Angela Merkel - อังเกล่า แมร์เคิ่ล ผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก

27 ก.ย. 2552

คุณๆ คงเคยได้ยินชื่อของ อังเกล่า แมร์เคิ่ล นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของเยอรมนีมาไม่มากก็น้อย ไม่รู้คุณจะคิดเหมือนฉันไหมว่า ถ้าดูจากบุคลิก รูปร่างหน้าตา ที่เราเห็นกันในภาพ ทำไม๊ ทำไม ผู้นำประเทศคนสำคัญที่นิตยสารฟอร์บส์ จัดให้เป็น “ผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก” มาสองปีติดกันแล้ว ดูเป็นแม่บ้านจัง!

เธอไม่ได้ดูแกร่งเป็นหญิงเหล็กอย่างมาร์กาเร็ต แทชเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ไม่ได้ดูเฉี่ยว มั่นใจอย่างฮิลลารี คลินตัน แมร์เคิ่ลดูเป็นคนเรียบๆ ง่ายๆ แล้วผู้หญิงเรียบง่ายอย่างเธอต่อสู้ฟันฝ่าก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของเยอรมนีได้ยังไงนะ?
ได้ค้นคว้าหาประวัติของเธออ่านก็ยิ่งต้องอึ้ง ใครเลยจะคิดว่า อดีตนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันตะวันออกที่แต่งงานมาแล้วสองครั้ง และไม่มีลูก บุคลิกแสนเชย ไม่มีความโดดเด่นใดๆ จะก้าวมาเป็นผู้นำของเยอรมนีได้


***************************
แมร์เคิ่ล มีชื่อเต็มว่า อังเกลา โดโรเธีย คาสเนอร์  เกิดเมื่อปี 1954 ในเมืองฮัมบวร์ก มี คุณพ่อเป็นนักบวชศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ คุณแม่เป็นครู หลังจากเกิดได้ไม่นาน คุณพ่อคุณแม่ของเธอได้อพยพไปยังเยอรมนีตะวันออก แมร์เคิ่ลจบดอกเตอร์ด้านฟิสิกส์ ทำงานวิจัยเกี่ยวกับทฤษฏีควอนตัม พูดคล่องทั้งภาษาเยอรมัน อังกฤษ และรัสเซีย ขอเดาว่าเวลาเจอประธานาธิบดีปูตินของรัสเซีย คงจะพูดรัสเซียกันไฟแล่บเลยทีเดียว
ติดอะไรมาน่ะตัว เบี้ยวรึเปล่าจ๊ะ?

แมร์เคิ่ลก้มหน้าก้มตาทำงานวิจัยทดลองของเธอ จนกระทั่งในปลายทศวรรษ 80s ที่เธอเริ่มหันมาสนใจการเมืองบ้าง โดยเธอได้สมัครเป็นสมาชิกกลุ่ม Democratic Renewal ต่อต้านรัฐบาลเยอรมนีตะวันออก
หลังจากกำแพงเบอร์ลินล่มสลาย เมอร์เคิ่ลย้ายมาอาศัยอยู่ในเยอรมันตะวันตก และเริ่มเข้าสู่การเมืองโดยเข้าเป็นสมาชิกพรรคสหภาพคริสเตียนประชาธิปไตย (CDU) เป็นที่รู้กันดีว่า เฮลมุท โคห์ล นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น สนับสนุนเธอเป็นพิเศษ เพราะต้องการฐานเสียงจากเยอรมันตะวันออก แมร์เคิ่ลได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงครอบครัวและผู้หญิง และกระทรวงสิ่งแวดล้อม เป็นรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดในยุคนั้น
ก้าวกระโดดทางการเมืองของแมร์เคิ่ลมาถึงในปี1999 เมื่อพรรค CDU ต้องเผชิญกับข้อครหารับเงินสนับสนุนพรรคอย่างผิดกฏหมาย ทำให้ชื่อเสียงของนายกรัฐมนตรีโคห์ล, ว่าที่ผู้นำพรรคคนต่อไปอย่าง โวล์ฟกัง ชอยเบิล และนักการเมืองคนอื่นๆ ในพรรคย่ำแย่ไปตามๆ กัน แมร์เคิ่ลจึงกลายเป็นตัวเลือกของสมาชิกพรรคส่วนใหญ่ที่จะฉุดภาพลักษณ์ของพรรคให้ดีขึ้น เธอได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคในปี 2000
แน่นอนว่ามีแรงต้านจากนักการเมืองในพรรคไม่น้อย โดยเฉพาะนักการเมืองผู้ชาย แต่จะว่าไปแล้ว แมร์เคิ่ลเจอแรงต้านมาโดยตลอดในหลายๆ ด้าน เช่น เรื่องสถานภาพครอบครัวของเธอ พรรค CDU ซึ่งเป็นพรรคค่อนข้างเคร่งศาสนาคริสต์นิกายแคธอลิก ซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องครอบครัวมาก แต่แมร์เคิ่ลนับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ เป็นแม่ม่ายหย่าสามี และไม่มีลูก แม้เธอจะแต่งงานใหม่เมื่อปี 1998 แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ภาพลักษณ์ของเธอเข้ากับพรรคอย่าง CDU ได้มากนัก

หรือข้อครหาว่าเธอเป็นคอมมิวนิสต์ เพราะสมัยเป็นวัยรุ่น แมร์เคิ่ลเคยเป็นสมาชิกองค์กรเยาวชนคอมมิวนิสต์ ที่ชื่อว่า Free German Youth Organization เธอบอกว่าเธอทำไป ก็เพื่อที่จะได้มีที่เรียนในมหาวิทยาลัย โชคดีที่เธอไม่ได้มีตำแหน่งสำคัญอะไรมากในองค์กร ข้อกล่าวหาก็เลยฟังไม่ขึ้น

แม้กระทั่งเรื่องรูปลักษณ์ของเธอก็ตกเป็นขี้ปากของคน สมัยที่แมร์เคิ่ลเล่นการเมืองใหม่ๆ ใครๆ ก็หัวเราะเยาะเธอ ด้วยความที่เธอไม่แต่งตัว ทำผมทรงเชยๆ ใส่ชุดสูทโทรมๆ นักการเมืองมักจะพูดกันลับหลังว่า “โอ๊ย จะคาดหวังอะไรมากกับพวก Ossie (ชาวเยอรมันตะวันออก)" ขนาดหนังสือพิมพ์ยังชอบลงรูปของเธอที่ดูเหมือนว่าเธอเป็นพวกสหายจากลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งเธอไม่เคยเป็น เวลาเจอเรื่องแบบนี้ เธอมักจะตอบกลับว่า “คนที่ฉลาดมีกึ๋น มีเรื่องจะพูด ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องสำอางค์หรอก”

แต่ถ้าพูดถึงเรื่องการแต่งตัวนั้น ก็ต้องบอกว่า ตั้งแต่เธอได้เป็นตัวแทนเข้าลงชิงชัยตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2005 รูปลักษณ์ของแมร์เคิ่ลก็เปลี่ยนไป เธอจ้างสไตลิสต์ เปลี่ยนทรงผมและการแต่งตัวของเธอใหม่ รวมทั้งเริ่มแต่งหน้าด้วย กลายเป็นแมร์เคิ่ลนิวลุค ที่ถ้าเอารูปในอดีตมาเทียบกับปัจจุบันแล้ว ต้องบอกว่าเปลี่ยนไปแทบเป็นคนละคนเลยทีเดียว (ในทางที่ดีขึ้นนะ)

หน้ายังใสปิ๊งอยู่เลย...
เดี๋ยวนี้เปรี้ยวขึ้นเยอะค่า

อันที่จริงมีนักวิเคราะห์บอกว่าจริงแมร์เคิ่ลไม่น่าจะมีเพื่อนในพรรคมากนัก ด้วยความที่เธอเป็นคนเยอรมันตะวันออก ที่มาอยู่ในพรรคที่มีคนเยอรมันตะวันตกเป็นใหญ่ ก็ทำให้ผู้คนตั้งแง่กับเธอว่ามีความเป็นตะวันออกเกินไป และคอยจ้องรอวันเธอก้าวพลาด ในขณะที่ชาวเยอรมันตะวันออกก็ปฏิเสธเธอ หาว่าเป็นตะวันตกเกินไป “นอกจากเสียงและลายมือแล้ว ไม่มีความเป็นตะวันออกเหลืออยู่ในตัวแมร์เคิ่ลอีกเลย” เพื่อนเก่าแก่ของแมร์เคิ่ลอย่างไมเคิล ชินด์เฮล์ม นักเคมีผู้ซึ่งปัจจุบันผันตัวมาดูแลโรงละครในเบอร์ลิน บอก

แต่แมร์เคิ่ลก็ใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหวที่ต่อต้านเธอได้ทั้งหมด ห้าปีให้หลัง เธอกลายเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของเยอรมนี เป็นผู้นำประเทศคนแรกที่มาจากเยอรมนีตะวันออก และเกิดหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง 

ผลงานของรัฐบาลแมร์เคิ่ลก็นับว่าไม่ขี้เหร่ ผลการสำรวจความนิยมในช่วงที่เธอดำรงตำแหน่งได้ครบ 2 ปี ชี้ว่าประชาชนกว่า 76% เห็นว่ารัฐบาลของเธอทำงานได้อย่างน่าพึงพอใจ เป็นระดับคะแนนที่สูงกว่านายกรัฐมนตรีผู้ชายทั้ง 7 คนก่อนหน้าในช่วงเวลาเดียวกัน และเป็นระดับความเชื่อมั่นในรัฐบาลที่สูงที่สุดตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ความนิยมของเธอในสองปีแรกมาจากผลงานระดับนานาชาติเป็นส่วนใหญ่ ชาวเยอรมันชื่นชมบทบาทของแมร์เคิ่ลเมื่อกลางปีที่ผ่านมาที่เธอสามารถจะต่อกรกับผู้นำโลกอย่างประธานาธิบดีบุช ปูติน และซาร์โกซี่ได้อย่างเสมอภาค สามารถโน้มน้าวให้กลุ่มประเทศ G8 เห็นพ้องที่จะลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ในระดับที่น่าพอใจ จนเธอได้รับฉายาจากสื่อมวลชนว่า “Miss World”
นอกจากนั้น เมอร์เคิ่ลก็สามารถชักนำให้ประเทศสมาชิกอียู ตกลงเห็นด้วยกับสนธิสัญญาฉบับใหม่เพื่อใช้แทนรัฐธรรมนูญของอียู ซึ่งไม่ผ่านประชามติในประเทศฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ก่อนหน้านี้ 


นวดแบบบุชฮ่ะ ใครอยากลองบ้าง  ดูหน้าแมร์เคิ่ลแล้วแบบว่า ท่าทางจั๊กกะเดี๊ยมน่าดู เธอคงไม่คุ้น คนบ้าอะไรอยู่ดีๆ ก็มาจับตัวเค้าเฉยเลย

ส่วนการเมืองในประเทศนั้น ประชาชนต่างชื่นชมรัฐบาลที่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นมาได้โดยอัตราการเติบโตของ GDP อยู่ที่ 3%  ตัวเลขการส่งออกของเยอรมนีสูงที่สุดในโลก รวมทั้งตัวเลขของคนว่างงานก็ต่ำที่สุดในรอบห้าปีด้วย (แต่ถ้าไปถามอดีตนายกรัฐมนตรีชโรเดอร์ แห่งพรรค SPD เขาก็คงจะบอกว่าเป็นผลงานของเขา แมร์เคิ่ลมาชุบมือเปิบ)

แม้ว่าคงจะมีสถานการณ์ทางการเมืองระดับรัฐ อาจจะทำให้ภาพรวมของรัฐบาลผสมของแมร์เคิ่ลต้องสั่นคลอนบ้าง แต่นักวิจารณ์หลายคนบอกว่าแมร์เคิ่ลน่าจะผ่านเทอมแรกไปได้อย่างไม่อยากนัก ไร้ซึ่งทั้งคู่ต่อสู้และเรื่องอื้อฉาว 

แม้ตอนนี้เธอจะมีชื่อเสียงมาก แต่แมร์เคิ่ลก็ยังดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายกับนายโยอาคฮิม ซาวเออร์ สามีนักฟิสิกส์ของเธอ ซึ่งแต่งงานกันใหม่ เมื่อปี 1998 แทบไม่มีข่าวคาวใดๆ ให้สื่อมวลชนได้ขุดคุ้ย ภาพของแมร์เคิ่ลที่ไปจ่ายตลาดหลังเลิกงานเหมือนแม่บ้านคนอื่นๆ ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเธอไม่ได้เสแสร้งและขยันมุ่งมั่นกับการทำงาน

ความติดดินของแมร์เคิ่ลยังเผื่อแผ่ไปถึงสามีของเธอด้วย ในวันที่เธอเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น นายซาวเออร์ไม่ได้ไปร่วมในพิธี แต่(ข่าวรายงานว่า)นั่งดูถ่ายทอดสดพิธีอยู่ที่บ้าน จนหนังสือพิมพ์แทบลอยด์ยักษ์ใหญ่ของเยอรมนีอย่าง Bild พาดหัวข่าวแซวในวันรุ่งขึ้นว่า “แมร์เคิ่ล - สามีเธอไปอยู่ที่ไหน?”
ภาพตอนประชุมจีแปด ที่เยอรมนีเมื่อปีที่แล้ว

ในแง่การทำงาน นักการเมืองที่ได้ร่วมงานด้วยต่างก็เห็นตรงกันว่า แมร์เคิ่ลเป็นคนพูดน้อย เยือกเย็น ไม่โอ้อวด สุภาพและตรงประเด็น เธอเป็นนักฟังที่ดี แม้เธอจะไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นของคนอื่น แต่ก็จะรับฟัง บางคนบอกว่ามันน่ารำคาญที่เธอไม่ยอมบอกว่าเธอคิดเห็นอย่างไร ไม่ตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไรกันแน่ แต่เมอร์เคิ่ลบอกว่าเคล็ดลับสู่ความสำเร็จของเธอ ก็คือการไม่เร่งรีบหาข้อสรุป “ฉันชอบที่จะค่อยๆ มองปัญหาอย่างระมัดระวังเพื่อที่จะตรวจสอบว่ามันจะมีกับดักอยู่ที่ไหนบ้าง” นิสัยของนักวิทยาศาสตร์โดยแท้

แมร์เคิ่ลไม่ชอบเป็นข่าว ซึ่งตรงกันข้ามกับนายกฯ คนก่อนอย่างชโรเดอร์ ที่ชอบวางมาด ทำตัวเป็นข่าวหวือหวาตามหน้าหนังสือพิมพ์ตลอดเวลา เช่นใส่เสื้อโค้ทแคชเมียร์ถ่ายแบบให้กับนิตยสารแฟชั่น

บางทีอาจจะเป็นความติดดินของแมร์เคิ่ลนี่เอง ที่ช่วยทำให้เธอเป็นที่ชื่นชอบของชาวเยอรมัน 
***************************
สำหรับฉัน คนที่ไม่ได้รู้เรื่องการเมืองในประเทศเยอรมนีมากมายนัก ฉันชอบบุคลิกของเธอที่ไม่พูดมากแต่ทำเลย 

รวมไปถึงท่าทีการสนับสนุนประเด็นปัญหาระดับนานาชาติต่างๆ เช่นปัญหาสิ่งแวดล้อม และล่าสุดเรื่องประเด็นสิทธิมนุษยชนในจีน ซึ่งแมร์เคิ่ลให้การต้อนรับอย่างดีและพบปะพูดคุยกับทะไลลามะ 

เมื่อปีที่แล้ว ทำให้รัฐบาลจีนไม่พอใจอย่างมาก และความสัมพันธ์ระหว่างจีนและเยอรมนีสั่นคลอนพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่องการค้า ทำให้บริษัทเยอรมันที่ต่างก็พยายามแย่งชิงดีลใหญ่ๆ ในจีนมาจากประเทศอื่นๆ บ่นโวยวายพอสมควร
ฉันว่านักการเมืองทั่วไป คงเลือกที่จะไม่ทำให้ยักษ์ใหญ่มหาอำนาจอย่างจีนไม่พอใจ แม้แต่รัฐมนตรีต่างประเทศของเยอรมนีเอง แฟรงก์-วอลเตอร์ สไตน์ไมเออร์ ก็ยังบอกว่าเขาจะเลือกวิธีการที่รอบคอบและนุ่มนวลกว่านี้
แต่แมร์เคิ่ลบอกว่า “อย่างแรกที่สุด การที่ฉันต้อนรับทะไลลามะ กับการจัดการความสัมพันธ์กับจีนนั้นเป็นคนละเรื่องกัน 

แต่ทั้งสองอย่างนี้เกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิมนุษยชนว่าได้รับการปกป้องหรือละเมิดอย่างไร ซึ่งจุดยืนของเยอรมันนั้นชัดเจน และการต้อนรับทะไลลามะก็เป็นส่วนนึงของเรื่องนี้” ล่าสุด มีรายงานว่าเธอยินดีและมีแผนที่จะพบกับดาไลลามะอีกครั้ง
เพราะแมร์เคิ่ลได้แสดงให้เห็นว่าเธอมีจุดยืน และเลือกที่จะทำในสิ่งที่เธอเชื่อมั่น ทำให้ได้ใจฉันไปเต็มๆ เลยล่ะ
Read more ...

เจงกิสข่าน

24 ก.ย. 2552



เจงกิสข่าน หรือชื่อเดิม เตมูจิน เกิดปี ค.ศ. 1162 ในครอบครัวของขุนศึกคนนึงในภาคกลางของมองโกเลีย ริมแม่น้ำรูเลน เมื่อครั้งที่เขาอายุ9ปี คนของเผ่าศัตรูได้ฆ่าพ่อของเขา ทำให้ครอบครัวของเขาต้องลี้ภัยหนี ครอบครัวของเขาต้องเจอกับอากาศหนาวอันโหดร้าย และยังมาเจอการปล้นค่ายของอีกเผ่า ทำให้เตมูจินโดนจับตัว แต่เขาก็หนีรอดกลับมาได้ เตมูจิน เป็นนักรบที่เก่งกาจ ดุดัน โหดร้ายเมื่ออายุได้เพียงสิบกว่าๆเท่านั้น อายุไม่ถึง20ก็เริ่มทำให้ก๊กต่างๆในมองโกลร่วมมือกันด้วยวิธีการทูต แต่ ความพยายามมาสำเร็จตอนที่ บอร์เท ภรรยาของเขาโดนลักพาตัว เขาจึงขอความช่วยเหลือจากพันธมิตร

ค.ศ.1206 เตมูจินสามารุถทำให้มองโกลรวมเป็นหนึ่ง และได้ฉายาว่า "เจงกิสข่าน" หลังจากนั้น

การยึดครองโลกก็เริ่มต้นขึ้น มองโกลเริ่มปฏิบัติการทางทหาร ต่อมณทลชีเชีย ซึ่งเป็นดินแดนส่วนตะวันตกเฉียบเหนือของจีน และของธิเบตเป็นบางส่วน การรบดำเนินไปถึงปี ค.ศ.1210 เจ้าแคว้นยอมแพ้

การรบของกองทัพเจงกิสข่าน สามารถทำให้จีนทั้งหมดพ่ายแพ่ และยึดรวมไปถึงบริเวณเกาหลีในปัจจุบันเขาส่งทูตไปทางตะวันตก ของชาวเติร์ก แต่ทูตโดนสังหารทั้งหมด เขาเลยตัดสินใจยึดภูมิภาคซึ่งในปัจจุบันคือ อิรัก อีหร่านและภาคตะวันตกของเตอร์กิสสถาน ตามด้วยภาคเหนือของปากิสสถานและอินเดียว ก่อนขึ้นมาทักทายรัสเซีย และบุกยึดดินแดนตั้งแต่ อ่าวเปอร์เซียยันมหาสมุทรอาร์คติก แต่มนุษย์ย่อมมีวันดับ แม้จะเป็นยอดขุนศึกอย่างเขา เขาเสียชีวิตในช่วง ปีค.ศ.1226

แต่จะว่าไป นักรบผู้ยิ่งใหญ่คนนี้ ก็ไม่ใช่คนดีซะทีเดียว เขาตีเมืองซามาร์คาน จนแตกพ่ายในเวลาไม่นาน ซามาร์คาน เป็นมหานครของจักรพรรดิ์ ชาห์ มูฮัมหมัด แห่งจักรวรรดิ "ควาริตซึ่ม"

เหตุที่เรียกว่าเป็นมหานคร เพราะ มีพลเมืองถึง2แสนคน และจักรวรรดิควาริตซึ่ม เรียกว่ามหาจักรวรรดิเพราะ เนื้อที่กินประเทศใหญ่ๆ ร่วม10ประเทศ ทั้งอัฟกานิสถานและอิหร่านในปัจจุบัน พรมแดนด้านตะวันตก จนถึงทะเลสาบแคสเปียน ด้านใต้ถึงมหาสมุทรอินเดียมหรนครซามาร์คาน มีทหารพร้อมรบอยู่ถึง1แสน1หมื่นคน แต่เจงกิสข่านยกทัพ8หมื่นซึ่งเป็นทหารม้าซะส่วนใหญ่ตีเมืองจะแตกพ่าย .... จริงๆตรงนี้มันก็เป็นเรื่องปกติ หากแต่ หลังจากยึดได้ เจงกิสข่านสั่งเผาเมือง ให้ทหารไล่ฆ่าผู้คนตายนับแสน เหลือไว้แต่ผู้มีความรู้ความสามารถ เพียง3หมื่นคน และส่งพวกเขาไปมองโกล เพื่อพัฒนาชาติของเขา

แล้วก็ ปัจจัยที่ทำให้เขาเกือบครองโลก

นักประวัติศาสตร์ทั้งหลายมีความเห็นว่า หากตีไปถึงชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกได้เมื่อไหร่....เวลานั้น

เจงกิสข่านจะได้ชื่อว่าเป็นจักรพรรดิองค์แรกและองค์เดียวที่ครองโลกได้ เพราะว่าเขายึดรัสเซียได้ค่อนประเทศ บุกถึงยุโรปกลางเตรียมยึดเกาะอังกฤษอยู่แล้ว แต่กลับเมืองเสียก่อน

กองทัพของเขาเป็นเช่นไร?สำหรับเขา เมืองที่ยอมแพ้ เขาไม่ได้เอาแค่เครื่องราชบรรณาการทุกปีๆ แต่เขาเกณฑ์ทหารเข้ากองทัพด้วย การตีกรุงแบกแดดในปี 1258 กองทัพของเขามีทหารจาก จอร์เจีย อาร์เมเนีย และเปอร์เซียรวมอยู่นอกจากนั้นกองทัพของเขาจัดรูปแบบไม่ซ้ำใคร เดินทัพไปเลี้ยงสัตว์ไป ทั้งวัว ควาย แพะ แม้กระทั้งม้าศึก

กำลังหลักของเขามีประมาณ1แสนคน แบ่งออกเป็น10 ทูเมน หรือกองพลที่มีกำลังพล1หมื่นนาย หน่วยรบของเขาจะได้รับการฝึกอาวุธ อย่างดี จากยุทธศาสตร์หลายๆชาติ เช่น จีน อาหรับ เปอร์เซียในการเรือทัพ ทูเมน ต่างๆจะจัดกระบวนทัพ เป็นแนวหน้ากระดานกว้างประมาณ50ไมล์ มีทัพหลวงตรงกลางในกองทัพของเขามีม้าศึกสำรอง ไว้เปลี่ยนจำนวนมหาศาล นอกจากนั้นมีฝูงวัว แพะติดตามทุกทูเมน เพื่อใช้เป็นเสบียง อาหารหลักของชาวมองโกลคือ นม และยังใช้เนื้อเป็นอาหารได้การเคลื่อนทัพได้เวลาปกติ ได้ความเร็วต่ำมาก ประมาณ5ไมล์ต่อวัน จะมีการหยุดพักวันละ4ครั้ง เพื่อรีดนมสัตว์แต่เมื่อจะเข้าโจมตี ทั้งสิบทูเมนจะรวมตัวเข้ากับทัพหลวงและพุ่งไปอย่างสายฟ้าแลบนี่คือกองทัพไร้พ่าย ที่ตีญี่ปุ่น บุกเกาหลี ขยี้รัสเซีย เหยียบพม่า ขย้ำจีน มีบันทึกว่า ครั้งนึง มีเจ้าเมืองคนนึงหนีเข้าไปซ่อนตัวในโบสถ์ ด้วยความคิดที่ว่า เจงกิสข่านจะไม่ทำร้าย แต่ตรงข้าม เขาเผาโบสถ์อย่างไม่ใยดี และกล่าววาจาอมตะ ว่า"ข้าไม่ได้ลบหลู่พระเจ้า แต่คนถ่อยทำให้โบสถ์มัวหมอง จึงทำลาย"ผู้คน ชาวบ้านชาวเมือง หรือแม้แต่เจ้าเมือง ทหาร หากรู้ข่าวว่ากองทัพของเขาบุกมา จะกลัวกันหัวหด ชาวคริสถึงกับบอกว่า "เขาคือซาตานกลับชาติมาเกิด"

หากแต่ ต่อให้เป็นคนชั่วช้าแค่ไหน ก็ยังมีความดี เจงกิสข่านก็เช่นกัน เขาไม่กดขี่ศาสนาอื่นๆ แม้มองโกลจะมีลัทธิเต็งกรี* เป็นศาสนาประจำชาติ เขาก็ยังให้ผู้คนนับถือได้ทุกศาสนา แต่เหนือสิ่งอื่นใดการที่เขาฆ่าคนเยี่ยงผักปลา เผาโบราณสถาน โบราณวัตถุที่มีค่ามหาศาล จนได้ฉายาว่าเทพสงคราม แต่คนหลายคนมองเขาเป็น"ขุนศึกที่กระหายสงครามที่ยิ่งใหญ่ในโลก"เลยก็ว่าได้

*ลัทธิเต็งกรี เป็นศาสนาของมองโกล นักถือเจงกิสข่านเป็นพระเจ้าชั้นราชาสวรรค์


ด้านรัฐศาสตร์

เจงกิสข่านสามารถรวมเผ่ามองโกล ที่มีอยู่ มากมายหลายเผ่าเข้าเป็นสมาพันธ์ชาวเผ่าได้ตั้งแต่มีวัยเพิ่ง แตกพาน นับเป็นสมาพันธ์แห่งแรกของโลกก็ว่าได้ และต่อมามีการรวมตัวสมาพันธ์ดังกล่าว เข้าเป็นอาณาจักร เดียวกันโดยมีเจงกิสข่านเป็นกษัตริย์องค์แรก

มีการขยายอาณาจักรออกไปเรื่อยๆ จนอาณาเขตด้านตะวันออก จดชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตกทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มองโกเลียกลาย เป็นมหาจักรวรรดิขึ้นในเวลาต่อมา

นอกจากการขยายอาณาจักรออกไปได้กว้างไกลแล้ว ยังรวบรวมช่างฝีมือและผู้มีศิลปวิทยาการด้านต่างๆ ส่งกลับมายังมองโกเลียด้วย นอกเหนือจากทรัพย์สินเงินทองที่ยึดมาได้จากการบุกโจมตีอาณาจักรต่างๆ

ด้านการศาสนา

โดยปรกติชาวมองโกเลีย นับถือศาสนาพุทธ และลัทธิ "เต็งกรี" หรือ ลัทธิบูชาเทพ ชาวมองโกเลียนับถือเจงกิสข่าน เป็นเทพองค์หนึ่ง เป็นเทพชั้นราชาแห่งสวรรค์ แต่พระองค์ก็ไม่ขัดขวาง หรือกดขี่ศาสนาอื่น ดังนั้น ในมองโกเลียจึงมีทุกศาสนา ไม่ว่าพุทธ อิสลาม คริสต์ หรือลัทธิเต็งกรี แม้แต่ในพระบรมราชวงศ์ ของเจงกิสข่านยังมีผู้นับถือศาสนา กันเกือบทุกศาสนา

ด้านการทหาร

ในยุคของเจงกิสข่าน ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า โลกได้รับความยับเยิน จากภัยสงครามมากกว่ายุคใดในสมัยโบราณ ไม่ว่าสงครามครูเสด สงครามรวมอาณาจักรจีน สงครามในเอเชียกลางไม่มีครั้งไหน ที่บ้านเมืองจะถูกทำลายยับเยิน และผู้คนจะเสียชีวิตมากมายเท่าครั้งนี้

การรบของเจงกิสข่านไม่เหมือน จักรพรรดิองค์ใดในโลก ตามปรกติหากยอมอ่อนน้อมโดยดีก็จะมีการกำหนด ให้ส่งราชบรรณาการทุกปี แต่สำหรับเจงกิสข่านนั้น นอกจากเครื่องราชบรรณาการแล้ว ยังมีการเกณฑ์ไพร่พล เข้าร่วมในกองทัพด้วย

จะเห็นได้ว่าในการเข้าตีกรุงแบกแดดเมื่อปี ค.ศ.1208 กองทัพเจงกิสข่านประกอบด้วยทหารจากจอร์เจีย อาร์เมเนีย และเปอร์เซียรวมอยู่ด้วย และหากบ้านเมืองใดต่อสู้ขัดขืน ก็จะตะลุยตีจนยึดเมืองได้ จากนั้นก็จะมีการสำรวจดูว่าชาวเมืองคนใด เป็นช่างฝีมือ และมีความรู้ความสามารถ ทางวิทยาการต่างๆ จะถูกส่งกลับไปมองโกเลีย ที่เหลือจะ ถูกสังหารหมด ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ สตรีหรือคนชรา

แม้ว่าเจงกิสข่านจะนับถือศาสนาทุกศาสนา แต่ก็ไม่ละเว้นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาใด หากปรากฏว่ามีศัตรูเข้า ไปซ่อนตัวอยู่จะสั่งเผาทันที มีการบันทึกไว้ว่า เมื่อบุกตะลุยเข้าไปใน ดินแดนรัสเซีย เจ้าผู้ครองนครชาวรัสเซียหนีเข้าไปซ่อนตัวในโบสถ์ ด้วยคิดว่าเจงกิสข่านจะไม่ทำอันตรายแต่เจงกิสข่านก็สั่งให้เผาโบสถ์ให้ไฟคลอกจนสิ้น พระชนม์ทั้งเป็นทั้งหมด

เจงกิสข่านบอกว่า ที่เผาโบสถ์ไม่ใช่เพราะลบหลู่พระเจ้า แต่เพราะคนเลวไปทำให้โบสถ์มัวหมองจึงต้องทำลายทิ้ง

วีรกรรมยิ่งใหญ่

หากพิจารณาตามพื้นเพเดิมแล้ว เจงกิสข่านเป็นเพียงหัวหน้าเ ผ่ามองโกลเร่ร่อนเผ่าเล็กๆ เท่านั้น อาศัยอยู่ในเต็นท์ ไม่มีบ้านเมืองของตนเอง แต่สามารถปราบปรามจักรวรรดิต่างๆได้ราบคาบอย่างง่ายดาย ถือเป็นวีรกรรมที่ควรจะยกย่อง วีรกรรมที่จัดว่ายิ่งใหญ่นั้นได้แก่ การบุกตะลุยเข้าตีเมืองซามาร์คาน จนแตกกระเจิงโดยใช้เวลาไม่มากนัก

ซามาร์คาน เป็นนครหลวงระดับ มหานครของจักรพรรดิ ชาห์ มูฮัมหมัด แห่งมหาจักรวรรดิ "ควาริตซึ่ม" ซามาร์คานต้องเรียกว่ามหานคร เพราะมีพลเมืองถึง 200,000 คน ภายในกำแพงเมือง

จักรวรรดิ "ควาริตซึ่ม" ต้องเรียกมหาจักรวรรดิ เพราะครอบคลุมประเทศใหญ่ๆ ในปัจจุบันไว้ร่วมสิบประเทศ รวมทั้งอัฟกานิสถานและอิหร่าน พรมแดนด้านตะวันตก จดทะเลสาบแคสเปียน ด้านใต้จดมหาสมุทรอินเดียภายในมหานครซามาร์คาน มีทหารประจำการพร้อมรบอยู่ถึง 110,000 คน เจงกิสข่านเคลื่อนพล 8 หมื่น ส่วนมากเป็น กองม้าบุกเข้าตีจนแตกพ่าย

เมื่อยึดซามาร์คาน ได้ก็มีการสั่งเผาเมืองทั้งเมือง และไล่ฆ่าผู้คนตายนับแสน เหลือไว้เฉพาะช่างฝีมือ และผู้มีความรู้เพียง 30,000 คน และส่งคนเหล่านี้ไปมองโกเลีย เพื่อเป็นทรัพยากรบุคคลของชาติต่อไป

เจงกิสข่านเกือบครองโลก

นักประวัติศาสตร์ให้ความเห็นตรงกันว่า หากรุกไปถึงชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกได้เมื่อไหร่ เจงกิสข่าน จะได้ ชื่อว่าเป็น มหาจักรพรรดิองค์แรก และองค์เดียวที่ครองโลกได้ โลกในยุคนั้นมีแค่จากฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก แถวเมืองจีนไล่ไปถึงฝั่ง มหาสมุทรแอตแลนติก เท่านั้น เพราะเป็นเขตที่มีการตั้งอาณาจักร มีวัฒนธรรมกัน

กองทัพเจงกิสข่านตะลุยยึดได้รัสเซียกว่าค่อนประเทศ บุกถึงยุโรปกลางและเยอรมันเตรียมบุกยึดเกาะอังกฤษอยู่แล้ว แต่เปลี่ยนใจเดินทางกลับบ้านเมืองเสียก่อน นักประวัติศาสตร์วิเคราะห์ว่า หากเดินทัพต่อไปจริงๆ ก็คงยึดได้ไม่ยาก

กองทัพประหลาด และกลยุทธ์ผ่าเหล่า

เจงกิสข่านจัดรูปแบบ กระบวนทัพแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เดินทัพไปเลี้ยงสัตว์พวกวัวควาย และแพะ ตลอดจน ม้าศึกไปด้วย เมื่อสั่งบุกโจมตี ก็สามารถรวมพลได้เร็วและสามารถเข้าตีได้อย่างสายฟ้าและ

กำลังหลักของเจงกิสข่านจะมีประมาณ 100,000 คน แบ่งออกเป็นสิบ "ทูเมน" หรือกองพลมีกําลังรบ 10,000 นาย แต่ละกองพลจะมีผู้ติดตามทหารอีก นายละ 4 คน โดยเฉลี่ย ดังนั้น ในแต่ละกองพลจะมีผู้คนติดตาม ขบวนทหารอีกประมาณ 4 หมื่นคน

เมื่อเข้าตี ขบวนครอบครัวผู้ติดตามทหารมา จะต้องถอยห่างออกไปทางด้านหลังแนวรบ หน่วยรบจะได้รับการฝึกปรือเพลงอาวุธ ทุกประเภทอย่างเจนจบ ศึกษายุทธศาสตร์ต่างๆจากหลายชาติ เช่น เปอร์เซีย อาหรับ และจีน

ในการเดินทัพ "ทูเมน" หรือกองพลต่างๆ จะจัดกระบวนทัพ เป็นแนวหน้ากระดานกว้าง 50 ไมล์ โดยมีทัพหลวงอยู่ตรงกลาง เจงกิสข่านพร้อมกับพระมเหสีและพระสนมจะประทับอยู่ในเต็นท์เดียวกัน เป็นเต็นท์ขนาดใหญ่ติดล้อเพื่อให้เคลื่อนที่ได้

ในตอนกลางวันเต็นท์หลวง จะทําหน้าที่เป็นที่ออกขุนนาง และรับราชทูตส่วนกลางคืนใช้เป็นที่ประทับ ซึ่งประทับในเต็นท์เดียวกันหมด ทั้งพระมเหสี พระสนม พระโอรสและธิดา เต็นท์ถัดไปข้างหลัง จะเป็นของพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งจะเคลื่อนไปข้างหน้า ตามลําดับความสําคัญของฐานานุรูป โดยใช้วัวนับสิบตัวลาก

ในขบวนทัพจะมีม้าสํารอง ไว้คอยเปลี่ยนเป็นจํานวนมาก นอกจากนั้นยังมีฝูงแกะแพะติดตาม ไปด้วยทุกกองพล เพื่อใช้เป็นแหล่งเสบียง เนื่องจากชาวมองโกลนิยม ดื่มนมสัตว์เป็นอาหารหลัก และยังได้เนื้อเป็นอาหารอีกด้วย

การเคลื่อนทัพไปในยามปรกต ิใช้ความเร็วตํ่ามากเพียง 5 ไมล์ต่อวันเท่านั้นและจะมีการหยุดพักการเดินทาง วันละ 4 ครั้ง เพื่อรีดนมสัตว์เป็นอาหาร เมื่อจะเข้าทําการโจมตี กองพลทั้งสิบจะเข้ารวมตัว กับทัพหลวงอย่างรวดเร็วแล้วพุ่งไปข้างหน้าราวสายฟ้าแลบ

จะเห็นได้ว่า เจงกิสข่าน ตะลุยไปแล้วทั่วโลก บุกเกาหลี ข้ามทะเลไปตีถึงญี่ปุ่น ลุยมาถึงฮานอย ในอดีต และเหยียบไปถึงเมืองพุกามในพม่า นอกจากมีความสามารถ ในการรบอย่างสุดยอดแล้ว ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้มีคุณธรรม เนื่องจากให้เสรีใน การนับถือแก่ ทุกศาสนาในโลก โดยไม่กดขี่หรือกีดกัน

เจงกิสข่านพิสูจน์ตัวเองแล้วว่า ไม่ใช่คนเถื่อน เพราะยังมีใจรักอารยธรรมและวัฒนธรรม แม้จะนิยมการเผาบ้านเมือง และถาวรวัตถุของศัตรู แต่ก็เป็นไปด้วยเหตุผล ทางยุทธศาสตร์ประการเดียว และยังมีการไว้ชีวิต ช่างฝีมือ และผู้มีความรู้ด้านศิลปวิทยาการต่างๆ และส่งกลับมองโกเลีย ด้วยหวังว่าจะได้สอน ชาวมองโกเลียให้มีความก้าวหน้า ในศิลปวิทยาการต่างๆ บ้าง

แต่เหนือสิ่งอื่นใด การที่เจงกิสข่านสามารถ ตะลุยปราบหัวเมืองต่างๆ ไปได้เกือบทั่วโลกโดยไม่มีใครต้าน พลานุภาพได้ และไม่มีใครทําได้สําเร็จเช่นนี้ตลอดช่วงสหัสวรรษเดียวกันนี้ ก็พอเพียงที่จะได้รับการยกย่อง แล้วว่า เป็นมหาบุรุษได้อย่างไม่มีข้อกังขา.
Read more ...

ตระกูลล่ำซำ

20 ก.ย. 2552
รุ่นที่ 1 ต้นกำเนิดตระกูลล่ำซำ

อึ้งเมี่ยวเหงี่ยน ถือว่าเป็นล่ำซำรุ่นที่ 1 ซึ่งถือเป็นบรรพบุรุษของตระกูลล่ำซำ มีภูมิลำเนาอยู่ที่ตำบลส่งเค้าโป๊ อำเภอบ้วยกุ้ย จังหวัดเกี่ยเอ้งจิวฮู้ มลฑลกวางตุ้ง โดยบรรดาบรรพบุรุษของอึ้งเมี่ยวเหงี่ยนได้ยึดถือการกสิกรรมเป็นอาชีพ และบรรพบุรุษล้วนเป็นที่ยกย่องและเป็นที่นับถือของบรรดาเพื่อนบ้านใกล้เคียง เมื่ออายุได้ 13 ปี บิดามารดาได้ถึงแก่กรรมทั้งสองคน ทำให้กลายเป็นลูกกำพร้า จึงต้องดำรงชีวิตด้วยความลำบากยิ่งนัก

ในช่วงนั้นประเทศจีนได้ยกเลิกกฎหมายห้ามไม่ให้คนจีนออกจากประเทศจีนไปทำมาหากินในต่างประเทศ ประกอบกับได้มีชาวจีนในมณฑลฮกเกี้ยนกับมลฑลกวางตุ้งที่ออกไปประกอบอาชีพอยู่ในต่างประเทศ ได้ประสบกับความร่ำรวยกันเป็นจำนวนมาก จึงเป็นแรงบันดาลใจให้อึ้งเมี่ยวเหงี่ยนออกเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นช่วงที่ระบบการค้าเสรีกำลังขยายตัว

เมื่อเข้ามาถึงประเทศไทย อึ้งเมี่ยวเหงี่ยนได้เข้าทำงานในร้านขายเหล้าของ “จิวเพ็กโก” ซึ่งเป็นชาวจีนแคระด้วยกัน โดยได้รับเงินเดือนเพียงเล็กน้อย แต่เนื่องจากเป็นคนที่มีนิสัยใจคอหนักแน่นกับมีมานะ มุ่งคิดที่จะก่อร่างสร้างตัว อึ้งเมี่ยวเหงี่ยนจึงได้ทำงานอย่างเต็มความสามารถ รวมทั้งศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับกิจการขายไม้ของเจ้าของร้านไปพร้อมๆกัน จนในที่สุดเขาเปลี่ยนฐานะจากลูกจ้างมาเป็นเถ้าแก่อย่างรวดเร็ว โดยมีธุรกิจของตัวเองเปิดร้านขายไม้ซุง ติดกับลำน้ำเจ้าพระยาที่ตำบลจักรวรรดิ อำเภอสัมพันธวงศ์ชื่อร้าน “ก้วงโกหลง” และทำสัมปทานป่าไม้อยู่แถวจังหวัดนครสวรรค์กับแพร่ ด้วยความอุตสาหะรวมทั้งการเป็นคนในบังคับของฝรั่งเศส และการรู้จักเข้าหาข้าราชการ ขุนนางต่างๆ เช่นพระยาสโมสรสรรพการ จากสัมปทานเล็กๆ ก็ได้ขยายเติบโตทำการค้าติดต่อทั้งในและต่างประเทศ รับสัมปทานทำป่าไม้สักมีโรงเลื่อยจักรชื่อ “กวงกิมล้ง” ส่วนใหญ่เป็นการรับซื้อไม้และตัดไม้ที่ได้รับสัมปทานส่งมาโรงเลื่อยที่กรุงเทพฯ

อึ้งเมี่ยวเหงี่ยนได้แต่งงานกับชื้อฮูหยินมีบุตร 2 คน และธิดา 2 คน คือ อึ้งจูหลง ล่ำซำ ,อึ้งยุกหลง ล่ำซำ (ผู้เป็นผู้นำตระกูลล่ำซำรุ่นที่ 2) ,เผือก ล่ำซำ และเนย ล่ำซำ นอกจากนี้ยังได้สมรสกับคนไทยอีกคนหนึ่งชื่อ เทียน มีบุตร 2 คน อึ้งเมี่ยวเหงี่ยนได้สิ้นลมเมื่ออายุได้ 59 ปีบริบูรณ์

รุ่นที่ 2 ขยายกิจการ

ภายหลังจากอึ้งเมี่ยวเหงี่ยนสิ้นลม อึ้งยุกหลง ล่ำซำ บุตรชายก็ได้เข้ามาดูแลรับผิดชอบธุรกิจของตระกูล โดยเฉพาะได้รับช่วงกิจการค้าของร้าน “ก้วงโกหลง” สืบต่อจากบิดา และได้ขยายกิจการค้ากว้างขวางเติบโตกว่าเดิมอีกมากมาย ซึ่งต่อมาร้าน “ก้วงโกหลง” ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด ชื่อ บริษัท ก้วงโกหลง จำกัด โดยขยายการค้าไม้ทั้งในยุโรปและเอเชีย เริ่มกิจการโรงสีข้าวกับรับซื้อข้าว และสินค้าเกษตรอื่น แล้วส่งไปขายยังต่างประเทศ มีการเปิดสาขาที่สิงคโปร์ ฮ่องกง ซัวเถา เซี่ยงไฮ้ กวางตุ้ง ปัตตาเวีย และอังกฤษ นอกจากนี้ยังได้รับสัมปทานเดินรถเมล์ทางฝั่งธนบุรี ชื่อ รถเมล์นครธน

ในทศวรรษช่วงก่อนและหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 การค้าระหว่างประเทศของตระกูลล่ำซำเป็นไปอย่างคึกคัก และเริ่มเป็นระบบ ก่อให้เกิดการเติบโตทางธุรกิจอื่นๆ เช่นประกันภัย การธนาคาร อันได้แก่ กวางอันหลงประกันภัย และ ธนาคารก้วงโกหลง ซึ่งภายต่อมาบริษัทประกันภัยได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น ล่ำซำประกันภัย จนกระทั่งปัจจุบันกลายมาเป็น ภัทรประกันภัย ส่วนธนาคารนั้นได้ปิดตัวลงเพราะนโยบายของคณะราษฎร

การที่ตระกูลล่ำซำได้ขยายกิจการธุรกิจรุ่งเรื่องไพศาลในยุคล่ำซำรุ่นที่ 2 มีสาเหตุสำคัญประการหนึ่งในหลายๆ ประการคือ การที่ตระกูลล่ำซำได้เกี่ยวดองกับตระกูลหวั่งหลี ซึ่งเป็นตระกูลคหบดี ที่มีทั้งกิจการโรงสีและค้าข้าวรวมทั้งกิจการธนาคารเช่นเดียวกับตระกูลล่ำซำ นั่นคือ อึ้งยุกหลง ได้แต่งงานกับ ทองอยู่ หวั่งหลี ซึ่งเป็นหวั่งหลีรุ่นที่ 2 โดยมีบุตรและธิดา รวม 7 คน อันได้แก่ โชติ ล่ำซำ ,จุลินทร์ ล่ำซำ ,เกษม ล่ำซำ ,จวง ล่ำซำ ,ทองพูน ล่ำซำ ,เล็ก ล่ำซำ และพิศศรี ล่ำซำ

การที่ตระกูลล่ำซำแต่งงานกับตระกูลหวั่งหลีนี่เอง ทำให้ทั้งสองตระกูลมีความสัมพันธ์และสนิทสนมผูกพันกันมากกระทั่งต่อมาคนทั้งสองตระกูลได้แต่งงานไขว้กันมา 3 รุ่นแล้ว โดยเฉพาะบุตรหลานของตระกูลล่ำซำหลายคนที่เกิดในบ้านหวั่งหลี

ตระกูลล่ำซำก็เป็นเฉกเช่นเดียวกันกับตระกูลชาวจีนโพ้นทะเลหลายๆตระกูล ที่ภายหลังจากสะสมทุนด้วยการประกอบธุรกิจการค้าจนร่ำรวยระดับหนึ่งแล้ว ก็พยายามเข้าหาชนชั้นปกครองหรือนักการเมืองด้วยมรรควิธีเข้าไปสร้างความสัมพันธ์ทางผลประโยชน์หรือเข้าไปสนิทชิดเชื้อเพื่อจะได้นำความสัมพันธ์นั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจของตระกูลต่อไป สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ หนึ่งในขุนนางที่มีบทบาทและอิทธิพลในยุคนั้น มีความสนิทคุ้นเคยและให้ความอนุเคราะห์หรือเป็นที่พึ่งพิงแก่ตระกูลล่ำซำมาโดยตลอด

ในปี 2475 ธุรกิจของตระกูลล่ำซำ ประกอบด้วยบริษัทห้างร้าน โรงเลื่อยและโรงสี ทั้งในและต่างประเทศ ดังนี้ ที่กรุงเทพฯ มีห้างก้วงโกหลง หรือห้างล่ำซำ ,โรงเลื่อยกวงกิมหลง ,โรงสีกวางยุกหลง ที่สิงคโปร์ มี บริษัทกวางกิมล้ง ที่ฮ่องกง มี บริษัทกวางกิมล้ง ที่เซี่ยงไฮ้ มีบริษัทกวงชิล้ง ที่กวางตุ้ง มีบริษัทวังล้ง ที่ปัตตาเวีย มี บริษัทกวงกิมล้ง ที่ลอนดอน มีบริษัท Loxley Co.Ltd. นอกจากนี้ อึ้งยุกหลงยังร่วมทุนกับพรรคพวกเปิดภัตตาคารชื่อ “ห้อยเทียนเหลา” หรือ “หยาดฟ้าภัตตาคาร”

เมื่อทั่วโลกต่างประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่อย่างทั่วด้านกระทั่งได้มีการลดค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และเงินปอนด์อังกฤษ ธุรกิจของตระกูลล่ำซำก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงจากการได้รับผลกระทบในครั้งนี้ได้ โดยเฉพาะการส่งออกข้าว รวมทั้งความตกต่ำของผลผลิตทางด้านการเกษตร อย่างไรก็ตาม การที่อึ้งยุกหลง ล่ำซำ เป็นผู้ที่มีสายตายาวไกล มีวิสัยทัศน์ที่เยี่ยมยอดคนหนึ่ง สามารถ เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส จึงทำให้ผลกระทบไม่ถึงกับต้องพังพาบลงอย่างสิ้นเชิง ที่สำคัญคือการที่เขาพยายามเข้าไปอิงฐานอำนาจรัฐหรืออำนาจทางการเมืองใหม่ในคณะราษฎร พร้อมกับกระชับความสัมพันธ์ทางการค้ากับกลุ่มทุนต่างประเทศซึ่งเป็นพันธมิตรการค้า นอกจากนี้ ในการปูทางสร้างรากฐานให้แก่ล่ำซำรุ่นต่อๆไป เขาได้ส่งบุตรชายทั้ง 3 คน คือ โชติ ,จุลินทร์ และเกษม ไปเรียนรู้และไปหาประสบการณ์ทางด้านธุรกิจการค้าจากประเทศตะวันตก ซึ่งเป็นประเทศที่พัฒนาทางด้านธุรกิจการค้า การบริหารและการจัดการธุรกิจ โดยไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ

ในปี 2479 อึ้งยุกหลง ยังมีบทบาทและอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งใน “สมาคมพาณิชย์จีน” ซึ่งเป็นสมาคมที่มีอิทธิพลต่อชาวจีนโพ้นทะเลและชาวไทยเชื้อสายจีนมากที่สุดสมาคมหนึ่งในยุคก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จนกระทั่งในปี 2482 เขาก็ถึงแก่กรรมด้วยน้ำมือของพวกอั้งยี่

รุ่นที่ 3 ก่อกำเนิดธนาคารกสิกรไทย

ในช่วงที่ อึ้งยุกหลง ถูกฆาตกรรมถือว่าตระกูลล่ำซำยังมีโชคอยู่บ้างที่บุตรชายทั้งสามของอึ้งยุกหลง อันได้แก่ โชติ,จุลินทร์ และ เกษม โตเป็นหนุ่ม จึงสามารถรับช่วงในการดำเนินธุรกิจต่อจากผู้เป็นบิดาได้แล้ว นอกจากจะประคับประคองกิจการต่างๆ ยังมีการขยายการลงทุนเพิ่มเติม โดยนายโชติ ล่ำซำ เน้นขยายงานของล่ำซำเดิม แต่ จุลินทร์มุ่งสร้างงานเพิ่มขึ้นนอกจากบริษัทเดิม เช่น ร่วมลงทุนและบริหารในบริษัทค้าพืชผลไทย บริษัทพืชผลอีสาน บริษัทไทยนิยมพาณิชย์

ในปี 2483 รัฐบาลได้จัดตั้งหอการค้าไทยขึ้นเพื่อส่งเสริมธุรกิจของคนไทย จุลินทร์ ก็ได้รับตำแหน่งเป็นประธานหอการค้าไทยคนแรก

นายโชติ ล่ำซำ ได้แต่งงานกับ น้อม และได้มีบุตรและธิดา ทั้งหมด 8 คน ประกอบไปด้วย บัญชา,ชูจิตร,ชัชนี,ธนาทิพย์,บรรยงค์,บรรจบ ,ยุพิน และ ยุตติ ตามลำดับ โดยบัญชาเป็นบุตรคนโต เกิดเมื่อปี 2468 ซึ่งต่อมากลายเป็นผู้นำตระกูลล่ำซำรุ่นที่ 4

ครั้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือสงครามมหาเอเชียบูรพาอุบัติขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบเมื่อเช้าวันนที่ 8 ธันวาคม 2484 วันที่จักรวรรดิญี่ปุ่นได้ก่อสงครามและเข้ายึดครองประเทศไทย กระทั่งรัฐบาล ป.พิบูลสงคราม จำต้องประกาศร่วมกับญี่ปุ่นสู้รบกับประเทศสัมพันธมิตร ผลของการประกาศสงครามครั้งนั้น มิเพียงแต่ทำให้การค้าต่างประเทศของไทยกับประเทศตะวันตกต้องหยุดชะงักลงเท่านั้น ทว่ายังทำให้กิจการและทรัพย์สินของสาขาธนาคารชาวตะวันตกผู้เป็นประเทศคู่สงครามต้องตกเป็นของรัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่นด้วย ซึ่งก็เป็นไปตามธรรมเนียมของการทำสงครามทั่วไป ที่ต้องยึดทรัพย์สินของชนชาติศัตรูคู่สงครามเอาไว้ ทั้งภาคธนาคารพาณิชย์ข ภาคอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม โดยเฉพาะกิจการส่งออกพืชเกษตร กิจการโรงสี กิจการเดินเรือ กิจการประกันภัย ที่เคยถูกต่างชาติพยายามดาหน้าเข้ามายึดครองมาเป็นเวลาช้านาน ได้สิ้นสุดแทบจะสิ้นเชิง ในขณะที่อิทธิพลและบทบาทของชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย ได้ดาหน้าเข้ามาประกอบธุรกิจการค้าแทนที่ชาวตะวันตก พร้อมกับพวกเขาต่างก็ได้ปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อความเติบโตของธุรกิจครอบครัวที่นับวันมีอนาคตรุ่งโรจน์โชติช่วงชัชวาล ดังที่กล่าวว่า “สงครามเป็นทั้งผู้สร้างสรรค์และผู้ทำลาย” เพราะเป็นการกรุยทางสร้างโอกาสอันดีสำหรับคนไทยเชื้อสายจีนให้เริ่มต้นดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของตนเองขึ้นในประเทศไทยแทนที่สาขาธนาคารพาณิชย์ของชาติตะวันตก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามได้สร้าง “นายทุนนายธนาคาร” ขึ้นมาหลายกลุ่ม เป็นต้นว่า กลุ่มโสภณพณิช,กลุ่มรัตนรักษ์,กลุ่มเตชะไพบูลย์,กลุ่มเอื้อชูเกียรติ,กลุ่มนันทาภิวัฒน์,กลุ่มชลวิจารณ์และกลุ่มล่ำซำ ในวันที่ 8 มิถุนายน 2488 ธนาคารกสิกรไทย ได้ถูกก่อตั้งขึ้น โดยมีทุนจดทะเบียนครั้งแรก 5 ล้านบาท สำนักงานใหญ่เป็นตึกแถว 3 ชั้น 5 คูหา ตั้งอยู่แถวถนนเสือป่า โดยนายโชติ ล่ำซำ ร่วมกับพี่น้อง และเพื่อนฝูงเป็นผู้ก่อตั้ง ด้วยเห็นว่าสงครามมหาเอเชียบูรพาจะยุติลงในไม่ช้า และภายหลังสงครามเศรษฐกิจของไทยและโลกจะฟื้นตัวและเฟื่องฟูกว่าแต่ก่อนอย่างแน่นอน การผลิตจะขยายตัว ในขณะที่ความต้องการกำลังทุนจะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าระหว่างประเทศเริ่มมีบทบาทมากยิ่งขึ้นตามลำดับ มีแต่ธนาคารพาณิชย์เท่านั้น ที่จะเป็นสถาบันเศรษฐกิจรองรับสภาพเศรษฐกิจขณะนั้นได้ดี ในขณะนั้น ธนาคารพาณิชย์ยังมีอยู่จำกัดไม่เพียงพอจะรองรับการฟื้นฟูของเศรษฐกิจหลังสงคราม

นโยบายของนายโชติ ล่ำซำ ในการก่อตั้งธนาคารกสิกรไทย คือ เน้นลูกค้ารายย่อยและเน้นลูกค้าในชนบทเป็นสำคัญ สอดคล้องกับชื่อ “กสิกรไทย” ที่หมายถึงชาวนาชาวไร่ที่เป็นมวลชนหลักของประเทศ กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งในขณะนั้นมีอยู่มากกว่า 80 % ของประชากรทั้งหมด

ต่อมาธนาคารกสิกรไทยก็เริ่มเปิดสาขาแรกของตัวเองขึ้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2488 เนื่องจากหาดใหญ่เป็นอำเภอที่มีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจการค้าขายเป็นอันมาก เป็นศูนย์กลางติดต่อการค้าขายของภาคใต้ไม่ว่าจะเป็นสินค้าจากภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย และสินค้าที่มาจากมลายูและสินค้าที่จะส่งไปมลายูก็ตาม ต่อมาก็มีการขยายสาขาไปตามจังหวัดที่มีเศรษฐกิจเฟื่องฟู ในแต่ละภูมิภาค ซึ่งเป็นไปตามนโยบาย เป้าหมาย ของผู้ก่อตั้งธนาคารกสิกรไทยที่ต้องการปล่อยสินเชื่อแก่ธุรกิจภาคการเกษตร มากกว่าที่จะปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคพาณิชยกรรมและภาคอุตสาหกรรม เพราะเห็นว่าธนาคารกสิกรไทยควรยึดเอาตลาดล่าง คือตลาดที่มี “มวลชน” เป็นฐานสำคัญนั่นเอง โดยในช่วงนั้นบุตรของโชติ และจุลินทร์ อันได้แก่ บัญชา และ ปรีชา ก็ได้เริ่มเข้าช่วยงานในธนาคาร โดยทำหน้าที่เป็นเสมียน

ในปี 2489 จุลินทร์ ล่ำซำ ยังได้ร่วมมือกับบุคคลในคณะราษฎร จัดตั้งบริษัท คลังสินค้าแม่น้ำจำกัด ขึ้นอีกด้วย โดยมีเกษม ล่ำซำ น้องชายคนเล็ก เข้ามาช่วย บริษัทนี้จัดตั้งเพื่อเป็นคลังสินค้าที่รับจำนำสินค้าทั่วไป และทำหน้าที่กัมปะโดให้แก่ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งกัมปะโด เป็นการว่าจ้างนักธุรกิจหรือพ่อค้าที่มีฐานะมั่นคง และเป็นที่รู้จักกว้างขวางเป็นที่เชื่อถือในท้องถิ่น ให้มาเป็นพนักงานประจำของธนาคาร ซึ่งทำหน้าที่หาเงินฝาก และปล่อยสินเชื่อโดยกัมปะโดจะต้องนำหลักทรัพย์มาค้ำประกันวงเงินสินเชื่อให้แก่บุคคลที่กัมประโดแนะนำมา แต่ภายหลังก็ได้ยกเลิกระบบกัมประโด เนื่องจากความยุ่งยากในการจัดการ

ภายหลังเกิดรัฐประหารในปี 2490 กลุ่มทหารรุ่นใหม่ในกองทัพบกเริ่มแผ่อำนาจ และได้แตกแยกกันออกเป็น 2 ขั้นอำนาจ คือ สายราชครู และ กลุ่มบ้านสี่เสาฯ โดยมีจอมพลผิน ชุณหะวัณ และ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้นำของแต่ละกลุ่ม ทางกลุ่มล่ำซำเองแม้จะมีความโน้มเอียงมาทางฝ่าย กลุ่มบ้านสี่เสาฯ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ละทิ้งกลุ่มราชครู โดยจุลินทร์ ค่อนข้างจะสัมพันธ์กับกลุ่มสายราชครู ขณะที่เกษม ล่ำซำ น้องชาย สนิทกับกลุ่มบ้านสี่เสาฯ ต่อมาปรากฎว่ากลุ่มบ้านสี่เสาฯ ชนะขาดลอยต่อกลุ่มราชครู นับว่าตระกูลล่ำซำเป็นการแทงหวย หรือเลือกข้างอย่างได้ผล

นับแต่ปี 2490 เป็นต้นมาธุรกิจของตระกูลล่ำซำ มีการขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง ทั้งฝ่ายทางลูกชายผู้สืบตระกูล ตลอดถึงลูกเขยที่เข้าไปต่อสายกับตระกูลเจ้าสัวบางตระกูล เช่น ตระกูลหวั่งหลี และตระกูลลิ่วเฉลิมวงศ์ ในปีนี้เอง พี่น้องตระกูลล่ำซำ ได้มีการจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาอีกบริษัทหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่จัดการทรัพย์สินของตระกูล บริษัทนี้ชื่อว่า “บริษัท สมบัติล่ำซำ จำกัด” โดยมีกฎเหล็กสำหรับบริษัทว่า หุ้นของบริษัท สมบัติล่ำซำ จำกัด นั้น เมื่อต้องการโอน ไม่ว่าจะโดยวิธีขายหรือยกให้กันเปล่า ฟรีๆ ห้ามโอนให้กับบุคคลภายนอกตระกูล “ล่ำซำ” อย่างเด็ดขาด และผู้ที่จะมาเป็นกรรมการของบริษัทได้จะต้องเป็นชาย และชายผู้นั้นจะต้องอยู่ในฐานะเป็นผู้สืบสกุลของตระกูลล่ำซำเท่านั้น ยกเว้นเมื่อหาผู้ชายเป็นผู้สืบสกุลล่ำซำไม่ได้จึงจะอนุโลมให้ผู้ถือหุ้นเกินกว่า 10 หุ้นขึ้นไป ที่มีความเกี่ยวพันกับตระกูลล่ำซำ โดยการสมรสมาเป็นกรรมการของบริษัทนี้ได้

หลังจากผู้นำตระกูลรุ่นที่ 3 ได้ก่อตั้งธนาคารกสิกรไทยเพียง 3 ปี และก่อตั้งบริษัท สมบัติล่ำซำ จำกัด ได้เพียงไม่ถึงปี คือในปี พ.ศ.2491 โชติ ล่ำซำ ผู้นำที่อาวุโสสูงสุดของตระกูลล่ำซำ รุ่นที่ 3 ได้ถึงแก่กรรมอย่างกะทันหัน นับเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญยิ่งสำหรับตระกูลล่ำซำและธนาคารกสิกรไทย ทำให้ จุลินทร์ ล่ำซำ ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการ และ เกษม ล่ำซำ น้องชายคนเล็กที่จบวิชาการธนาคาร จากอังกฤษ มาดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการ

นอกจากกิจการธนาคารกสิกรไทยและธุรกิจอื่นๆ อีกมากมายที่ โชติ ล่ำซำ ได้มอบให้พี่น้องและลูกหลานดำเนินการ ปรัชญาในการทำงานของโชติ ล่ำซำ ก็ยังเป็นมรดกตกทอดถึงลูกหลานในการประกอบธุรกิจ “การที่จะประสบความสำเร็จในเรื่องใด ไม่ว่าจะเป็นการงานหรือชีวิต ต้องเริ่มจากทำงานหนัก ซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา และเหนือสิ่งอื่นใด เราไม่สามารถทำทุกสิ่งด้วยตนเองได้ เพราะฉะนั้นจะต้องสรรหาผู้ใต้บังคับบัญชาที่เหมาะสมและต้องใจกว้าง ดูแลทุกข์สุขเขาให้ดีด้วย “

เกษม ล่ำซำเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการวางระบบธนาคารกสิกรไทยตามรูปแบบของธนาคารอังกฤษ รวมทั้งยังเป็นนายธนาคารอาวุโสที่คนในวงการธนาคารต่างให้การยอมรับกันมาก ที่สำคัญคือ เขาเป็นผู้นำคนสำคัญในการเป็นผู้ก่อตั้ง “สมาคมธนาคารไทย” และได้รับเลือกให้เป็นประธานคนแรกของสมาคม นอกจากนี้ยังเป็นผู้ริเริ่มประเพณีการฝึกและส่งพนักงานไปอบรมที่อังกฤษ รวมทั้งการให้ทุนแก่นักศึกษาไปศึกษาต่อต่างประเทศ และกลับมาทำงานที่ธนาคารหลังจบการศึกษา

ธนาคารกสิกรไทยภายใต้การบริหารงานของเกษม ล่ำซำ และ จุลินทร์ ล่ำซำ ยังคงยึดนโยบาย เป้าหมายและเข็มมุ่งเฉกเช่นเดียวกันกับยุคของ โชติ ล่ำซำ ที่ได้กำหนดไว้ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งธนาคาร คือ มุ่งขยายกิจการไปตามหัวเมืองส่วนภูมิภาคเป็นหลัก มากกว่าที่จะให้ความสนใจในเขตกรุงเทพฯและธนบุรี แต่อย่างไรก็ตามในช่วง ปี 2496 ถึง 2504 เกษม ล่ำซำ ได้เปลี่ยนนโยบายใหม่ โดยเริ่มที่จะหันมาขยายงานในกรุงเทพฯและธนบุรี โดยอาศัยการเช่าหรือซื้ออาคาร มาเปิดดำเนินการ มากกว่าการซื้อที่ดินและสร้างอาคารเป็นการถาวรในปัจจุบัน
บทบาทและภาระหน้าที่ของเกษม ล่ำซำ นั้นไม่เพียงแต่จะเป็นผู้สานต่อเจตนารมณ์และนโยบายที่โชติ ล่ำซำผู้เป็นพี่ชายกำหนดไว้เท่านั้น ทว่า เขายังสร้างผลงานด้วยการขยายกิจการของธนาคารให้เติบใหญ่ไพศาล โดยเฉพาะขยายสาขาไปยังที่ตามหัวเมืองอันเป็นจุดสำคัญทางธุรกิจในแต่ละภูมิภาคของประเทศ และยังเป็นผู้วางรากฐานระบบสาขาในส่วนกลางให้กับธนาคารกสิกรไทยอีกอ้วย

จนกระทั่งในปี 2505 เกษม ล่ำซำ เสียชีวิตด้วยเครื่องบินตกที่ไทเป เกาะไต้หวัน ภาระหน้าที่ทั้งหมดในการบริหารกิจการธนาคารกสิกรไทย จำกัด จึงตกอยู่บนบ่าของ บัญชา ล่ำซำ ลูกชายคนโตของ โชติ ล่ำซำ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการที่มี จุลินทร์ ล่ำซำ เป็นประธานในที่ประชุม และให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เนื่องจากความสำเร็จของเขาในการบริหารกิจการเมืองไทยประกันชีวิต และความสามารถในการกอบกู้วิกฤติของบริษัท ล่ำซำ ประกันภัย จำกัด นั่นเอง

รุ่นที่ 4 ความเจริญรุ่งเรืองของธนาคารกสิกรไทย

บัญชา ล่ำซำ บุตรชายคนโตของ โชติ ล่ำซำ (ผู้นำตระกูลรุ่นที่ 3) และในฐานะที่เป็น “เจเนอเรชั่น “ หรือ “รุ่น” ที่ 4 ของตระกูลล่ำซำ ทำให้ชีวิตในปฐมวัยของเด็กชายบัญชา นอกจากจะได้รับความสะดวกสบายไม่ต้องลำบากยากแค้นเหมือนกับชีวิตในวันเด็กของเจ้าสัวบางคนแล้ว ยังได้รับการประคบประหงมเป็นอย่างดีท่ามกลางเครือญาติตระกูลล่ำซำที่พำนักอยู่ในบ้านประจำตระกูลที่ชื่อ “บ้านสิญญาณ” แต่ก็ยังถูกฝึกฝนให้เป็นคนขยันหมั่นเพียรบุกบั่นมุ่งมั่นและต่อสู้ชีวิต รวมทั้งการทำงานบ้านสารพัด

ในด้านของบัญชา ล่ำซำ ถือว่าเป็นคนซีเรียสและเจ้าระเบียบ ตั้งแต่เล็กโดยจะจัดของเรียบร้อยมาก สันหนังสือเรียงเท่ากัน เวลาไปเที่ยวหรือทัวร์ที่ไหนก็ตาม ก็วางแผนแล้วก็ไปตามนั้น และเป็นคนใจกว้าง ในวัยเรียน บัญชา ได้เข้าเริ่มเรียนหนังสือชั้นประถมที่โรงเรียนสุรศักดิ์ จากนั้นก็ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ลักษณะเด่นในวัยเรียนก็คือ ความขยันหมั่นเพียร ความมีมานะบุกบั้นในการศึกษาสูงยิ่ง และเอาใจใส่อย่างจริงจังในการทำการบ้านและอ่านหนังสือ แม้ผลการเรียนจะอยู่ในระดับปานกลางแต่ในด้านความคิดความอ่านเหนือกว่าเด็กหนุ่มรุ่นเดียวกัน

จากนั้นก็ได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และได้เข้าเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ ของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2486 ภายหลังได้ย้ายมาเรียนคณะวิทยาศาสตร์แผนกเคมี แต่เนื่องจากทำกิจกรรมกับสโมสรมากเกินไปจนไม่มีเวลาทบทวนตำรา ทำให้ไม่อาจสำเร็จการศึกษาได้ จึงเป็นเหตุให้ บัญชา ล่ำซำ ตัดสินใจเดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา

ในปี 2490 ไม่เพียงแต่เป็นปี ที่ตระกูลล่ำซำกำลังบุกเบิกกิจการธนาคารกสิกรไทยเท่านั้น ทว่าเป็นปีที่ บัญชา ล่ำซำได้ตัดสินใจเดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา หลังจากสอบไม่ผ่านแผนกวิชาเคมี ถึงแม้มีโอกาสที่จะเรียนซ้ำชั้น หรือสอบซ่อมใหม่ เนื่องจากสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นเป็นประเทศผู้ชนะสงครามใหม่ๆ และเป็นประเทศที่กำลังมีความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและวิทยาการล้ำยุคกว่าทุกประเทศในโลก โดยเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน

ระบบการเรียนในอเมริกาบังคับให้ทำงานหนัก ทำด้วยตนเองและทำงานแข่งกับเวลา จนสร้างนิสัยที่จะสู้งานหนัก และทำงานให้เสร็จโดยไม่คำนึงถึงอุปสรรคหรือความเหน็ดเหนี่อย บางครั้งก็ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำต่อเนื่องกันเป็นอาทิตย์ นับเป็นประสบการณ์และบทเรียนอีกอย่างหนึ่งที่บัญชา ล่ำซำ ได้เรียนรู้

ในปี 2493 บัญชา สำเร็จการศึกษาปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมิชิแกน แอนน์ อาร์เบอร์ จึงได้กลับประเทศไทยปลายปี 2493 เพื่อช่วยกิจการในครอบครัว ทันทีที่กลับถึง บัญชาก็ได้ร่วมก่อตั้งและเข้าบริหารกิจการบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต ร่วมกับจุลินทร์ โดยก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการ ในวัยเพียง 26 ปีเท่านั้น

ในปี 2494 ก็ได้หมั้น กับ ม.ร.ว.สำอางวรรณ เทวกุล และได้แต่งงานกันในปี 2495 โดยมีบุตรธิดารวมกัน สามคน คือ บัญฑูร ล่ำซำ (ผู้นำตระกูลในรุ่นที่ 5) ,สุวรรณ ล่ำซำ ,วรางคณา ล่ำซำ

ในปี 2496 ก็ได้เข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต และเข้ากอบกู้บริษัทล่ำซำประกันภัยและคลังสินค้า โดยในช่วงนั้นสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจมีความชะงักงันอีกครั้งเนื่องจากสงครามเกาหลีได้ยุติลง ทำให้สินค้าเกษตรตกต่ำไม่ว่าจะเป็น ยางพารา ไม้สัก และแร่ธาตุ ทำให้ประเทศไทยต้องประสบกับการชาดดุลการค้า นับแต่ปี 2495 เป็นต้นมา

ตั้งแต่ปี 2496 เป็นต้นมา นอกจากบัญชาจะทุ่มเทพัฒนากิจการเมืองไทยประกันชีวิตและบริษัทล่ำซำประกันภัยและคลังสินค้าแล้ว บัญชายังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงที่สำคัญในการชักชวนบริษัทประกันภัยอื่นๆ ให้มาร่วมกันก่อตั้งสมาคมประกันชีวิตอีกด้วย เพราะฝีมือในการบริหารที่เป็นเลิศ ด้วยความสามารถ ด้วยกลยุทธ์ ด้วยแนวทางและนโยบายบริหารที่มีประสิทธิภาพ จึงไม่เพียงแต่รักษากิจการประกันภัยของตระกูลให้ดำรงอยู่ได้ตราบเท่าทุกวันนี้เท่านั้น ทว่ายังทำให้กิจการของตระกูลสามารถเจริญก้าวหน้าและมีรากฐานอันมั่นคง สามารถดำรงความเติบใหญ่อยู่ได้แม้ในขณะที่วิกฤติทางเศรษฐกิจที่ร้อนแรงตราบทุกวันนี้

ในปี 2505 บัญชาลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต เพื่อก้าวสู่ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย แต่ยังคงดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต และดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทล่ำซำประกันภัยและคลังสินค้า (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ภัทรประกันภัย จำกัด) จนกระทั่งถึงปี 2520 ผู้นำตระกูลล่ำซำคนอื่นๆ จึงก้าวมารับตำแหน่งแทน

การก้าวสู่ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทยของบัญชา ล่ำซำ ด้วยวัยเพียง 38 ปี ไม่เพียงแต่เป็นเพราะโชคชะตาชีวิตและด้วยความบังเอิญ หากแต่เป็นตามมติของสภาตระกูล เมื่อมารับตำแหน่งนายบัญชาเห็นว่าขั้นต่อไปก็คือ การสานความเจริญก้าวหน้าของธนาคารต่อไปให้เต็มที่ จึงได้ตั้งเป้าหมายให้ธนาคารกสิกรไทยก้าวขึ้นสู่ระดับผู้นำของวงการ ทั้งขนาดของสถาบันและคุณภาพ

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว นายบัญชา ได้วางแผนระยะยาวขึ้นเสริมสร้างปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ให้สอดคล้องกันทุกด้าน เพื่อสนับสนุนความเจริญเติบโตให้กับธนาคารกสิกรไทย ด้านหนึ่งคือ การเตรียมการเพิ่มทุน เพื่อขยายกำลังการประกอบธุรกิจพร้อมๆกับด้านการขยายเครือข่ายสาขา เพื่อยึดพื้นที่วางจุดขายให้กว้างขวาง การขยายฐานทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ เพื่อรองรับการขยายงานดังกล่าว และอีกด้านหนึ่งซึ่งต้องดำเนินควบคู่ไปคือการส่งเสริมการตลาด

กลยุทธ์สำคัญอีกกลยุทธ์ที่บัญชานำมาใช้ ก็คือ การพัฒนาทรัพยากรคน อย่างจริงจังและต่อเนื่อง เนื่องจากประสบการณ์ของตนเองสมัยเข้าทำธุรกิจประกันชีวิต บัญชา มองธุรกิจธนาคารได้ขาดว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “คน” หรือ “บุคลากร” ดังนั้นนโยบายเร่งสร้างและขยายบุคลากรที่มีคุณภาพ ถือเป็นนโยบายเร่งด่วน มีการเปลี่ยนแปลงระบบรับพนักงาน คือเปลี่ยนจาก “ตั้งรับ” มาเป็นฝ่าย “รุก” ด้วยการไปสัมภาษณ์ถึง มหาวิทยาลัย โดยเน้นนักศึกษาปริญญาตรีปีสุดท้ายเป็นหลัก เขาเห็นว่าคนที่เขารับเข้าทำงานนั้น ไม่จำเป็นต้องเก่งนัก เก่งพอประมาณ และมีกิจกรรมพิเศษต่างๆ “คนเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ถ้ามีคนดีงานก็เสร็จไปแล้ว 60% ไม่ว่าจะทำอะไร ถ้าเรามอบหมายงานให้ถูกคน ถูกอุปนิสัย ถูกความสามารถของเขา แต่ถ้ามอบงานให้ไม่ถูกคนแล้ว นอกจากงานจะไม่เดิน ยังจะทำให้อย่างอื่นช้าตามไปอีก ผมจึงถือว่าคนเป็นปัจจัย เป็นทรัพยากรสำคัญที่สุด”

ไม่เพียงแค่นั้น บุคลากรที่เข้ามาทำงานในธนาคารกสิกรไทยทุกคน ยังได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมให้ศึกษาต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด รวมทั้งธนาคารยังให้ทุนแก่บุคคลภายนอกไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ต่างประเทศอีกด้วย โดยเริ่มให้ทุนตั้งแต่ปี 2509 ที่สำคัญบัญชามีนโยบายเรื่องบุคลากรไว้ชัดเจนว่า จะสร้างคนแต่ไม่ซื้อคน

นอกจากนี้ บัญชายังมีมรรควิธีอันเป็นเคล็ดลับ ในการทำงานให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน คือ ต้องมีเงื่อนไข 3 ประการต่อไปนี้ “เจ้านายรัก ลูกน้องบูชา และเพื่อนฝูงเสน่หา” ซึ่งสามสิ่งที่ได้มานี้ บัญชาเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องเป็นคน “ซื่อสัตย์ ขยัน อดทน มานะ สามัคคี ไร้ริษยา และ บริหารเวลาเป็น”

สำหรับนโยบายและระบบในการแต่งตั้งพนักงาน รวมทั้งการให้ความดีความชอบ ในยุคบัญชา ให้โอกาสในการก้าวหน้าแก่พนักงานอย่างเท่าเทียมกัน คือให้ความยุติธรรมในการเลื่อนขั้น โดยได้ยึดถือผลงานยิ่งกว่าความอาวุโส และการสร้างวินัยให้เกิดขึ้นซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเฉพาะองค์กร นอกจากนี้ยังมีการตั้งคณะกรรมการ หรือคณะทำงานขึ้นมาเพื่อทำงานชิ้นหนึ่งๆ เพื่อให้พนักงานร่วมกันทำเป็นทีม
นอกจากความพยายามในการขยายกิจการสาขาของธนาคารกสิกรไทยให้กว้างใหญ่ไพศาล ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด บัญชา ยังให้ความสำคัญในการสร้างภาพพจน์ของธนาคารอีกด้วยเนื่องเพราะในยุคนั้น ด้านหนึ่งภาพพจน์ของธนาคารทั่วไป มีภาพลักษณ์ไม่แตกต่างจากโรงรับจำนำ อีกทั้งการให้บริการที่ไม่แตกต่างจากระบบราชการเท่าใดนัก ยิ่งหลังเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 กลุ่มปัญญาชนที่ก้าวหน้าในยุคนั้นมองว่าธนาคารเปรียบเสมือนปลิงดูดเลือดสังคม และเสือนอนกิน บัญชา จึงพยายามเปลี่ยนภาพลักษณ์ของธนาคารกสิกรไทย โดยการวิธีในการบริหารที่มุ่งจับคนรวยซึ่งเป็นตลาด “ระดับบน” มาสู่คนชั้นกลางซึ่งเป็นตลาด “ระดับล่าง” นอกจากนี้ยังเน้นให้พนักงานเห็นคุณค่าของคำว่า “บริการ” แก่ลูกค้าทุกระดับเท่าเทียมกัน โดยในยุคบัญชา ได้กำหนดคำขวัญของธนาคารใหม่เป็น “บริการทุกระดับประทับใจ” และใช้สัญลักษณ์ประจำธนาคารเป็นรูป “รวงข้าว”
สำหรับกลยุทธ์ “เดินเข้าหาลูกค้า” นับเป็นกลยุทธ์ที่ได้ผลยิ่งเพราะทำให้ไม่เพียงแต่ธนาคารกับลูกค้ามีความใกล้ชิดผูกพันกันเท่านั้น แต่ยังทำให้ธนาคารกสิกรไทยเป็นที่นิยมชมชอบของลูกค้าอีกด้วย เพราะลูกค้าบางคนรู้สึกภูมิใจที่มีพนักงานของธนาคารไปพบถึงที่ทำงานหรือที่บ้าน แทนที่เขาจะเข้าไปพินอบพิเทากับเจ้าหน้าที่หรือผู้บริหารธนาคารเช่นแต่กาลก่อน นอกจากนี้ยังมีการบริหารแบบกระจายอำนาจ รวมทั้งออกติดตามผลการดำเนินในแต่ละสาขาด้วยตัวเอง

สำหรับความก้าวหน้าเติบใหญ่ของธนาคารกสิกรไทย เริ่มปรากฏเด่นชัดในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่ก้าวเข้ามาแบกรับภารกิจในการบริหาร เป็นต้นมา นั่นก็คือในปี 2509 ธนาคารได้เพิ่มทุนจากเดิม 20 ล้านบาทเป็น 50 ล้านบาท เพื่อให้รองรับการเติบใหญ่ของธนาคาร และเพื่อให้มีกองทุนสูงพอสำหรับการขยายสินเชื่อให้กับกิจการต่างๆได้อย่างกว้างขวาง

การที่กิจการขยายตัวอย่างรวดเร็วนี้เอง เป็นเหตุให้สำนักงานใหญ่แออัดคับแคบ ดังนั้น เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2510 คณะกรรม

การที่กิจการขยายตัวอย่างรวดเร็วนี้เอง เป็นเหตุให้สำนักงานใหญ่แออัดคับแคบ ดังนั้น เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2510 คณะกรรมการบริหารจึงอนุมัติตามข้อเสนอของบัญชาให้ย้ายสำนักงานใหญ่จากตึกเล็กๆ บนถนนเสือป่า มาตั้งอยู่ ณ อาคาร 9 ชั้น เลขที่ 142 ถนนสีลม ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ธนาคารกสิกรไทย ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานตราตั้ง (ตราครุฑ) ให้เป็นธนาคารพาณิชย์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยผลงานที่ให้บริการธนาคารพาณิชย์ต่อประชาชน ธุรกิจ และสถาบันต่างๆ เป็นการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ

จากแรกเริ่มเมื่อปี 2505 เมื่อบัญชาเริ่มเข้าทำงาน ธนาคารมีสาขาอยู่เพียง 36 สาขา จัดอยู่ในระดับ 9 ของธนาคารพาณิชย์ไทย แต่หลังจากปี 2510 ธนาคารกสิกรไทยได้ก้าวมายืนแถวหน้าของวงการธนาคารอย่างสง่าผ่าเผย ดังจะเห็นได้จากในปลายปี 2513 มียอดเงินฝากเพิ่มขึ้นเป็น 2,233.5 ล้านบาท สินทรัพย์ 2,719 ล้านบาท มีสาขา 78 สาขา และมีพนักงาน 1,645 คน รวมทั้งมีการขยายสาขาไปยังลอนดอน, แฮมเบอร์ก ,นิวยอร์ก ,ลอสแองเจลิส,ฮุสตัน,เทกซัส,โตเกียว,ฮ่องกง

กล่าวได้ว่า ความสำเร็จของพี่ใหญ่ บัญชา ล่ำซำ ในการสรรค์สร้างธนาคารกสิกรไทย สมบัติอันล้ำค่าของตระกูลล่ำซำให้เติบใหญ่ มั่นคง และเกรียงไกร ในเวลาเพียง 10 ปีแรกที่เขาเข้ามาบริหารนั้น เพราะบัญชามีแนวทางการบริหารที่ถูกต้อง มีนโยบายที่ดี และมีกลยุทธ์ที่เยี่ยมยอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีสายตาอันยาวไกลที่เรียกว่ามี “วิสัยทัศน์” ที่ดี โดยเล็งเห็นว่าจะต้องแปรเปลี่ยนธุรกิจของครอบครัวให้เป็น “ธุรกิจของมหาชน” โดยในปี 2518 นำเอาหุ้นของธนาคารกสิกรไทย เข้าตลาดหลักทรัพย์ และในปี 2522 ได้นำเอาบริษัทประกันภัยอันเก่าแก่ของตระกูล คือบริษัทกวางอันหลง ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทภัทรประกันภัย และบริษัทภัทรธนกิจ เข้าตลาดหลักทรัพย์

ในปี 2519 บัญชาได้เลื่อนขึ้นไปดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริการ และได้ให้บรรยงค์ ล่ำซำ ผู้เป็นน้องชาย เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการแทน หลังจากนั้นกิจการก็ได้เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในทุกๆด้าน

ในช่วงปี 2524-2526 ประเทศไทยก็ได้ประสบกับวิกฤตทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง พร้อมๆกับความตกต่ำของเศรษฐกิจโลก ปัญหาทุนสำรองระหว่างประเทศ มีการปิดสถาบันการเงินต่างๆ ในปี 2527 สมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มีการปรับค่าเงินบาทจาก 23 เป็น 27 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งการใช้นโยบายดอกเบี้ยแพง เพื่อสกัดกั้นการขยายตัวของสินเชื่อผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ทำให้ธนาคารกสิกรไทยต้องมีการเพิ่มทุน โดยให้พนักงานช่วยกันขายหุ้น ซึ่งปรากฏว่าสามารถเพิ่มทุนได้ถึง 1,000 ล้านบาท นับว่าวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2527 ธนาคารกสิกรไทยดูเหมือนจะเป็นสถาบันการเงินเพียงแห่งเดียว ที่นอกจากจะไม่แสดงอาการว่าถูกกระทบกระเทือนแล้ว ยังมีกิจกรรมในเชิงรุกสถานการณ์ รวมทั้งการพัฒนาที่ก้าวหน้าล้ำยุคเหนือกว่าธนาคารอื่นหลายธนาคาร นั่นคือได้พัฒนารุดหน้าจนเป็นธนาคารอิเล็กทรอนิกส์สามารถให้บริการด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งระบบในปี 2527 โดยสามารถติดตั้งได้ภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี บริการเหล่านี้ได้แก่ ฝาก-ถอน ทั่วประเทศ ธนาคารทางโทรศัพท์ การถอนเงินอัตโนมัติ ฯลฯ

ในปี 2534 หลังจากที่นำพาธนาคารกสิกรไทยกลายมาเป็นธนาคารใหญ่อันดับ 3 รองจากธนาคารกรุงเทพฯ และธนาคารกรุงไทย โดยมีพนักงานทั้งสิ้น 15,039 คน มีสาขาทั่วประเทศ 363สาขา มีสำนักงานแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ จำนวน 42 แห่ง มีสาขาในต่างประเทศ 5 สาขา มียอดทรัพย์สินทั้งสิ้น 286,106 ล้านบาท บัญชาได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เนื่องจากโรคภัยไข้เจ็บทำให้สุขภาพของบัญชาย่ำแย่ลงเป็นลำดับ แต่คณะกรรมการธนาคารได้ตกลงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์ และให้บรรยงค์ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการและประธานกรรมการอำนวยการ และมีมติแต่งตั้งให้บัณฑูร ล่ำซำ บุตรชายคนเดียวของบัญชา ขึ้นดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ นับเป็นการถ่ายอำนาจการบริหารกิจการของตระกูลล่ำซำ จาก รุ่นที่ 4 ไปสู่ รุ่นที่ 5 ด้วยความเรียบร้อย ปราศจากปัญหาและอุปสรรคใดๆ

รุ่นที่ 5 การสืบสานกิจการ

วันที่ 26 ธันวาคม 2534 เป็นวันที่คณะกรรมการมีมติให้ บัณฑูร ล่ำซำ บุตรชายหัวแก้วหัวแหวนคนเดียวของบัญชา ขึ้นดำรงตำแหน่ง “กรรมการผู้จัดการ” แทนบรรยงค์ ล่ำซำ ในขณะที่มีอายุเพียง 39 ปี ซึ่งมีอายุใกล้เคียงกับตอนที่บัญชาเข้ามารับตำแหน่งเดียวกันนี้ เมื่อปี 2505 เป็นอันหมดยุคของผู้ก่อตั้งและผู้สร้าง เข้าสู่ยุคของผู้สานและพัฒนาธนาคารกสิกรไทยให้เจริญก้าวหน้าต่อไป โดยมีเครือญาติผู้ใหญ่เป็นทัพหลังคอยหนุนช่วย





ความแตกต่างระหว่างการก้าวเข้าสู่ตำแหน่งของบัญชาและบัณฑูรก็คือ บัญชาก้าวเข้ามาอย่างบังเอิญและฉุกละหุก โดยไม่ได้มีการตระเตรียมหรือมีการวางแผนไว้ล่วงหน้าเนื่องจากเกษม ล่ำซำ ถึงแก่กรรมด้วยอุบัติเหตุเครื่องบินตก

แต่ถึงกระนั้นภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของบัณฑูร ไม่เพียงแต่จะเป็นภาระหน้าที่อันหนักอึ้งเท่านั้น หากแต่ยังเป็นสิ่งท้าทายความสามารถของเขา ว่าจะนำพากิจการธนาคารกสิกรไทย ไปสู่ความรุ่งเรืองไพบูลย์มากกว่าหรือน้อยกว่าสมัยที่ผู้เป็นบิดาของเขาได้บุกเบิกและพัฒนาไว้

บัณฑูร ล่ำซำ มีชื่อเล่นว่า ปั้น เกิดเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2496 เส้นทางชีวิตในวัยเด็กและชีวิตการงานของบัณฑูร ถูกหล่อหลอมให้เป็นคนเจ้าระเบียบอยู่ในกรอบแบบประเพณีไทยๆ มาตั้งแต่เยาว์วัย โดยถูกฝึกให้เล่นดนตรีไทย และเป็นคนที่ชอบเครื่องดนตรีไทยเอามากๆคนหนึ่ง ขณะที่มีบุคลิกคล้ายกับบัญชามากที่สุดก็คือ เป็นคนเจ้าระเบียบและให้ความสำคัญกับความเป็นระเบียบและมีวินัยเอามากๆ โดยมีการศึกษาจบระดับปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเคมี จากสหรัฐอเมริกา และจบปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากฮาร์วาร์ด ของสหรัฐ ในปี 2520 จากนั้นก็กลับมาประเทศไทย และอาสาสมัครเป็นทหารเกณฑ์เพื่อรับใช้ชาติ โดยเป็นทหารสัญญาบัตรเพียงสองปีก็ปลดประจำการและเริ่มต้นเป็นพนักงานธนาคารกสิกรไทยทันทีในปี 2522

ตลอดระยะเวลายาวนาน ผู้เป็นบิดาได้กรุยทางสร้างรากฐาน ในการเข้ามารับช่วงการบริหารไว้เป็นอย่างดี จึงทำให้การรับตำแหน่งของบัณฑูร ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยราบรื่น ที่สำคัญก็คือ เจ้าสัวบัญชาได้มีการโยกย้ายเอาผู้บริหาร ที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับบัณฑูร ขึ้นมาทำงานในระดับที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าทีมบริหารงานในยุคของบัณฑูรนี้ ส่วนใหญ่ล้วนเป็นคนวัยหนุ่มเกือบทั้งสิ้น ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น บัณฑูรไม่เพียงจำชื่อพนักงานระดับล่างได้ดีเช่นเดียวกับบัญชาผู้เป็นบิดา หากแต่เขายังได้ทำความรู้จักมักคุ้นกับพนักงานเป็นอย่างดีโดยเฉพาะตลอดระยะเวลาที่เขาดูแลกิจการสาขาเป็นเวลา 3 ปีนั้น ปรากฏว่าเขาสามารถจดจำชื่อผู้จัดการสาขาได้ทั้ง 343 สาขา อย่างไม่น่าเชื่อ
งานแรกของบัณฑูรที่ธนาคารกสิกรไทย เป็นงานดูแลกิจการสาขาในต่างประเทศ รวมทั้งติดตามความเปลี่ยนแปลงของระบบธนาคารโลก อันเป็นพื้นฐานสำคัญยิ่งที่ช่วยให้เขามีวิสัยทัศน์กว้างไกล ในการนำพาธนาคารกสิกรไทยให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจในยุคโลกาภิวัฒน์ เฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนากลไก และระบบการบริหารสู่ความมีประสิทธิภาพก้าวทัดเทียมกับระบบการบริหารธนาคารของชาติตะวันตก ทั้งนี้ด้วยกลยุทธ์ “รีเอ็นจิเนียริ่ง” หรือ “การยกเครื่ององค์กร”

โดยสรุปแล้ว นโยบายรีเอ็นจิเนียริ่งที่บัณฑูรนำมาใช้ในธนาคารกสิกรไทย นับตั้งแต่ปี 2537 ถึงปี 2540 ก็นับว่าใกล้จะสมบูรณ์แบบและบังเกิดผลสำเร็จอยู่ในระดับพอใจยิ่งทั้งของผู้บริหารและของผู้ใช้บริการธนาคารกสิกรไทย โดยทำการรีเอ็นจิเนียริ่งไปทั้งหมด 512 สาขา ทั่วประเทศ โดยผลของการปรับปรุงทำให้เกิดความพึงพอใจแก่ลูกค้าที่มาใช้บริการ โดยเพิ่มความรวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถลดจำนวนพนักงานที่จะใช้ในสาขาที่เปิดใหม่ จากเดิมที่ใช้ 14 คน เหลือเพียง 7 คนต่อสาขา โดยมีประสิทธิภาพเท่าเดิม

ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ธนาคารกสิกรไทยได้ขยายกิจการไปยังประเทศจีน รวมทั้งได้รับรางวัลเกี่ยวกับสถาบันการเงิน จากนิตยสารต่างๆมากมาย

ในปี 2540 วิกฤติเศรษฐกิจได้ถาโถมรุมกระหน่ำสถาบันการเงิน การธนาคารไทยอย่างรุนแรงที่สุด อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ทุนนิยมไทย กระทั่งก่อให้เกิดผลสะเทือนต่อชะตากรรมของประเทศอย่างใหญ่หลวง ซึ่งเป็นเหตุให้ “ธนาคารตระกูลเจ้าสัว” หลายตระกูลต้องล่มสลายลง ขณะที่ธนาคารที่ตระกูลเจ้าสัวที่ยังไม่ล่มสลายต้องดิ้นรนอย่างสุดเหวี่ยง เพื่อรักษาสถานภาพแห่งความเป็นเจ้าของให้ยืนยาวที่สุด อย่างน้อยให้รอดพ้นจากมรสุมทางเศรษฐกิจในครั้งนี้ ซึ่งตรงกับรัฐบาลของ พลเอกเชาวลิต ยงใจยุทธ ในช่วงกลางปี 2540 โดยเริ่มจากการปิดสถาบันการเงิน 16 แห่ง และในเดือนกรกฎาคม ได้เปลี่ยนโครงสร้างอัตราแลกเปลี่ยนจากระบบตะกร้าเงินสู่ระบบลอยตัว มีผลทำให้ หนี้ต่างประเทศทั้งภาครัฐและเอกชนทะยานสูงขึ้นมหาศาล เกิดหนี้เสีย

ภายใต้สภาวการณ์ดังกล่าวปรากฏว่า ธนาคารกสิกรไทยนอกจากจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าธนาคารอื่นแล้ว ยังเป็นธนาคารที่โดดเด่นที่สุดในปี 2540 เพราะผู้บริหารระดับสูงได้มีการ “รีเอ็นจิเนียริ่ง” องค์กร เพื่อเพิ่มสมรรถภาพในการบริหารพร้อมทั้งได้ขวนขวายเพิ่มทุนจดทะเบียนอย่างต่อเนื่องตลอดมา

หลังจากสิ้นปี 2541 การเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็นผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ทุกประการโดยธนาคารได้รับเงินค่าขายหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 376 ล้านหุ้น เป็นเงิน 33,088 ล้านบาท นับเป็นธนาคารแรกที่ประสบความสำเร็จในการระดมทุนเข้าประเทศ ภายหลังจากที่ได้เกิดภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย แต่ก็ส่งผลกระทบให้ผู้นำตระกูลล่ำซำต้องสูญเสียฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ไปในที่สุด นั่นคือ กลายเป็นผู้ถือหุ้นข้างน้อยเพียง 7 % ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด อย่างไรก็ตาม บัณฑูร ก็ยังคงดำรงตำแหน่งบริหารอันเดิมอยู่ ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จเบื้องต้น ในการนำธนาคารกสิกรไทยทะยานฟ้าฝ่าวิกฤติยุคไอเอ็มเอฟของผู้นำตระกูลล่ำซำรุ่นที่ 5

ว่าไปแล้ว ความสำเร็จและความโดดเด่นของ บัณฑูร ล่ำซำ จะไม่ปรากฏเด่นชัดขึ้นมาได้เลย หากปราศจากการประสานงานระหว่าง “ทีมงานคนรุ่นใหม่” กับบรรดา “ขุนพลมือเก่า” ซึ่งมากด้วยบทเรียนและประสบการณ์ ที่คอยช่วยประคับประคองและประสานได้อย่างกลมกลืน ขณะที่การตั้งรับในช่วงวิกฤติก็รอบคอบรัดกุมพอสมควร จึงไม่ถึงกับเลวร้ายหรือทรุดหนักเช่นธนาคารพาณิชย์บางธนาคาร เช่น รู้ว่าการเสียหนึ่งแต่ได้หนึ่งเพื่อรักษาฐานที่มั่นเป็นอย่างไร

ในปี 2541 ธนาคารกสิกรไทย ได้รับเลือกจากนิตยสาร Global Finance ให้เป็นสุดยอดธนาคารของประเทศไทย และได้รับเลือกเป็นธนาคารที่ดีที่สุดในประเทศไทย จากนิตยสาร Euromoney และได้รับเลือกจากวารสาร “การเงินธนาคาร” ให้เป็นธนาคารแห่งปี 2541 นอกจากนี้ในช่วงกลางปี 2542 บัณฑูร ล่ำซำ ได้รับคัดเลือกจากนิตรสาร “เอเชียวีค” ให้เป็นผู้นำนักธุรกิจและไฟแนนซ์ ในปี ค.ศ.2000 โดยสิ้นไตรมาสแรกของปี 2542 นั้นปรากฏว่าธนาคารกสิกรไทยมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วจำนวน 13,576 ล้านบาท มีเงินกองทุน 70,000 ล้านบาท
Read more ...

พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงษ์

20 ก.ย. 2552
Read more ...

นายสุพจน์ ด่านตระกูล

20 ก.ย. 2552


http://thaienews.blogspot.com/2009/02/blog-post_6591.html งานเขียนของลุงสุพจน์

http://www.openbase.in.th/files/pridibook096.pdf หนังสือ นายปรีดา พนมยงค์ กับแผนการณ์ปลงพระชนม์ ของ พล.ต.อ.พระพินิจชนคดี

นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้เขียนคำนำในหนังสือ ปรีดีคิด-ปรีดีเขียน และคุณสุพจน์ ด่านตระกูลได้รวบรวม-เรียบเรียงและหมายเหตุไว้ ในหนังสือ ๘๐ ปีสุพจน์ ด่านตระกูล เมื่อปี ๒๕๔๖ ดังนี้

ดังที่เคยได้กล่าวมาแล้วว่า ในแง่ประวัติศาสตร์ ”ชาติ” ของการเมืองไทยสมัยใหม่ในรอบ ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา ถ้าให้เอ่ย “พระนามและ/หรือนาม” ของบุคคลสำคัญ (ทั้งหญิงและชาย) สัก ๑๐ ท่าน และถ้ามีทัศนคติที่เป็นวิชาการ มีเหตุมีผลและไม่คับแคบแล้ว น่าเชื่อว่านามปรีดี พนมยงค์ (หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม) จะต้องติดอยู่ในรายการนี้

ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ มีความโดดเด่นในหลายต่อหลายเรื่อง เป็นทั้งนักเรียนนักศึกษาที่ปราดเปรื่อง ก้าวขึ้นมาในระดับสังคมชั้นสูงของไทยก็ด้วยสติปัญญาความสามารถส่วนบุคคลหรือ “คุณวุฒิ” อันเป็นคุณสมบัติสำคัญของสังคมสมัยใหม่ที่เข้ามาแข่งขันบารมีกับ “ชาติวุฒิ” ในแบบของสังคมเก่า

ฯพณฯ ปรีดี เป็น “นักปฏิวัติ” หรือ “ผู้อภิวัฒน์” ที่ยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ เพื่อนำมาซึ่งระบอบรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย ท่านดำรงตำแหน่งการเมืองนับแต่เป็นรัฐมนตรี (ลอย) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย การต่างประเทศ การคลัง และเป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้งตำแหน่งสำคัญในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวอานันทมหิดลบทบาทในระดับ “ชาติ” ที่สำคัญอีกด้านหนึ่งก็คือการเป็น “หัวหน้า” ของขบวนการเสรีไทยในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทำการต่อต้านญี่ปุ่นและร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตร

แต่ในความสำคัญของ ฯพณฯ ปรีดี นั้นท่านก็เป็นบุคคลหนึ่งที่ถูกเข้าใจผิดมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมือง ไทย (ไม่ใช่ในรอบ ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา แต่เป็น ๒๐๐ ปีด้วยซ้ำไป) “ภาพลักษณ์” ของท่านมีทั้งที่เป็น “ขาว” ดังคุณสมบัติของความเป็นนักปฏิวัติ นักชาตินิยม ผู้อภิวัฒน์ ผู้กู้ชาติดังกล่าวข้างต้น แต่ก็มีความเป็น “ดำ” เป็นผู้ลอบปลงพระชนม์ เป็นคอมมิวนิสต์ เป็นกบฏต่อต้านพระราชวงศ์ ดังคำนิยามกระบวนการนี้ของ มรกต เจวจินดา ในหนังสือของเธอ “ภาพลักษณ์ปรีดี พนมยงค์ กับการเมืองไทยฯ” (๒๕๔๓) กับของผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเกอร์ ในหนังสือ Pridi by pridi (๒๐๐๐)ว่าท่านถูก “กระทำให้เป็นปิศาจ” หรือ demonization

ประวัติศาสตร์ของ “ชาติไทย” ซึ่งรวมถึงประวัติและผลงานของ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ดูจะตรงกับข้อสังเกตอันแหลมคมของ “ลูก-หลาน-เหลน” ในหนังสือ ๑ ศตวรรษ ศุภสวัสดิ์ (๒๕๔๓) ที่ว่า

“จนทุกวันนี้ ประวัติศาสตร์ไทยต้องเป็นพิการ ไม่สมประกอบ เพราะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองจนหมดสิ้น ความเป็นศาสตร์ “วิชาประวัติศาสตร์ไทย” ถูกกำหนดกรอบให้ตกอยู่ตามขอบเขต “ขาว-ดำ” ของอุดมการณ์และทฤษฎี ทั้งของ “ขวา” และ “ซ้าย” ซึ่งต่างก็มีพระเอกกับผู้ร้ายสำเร็จรูปตายตัว แทนที่จะมองข้อเท็จจริงและเหตุผลที่เกิดขึ้นกันอย่างตรงๆ ด้วยสายตาที่ไม่เอนเอียง”

ในปี ๒๕๔๓ เป็นปีที่ครบรอบ ๑๐๐ ปีชาตกาลของ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ และก็ได้รับการเชิดชูเกียรติด้วยการที่รัฐบาลไทยเสนอชื่อให้องค์การยูเนสโก (United Nations Educational Scientific and Cultural Organization) ประกาศรับรอง (ผ่านมาได้อย่างฉิวเฉียด) ในฐานะ “บุคคลสำคัญของโลก” มีการจัดการเฉลิมฉลองกันทั้งปีทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน

ดูเหมือนว่า “นามนั้น” ปรีดี พนมยงค์ จะได้รับการ “ขุดแต่ง” (excavated) ขึ้นมา “ฟื้นฟูและบูรณะ” (restored and renovated) ใหม่ในวงกว้างได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็น่าเชื่อว่า กระบวนการ demonization อันยาวนานเป็นเวลาเกือบครึ่งศตวรรษ ที่กระทำอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพโดยความร่วมมือระหว่างฝ่ายอำนาจนิยม กับอนุรักษ์นิยม ทั้งรัฐและเอกชนที่เต็มไปด้วยโลภะโทสะและโมหะ ตลอดจนผลประโยชน์ส่วนบุคคลและพรรคพวก (พร้อมด้วยความร่วมมือโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัวก็ตามของผู้ที่ยึดอยู่กับ political quietism หรือลัทธิ “เงียบนิยม” ทางการเมือง) นั้นก็น่าเชื่อว่า ภาพลักษณ์อันดำมืดและความเป็น “ปิศาจ” ถูกฝังลึกลงไปในความทรงจำของผู้คนจำนวนไม่น้อยก็ยังคงอยู่กับเราไปอีกนาน

ท่ามกลางกระบวนการของการสร้าง (construct) ภาพลักษณ์ที่ดำมืดและเป็นลบก็มีกระบวนการที่พยายามจะ “รื้อถอน” (deconstruct) เพื่อ “ปฏิสังขรณ์” ขึ้นใหม่ ซึ่งภาพของชีวิตและบทบาทของท่านปรีดี พนมยงค์ ในกระบวนการด้านนี้ ดูเหมือนจะเป็นผู้รักความเป็นธรรม ทั้งผู้ใกล้ชิดสนิทสนมกับ ฯพณฯ ท่านปรีดีเอง อย่างงานของ ไสว สุทธิพิทักษ์ เดือน บุญนาค หรือ วิชิตวงศ์ ณ ป้องเพชร ตลอดจนผลงานของผู้ที่สนใจข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์อย่าง สุพจน์ ด่านตระกูล รวมทั้งความโชคดีและมองการณ์ไกลของท่านปรีดีเอง ที่ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง จนมีลูกศิษย์ลูกหาทั้งโดยตรงและโดยอ้อมรุ่นแล้ว รุ่นเล่าออกมาประกาศก้องว่า

พ่อนำชาติด้วยสมองและสองแขน
พ่อสร้างแคว้นธรรมศาสตร์ประกาศศรี
พ่อของข้านามระบือชื่อปรีดี
แต่คนดีเมืองไทย ไม่ต้องการ

ในการเฉลิมฉลอง ๑๐๐ ปี ของ “มหาบุรุษ สามัญชน” หนึ่งในกิจกรรมนี้ก็คือ ความพยายามที่จะเรียนรู้ชีวิตและผลงานของท่านปรีดี และแน่นอนที่สุดก็คือ ความเข้าใจที่ถูกต้องว่า “ท่านได้ทำอะไร และไม่ได้ทำอะไร” ทั้ง “สำเร็จและล้มเหลว” ในความเป็นมนุษย์ปุถุชน (หาใช่เทพ) ของท่าน และที่สำคัญก็คือใน “สิ่งนั้นที่เรียกว่าประวัติศาสตร์” เป็นเรื่องของ “ข้อเท็จจริงบริสุทธิ์” หรือว่า “ถูกสร้าง ต่อเติม เสริมแต่ง” ขึ้นมาได้อย่างไร มีความจำเป็นหรือไม่เพียงใด ที่ศาสตร์แห่งอดีตนั้นจำเป็นที่จะต้อง “ถูกรื้อถอนและปฏิสังขรณ์” ขึ้นมาใหม่ ทั้งนี้เพื่อคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต จะได้ไม่ต้องเดินวนและอับจนอยู่ในความมืดบอดดังเช่นที่เป็นมานานแสนนาน

ผลงานของสุพจน์ ด่านตระกูล ชิ้นนี้ เป็นการคัดเลือกและรวบรวมในรูปแบบของ “สรรนิพนธ์” หรือ anthology เพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบถึงสิ่งที่ “ปรีดีคิด ปรีดีเขียน” เป็นการนำเสนอเอกสารขั้นต้น พร้อมกับอธิบายต่อท้ายเพื่อทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลในการศึกษาชีวิตและผลงานของ “มหาบุรุษ-สามัญชน” ผู้นี้

สุพจน์ ด่านตระกูล เป็นหนึ่งในบรรดานัก “ขุดแต่ง” (excavated) และนัก “ฟื้นฟูและบูรณะ” (restored and renovated) “ปรีดี พนมยงค์” น่าแปลกที่สุพจน์นั้นหาได้เป็นญาติมิตรสนิท หาได้เคยทำงานร่วม หรือแม้แต่จะเป็นลูกศิษย์ (มธก.) ของ ฯพณฯ ปรีดี แต่อย่างใดไม่ สุพจน์ “เรียนไม่จบระดับมัธยม” และจากคำบอกเล่าของสุพจน์เอง ( ๕ เมษายน ๒๕๔๒) ก็บอกว่า

“ผมเกิดในครอบครัวของพ่อค้าย่อยในชนบท เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๔๖๖ ตรงกับวันอาทิตย์ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๙ ปีกุน ณ บ้านปลายคลองหมู่ที่ ๖ ตำบลเชียรเขา อำเภอปากพนัง (ต่อมาได้แยกเป็นอำเภอเชียรใหญ่และปัจจุบันได้แยกเป็นอำเภอเฉลิมพระเกียรติ) จังหวัดนครศรีธรรมราช”

สุพจน์เล่าต่อไปว่า

“เริ่มการศึกษา เบื้องต้นจากโรงเรียนประชาบาลใกล้บ้าน แล้วไปต่อชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนประจำจังหวัด และชั้นมัธยมปลายที่กรุงเทพมหานคร แต่ด้วยเหตุปัจจัยหลายประการ การศึกษาภายใต้ระบบโรงเรียนก็ต้องยุติลงในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ขณะกำลังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมปีที่ ๖”

กล่าวได้ว่าหลังจากนั้นแล้วสุ พจน์ก็เล่าเรียนจาก “มหาวิทยาลัยแห่งชีวิต” ดังที่ได้เล่าให้ฟังต่อไปอีกว่า “ความรู้ที่ได้มาจากการศึกษาภายใต้ระบบโรงเรียนจึงเพียงอ่านออก เขียนได้ และคิดเป็น และก็ได้อาศัยความรู้อ่านออก เขียนได้ และคิดเป็นที่ได้มาจากการศึกษาภายใต้ระบบโรงเรียน ศึกษาเรียนรู้โลกต่อมาทั้งโอกาสโลก สังขารโลก และสัตตโลก เพื่ออธิบายโลกและเปลี่ยนแปลงโลก”

“ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ พรรคพวกได้ชักนำเข้าทำงานกับกองทัพญี่ปุ่นในฐานะเสมียนโกดัง ประจำอยู่ที่ท่าเรือเขาฝาซี อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง อันเป็นท่าเรือที่ญี่ปุ่นสร้างขึ้นใหม่บนฝั่งแม่น้ำละอุ่น กม. ๙๓ เพื่อบริการขนส่งยุทธสัมภาระและกำลังพลทางทะเล จากประเทศไทยสู่พม่าอีกเส้นทางหนึ่ง และในโอกาสนั้นได้เข้าร่วมกับพวกต่อต้านญี่ปุ่น (เสรีไทย) ทำหน้าที่รายงานความเคลื่อนไหวของกำลังพลและยุทธปัจจัยของฝ่ายญี่ปุ่นที่ ผ่านเข้าออกทางท่าเขาฝาซี”

ดูเหมือนสงครามโลกครั้งที่ ๒ นี่แหละที่ทำให้สุพจน์ ด่านตระกูล เข้าไปสัมผัสกับปรีดี พนมยงค์โดยไม่รู้ตัว และก็เรียนรู้อะไรต่อมิอะไรจากประสบการณ์ของความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลวง ของโลกในกลางศตวรรษที่แล้ว และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ “ภายหลังสงครามได้เข้าทำงานหนังสือพิมพ์ เริ่มจากเจ้าหน้าที่ตรวจปรู๊ฟ (พิสูจน์อักษร) ผู้สื่อข่าวโรงพัก (ข่าวอาชญากรรม) ผู้สื่อข่าวกระทรวง( ข่าวการเมืองและข่าวราชการ) และจากหน้าที่ผู้สื่อข่าวการเมือง จึงทำให้เกิดความสำนึกทางการเมืองและนำไปสู่การเคลื่อนไหวทางการเมือง

จนกระทั่งถูกจับกุมในคดี ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ (หรือที่รู้จักกันในนามของกบฏสันติภาพ) ในข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร ถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุก ๒๐ ปี แต่ลดเหลือ ๑๓ ปี ๔ เดือน แต่ติดคุกอยู่ประมาณ ๕ ปีก็ได้รับนิรโทษกรรมในคราวฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ออกจากคุณมาประกอบอาชีพหนังสือพิมพ์อยู่ประมาณ ๑ ปี ก็ถูกจับกุมอีกครั้งหนึ่งในปี ๒๕๐๑ ในยุคเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในข้อหากบฏภายในราชอาณาจักรและมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ถูกศาลทหารกรุงเทพพิพากษาลงโทษจำคุก ๓ ปี ในความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ และยกฟ้องข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์”

มหาวิทยาลัยแห่งชีวิต (ในคุก) นั้น ทำให้สุพจน์กล่าวอย่างมั่นใจว่า “โดยที่มีความสำนึกทางการเมืองและสนใจการเมือง จึงได้ขวนขวายศึกษาหาความรู้เรื่องการเมืองจากท่านผู้รู้ ที่มีความคิดทางการเมือง ฝ่ายก้าวหน้า รวมทั้งแสวงหาหนังสือฝ่ายก้าวหน้ามาอ่าน และสนใจศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยภายหลัง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ อย่างรับผิดชอบ”

สุพจน์กล่าวเสริมอีกว่า

“รวมทั้งเจริญรอยตาม บาทพระพุทธองค์ ศึกษาค้นคว้าเรื่องของโลกทั้งสามอย่างมนสิการ จึงได้สรุปความเข้าใจออกมาเป็นข้อเขียนจำนวนหนึ่ง มีต้นฉบับอยู่ประมาณ ๗๐ เรื่อง ส่วนเขียนแถลงการณ์และสาส์นในโอกาสต่างๆ นั้นอีกจำนวนหนึ่ง”

ซึ่งรวมแล้วอาจจะมากกว่าผลงานของดุษฎีบัณฑิตหรือศาสตราจารย์ (ของรัฐ) ด้วยซ้ำไป

ในบรรดาผลงานนิพนธ์เหล่านั้น ก็มีสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็น magnum opus คือ ชีวิตและงานของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ที่ตีพิมพ์ครั้งแรก ๒๕๑๔ (และตีพิมพ์ครั้งที่ ๓ ปี ๒๕๔๓) รวมอยู่ด้วย

จากการค้นคว้างานชิ้น นี้ก็กลายเป็นฐานทางวิชาการอย่างสำคัญที่ทำให้สุพจน์ ด่านตระกูล สามารถ “ขุดแต่ง ฟื้นฟู และบูรณะ” ปรีดี พนมยงค์ ได้อย่างเข้มข้น รวมทั้งชุดย่อยๆ เล็กๆ ที่ออกมาเป็นครั้งคราว ราคาถูก ในช่วงทศวรรษ ๒๕๑๐ ก็ทำให้ประชามหาชนพอจะได้เปิดหู เปิดตาขึ้นบ้างต่อ “สัจจะและความเป็นจริง” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “หน้าประวัติศาสตร์อันดำมืดและบิดเบี้ยว” นั้นของ “ชนชาติไทย”

การรวบรวมและจัดพิมพ์ครั้งนี้ ก็เพื่อเฉลิมฉลอง ๑๐๐ ปีชาตกาลฯ ดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้โดยความสนับสนุนของคณะกรรมการดำเนินงานฉลอง ๑๐๐ ปีชาตกาลฯ ภาคเอกชน และก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผลงานนี้จะมีส่วนในกระบวนการที่เกิดขึ้นใหม่ดังบทกวีของ “เฉินซัน” ๒๐ มิถุนายน ๒๕๒๗ ที่ว่า

เมื่อความดีทุกอย่างยังคงอยู่
ประชาชนย่อมรู้ว่าที่นี่
‘มหาบุรุษ’ จักต้องมี
เมื่อนั้นท่านปรีดีจะกลับมา

ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

ประธานอนุกรรมการฝ่ายนิทรรศการ

คระกรรมการจัดงานฉลอง ๑๐๐ ปี รัฐบุรุษอาวุโส นายปรีดี พนมยงค์

ประธานโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา

คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จากหนังสือ “๘๐ ปีสุพจน์ ด่านตระกูล” ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑ เดือนตุลาคม ๒๕๔๖
Read more ...

พันตำรวจโท ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ

19 ก.ย. 2552


http://poljurisprudence.blogspot.com/2006_10_01_archive.html 
http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=jurisprudence 
http://www.siriphon.com 

ประวัติการศึกษา

1. ปริญญาเอกทางกฎหมายอาญา วิธีพิจารณาความอาญา และรัฐธรรมนูญ (J.S.D. 2551) จาก University of Illinois at Urbana-Champaign (UIUC) ประเทศสหรัฐอเมริกา และ กฎหมายว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาเปรียบเทียบ (International Comparative Intellectual Property Law) จาก University of Oxford at St. Peter College ปี พ.ศ. 2550

2. นิติศาสตรมหาบัณฑิต (กฎหมายมหาชนและวิธีพิจารณาความอาญา) (LL.M. 2548) จาก University of Illinois at Urbana-Champaign (UIUC) ประเทศสหรัฐอเมริกา

3. นิติศาสตรมหาบัณฑิต (กฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายปกครอง) (LL.M. 2547) จาก Indiana University – Bloomington (IUB) ประเทศสหรัฐอเมริกา

4. ประกาศนียบัตร Financial Complex Investigation (2546) จากสถาบัน International Law Enforcement Academy (ILEA)
5. นิติศาสตรมหาบัณฑิต (กฎหมายมหาชน) (2546) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

6. เนติบัณฑิตไทย (น.บ.ท.) สมัยที่ 53 (2544)

7. นิติศาสตรบัณฑิต (นบ.) (เกียรตินิยมอันดับสอง) (2543) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

8. รัฐศาสตรมหาบัณฑิต (รม.) สาขาบริหารรัฐกิจ (2540) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

9. รัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต (รป.บ.(ตร.)) (2537) โรงเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.รุ่น 47)

หน้าที่ความรับผิดชอบปัจจุบันและประสบการณ์ทำงานในอดีต
1. รองผู้กำกับการ กลุ่มงานอุทธรณ์และฎีกาคดี กองคดีอาญา ปฎิบัติหน้าที่ให้คำปรึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจและผู้บังคับบัญชาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, 2551 - ปัจจุบัน

ให้คำปรึกษากฎหมายและได้รับเชิญจาก Friedrich Naumann Foundation ให้เข้าร่วมอบรมสัมมนา เรื่อง Conflict Prevention and Conflict Management ที่ประเทศเยอรมัน (ก.พ. 2552)

2. สารวัตร กลุ่มงานคดีอาญา กองคดีอาญา สำนักงานกฎหมายและสอบสวน ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาทางกฎหมาย ในหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แก่ผู้บังคับบัญชา ระดับ ตร., (พ.ค.-พ.ย.2551)

เป็นคณะทำงานและตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการประชุมและชี้แจงกฎหมายแก่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, สภาผู้แทนราษฎร ฯลฯ และ ตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการประชุมระหว่างประเทศที่มาเลเซีย

3. สารวัตรงาน 6 ฝ่ายตรวจสอบสำนวน กองคดีอาญา สำนักงานกฎหมายฯ 2544-2546.

3.1 พิจารณาสำนวนคดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง เสนอความเห็นชอบและความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ คดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145

3.2 เป็นคณะกรรมการ และผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการร่างกฎหมาย ระเบียบ ตามคำสั่ง ตร. หลายคณะ เช่น คณะกรรมการแก้ไขข้อตกลงระหว่างกระทรวงกลาโหมกับมหาดไทยว่าด้วยการจับกุมทหาร

3.3 จัดทำคู่มือและคำแนะนำการตรวจสอบสำนวนคดีอาญาและการทำความเห็นแย้ง

4. สารวัตรงานนโยบายและแผน (ปฏิบัติหน้าที่ สารวัตรธุรการและกำลังพล กองคดีอาญา สำนักงานกฎหมายฯ) 2543-2544

หน้าที่พิเศษ 

1. อนุกรรมการ ฯ คณะกรรมาธิการตำรวจ วุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๒

2. ที่ปรึกษาคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. ๒๕๕๒

3. คณะกรรมการ ร่างกฎเกณฑ์การออกสลากกินแบ่งรัฐบาลพิเศษ(ออนไลน์) ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. ๒๕๕๑

4. คณะกรรมการ ร่างกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบการชุมนุม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๑

5. คณะกรรมการ ร่างกฎหมายอื่น ๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

บทความตีพิมพ์ ในวารสาร 

ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายมหาชนและกฎหมายปกครองของสหรัฐอเมริกา, วารสารรพี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ, ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑ (๒๕๕๒), หน้า ๒๑๗ - ๒๓๐

ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ, ปรากฎการณ์การกระทำผิดของตำรวจกับแนวคิดในการแก้ไขปัญหา, วารสารข่าวเนติบัณฑิตยสภา ประจำเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๑, ปีที่ ๒๑, ฉบับที่ ๒๒๖, หน้า ๙-๑๒

ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ, ความเห็นต่อหลักกฎหมาย ป.ป.ช.เกี่ยวกับอำนาจในการชี้มูลทางวินัยข้าราชการตำรวจ,

วารสารตำรวจ ปีที่ 45 ฉบับที่ 419 (เม.ย.-มิ.ย.2552) 28-33

ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ, การรับคำรับสารภาพในประเทศอังกฤษ,วารสารกฎหมายมหาวิทยาลัยนเรศวร, ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 (2551) 60-84

ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ, กฎหมายว่าด้วยคำรับสารภาพ : บทนำและความสำคัญของคำรับสารภาพ, บทบัณฑิตย์ 63 (มี.ค.2550) 131 – 159

ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ, ตำรวจกับกระบวนการยุติธรรมในประเทศสหรัฐอเมริกา, วารสารวิชาการตำรวจ, 2547

ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ, หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมของประเทศสหรัฐอเมริกา, ปีที่ 2 ฉบับที่ 3 (ม.ค.2552) 11-21

ประสบการณ์การสอน

1. บรรยายพิเศษ ผู้ช่วยผู้พิพากษา รุ่นที่ ๕๕ เกี่ยวกับการรับฟังพยานหลักฐานของศาลสหรัฐฯ และ บทบาทของตำรวจในกระบวนการยุติธรรมในประเทศสหรัฐฯ

2. บรรยายพิเศษ ว่าด้วย Law & Social Control สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินทร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

3. บรรยายพิเศษ ว่าด้วยตำรวจกับกระบวนการยุติธรรม ในหลักสูตรปริญญาโท สาขาการบริหารกระบวนการยุติธรรม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

4. บรรยายพิเศษ ว่าด้วยจริยธรรม และความรับผิดของแพทย์ตามกฎหมาย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

5. บรรยายพิเศษวิชา กม.อาญาชั้นสูง ภาคภาษาอังกฤษ หลักสูตร LL.M. คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

6. บรรยายพิเศษวิชา กม.อาญาชั้นสูง หลักสูตรปริญญาโท มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี

7. บรรยายพิเศษวิชา กม.ทรัพย์สินทางปัญญา หลักสูตรปริญญาโท มหาวิทยาลัยรามคำแหง

8. บรรยายพิเศษวิชา กม.ทรัพย์สินทางปัญญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

9. บรรยายพิเศษวิชา กม.ระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตย์

10. บรรยายพิเศษวิชา ภาษาอังกฤษสำหรับนักกฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

11. อดีตผู้บรรยายพิเศษวิชากฎหมายลักษณะพยาน กฎหมายอาญา และหลักรัฐประศาสนาศาสตร์ ให้สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (วิทยาลัยพยาบาลตำรวจ, สถาบันราชภัฎสวนสุนันทา และ สถาบันราชภัฎเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์)

เกียรติประวัติด้านอื่น ๆ 

1. รางวัลเรียนดี และลักษณะทหารดี โรงเรียนเตรียมทหาร 2531

2. รางวัลเรียนดี (สอบไล่ได้อันดับที่สอง) และ รางวัลลักษณะทหารดี (ได้รับแต่งตั้งเป็นรองหัวหน้านักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 47 ) โรงเรียนนายร้อยตำรวจ 2537

3. พนักงานสอบสวนดีเด่น กรมตำรวจ 2538

4. สอบไล่ได้เป็นลำดับที่ 3 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2543

5. สอบไล่เนติบัณฑิต สมัยที่ 53 ได้คะแนนสูงสุดใน 10 ลำดับแรก 2544

6. สอบไล่ได้อันดับหนึ่ง โรงเรียนสารวัตร รุ่น 56 สถาบันพัฒนาข้าราชการตำรวจ

7. เป็นนักเรียนทุนรัฐบาล (ก.พ.) ศึกษาต่อปริญญาโทและเอกทางกฎหมาย ณ สหรัฐอเมริกา 2546

8. ได้รับคัดเลือกเป็นคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย ธนาคารโลก (World Bank) 2547 (แต่ประสงค์จะรับราชการต่อไป จึงตอบปฏิเสธ)

9. ได้รับทุนไปศึกษาวิจัยงานตำรวจและกระบวนการยุติธรรมประเทศญี่ปุ่น จาก Center For East Asian Pacific Studies (EAPS), University of Illinois 2549

10. ได้รับทุนไปศึกษากฎหมายว่าด้วยคำรับสารภาพ ประเทศอังกฤษ จากศูนย์ศึกษา Law & Economic, College of Law University of Illinois 2550

11. ได้รับเชิญเข้าร่วมสัมมนาและฝึกอบรม Friedrich Naumann Foundation ประเทศเยอรมันนี ปี พ.ศ. 2552
Read more ...

พ.ต.อ.พนาเจือเพ็ชร์ กฤษณะราช

18 ก.ย. 2552
พ.ต.อ.พนาเจือเพ็ชร์ กฤษณะราช ผู้สมัคร ส.ส. เขต 2 กทม.

ทำเอาใครต่อใครต้องออกอาการแปลกใจไม่น้อยที่พรรคพลังประชาชนตัดสินใจเลือกอดีตผู้สมัครส.ส., อดีตผู้สมัครนายก อบจ. และอดีต ส.ว.ของระยอง อย่าง พ.ต.อ.พณาเจือเพ็ชร์ กฤษณะราช ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเป็นผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขตคลองเตย (รวมพื้นที่เขตวัฒนา ยานนาวา สาทร และบางคอแหลม)ขณะที่เจ้าตัวบอกต่อว่า “ผมไม่ได้เป็น คนแปลกหน้าในเขตกรุงเทพฯ นะ อย่างน้อย การทำงานที่ผ่านมาของผมในฐานะที่เคยเป็นตำรวจมือปราบ, เจ้าของค่ายมวย, นัก เลงพระ และของเก่า อาจารย์สอนหนังสือ หรือแม้กระทั่งคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ จึงไม่ใช่คนหน้าใหม่ของวงการนี้”

โดยเฉพาะบทบาทครั้งเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ผลงานของเขาเรียกว่าอยู่ในระดับพระกาฬเลยทีเดียว หลายๆ คดี ไม่ว่า จะเป็น เป๋ อกไก่ ฆ่านักศึกษาในโรงหนังนิว ยอร์ก, คดีฆ่าข่มขืนนักศึกษาเอแบคในซอยศูนย์วิจัย, คดีมือปืน 100 ศพ ฯลฯ แต่ละคดี ล้วนถูกปิดคดีโดยเขาคนนี้แทบทั้งสิ้น เรียกว่าพูดได้เต็มปากเต็มคำว่ารับมาแล้วเกือบทุก โล่รางวัลในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

แม้กระทั่งเข้าสู่วงการเมือง จากการไป ปักหลักที่ระยองเพียงแค่ 12 ปี ก็ไปสร้างตำนานการเมืองในเรื่องการเลือกตั้งจนคนระยองบอกว่ากลยุทธ์การหาเสียงของเขากิน ใจเด็ดขาด เพราะทั้งงานบุญ งานบวช หรืองานศพ จะเห็นเขารับหน้าที่เบ็ดเสร็จ ตั้งแต่ เป็นนักการเมืองที่ไปร่วมงาน เป็นญาติของเจ้าภาพที่ดูแลแขกเหรื่อ อาราธนาศีล หรือแม้กระทั่งไปช่วยล้างจาน

พ.ต.อ.พณาเจือเพ็ชร์ หรือที่เรียกกันใน ชื่อเล่นว่า เติร์ก เล่าให้ฟังว่า ก่อนจะได้รับการอนุมัติจากพรรคให้เป็นผู้สมัครส.ส.เขตคลองเตยนั้น “ผู้พันปุ่น” น.ต.ศิธา ทิวารี อดีตโฆษกรัฐบาล 1 ใน 111 อดีตกรรมการ บริหารพรรคไทยรักไทย ที่ต้องเว้นวรรคทาง การเมือง 5 ปี ตามคำวินิจฉัยของคณะตุลา การรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ชักชวนให้มาลงส.ส. ในเขตเลือกตั้งเดิมของตัวเอง

นั่นอาจจะเป็นเพราะความคุ้นเคยส่วน ตัว กอปรกับการนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น น้องของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ยอมรับกันกลายๆ ว่ายังเป็นผู้ ทรงอิทธิพลมากในหมู่ของอดีตสมาชิกพรรค ไทยรักไทย ที่คงจะเห็นแวว และแนวทางการ ทำงานว่าพูดคุยภาษาเดียวกัน

ทั้งหลายทั้งปวงล้วนแล้วเป็นแรงหนุน ให้ “พ.ต.อ.พณาเจือเพ็ชร์” ได้ย้ายฐานการ เมืองจาก จ.ระยอง เข้ากรุงโดยที่ไม่เคยคาค หวังมาก่อน

สำหรับเรื่องของแนวคิดในการชูขึ้นมาเสียงนั้น เขาบอกว่า เป็นเรื่องความมุ่งหวังที่จะพัฒนาชุมชน โดยเป็นแนวคิดส่วนตัวที่มีอยู่แล้ว ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของพรรค และคงเป็นวิถีทางเดียวที่จะทำ ให้ชื่อของ พ.ต.อ.พณาเจือเพ็ชร์ เป็นที่รู้จักของประชาชนในพื้นที่ได้ เพื่อทำให้ความฝันที่จะได้เป็น ผู้แทนเมืองกรุง เป็นจริงได้

“เราเป็นคนใหม่ในพื้นที่ก็ต้องขยันเดิน ขยันไปพบปะประชาชนในชุมชน ซึ่งยิ่งลงไปคลุกคลีมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งมองเห็นหน ทางว่าถ้าเรามีโอกาสได้เข้าไปทำงานจริงๆ แล้วจะทำอะไรให้เขาได้บ้าง”

เรื่องยาเสพติดถือเป็นเป้าหมายแรกๆ ที่เขาประกาศว่าจะเข้าไปผลักดันให้มีการแก้ ปัญหาให้ได้ เขาบอกว่า “ปัญหายาเสพติดแก้ไขได้ ผมเชื่ออย่างนั้นจริงๆ และอีกเรื่องคือแก้ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย อย่าเพิ่งคิดว่าผมเพ้อฝัน เพ้อเจ้อ ผมเห็นมาแล้วที่อังกฤษ เขามีหนทางแก้ปัญหาชุมชนแออัดด้วยการออกกฎหมายมาให้สิทธิ์ในเรื่องที่อยู่อาศัยแก่ชาวชุมชนแออัด หน้าที่ส.ส.หลักๆ คืออะไรล่ะ สภานิติบัญญัติคือสภาที่ร่างกฎหมาย ใช่ไหม ผมก็จะใช้บทบาทหน้าที่ที่มีผลักดันตรงนี้” พ.ต.อ.พณาเจือเพ็ชร์ ยืนยัน

ชุมชนคลองเตยนับว่าเป็นพื้นที่ไพรม์แอเรียอีกพื้นที่หนึ่งที่สามารถเพิ่มศักยภาพให้พื้นที่ได้โดยการออกกฎหมายมาพัฒนาพื้นที่ มีการสร้างคอมเพล็กซ์ อาคารที่พักอาศัย ศูนย์ส่งสินค้า ฯลฯ ให้ชาวบ้านจากที่อยู่ในแนวราบขยับไปอยู่บนตึก

เราให้สิทธิ์ของผู้ที่อยู่ในชุมชนได้เข้าอยู่อาศัยก่อน ให้สิทธิ์เซ้งเขาก่อนในระยะเวลาเป็น 100 ปี ก็ได้ ที่อังกฤษเขาให้ 150 ปี ลองนึกดูว่า เมื่อพื้นที่คลองเตยพัฒนาเป็น ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจอีกแห่งหนึ่ง แล้วราคาสินทรัพย์จะพุ่งสูงขึ้นขนาดไหน

ชาวคลองเตยอาจจะอยู่ที่นี่แค่ 20-30 ปี พอลูกหลานโตเรียนหนังสือจบ เขาก็สามารถที่จะให้คนอื่นมาเซ้งสิทธิ์ต่อจากเขาแล้วย้ายออกไปอยู่ที่ไหนก็ได้...

นั่นคือความหวังลึกๆ ที่ พ.ต.อ.พณาเจือเพ็ชร์ กฤษณะราช กำลังนำไปเสนอขายและบอกกับชาวคลองเตยพิจารณาว่าจะรับหรือไม่
Read more ...

เจ้าคุณโพธิ์แจ้งมหาเถระ

13 ก.ย. 2552






โยคะตันตระ..โพธิ์แมน กุศลสู่สรรพสัตว์..สัมภเวสี

สังขารเจ้าคุณโพธิ์แจ้งที่ไม่เน่า.

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2505.....หนังสือ พิมพ์ไทย ฉบับที่ 5025 พาดหัวข่าวว่า...วางระเบิดสังหารสงฆ์ใหญ่จีน มือมืดซุกใต้เบาะรถยนต์ นั่งทับระเบิด รอดมรณภาพอย่างปาฏิหาริย์

สงฆ์ใหญ่จีน รูปนั้นคือ พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร พุทธบริษัทจีน พิเนตุวิเทศธรรมประสาท นวกิจพิลาสประยุกต์ ทำนุกจีนประชาวิสิฐ หรือ ท่านเจ้าคุณโพธิ์แจ้ง มหาเถระ เจ้าอาวาส วัดโพธิ์แมนคุณาราม (ในขณะนั้น) ถนนสาธุประดิษฐ์ ซอย 19 เขตยานนาวา กทม.

ต่อมา...ล่วงถึงปี 2525 (อีก 20 ปี 6 เดือน) เจ้าคุณโพธิ์แจ้งฯ จึงละสังขารอย่างสงบในอิริยาบถนั่งเข้าสมาธิบัลลังก์ ในวันที่ 22 เดือน 8 ตามปฏิทินจีน ทางสุริยคติตรงกับวันที่ 25 กันยายน

ก่อนเจ้าคุณโพธิ์แจ้งฯ จะละสังขาร ได้สั่งศิษย์ให้เก็บศพไว้ 10 ปี จึงค่อยมาเปิดดู ซึ่งก็ได้ปฏิบัติตาม พอครบช่วงของคาบเวลาที่ประจักษ์ต่อสายตาเหล่าศิษยานุศิษย์คือ...สังขารของท่านเจ้าคุณฯไม่เน่าเปื่อยแต่อย่างใด แถมที่เล็บยังงอกยาวออกมาดั่งเช่นคนที่ยังมีชีวิต

จากนั้นเหล่าศิษยานุศิษย์จึงได้ทำการปิดทองคำทั่วร่างเจ้าคุณฯ แล้วนำประดิษฐาน ณ วิหารบูรพาจารย์ ...ในท่าเดิมขณะละสังขาร

หลังจากปิดทองคำทั้งร่างเพื่อสักการะ.

เจ้าคุณโพธิ์แจ้งฯ นามเดิมว่า ธง เกิดในตระกูลอึ้ง จังหวัดแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง ปีขาล 2444 ในปี 2470 จึงเดินทางมาสู่แผ่นดินสยาม...

ด้วยจิตที่มุ่งมั่นต่อพระพุทธศาสนามหายาน จึงเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ณ สำนักสงฆ์ถ้ำประทุน (เซ็งจุ้ยยี่) พระพุทธบาท สระบุรี ได้ฉายาว่า โพธิ์แจ้ง สมัยนั้นพระสงฆ์จีนไม่เป็นที่เลื่อมใสจากพุทธศาสนิกชนชาวไทย...จึงได้ ตั้งสัจจะปณิธานว่าด้วยบารมีธรรมของพระพุทธจะทำให้คนไทยเกิดศรัทธาให้ได้


เจ้าคุณโพธิ์แจ้งเมื่อครั้งยังมีชีวิต.

จากนั้นก็ได้ ศึกษาพระธรรม บำเพ็ญเพียร และ จาริกแสวงบุญ เพื่อพบกับผู้นำศาสนา ในแต่ละภูมิภาคหลายท่าน ทั้งใน ประเทศจีน ทิเบต ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย

ซึ่ง...ได้ ศึกษาวินัย พระไตรปิฎกทุกยาน พระคัมภีร์ทุกนิกาย ทั้งเถรวาทของไทย มหายานของจีน และวัชระยานของทิเบต ตลอดจนความรอบรู้
ในปรัชญาของจีนและศาสตร์ทุกแขนงทางโลก ทางธรรม สังคมประเพณีในแต่ละท้องถิ่น

จนกระทั่งปี 2490 จึงได้กลับมาเผยแผ่ ถ่ายทอด สอนพระธรรม และ ความรู้แก่พุทธบริษัทในประเทศไทย

ปี 2502 จึงสร้าง วัดโพธิ์แมน เป็นศาสนสถานตามลักษณะสถาปัตยกรรม ศิลปะแบบไทยจีนประยุกต์ทิเบต

พระอุโบสถวัดโพธิ์แมนเป็นศิลปะ 3 ประสาน.

ปัจจุบันมีศิษยานุศิษย์อยู่เกือบทั่วทุกวงการของสังคม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย ฯลฯ จะมาร่วมประกอบพิธีกรรมตามประเพณีในวันสำคัญๆ ณ วัดโพธิ์แมน...

โดยเฉพาะทุกๆปี....ช่วง ครบรอบวันละสังขารของเจ้าคุณโพธิ์แจ้งมหาเถระ ถือว่าเป็นวันนัดพบเลยก็ว่าได้

งานคล้ายวันละสังขาร ปีนี้จัดขึ้นในวันที่ 27 กันยายน โดยจะเริ่มในช่วง 10 โมงเช้า เป็นการถวายอาหารบูชาพระพุทธ 11.30 น. ถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสงฆ์ 12.30 นาฬิกา จะทำ พิธีโยคะตันตระ

ที่นำ พิธีโยคะตันตระ มาประกอบในวันนี้ ก็เพื่อเป็นการ สืบสานในวัตถุประสงค์ของท่านเจ้าคุณโพธิ์แจ้งมหาเถระ...

ด้วย ในอดีตที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ตลอดระยะเวลา 1 เดือนก่อนจะถึงวันเกิด จะให้ พระเถระในวัดประกอบพิธีกรรมนี้ทุกวัน...แล้วจะทำ พิธีใหญ่
อีกครั้งในวันเกิดของเจ้าคุณโพธิ์แจ้ง

พิธีโยคะตันตระ...มีต้นกำเนิดมาจาก พระอรหันต์อานนท์ ซึ่งคืนหนึ่ง ฝันว่าโยมพระมารดาเป็นเปรต ทนทุกข์ทรมานมาก ขอให้ช่วย...รุ่งเช้าจึงได้นำความมาถามพระพุทธเจ้า

ซึ่ง...ก็ได้รับคำตรัสจากพระพุทธองค์ ว่าเป็นเรื่องจริง ด้วยที่พระมารดาของพระอานนท์มิได้ยึดถือในพระธรรม จึงปฏิบัติตนไม่ถูกต้อง อีกทั้ง สัตว์โลกที่อยู่ในห้วงของกรณีเดียวกันนี้มีมากนัก และใน อนาคตก็ยิ่งจะมีมากขึ้น

พระพุทธองค์จึงทรงบอกวิธีการทำพิธีโยคะตันตระ อันพิธี ทำบุญ และ ทำทาน ไปพร้อมๆกัน เมื่อ พระอานนท์ จัดทำ พิธีกรรมได้ส่งพลังบารมีช่วยให้โยมพระมารดาได้หลุดพ้นจากบ่วงทุกข์สู่สุขาวดี เพื่อปฏิบัติธรรมต่อไป

พิธีโยคะตันตระ เริ่มด้วยการเปิดมณฑลพิธี พระเถระผู้เป็นประธานอัญเชิญพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์เจ้า เทพเทวดาทั้งปวงมาร่วมเป็นสักขีพยานรับการขอขมากรรม จากสรรพสัตว์ทั่วทุกภพภูมิ

แล้วอัญเชิญไต้สือเอี๊ยะ พระโพธิสัตว์ผู้ควบคุมสัมภเวสีทั้งหมดมาเป็นประธาน ในการแจกจ่าย แผ่พุทธบารมีเพื่อให้สรรพสัตว์ แม้แต่ผู้มีกรรมหนักที่สุด

อยู่ในนรกที่ลึกสุดได้รับการแจกจ่าย ทั้งเครื่องอุปโภค บริโภค อีกทั้งยังได้มา เพิ่มพูนบุญกุศลให้เหล่าสัมภเวสี ได้กินได้ใช้...เมื่อสุขกาย สุขใจที่ได้กิน แล้ว พระพุทธเจ้าทั้งปวงจะผลัดเปลี่ยนกันแสดงธรรม

มิใช่เพียงสัมภเวสีเท่านั้น เทวดา มนุษย์ สรรพสัตว์ทั้งหลาย ก็ได้รับธรรมบารมี อันเป็นบุญกุศลและสุข ...ก่อนกลับไปยังภพของตนเป็นอันเสร็จพิธีอันเป็น กุศลกรรม.
Read more ...