาณาจักรการเงินซึ่งสร้าง TYCOON มาแล้วมากต่อมาก

"ก็...เคยเป็นกรรมการบริหารของธนาคารศรีนคร แล้วตอนหลังลาออกมาเป็นกรรมการเฉย ๆ มันขัดกับกฎหมายธนาคารพาณิชย์ เพราะผมเป็นประธานกรรมการของบริษัทซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารอยู่ก็เลยต้องลาออกจากกรรมการบริหารมาเป็นกรรมการที่ไม่มีอำนาจ เกี่ยวข้องไม่ได้ไม่ว่าแบงก์ไหน เพราะก็คงหนีไม่พ้นกิจการของผมเป็นลูกค้ากับทุกแบงก์ เป็นลูกค้าใหญ่ของทุกแบงก์..." วรรณ อธิบายให้ฟัง

"ผมรอเพียงให้เรื่องโครงการขยายโรงกลั่นทอร์ค 3 สำเร็จเรียบร้อย ผมก็จะวางมือจากธุรกิจแล้ว" เขายืนยัน

วรรณ เป็นคนที่คลุกคลีอยู่กับอุตสาหกรรมหนักของไทยมานาน อาจจะเรียกได้ว่าเขาเป็นคนรุ่นบุกเบิกก็ว่าได้

แต่วรรณ ก็มีทัศนะเกี่ยวกับพัฒนาการของอุตสาหกรรมของไทยต่างไปจากจุดที่เขายืนอยู่อย่างไม่น่าเชื่อ

เขายอมรับว่าประเทศไทยภายในตลอด 20 ปีนี้ ได้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมกันอย่างมาก เพียงแต่รัฐบาลที่ผ่าน ๆ มานั้น มักจะมองข้ามอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดกลาง ไม่มีการส่งเสริมอย่างจริงจัง

"รัฐบาลพยายามจะส่งเสริมแต่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ให้มันมาจุกกันอยู่ในกรุงเทพฯ เพราะมันโชว์ผลงาน ส่วนพวกกลาง ๆ หรือเล็ก ๆ ที่ควรกระจายออกไปตามหัวเมืองต่างจังหวัดทำแล้วมันไม่เห็นผลงาน แต่มันก็เป็นเรื่องสำคัญ พวกนี้จะเป็นพวกที่เอาวัตถุดิบจากภาคการเกษตรเพิ่มค่าแรงเข้าไป แปรรูปมันเป็นสินค้าออกจำหน่าย แทนที่เราจะขายสินค้าการเกษตรเป็นดุ้น ๆ" วรรณ แสดงความเห็น

เมื่อหลุดจากปากนักอุตสาหกรรมใหญ่อย่างวรรณแล้ว ก็นับว่าเป็นทัศนะที่แปลก แต่ก็น่าฟังมาก

อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ ของประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตและประกอบรถยนต์ ซึ่งวรรณเกี่ยวข้องอยู่โดยตรง ซึ่งก็เป็นอุตสาหกรรมที่ยังจะต้องพึ่งพาการนำเข้าอยู่มาก อีกทั้งยังต้องการความคุ้มครองจนหลายคนพยายามจะให้ฉายาว่าเป็น "อุตสาหกรรมทารก" นั้น วรรณ กลับมองว่า

"มันเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคจะต้องเสียสละ..."

"มันเป็นเรื่องที่ต้องเสียสละเพื่อให้อุตสาหกรรมเหล่านั้นอยู่ได้ ดูกันง่าย ๆ อย่างเช่นน้ำตาล ตอนนี้เรากินน้ำตาลกิโลละ 10-11 บาท เราสั่งซื้อจากข้างนอกกิโลละ 3 บาทไม่ดีกว่าหรือ หรือปูนซิเมนต์อันนี้ลองเราเปิดสิ ปูนซิเมนต์บ้านเราอยู่ไม่ได้แน่ เมืองนอกมันทุ่มเข้ามาตายเลย อยู่ไม่ได้ พังหมด สิ่งทอก็เหมือนกัน เราภูมิใจกันหนักหนาลองเปิดดูสิ ต่างประเทศมันทุ่มตายอีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นอุตสาหกรรมบ้านเรามันจึงอยู่ได้ด้วยความคุ้มครองป้องกัน คุณบอกมาเลยว่ามีอุตสาหกรรมไหนที่อยู่ได้โดยที่รัฐบาลไม่ต้องปกป้อง เกือบจะไม่มีเลย ผมไม่กล้าบอกว่าแอ๊บโซลูทลี่ไม่มี แต่เกือบไม่มีเลย เอ้า...ว่ามาตั้งแต่ปูนซิเมนต์ สิ่งทอ เบียร์ เหล้า มันทั้งนั้น..." วรรณ ร่ายยาว

และเขาเชื่อว่าโครงการอุตสาหกรรมนั้น ล้วนแต่มีข้อดีข้อเสียทั้งสิ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องที่จะต้องมีการชั่งน้ำหนักกัน

"การชั่งน้ำหนักนี่แหละมันเป็นเรื่องน่าคิด โครงการปิโตรเคมีคัล ทั้งหลายของเราที่มัน ล้มลุกคลุกคลานอยู่ก็เพราะเรื่องนี้ เพราะถ้าพูดตามความเป็นจริงหลายโครงการต้นทุนมันสูงมาก เมื่อเทียบกับของต่างประเทศ อย่างปุ๋ย ปุ๋ยนอก มันถูกกว่าเยอะ แต่มันจะถูกอย่างนี้ตลอดไปหรือไม่เราไม่รู้ บางปีมันถูกบางปีมันก็แพง เราควรจะตั้งหรือไม่ตั้งโรงปุ๋ย ก็จะต้องมาชั่งน้ำหนักกันดู" วรรณ ร่ายต่อ

ในทำนองเดียวกัน สำหรับโครงการผลิตเครื่องยนต์ดีเซล สำหรับรถ "ปิคอัพ" ซึ่งอีซูซุเป็น 1 ใน 4 กลุ่มที่ยื่นเรื่องขอส่งเสริมจากบีโอไอ. อยู่ในขณะนี้ สำหรับทัศนะของ วรรณ ชันซื่อ ประธานกลุ่มบริษัทเครืออีซูซุก็มองว่า เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคจะต้องเสียสละ ยอมซื้อรถราคาแพงขึ้นหน่อย คุณภาพอาจจะด้อยกว่าต่างประเทศ เพื่อให้อุตสาหกรรมผลิตเครื่องยนต์ดีเซลของไทยสามารถพัฒนาต่อไปได้

"ก็เหมือนกับเราต้องเริ่ม ก.ไก่ ก่อน แล้วเราจึงจะไปถึง ฮ. นกฮูก" วรรณ พูดเปรียบเทียบให้ฟัง

ก็คงคล้าย ๆ กับวิถีชีวิตของวรรณ ที่เริ่ม ก.ไก่ มานานแล้ว และก็น่าจะถึง ฮ.นกฮูกหรือจุดสูงสุดในชีวิตของเขาไปแล้วด้วย

ต่อไปก็คงจะเป็นยุคของคนรุ่นใหม่ ๆ ที่จะก้าวขึ้นมาเขียนประวัติศาสตร์บ้าง

แล้ว วรรณ มองคนรุ่นใหม่ ๆ นี้อย่างไร?

"ว่ากันตรง ๆ นะ ส่วนใหญ่...ผมไม่ได้ว่าทุกคน ใช้ได้ดีทางทฤษฎี แต่ในทางประสบการณ์ยังไม่ค่อยพอ การเรียนรู้ทางทฤษฎีนั้นมันจะต้องดัดแปลงให้เข้ากับสภาพความเป็นจริงแบบไทย ๆ ด้วย ซึ่งมันก็อยู่ที่ประสบการณ์ ถ้ามีประสบการณ์ดีพอก็สามารถนำมาดัดแปลงได้ดี ดีมากทีเดียว ถ้าประสบการณ์ไม่ดี พอมันก็พังได้ง่าย ๆ เหมือนกัน ก็เป็นเรื่องช่วยไม่ได้ ก็คล้าย ๆ ว่าต้องเป็นเรื่องต้องเสียค่าเล่าเรียน เพียงแต่ค่าเล่าเรียนนั้นจะแพงหรือเปล่าเท่านั้น..."

นี่ก็เป็นความเห็นตบท้ายของเขา...วรรณ ชันซื่อ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น